เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: มุมมนุษย์ของ 'สยาม ธีรวุฒิ' กับสังคมป่วยๆ ที่เห็นต่างไม่ได้

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. ปาฐกถา พูดถึงสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ถูกนำตัวกลับจากเวียดนามมายังไทยแล้วหายตัวไป เล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตในฐานะเพื่อน เขาเป็นใคร  ทำไมถึงหนีไป การมีผู้ลี้ภัย อุ้มหาย คดีการเมือง ทำร้ายนักกิจกรรมคือความป่วยไข้ของสังคมที่อยู่กับความเห็นต่างไม่ได้ อย่างน้อยขอให้ได้รู้ว่าตอนนี้สยามอยู่ที่ไหน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (ที่มา:facebook/กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG)

7 ก.ค. รศ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "เพื่อนสยาม" ในเวที De-Talk: ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ที่คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นการพูดถึงสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยการเมืองในเวียดนามที่มีว่าถูกนำตัวกลับมาไทย และหายตัวไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2562 มีใจความว่า

(ใจความมาจากสคริปท์ในเฟสบุ๊คของเก่งกิจ เรียบเรียงตามที่พูดในเวที)

รู้จัก ‘สยาม ธีรวุฒิ’ 1 ใน 3 ผู้ลี้ภัยการเมือง จากเวียดนามสู่หนไหน(ยัง)ไม่มีใครรู้  

เพื่อนสยาม // 7 ก.ค. 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันนี้ผมมาพูดในฐานะเพื่อน/สหายของสยาม ผมจะพูดถึงเขาในฐานะ “มนุษย์คนหนึ่ง”

1. สยามคือใคร

สยาม ธีรวุฒิ ชายอายุ 33 ปี ลูกชายของครอบครัวช่างซ่อมแอร์ย่านอ้อมน้อย เขาเรียนจบวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ...

ผมรู้จักสยามช่วงปี 2552 หลังจากรัฐประหารปี 2549 ได้ 3 ปี และก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ถึงปี โดยการแนะนำของน้องๆที่ทำกิจกรรมทางสังคมในรามคำแหง

ภาพแรกที่เห็นคือ เขาขี้อาย ไม่ค่อยพูด บางครั้งพอเขาพูด เพื่อนก็จะขำ เพราะคิดว่าคำถามของเขาดูแปลก

หลังจากปี 2552 สยามก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะคนร่วมจัดงาน ยกเก้าอี้ คนนำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้นๆ และล่าสุดก็คือนักแสดงละครในกลุ่มประกายไฟการละคร

มีเรื่องที่พวกเรารู้กันเสมอเกี่ยวกับสยามคือเขาจะมาร่วมกิจกรรมกับพวกเราได้ก็ต่อเมื่อว่างจากงานช่วยครอบครัวซ่อมแอร์ บางทีเขาก็บอกเราว่า “พี่ ผมไปช่วยไม่ได้นะพรุ่งนี้ ผมต้องออกไปล้างแอร์กับพ่อ”

แน่ล่ะ สยามมีพ่อและแม่ ไม่ต่างจากเราทุกคน

แน่นอนว่าเขามีคนที่เขารัก และก็มีคนที่รักเขา เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

2. ทำไมเขาต้องหนีไป

ภายหลังจากรัฐประหารปี 2557 นักกิจกรรมหลายคนถูกเรียกไปรายงานตัวและระบุความผิดด้วยคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 112 ผมและหลายคนถูกเรียกไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พวกเขาถามเราว่าเราอยู่ตรงไหนใน “ผังล้มเจ้า” พวกเขาเอารูปที่ถ่ายตามม็อบ ตามกิจกรรมสัมนาวิชาการต่างๆ รวมทั้งรูปที่ถ่ายร่วมกับพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แล้วเขาก็ถามว่าทำไมผมต้องถ่ายรูปกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งจริงๆ ผมไปยืนถ่ายติดกันมา แต่ต่อให้ผมไปยืนตั้งท่าถ่ายกับเขาแล้วผมผิดตรงไหน

เรื่องราวหนึ่งในระหว่างการสอบสวนพวกเรา เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผมซึ่งแก่ที่สุดในกลุ่มประกายไฟเป็นคนเขียนบทละครเจ้าสาวหมาป่า แน่นอนว่าผมปฏิเสธ เพราะผมไม่มีความสามารถนั้นแน่ๆ

ที่สำคัญ ผู้มีอำนาจยังได้ถามถึงสยามและสมาชิกคนอื่นๆของประกายไฟการละคร ผมและเพื่อนตระหนักแน่ชัดระหว่างที่นอนในค่ายทหารว่าสยามคงจะโดนคดีแน่นอน

ภายหลังจากออกจากค่ายทหาร ผมฝากเพื่อนไปบอกสยามว่าเขาน่าจะมีโอกาสโดนจับกุม

หลังจากนั้นผมก็ทราบว่าเขาหนีไป เขาหนีไปแบบที่หลายคนหนีไปหลังการรัฐประหาร บางคนหนีสำเร็จ บางคนถูกจับเข้าคุก และหลังจากออกจากคุกชีวิตก็คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และแน่นอน หลายๆ คนตาย

3. สยามหายไปไหน หายไปได้อย่างไร

ในระหว่างที่เขาหนีไป ผมรู้มาว่าเขาลำบากมากทั้งการปรับตัวและความเป็นอยู่ เขาไม่มีใครสนับสนุน นอกจากเงินเล็กน้อยที่ผมเดาว่ามีคนส่งให้เขาในนามของการบริจาคช่วยเพื่อนด้วยวิถีทางใดซึ่งผมไม่ทราบ ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ เข้าไปช่วยให้เขาไปประเทศที่ 3 ได้อย่างปลอดภัย นี่ยังไม่นับว่าพ่อและแม่ของเขาโดนคุกคามอยู่ตลอดเวลา จากกลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าใคร

ผมไม่ได้ตามข่าวเขามากนัก มารู้อีกทีคือประมาณวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าเขาถูกจับระหว่างเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม และถูกส่งกลับไทยในวันที่ 8 พ.ค. จนบัดนี้เราทุกคนก็ไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน

ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่จับกุมและทำร้ายเขาคงรู้ดีว่าเขาอยู่ที่ไหน

สยามไม่ได้อยากหายไป ไม่ได้อยากหนี แต่ทำไมสยามไม่สู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ผิด

ผมคงไม่ต้องสาธยายมากนักว่าทำไม เพราะไม่เคยมีใครถูกพิสูจน์ ”ถูก” จากคดีทำนองนี้ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินไปแล้วว่าพวกเขาผิดและเป็นภัย และพวกเขาไม่ใช่คนไทย

ผมนึกสงสัยมากๆว่า เพราะเหตุใดลูกชายของช่างแอร์ที่ตลก เศร้า รัก แน่นอนว่ามีคนที่เขาแอบชอบซึ่งก็เป็นเพื่อนของเราเอง และมีความฝัน ถึงต้องจบลงแบบนี้

หรือว่าสังคมไทยไม่ต้องการความฝันและคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ???

4. ความฝันกับความเปลี่ยนแปลง

สังคมที่ดีคือสังคมที่ทำให้เรามีความฝันได้ สังคมที่จะมีความฝันได้มันต้องเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะมีชีวิตและเสรีภาพที่จะพูด รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้สอดคล้องไปกับความฝัน สารคดีที่เพิ่งได้ดู (มีการฉายสารคดีชีวิตผู้ลี้ภัยไทยในงาน De-Talk) มันเป็นส่วนที่ชัดเจนมากว่าการมีเสรีภาพกับการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าคุณไม่มีเสรีภาพ คุณจะบอกได้อย่างไรว่าคุณมีชีวิตอยู่ แล้วถ้าคุณมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถมีแสดงออกซึ่งเสรีภาพของตัวคุณเอง คุณจะบอกได้อย่างไรว่าคุณมีชีวิตอยู่

การมีความฝันสะท้อนอย่างน้อย 2 สิ่ง

1) สังคมที่ดำรงอยู่ไม่ดีพอ มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรง

2) สังคมที่ดีกว่าคือทางแก้หนึ่ง ซึ่งก็มีได้หลายความใฝ่ฝันพร้อมๆกันได้เสมอ

ผมมารู้ว่าสยามมีบทบาทในการจัดรายการวิทยุร่วมกับผู้ลี้ภัยอีกสองสามคน ก็เมื่อเห็นข่าวการหายตัวไปของพวกเขา

ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมองเขาอย่างไร ผมก็รู้ว่าเขาคือสยามที่ผมรู้จักเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว

เขายืนยันเสรีภาพที่จะมีชีวิต ที่จะพูด ที่จะมีความฝัน ต่อให้สิ่งที่เขาพูดหรือฝันมันจะไปไกลแค่ไหนก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาพยายามยืนยันการมีชีวิตของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งประเทศนี้ให้เขาไม่ได้

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความฝัน สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทางใดทางหนึ่งเสมอ และความเปลี่ยนแปลงก็คือเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของสังคมหนึ่งๆด้วย

การปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงก็คือหัวใจของระบอบเผด็จการและการกดทับเบียดขับการมีชีวิตและเสรีภาพของสมาชิกในสังคม

ในทางรัฐศาสตร์ หากสังคมใดไม่สามารถอดทน ไม่สามารถปรับตัว หรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากสมาชิกของสังคม มันก็สะท้อนความป่วยอันเกิดจากความไม่ยืดหยุ่นและไร้สมรรถนะในการจัดการกับความแตกต่างและความขัดแย้ง ซึ่งควรจะถูกมองเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกัน

ผู้ลี้ภัย การอุ้มหายและการจับกุมด้วยคดีทางการเมือง รวมถึงการทำร้ายร่างกายจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ในช่วงที่ผ่านมาคืออาการของความป่วยไข้ของสังคมนี้ ซึ่งเป็นสังคมที่รังเกียจและเบียดขับความฝันและการมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

การหาความจริงว่าสยามอยู่ที่ไหน ใครทำให้เขาหายไป และทำไมพวกเขาถึงต้องทำให้สยามหายไป ก็คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขอาการป่วยไข้ปางตายของสังคมไทย

เราทุกคนคือสยาม ผมคิดว่านี่คือสโลแกนที่สะท้อนความจริงอย่างถึงรากที่สุดเพราะเราคือสยาม เราเคยเป็นสยาม และเราจะกลายเป็นสยามในที่สุด

ถึงจุดนี้ผมขอเรียกร้องให้เราร่วมกันแก้ไขความป่วยไข้ ล้างพิษของสังคมนี้ด้วยการตามหาสยามกันเถอะ ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว เราต้องการรู้ความจริงว่าเขาอยู่ที่ไหน ขอบคุณมากครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท