Skip to main content
sharethis

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ถอดรื้อทัศนะของ บย็อง-ชุล ฮัน นักปรัชญาชาวเกาหลีใต้ ที่พยายามหาว่าผู้คนในโลกทุนนิยมดิจิทัลหรือเสรีนิยมใหม่ความเป็นมนุษย์แตกกระจายลงอย่างไร ตัวตนของมนุษย์ถูกทำให้แยกขาดจากผู้อื่น และถูกทำลายเสรีภาพไปเช่นไร มนุษย์จะสามารถกู้คืนเสรีภาพที่แท้จริงกลับมาได้อย่างไร ท่ามกลางเสรีภาพลวงตาในโลกดิจิทัล

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานเสวนา “ในห้วงของความเปลี่ยนแปลง” (On the Verge of Change) ในประเด็นตัวตน สังคม และคุณค่าขึ้นที่ห้องประชุม 50 ปี คณะมนุษยศาสตร์ ภายในงานนี้เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกำลังแปลหนังสือเรื่อง Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies of Power ของ Byung-Chul Han ได้ขึ้นมานำเสนอในหัวข้อ “ทัศนะของ Byung-Chul Han ต่อวิกฤตเสรีภาพ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคเสรีนิยมใหม่” เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า Byung-Chul Han มองเสรีภาพอย่างไร และเมื่อเสรีภาพเข้ามาอยู่ในยุคเสรีนิยมใหม่แล้วเสรีภาพกลายเป็นเช่นไร

Byung-Chul Han คือใคร

 บย็อง-ชุล ฮัน (Byung-Chul Han) เป็นนักปรัชญาชาวเกาหลีใต้ เกิดในปี 1959 ที่ประเทศเกาหลีใต้ และไปเรียนต่อด้านปรัชญาที่ประเทศเยอรมัน วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาศึกษามาร์ทีน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ (being) ของมนุษย์ด้วยผ่านวิธีทางปรากฏการณ์วิทยา ปัจจุบันบย็อง-ชุล ฮัน เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Berlin University of the Arts เขาเขียนหนังสือออกมามากกว่า 20 เล่ม และเล่มที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือหนังสือเรื่อง The Burnout Society

โดยเนื้อหาหลักในการบรรยายครั้งนี้มีที่มาจากหนังสือเรื่อง Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies of Power ซึ่งเก่งกิจกำลังแปลอยู่ ในทัศนะของบย็อง-ชุล ฮัน โลกดิจิทัลทำให้ Things หรือสิ่ง ถูกทำให้ไม่มีความหมาย สำหรับบย็อง-ชุล ฮัน วิธีการที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของมนุษย์ขึ้นมาได้ต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งต่างๆ มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากปราศจากความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ บย็อง-ชุล ฮัน พยายามจะหาว่าแล้วมนุษย์ในโลกปัจจุบันที่สูญเสียจุดอ้างอิงบางอย่างไปแล้วจากการเข้าสู่โลกดิจิทัลและยุคของเสรีนิยมใหม่จะถูกรื้อฟื้นได้อย่างไร เสมือนกับเป็นการรื้อฟื้น humanity หรือ ความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ชาติขึ้นมาท่ามกลางสภาวะทุนนิยม โลกดิจิทัล และเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้ humanity ของมนุษย์แตกกระจาย ซึ่งเป็นโจทย์ที่นักปรัชญาร่วมสมัยหลายคนให้ความสนใจในประเด็นนี้

 

การสถาปนาเทคโนโลยีของอำนาจในโลกทุนนิยมดิจิทัลทำลายเสรีภาพของมนุษย์ลงได้อย่างไร

ในโลกทุนนิยมดิจิทัลหรือเสรีนิยมใหม่ได้สถาปนาเทคโนโลยีของอำนาจที่มุ่งไปสู่การทำลายเสรีภาพของมนุษย์ ถ้าดูตามวิธีคิดของปรัชญาในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ปรัชญาเยอรมันก็จะให้ความสนใจในเรื่องของความแปลกแยกจากสิ่งต่างๆ ซึ่งความแปลกแยกนั้นวางอยู่บนฐานที่ว่ามนุษย์ควรรักษาสารัตถะของความเป็นมนุษย์เอาไว้ แต่ในโลกทุนนิยมดิจิทัลความคิดนี้ถูกกลับด้านไป ยิ่งมนุษย์พยายามแสวงหาตัวตนหรือสร้างตัวตนมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเป็นการทำลายเสรีภาพ

บย็อง-ชุล ฮัน พยายามอธิบายว่าตัวตนของมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นในโลกดิจิทัลทั้ง Facebook, Instagram และช่องทางต่างๆ ที่แต่ละคนนำเสนอตัวเองออกมาสุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ก็เป็น logic หนึ่งของระบบทุนนิยมที่ทำให้ดูเหมือนประหนึ่งว่าเรามีเสรีภาพ

แล้วในทัศนะของบย็อง-ชุล ฮัน เสรีภาพคืออะไร

ก่อนหน้านี้นักปรัชญาฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1960 พยายามอธิบายว่า การที่มนุษย์ถูกทำให้เป็น “subject” หรือองค์ประธาน subject ในบริบทของ “s” ตัวเล็กจะหมายถึงผู้ที่ไร้อำนาจหรือผู้ถูกปกครอง ซึ่งมนุษย์ที่ไร้อำนาจจะกลายเป็น subject to ที่ถูกปกครองภายใต้กลไกของอำนาจอย่างไร ขณะที่บย็อง-ชุล ฮัน เสนอว่าในโลกดิจิทัลประเด็นว่าด้วย subject ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอย่างที่นักปรัชญาฝรั่งเศสเข้าใจอีกต่อไป สำหรับบย็อง-ชุล ฮัน สิ่งที่เป็นกลไกของการปกครองที่สำคัญที่สุดคือ project ไม่ใช่ subject

ในที่นี้ project หมายถึงเป็นการประดิษฐ์สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่มนุษย์ต้องสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่เช่นนี้ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกครอง และยังทำให้ตัวตนของมนุษย์กลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ภายใต้แนวคิดเรื่อง project เสรีภาพยังได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เสรีภาพถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของ subject โดยที่มนุษย์มองว่าเสรีภาพของตนเองคือการต่อต้านการถูกกดขี่ ต่อต้านอำนาจที่มาจำกัดเสรีภาพของตัวเอง แต่ภายใต้แนวคิดเรื่อง project บย็อง-ชุล ฮัน กำลังบอกว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีและต้องใช้เสรีภาพ หรือมนุษย์ถูกบังคับให้มีเสรีภาพ ซึ่งเสรีภาพนี้คือการนำเสนอตัวเองและสร้างตัวตนใหม่อยู่ตลอดเวลา ในระบบทุนนิยมแบบดิจิทัลมนุษย์ต้องสามารถเป็นอะไรให้ได้หลากหลายมากที่สุด เป็น “freedom of CAN” ที่ทุนนิยมพยายามโปรโมทเสรีภาพว่าด้วยความสามารถมากกว่าสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็น เพื่อทำให้ตัวตนของมนุษย์เคลื่อนจากการเป็น subject ไปสู่ project

นอกจากนี้เสรีนิยมใหม่ในสายตาบย็อง-ชุล ฮัน ยังได้สร้าง subject แบบการเป็นผู้ประกอบการขึ้นมา เก่งกิจใช้คำว่า “เราทุกคนกลายเป็นผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา” โดยที่มีตัวเองเป็นสินค้า ซึ่งตัวตนของการเป็นผู้ประกอบการนี้เป็นแบบเปิด

“เราสามารถที่จะเป็นอะไรได้สารพัดรูปแบบภายใต้เงื่อนไขที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ในแง่นี้เสรีนิยมใหม่คือกระบวนการที่ทำให้ตัวตนของเรากลายเป็นสินค้ามากกว่าที่จะบอกว่าเราผลิตอะไร”

เช่น อาชีพนักเขียนบางครั้งคนซื้ออยากรู้ว่าใครเป็นผู้เขียนมากกว่าหนังสือเล่มนั้นเขียนอะไร ทำให้ตัวตนของนักเขียนกลายเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่ง มนุษย์จึงต้องผลิตซ้ำตัวตนของตัวเองหรือผลิตตัวตนใหม่ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลาในลักษณะที่หลากหลาย (Self as product – unlimited self-production) โดยบย็อง-ชุล ฮัน มองว่ากระบวนการหมกมุ่นในการผลิตตัวตนเหล่านี้ได้ทำลายความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่น

เสรีนิยมใหม่ได้สร้างภาพให้ตัวตนของมนุษย์อยู่โดยแยกขาดจากความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่สำหรับบย็อง-ชุล ฮัน การมีเสรีภาพคือการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเพื่อนและมิตรภาพ “Being free meant being among friends” ดังนั้นจึงเป็นไปไม่เลยที่มนุษย์จะบอกว่าตนเองเป็นใครโดยปราศจากเพื่อนหรือคนอื่น เสรีภาพในการสร้างตัวตน หรือ self จึงเป็นเสรีภาพในระบบทุนนิยม

 

อำนาจถูกทำให้ “Friendly” มากขึ้นภายใต้เสรีนิยมใหม่และโลกดิจิทัล

 งานของบย็อง-ชุล ฮัน แทบทุกชิ้นจะมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมดิจิทัล เขามองว่าสังคมดิจิทัลเป็นสังคมที่หมกมุ่นอย่างมากกับการใช้เสรีภาพ และบีบคั้นให้มนุษย์ต้องใช้เสรีภาพอยู่ตลอดเวลา โดยที่สังคมดิจิทัลมุ่งสู่สภาวะของการเปิด (Digital openess) ทำให้มนุษย์ต้องเปิดเผยตัวเองอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในทัศนะของบย็อง-ชุล ฮัน เป็นความสัมพันธ์แบบปิดที่กำจัดอยู่ในวงจรความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง (closedness of relationship) เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง ฯลฯ

 นอกจากนี้บย็อง-ชุล ฮัน ยังมองว่า สังคมแบบเสรีนิยมใหม่ได้เปลี่ยนตัวตนมนุษย์จากความเป็นพลเมืองให้กลายเป็นผู้บริโภค เนื่องจากการเป็นผู้บริโภคจะไม่มีขอบเขตตราบเท่าที่มีเงินใช้จ่ายซื้อสินค้านั้น แต่ความเป็นพลเมืองมีขอบเขตจำกัดอยู่ภายใต้สังคมการเมืองที่เราอาศัยอยู่

“เสรีนิยมใหม่เปลี่ยน citizens เป็น consumers ซึ่งมันทำลาย politics”

ดังนั้น การเข้าไปอยู่ใน Big Data ของสังคมดิจิทัลในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ทำลายขอบเขตของการเป็นบุคคลของมนุษย์ลง มนุษย์ในยุคดิจิทัลจะไม่ belong to พื้นที่ใดๆ ในโลกอีกต่อไป

“ในขณะที่เราบอกว่าคุณกลายเป็นพลเมืองของโลก ในความหมายกลับกันมันสะท้อนว่าคุณไม่ได้ belong to อะไรเลยในโลกใบนี้ การใช้เสรีภาพของเราที่ถูกทำให้ไม่ยึดโยงกับอะไรและไม่มีขอบเขต จึงเป็นเสรีภาพที่มันถูกทำให้ไม่เป็นการเมือง”

สังคมดิจิทัลในแพลตฟอร์มต่างๆ ยังผลักให้มนุษย์ที่เข้าไปปฏิสัมพันธ์ภายในนั้นกลายเป็นผู้ชม (Spectator) ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือความขัดแย้งใดๆ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ถูกควบคุมและใช้อำนาจ บย็อง-ชุล ฮัน มองว่า การปกครองโดยใช้อำนาจภายใต้เสรีนิยมใหม่ “อำนาจถูกทำให้ Friendly มากขึ้น” ราวกับว่ามนุษย์ไม่ถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้เสรีนิยมใหม่และสังคมดิจิทัล แต่เสรีภาพที่เรามีคือเสรีภาพในการเลือกซื้อสินค้า ไม่ใช่เสรีภาพทางการเมืองและไม่สามมารถออกแบบการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์คนอื่นได้ เราออกแบบได้เพียงการบริโภคของตัวเองในฐานะปัจเจก

“ระบบทุนิยมทำให้เรามีเสรีภาพประหนึ่ง Facebook ที่มีเสรีภาพที่จะกด like สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ออกแบบมาแล้วว่าคุณสามารถกดตัวอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นเสรีภาพแบบปัจเจกบุคคล free selection ไม่ใช่ free choice ในแง่นี้การปกครองหรือการใช้อำนาจของระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่จึงทำให้เราคิดว่าตัวเรามีเสรีภาพอย่างถึงที่สุด และเราจะต้องใช้เสรีภาพของเราอย่างถึงที่สุด เสรีภาพในแง่นี้ไม่ใช่การกดหรือจำกัดเสรีภาพ แต่บังคับให้เราต้องใช้เสรีภาพ”

หากคิดในแง่ของการเมืองเสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก แต่เสรีภาพเป็นกระบวนการของการสร้าง เช่น ในเรื่องเพศเสรีภาพไม่ใช่การเลือกว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย แต่เสรีภาพคือกระบวนการการต่อสู้ทางเมืองเพื่อบอกว่าเราเป็นเพศอะไร เพศไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 2 เพศ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีแค่การไปเลือกตั้งหรือการได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ความหมายของประชาธิปไตยก็ต้องถูกสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาบนปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน ซึ่งบย็อง-ชุล ฮัน มองว่าระบบทุนนิยมไม่อนุญาตให้มนุษย์สร้างเสรีภาพขึ้นมาใหม่ เสรีนิยมใหม่อนุญาตใหเราใช้เสรีภาพที่ถูกเลือกมาแล้วในระบบตลาดเท่านั้น

 

การเมืองเชิงจิตวิญญาณ (Psycho-political Power)

บย็อง-ชุล ฮัน มองว่า ระบบการทำงานของการปกครองในโลกเสรีนิยมใหม่เป็นอำนาจของการเมืองในเชิงจิตวิญญาณ (Psycho-political Power) ซึ่งลงมาปกครอง Psyche (จิตวิญญาณ) ของเรา มนุษย์ในยุคเสรีนิยมใหม่ต้องผลิตตัวตนของตัวเองออกมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับการคิดบวก (Positive thinking) ที่ดูราวกับว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการคิด แต่บย็อง-ชุล ฮัน เห็นว่านี่เป็นกระบวนการรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบบทุนนิยมที่บังคับให้เราต้องมีชีวิตที่ดี ถ้าเราไม่มีชีวิตที่ดีแสดงว่าเรายังไม่ได้ใช้เสรีภาพของตัวเอง ตัวตนของเราบกพร่อง กลายเป็นว่ามนุษย์ต้องถูกบีบคั้นให้มีชีวิตที่ดีและมองโลกในเชิงบวกอยู่ตลอดเวลา

“Psycho-political Power คือการใช้อำนาจเพื่อกำกับวิธีคิดของเรา ซึ่งถูกครอบงำโดยวิธีคิดในเชิงบวก เราต้องมุ่งแสวงหาความพึ่งพอใจของชีวิตมากกว่าการแสวงหาความเจ็บปวดหรือการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด”

ปัญหาที่ตามมาคือ big brother is watching you เหมือนดั่งเช่นในนิยาย 1984 ผู้ปกครองอยู่ตรงไหน ใครคือผู้ปกครองที่คอยจับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา บย็อง-ชุล ฮัน บอกว่า ดวงตาของดิจิทัลทำให้การจับจ้องของอำนาจอยู่ในทุกอณูของชีวิตเรา โดยไม่สามารถบอกได้ว่าศูนย์กลางของอำนาจอยู่ตรงไหน “Digital optics enables surveillance from any and every angle. It eliminates all blind spots.” เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือและเข้าถึง โซเชียลมีเดียได้ มนุษย์จึงจับจ้องกันเอง ทำให้ดวงตาของดิจิทัลจกระจายอยู่ในทุกพื้นที่  

วิธีคิดแบบทุนนิยมเช่นนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งทำลายการคิด ขณะที่ประชาธิปไตยต้องการการไตร่ตรองและการคิดร่วมกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลและต้องใช้เวลาคิด สำหรับบย็อง-ชุล ฮัน ตัวตนของมนุษย์จึงไม่สามารถแยกออกจากผู้อื่นได้ ขณะที่เสรีนิยมใหม่หมกมุ่นอยู่กับตัวเองและทำลายตัวตนของมนุษย์กับผู้อื่น ดังนั้น ในขณะที่ตัวตนของเราถูกขับเน้นให้เด่นชัด เราจึงกลับรู้สึกว่างเปล่า และมันทำลายเสรีภาพ

ในทัศนะของบย็อง-ชุล ฮัน มนุษย์จะมีเสรีภาพก็ต่อเมื่อแชร์ร่วมกับคนอื่น ไม่มีเสรีภาพของปัจเจกที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อตัวตนของมนุษย์ถูกทำให้แยกขาดจากผู้อื่นจึงเป็นการทำลายเสรีภาพ และไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้

เสรีภาพคือคุณสมบัติของ Subject หรือองค์ประธาน โดยมนุษย์จะต้องมีสถานะเป็นองค์ประธานที่หลุดออกจากการถูกครอบงำ เสรีภาพต้องการคิดไตร่ตรองร่วมกันอย่างลึกซึ้ง และเป็นเสรีภาพที่มนุษย์มีร่วมกับคนอื่น ที่สำคัญเสรีภาพต้องการเวลา ซึ่งในโลกดิจิทัลเวลาสำหรับการใคร่ครวญหรือไตร่ตรองถูกพรากไปจนหมด ประการสุดท้ายเสรีภาพเป็นเรื่องที่ต้องสัมพันธ์กับอนาคตด้วย มนุษย์จะมีเสรีภาพได้เช่นไรหากไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตตัวเองในอนาคตได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net