Skip to main content
sharethis

ย้อนดูพัฒนาการทางความสัมพันธ์ และบทบาทของอาเซียนและไทยต่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในวาระครบรอบ 44 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ และกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศร่วมวงเสวนา เล่าความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งมิตรและคู่สงคราม และแนวทางที่ไทย-อาเซียนควรมีบทบาทมากกว่านี้

บรรยากาศวงเสวนา

ในห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศบนคาบสมุทรเกาหลีมีทั้งร้อนและเย็น ความขัดแย้งยังวนรอบประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือประกาศว่ามีในครอบครอง การซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือที่ถูกตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธข้ามน่านน้ำไปจนถึงข้ามหัวประเทศญี่ปุ่น วิวาทะระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือย่างคิมจองอึนจนเป็นที่หวาดหวั่นว่าจะนำไปสู่การใช้กำลังทางทหาร เรื่อยมาจนถึงความพยายามสมานความสัมพันธ์กันระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้-สหรัฐฯ จนมีการพบกันระหว่างทรัมป์และคิมถึงสองครั้งในสิงคโปร์และเวียดนามในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ

ความมุ่งหมายในการสร้างคาบสมุทรเกาหลีที่สันติและไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นที่ถกเถียงกันได้ว่าเดินไปข้างหน้าหรือกำลังถอยหลังเข้าคลอง เพราะในขณะที่เป้าหมายเช่นว่ายังไปไม่ถึงไหน แต่ระดับการแสดงแสนยานุภาพทางทหารของเกาหลีเหนือที่แต่เดิมกระทำมาอย่างต่อเนื่องก็ได้ลดระดับลง การเมืองกระแสหลักดำเนินไปพร้อมกับการหลบหนีของประชาชนเกาหลีเหนือสู่โลกภายนอกและข่าวคราวความทารุณภายในม่านเหล็กที่น้อยคนจะมีโอกาสได้ไป

อนาคตแม้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่การเดินหมากทางการทูตของตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องข้างต้น รวมถึงตัวละครในภูมิภาคใกล้เคียงอย่างอาเซียนและไทยก็เป็นเรื่องที่ต้องถามกันว่าจะเอาอย่างไร

เมื่อ 13 มิ.ย. 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม เวทีเสวนาสาธารณะเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลีเหนือ จัดโดยสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank), สมาคมมิตรภาพไทย-เกาหลีเหนือ และ Thai Juche Idea Study Organization

ในเวทีเสวนามีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีเหนือโดยเตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศ ที่เล่าถึงวิวัฒนาการทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีเหนือที่แม้ปัจจุบันยังเป็นคู่สงครามกันอยู่แต่ก็มีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน

เส้นทางความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งมิตรและคู่สงคราม

เตชเท้าความไปถึงเหตุการณ์ก่อนที่ไทยจะสถาปนาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเมื่อ 1 พ.ค. 2518 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ เดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกและประกาศลัทธินิกสัน (Nixon’s Doctrine) ที่เกาะกวมเมื่อปี 2512 ที่ต้องการให้สงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ รบกับเวียดนามเหนือในยุคนั้นเป็นสงครามของเวียดนามเอง (Vietnamization the Vietnam War) ตอนนั้นที่ตนมีตำแหน่งเป็นเลขานุการโทก็รู้เลยว่าการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกได้เปลี่ยนไปแล้ว สหรัฐฯ อยากจะถอนตัว ไม่ต้องการแบกภาระสงครามเวียดนามไว้อีกต่อไป ทำให้ประเทศไทยที่ขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จนได้รับสมญานามว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ เพื่อการโจมตีลาว กัมพูชา เวียดนาม ต้องเริ่มเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ

ในปี 2514 เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคง (ขณะนั้น) ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แวะมาเยือนไทย ก็เชิญเด็กหนุ่มไปพบที่ทำเนียบทูตสหรัฐฯ ตอนนั้นตนก็ถูกเชิญไปรับประทานอาหารเช้ากับคิสซิงเจอร์ด้วย ในวันนั้นก็มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อยู่ด้วย ก็มีการคุยกันว่าสงครามเวียดนามจะจบอย่างไร สุลักษณ์พูดว่ากุญแจที่จะแก้ไขปัญหาสงครามเวียดนามคือจีน ตอนนั้นคิสซิงเจอร์เงียบไปพักหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนเรื่องไป

หลังจากนั้น คิสซิงเจอร์มีกำหนดการไปเยือนปากีสถานต่อ แต่ตอนนั้นไม่ทราบว่าก่อนที่คิสซิงเจอร์จะออกจาก กทม. ก็ได้บอกว่าไม่สบาย ต้องไปพักผ่อนที่แคชเมียร์ แต่ที่จริงคือเขาเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อพบกับโจวเอินไหล นายกฯ จีน ขณะนั้น  นำไปสู่การจัดให้นิกสันไปเยือนจีนใน ก.พ. 2515 และตามมาด้วยการออกแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ ปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทุกประเทศต้องไปตาม หรือก้าวหน้าไปไกลกว่าสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

เตชเล่าต่อไปว่า ในปี 2516 ไทยเจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน กระบวนการเจรจานั้นใช้เวลาและมีอุปสรรคมาก ตอนนั้นตนเป็นหัวหน้ากองกรมตะวันออก นอกจากจีนแล้วต้องปรับความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ในเอเชียด้วย อย่างในเอเชียเหนือก็มีมองโกเลียและเกาหลีเหนือ แต่กับเกาหลีเหนือนั้น ไทยยังคงมีสถานะสงครามกันอยู่เพราะว่าไทยไปอยู่ในสังกัดกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลีที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีสนธิสัญญาสันติภาพ มีเพียงสัญญาสงบศึก จนถึงวันนี้ก็ยังมีทหารไทยในเกาหลีใต้เพียง 5 คน มีไว้สำหรับชักธงชาติไทยขึ้นตอนเช้าและชักลงตอนเย็นร่วมกับประเทศอื่นๆ แต่เมื่อ 45-46 ปีที่แล้วทหารไทยมีหน้าที่ขนส่งของเข้าไปให้กองกำลังสหประชาชาติถึงพื้นที่รอยต่อระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ที่ปันมุนจอม

นักการทูตอาวุโสกล่าวต่อไปว่าการปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นการเริ่มเจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในขณะที่เป็นคู่สงครามกันอยู่ แต่ในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้ โดยตนเป็นคนทำบันทึกข้อตกลงต่างๆ ให้กับคณะรัฐมนตรีไทยซึ่งข้อที่สำคัญที่สุดคือการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยโดยทั่วไปที่ยกเลิกความคิดว่าจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในเอเชีย

สำหรับสถานการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาจากพรรครีพับลิกันเหมือนนิกสัน มีการพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ถือเป็นการริเริ่มที่กล้าหาญ ซึ่งจากนั้นก็มีการพบกันรอบสองที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม แต่การเจรจาระหว่างสองฝ่ายยังไม่ตกผลึก ไม่สุกงอม แม้กระนั้นก็ถือเป็นการเปิดฉากที่น่าสนใจ

สันติภาพคาบสมุทรเกาหลีทำได้ ไทย-อาเซียนต้องทุ่มเทกว่านี้

กษิต เล่าว่า ก่อนปี 2518 ตนประจำการอยู่ที่กององค์การสนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ SEATO มีเป้าหมายคือต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทุกวิถีทาง แต่พอใกล้ปี 2518 เวลามีการประชุมสมาชิก ปากีสถานมักจะหายไปเพราะว่าตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับจีนเพื่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจอย่างอินเดีย หลังจากนั้น SEATO ก็ล่มสลายไป กอง สปอ. ก็กลายเป็นที่ทำการใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ

กษิตเล่าต่อไปว่าการเมืองภายในของไทยมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนสงครามเกาหลีประมาณ 1-2 ปี มีการปฏิวัติของจอมพลผิน ชุณหะวัน ทำให้สายซ้ายกลางของปรีดี พนมยงค์และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หมดจากอำนาจไป และเอาจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำ รัฐบาลทหารยุคนั้นตัดสินใจว่าจะไม่ร่วมกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และเข้าร่วมกับฝ่ายเสรีนิยมตะวันตกเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จากนั้นไทยก็เข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติไปรบที่คาบสมุทรเกาหลี ไทยจึงเป็นคู่สงครามกับเกาหลีเหนือตลอดมา แต่เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยน นโยบายทุกอย่างก็ปรับ เกาหลีเหนือเข้าไปเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ส่วนจีนไต้หวันถูกแทนที่ด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ ไทยก็ต้องปรับตัวความความเปลี่ยนแปลงนั้น

กษิตมองว่าสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีว่า ตอนนี้ไทยมีวาระเป็นประธานอาเซียนเหลืออยู่หกเดือน ก็อยากจะขอวิงวอนให้ รมว.กต. คนปัจจุบันหรือคนใหม่ ใช้การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum : ARF) ให้มากกว่านี้ในการแสวงหาสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทนำ อาเซียนทั้ง 10 ประเทศสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้-สหรัฐฯ ได้ และมีพลังเพียงพอทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและสหประชาชาติ

อดีต รมว. ต่างประเทศกล่าวถึงประเด็นหลักในเรื่องสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีคืออะไรจะนำไปสู่สันติภาพนั้น หนึ่ง ต้องยุติภาวะสงคราม ให้มีสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างคู่กรณีทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ สอง ต้องให้มีประกาศจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นพื้นที่แห่งสันติสุข (Zone of Peace) เป็นแดนที่เป็นกลางและปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ให้มีกองกำลังสันติภาพอย่ในคาบสมุทรสัก 10-15 ปี ต้องถอนกำลังสหประชาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ออกไป ไม่เสริมสร้างการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์รวมถึงจรวด เสริมให้เหนือ-ใต้ตั้งสหพันธรัฐ จะเป็นคนละระบอบก็หรือจะปรับกันอย่างไรก็ต้องปล่อยให้เขาว่ากันไปเอง โดยไม่มีการแทรกแซงหรือบีบบังคับกจากภายนอก มีกองทุนช่วยเหลือในการรวมประเทศและความช่วยเหลือที่นานาชาติสามารถลงขันร่วมกัน ในเรื่องนี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนสามารถออกข้อเสนอได้ทั้งในเวทีอาเซียนและเวทีสหประชาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net