Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ ส.ส. หญิงเมืองไทยถูก ส.ว. ก่นด่าเรื่องการแต่งตัว ผู้หญิงในญี่ปุ่นกำลังล่ารายชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับผู้หญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูงไปทำงาน โดยมีผู้ลงนามแล้วอย่างน้อย 19,000 รายชื่อ โดยนักสตรีนิยม ยูมิ อิชิกาวะ นำเสนอประเด็นนี้ผ่านแฮ็ชแท็กที่ชื่อว่า #KuToo ที่เป็นการเล่นคำเสียงคล้ายกันระหว่าง "รองเท้า" กับ "ความเจ็บปวด"

ที่มา: Maxpixel

6 มิ.ย. 2562 ในญี่ปุ่นมีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ที่ทำงานต่างๆ ยกเลิกกฎข้อบังคับเรื่องเครื่องแต่งกายที่บีบบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูงไปทำงาน โดยมีผู้ลงนามแล้วอย่างน้อย 19,000 รายชื่อ

คนที่จัดให้มีการล่ารายชื่อในครั้งนี้คือยูมิ อิชิกาวะ ศิลปิน นักเขียนและนักสตรีนิยมจากโตเกียว การล่ารายชื่อให้ยกเลิกการบังคับใส่ส้นสูงในที่ทำงานมีจำนวนไลก์แล้วอย่างน้อย 67,000 ไลก์ และมีการรีทวีตแล้วเกือบ 30,000 รีทวีต อิชิกาวะระบุว่าเธอต้องการขจัดประเพณีที่บีบให้ผู้หญิงต้องใส่รองเท้าส้นสูงไปทำงานในบางวัน

ในทวีตของอิชิกาวะมีการใช้แฮชแท็ก #KuToo ที่เป็นการเล่นกับกระแส #MeToo ที่เคยเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงออกมาพูดต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งยังเป็นการเล่นคำกับภาษาญี่ปุ่น 2 คำที่ใกล้เคียงกันคือคำว่า "คุทสึ" ที่แปลว่า "รองเท้า" กับคำว่า "คุทซือ" ที่แปลว่า "ความเจ็บปวด" นั่นทำให้ #KuToo กลายเป็นอีกแฮชแท็กหนึ่งที่ผู้หญิงใช้พูดถึงประสบการณ์ของพวกเธอผ่านทางโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโอกาสการจ้างงานอย่างเท่าเทียมกันของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมญี่ปุ่นกล่าวว่า ไม่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยที่ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายห้ามบริษัทกำกับการแต่งกายของพนักงาน พวกเขาอ้างว่าผู้ชายก็ต้องทำตามกฎในการให้สวมเนคไทด์และรองเท้าหนังด้วย แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงกล่าวว่าถ้าหากมีแนวคิดเกี่ยวกับมารยาทเปลี่ยนแปลงไปในสังคมกฎหมายเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

การเคลื่อนไหว #KuToo นี้คล้ายกับการเคลื่อนไหวในสหราชอาณาจักรช่วงปี 2559 ที่มีประชาชนมากกว่า 100,000 คนลงนามเรียกร้องให้มีการห้ามไม่ให้บริษัทบังคับเรื่องการแต่งกายบีบให้ผู้หญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูงไปทำงาน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาขบวนการอย่าง #MeToo ทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่นกลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง องค์กรเวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรัมจัดอันดับให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 110 จากทั้งหมด 149 อันดับ ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถือว่าอยู่ในท้ายตารางสำหรับกลุ่มประเทศ G7 ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะเคยให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมผู้หญิงผ่านทางนโยบาย "วูเมนโนมิกส์" ก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Thousands of Japanese women join campaign to ban workplace high heel requirements, CNN, Jun. 4, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net