โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (2): กระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและมีความเป็น ‘อวัตถุ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในตอนที่แล้ว (โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (1): ยุทธศาสตร์การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง) ผู้เขียนได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของการสะสมทุนในระบอบของการสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่ ภายใต้วิถีการผลิตที่ผู้เขียนเรียกว่า “ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่” (Neoliberal Capitalism) ซึ่งเป็นการอภิปรายลักษณะหรือยุทธศาสตร์การสะสมทุนของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในภาพกว้าง โดยในตอนที่ 2 นี้จะเป็นการอภิปรายถึงรูปแบบของกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมในปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

1. การผลิตมีความยึดหยุ่น (Flexible)

ดังกล่าวมาแล้วในตอนที่ 1 นับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากมายมหาศาล โดยมันได้ขยับขยายตัวเองเข้าสู่การผลิตแบบหลังฟอร์ด (Post-Fordism) หรือสังคมการผลิตแบบหลังอุตสาหกรรม (Post-Industrial Society)  ที่มี “เสรีนิยมใหม่” (Neo-liberalism) เป็นยุทธศาสตร์หลักของการสะสมทุน และมีแรงสนับสนุนการขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีแบบใหม่ เช่น ดิจิทัล ซึ่งหากพิจารณาลึกลงไปในกระบวนการผลิตดังกล่าวทั้งลักษณะของ “เวลา” (Time) ในการทำงานหรือเวลาในการผลิตมูลค่าสินค้า “พื้นที่” (Space) ในการผลิตมูลค่าสินค้า และ “แรงงาน” (Labour) ที่ผลิตมูลค่าของสินค้า ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากกลับไปพิจารณางานของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) โดยเฉพาะ “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน” (The Labour Theory of Value) ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขาชี้ว่าในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมมันทำงานอยู่บนการควบคุมเวลาของการใช้แรงงาน (Labour Time) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวัดกำลังแรงงาน (Labour Power) ของมนุษย์ โดยเวลาที่แรงงานใช้ไปในกระบวนการผลิตจะถูกนำมาคิดคำนวณเป็น “มูลค่า” (Value) [Labour Power=Labour Time=Value] (เก่งกิจ 2557, 12) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “เวลา” และ “กำลังแรงงาน” คือเงื่อนไขสำคัญในการวัดหรือกำหนด “มูลค่า” ของสินค้าในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม โดยในสังคมดังกล่าวได้แยกเวลาของการใช้ชีวิต (Life Time) กับเวลาของการทำงาน (Work Time) ออกจากกันอย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อทุนเปลี่ยนมนุษย์ให้เป็นแรงงานมวลชนขนาดใหญ่ (Mass Worker) และนำแรงงานไปรวมตัวกันอยู่ในพื้นที่และเวลาที่แน่นอน ผลก็คือเกิดการกดขี่และขูดรีดสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นที่มีความเข้มข้นตามมา เช่น การทำลายเครื่องจักร การนัดหยุดงาน หรือการรวมตัวเรียกร้องผ่านสหภาพแรงงาน ฉะนั้น ยิ่งทุนดึงแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทุนก็ยิ่งเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นด้วยและจะนำพาไปสู่วิกฤตในที่สุด สิ่งนี้คือความเปราะบางของทุนโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ทุนจึงต้องการปลดปล่อยตัวเองออกจากแรงงานเพื่อแก้ไขวิกฤตที่เผชิญอยู่ (เก่งกิจ 2558, 58) ดังจะเห็นลักษณะของทุนนิยมในยุคปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเองทั้งในแง่ “เวลา” “พื้นที่” และ “การใช้แรงงาน”

ในกระบวนการปรับเปลี่ยนตัวเองของทุน ทุนได้เข้าไปจัดการกับ “เวลา” ให้เป็นแบบใหม่ จากแต่เดิมทุนควบคุมแรงงานมนุษย์ให้อยู่ในโรงงานได้เพียง 8 ชั่วโมง (ตามกฎของการเป็นลูกจ้างแรงงาน) ส่วนอีก 16 ชั่วโมงคือเวลาของการผลิตซ้ำทางสังคม (Social Reproduction) โดยแบ่งเป็น 8 ชั่วโมงแรกคือการใช้ชีวิต และ 8 ชั่วโมงสุดท้ายคือการผักผ่อน แต่เมื่อทุนได้เข้าไปจัดการกับเวลาให้เป็นแบบใหม่ ก็ทำให้เวลาเปลี่ยนเป็นแบบไม่ตายตัวหรือเวลาแบบยึดหยุ่น (Flexible Time) โดยจัดการกับเวลาของการใช้ชีวิต (Life Time) และเวลาของการทำงาน (Work Time) ให้เส้นแบ่งพร่ามัวลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุนทำให้เวลาการทำงานขยายเข้าสู่เวลาของการใช้ชีวิตมากขึ้น จนในที่สุดมันได้ทำให้เวลาของการทำงานไม่อาจแยกออกจากเวลาการใช้ชีวิตได้ ในแง่นี้แรงงานจึงไม่จำเป็นต้องผลิตมูลค่าสินค้าเฉพาะในเวลาทำงาน แต่อาจผลิตในเวลาไหนก็ได้ การผลิตจึงอยู่ในชีวิตประจำวันของแรงงาน ดังนั้น เมื่อทุนได้เข้าทำการสลายเวลาการทำงานให้มารวมอยู่กับเวลาการใช้ชีวิต จึงเป็นการปล่อยให้แรงงานควบคุมตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง (เก่งกิจ 2558, 58-59) ในลักษณะนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าทุนสามารถปลดปล่อยตัวเองออกจากแรงงานได้ในแง่ของเวลา 

จากการที่ทุนเข้าไปสลายเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น ซึ่งส่งผลให้แรงงานสามารถผลิตสร้างมูลค่าสินค้าในเวลาใดก็ได้ มันยังมีผลสืบเนื่องเป็นการผลักแรงงานออกไปทำงานนอกโรงงานหรือออฟฟิศ จึงทำให้ “พื้นที่” ในการผลิตเปลี่ยนไปด้วย หรือที่เรียกว่า “โรงงานสังคม” (Social Factory) โดยมีผู้ผลิตคือมนุษย์ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิตในสังคมเป็นแรงงานในการผลิตมูลค่า หรือที่ไมเคิล ฮาร์ด (Michael Hardt) และอันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) เรียกว่า “แรงงานสังคม” (Socialized Worker) (เก่งกิจ 2560ก, 125) กระนั้นก็ตาม เกราลด์ เรานิก (Gerald Raunig) มีความเห็นว่าแม้โรงงานสังคมจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมแบบสายพานการผลิตจะหายไป เพียงแต่ในปัจจุบันภาคการผลิตถูกเบ่นเข็มมาทาง “อวัตถุ” (Immaterial) มากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สัดส่วนมูลค่าส่วนใหญ่ของสินค้าเกิดจากการผลิตอวัตถุหรือลักษณะความเป็นอวัตถุในตัวสินค้านั้นๆ แม้แต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอวัตถุทั้งสิ้น (เก่งกิจ 2558, 79) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของเดวิด ฮาร์วี (David Harvey) ที่พบว่าภายใต้การแพร่ขยายของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านสารสนเทศหรือไอทีได้เข้ามามีความสำคัญมากต่อกระบวนการสะสมทุน โดยฮาร์วีได้ชี้ให้เห็นว่าราวปีค.ศ. 1970 การลงทุนในด้านนี้มีปริมาณเพียงแค่ 25% ซึ่งเท่ากับการลงทุนในด้านการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ แต่พอมาถึงปีค.ศ. 2000 การลงทุนในด้านนี้กลับมีถึงประมาณ 45% ของการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่การลงทุนในด้านการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพกลับมีอัตราลดลง และภาคส่วนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคืออุตสาหกรรมวัฒนธรรมหรืออุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าอวัตถุ เช่น การแสดงศิลปะ ภาพยนตร์ วิดีโอ ดนตรี เป็นต้น (ฮาร์วี 2555, 256)

2. ความเป็น “อวัตถุ” ในแรงงานและสินค้า

การผลิตอวัตถุคือ การสร้างระบบภาษา สัญญะ ความหมาย อารมณ์ความรู้สึก หรือความรู้ เช่น การผลิตโทรศัพท์มือถือ ตัวโทรศัพท์ที่เป็นวัตถุ (Material) จะถูกผลิตขึ้นโดยแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีต้นทุนและมูลค่าในตัวของมันเองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ก่อนที่จะนำโทรศัพท์เข้าสู่ตลาด จะต้องเกิดกระบวนการผลิตอวัตถุที่แรงงานใส่กำลังแรงงานอวัตถุของตนเองผ่านการสร้างคุณค่าและความหมายเชิงสัญญะจำนวนหนึ่งลงไป เช่น การสร้างแบรนด์ การโฆษณา การสร้างเรื่องราว ฯลฯ เพื่อให้สินค้ามีความหมายและมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว สัดส่วนของมูลค่าในตัววัตถุกลับมีน้อยกว่ามูลค่าที่เกิดจากการผลิตอวัตถุ (เก่งกิจ 2560ก, 121) ในแง่นี้ แรงงานจึงไม่ได้ใช้เพียงแค่แรงกายในการทำงานเท่านั้น ทว่าพวกเขายังใช้ความรู้ ทักษะ หรือความคิดสร้างสรรค์ในการเชื่อมประสานกับการออกกำลังแรงกายของตนเองในการทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต่างกันกับแรงงานในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ออกแรงกายไปตามสายพานการผลิตหรือเครื่องจักร ทำให้แรงงานมีลักษณะคล้ายหุ่นยนต์

ดังนั้น เมื่อการผลิตเคลื่อนย้ายขยายพรมแดนออกไปควบคุมสังคมทั้งหมดจนเกิด “โรงงานสังคม” ก็ทำให้การพึ่งพิงปัจจัยการผลิตที่หมายถึง ที่ดิน เครื่องจักร และวัตถุดิบของแรงงานต่อนายทุนลดลง แรงงานสามารถทำการผลิตสร้างมูลค่าที่ไหนเวลาใดก็ได้ตราบเท่าที่มีการใช้ความคิดหรือทักษะ เช่น ร้านกาแฟ ห้องสมุด บ้าน หรือสถานที่อื่นๆ ที่แต่เดิมไม่เคยนับว่าเป็นสถานที่ของการทำงาน ประกอบกับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตของนายทุน เพียงแต่ติดต่อสัมพันธ์กันผ่านเครื่องมือออนไลน์ก็สามารถทำงานได้แล้ว (เก่งกิจ 2558, 83) ในแง่นี้การแยกระหว่างปริมณฑลของการผลิต การผลิตซ้ำ การแจกจ่าย และการบริโภคจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะทุกส่วนและทุกปริมณฑลของสังคมล้วนแล้วแต่ทำการผลิตหรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่างเสมอ โดยเฉพาะการผลิตอวัตถุ และทุกๆ การบริโภครวมถึงการแจกจ่ายก็เป็นการผลิตแบบหนึ่งด้วย (เก่งกิจ 2560ก, 125) ยกตัวอย่างเช่น มีงานที่ศึกษาแรงงานในโลกดิจิตอลจำนวนหนึ่ง เช่น งานของโจดี ดีน (Jodi Dean) ที่ได้ศึกษาคนเขียนบล็อก (Blogger) งานของแมคเคนซี วาร์ค (McKenzie Wark) ที่ศึกษาแฮกเกอร์ (Hacker) งานของลิซา นาคามูระ (Lisa Nakamura) ที่ศึกษานักเล่นเกมออนไลน์ หรืองานที่ศึกษาการผลิตสร้างความหมายของแฟนคลับต่อคนที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งเป็นงานของอบิเกล เดอ คอสนิก (Abigail De Kosnik) โดยงานเหล่านี้ต่างก็มุ่งไปในทิศทางเดียวกันคือผู้บริโภคในโลกดิจิตอลต่างก็กลายมาเป็นผู้ผลิตสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้แก่นายทุนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ ในแง่นี้ทุกคนที่เข้าใช้พื้นที่ออนไลน์ก็คือแรงงานประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “แรงงานอวัตถุ” (Immaterial Labour) (เก่งกิจ 2558, 86-87)

จากที่กล่าวมา เมื่อบทบาทของภาคการผลิตอวัตถุเพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้ “แรงงานอวัตถุ” ขยับขึ้นมามีความสำคัญในระบบทุนนิยมยุคปัจจุบันด้วย โดยเมาริซิโอ ลาซซาราโต (Maurizio Lazzarato) ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ สำนักออโตโนมิสต์ (Autonomia) คนแรกๆ ที่เสนอเรื่อง “แรงงานอวัตถุ” โดยเขาได้ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่การขยายตัวของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในช่วงทศวรรษ 1970 รูปแบบของงานและการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การขยายตัวของทักษะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดอยู่กับคนกลุ่มน้อยที่มีการศึกษาเท่านั้น แต่ทักษะของการใช้ปัญญาหรือความคิดสร้างสรรค์ได้กระจายไปทั่วในมวลชนวงกว้าง (เก่งกิจ 2558, 82) และทักษะดังกล่าวได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการผลิต ทำให้พื้นที่การผลิตขยายออกไปครอบคลุมทุกปริมณฑลจนหาอาณาเขตแน่นอนไม่ได้ หรือที่เรียกว่า “โรงงานสังคม” ดังที่กล่าวมาแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากหลังทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา พลังทางการผลิตโดยเฉพาะแรงงานมนุษย์มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก โดยการที่ลูกหลานของชนชั้นกรรมาชีพสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาฝึกเทคนิควิชาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่สำคัญที่สุดของระบบทุนนิยม ทำให้แรงงานส่วนใหญ่มีทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (เก่งกิจ 2558, 66)

นอกจากนี้ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (2560ก, 122-123) ยังชี้ให้เห็นอีกว่า งานและการทำงานในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มีลักษณะเป็นงานของผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งมีความหมายอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง ผู้หญิงในกระบวนการผลิตและตลาดแรงงานมีจำนวนปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในระบบทุนนิยม สอง ข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับเรื่องของเวลาแบบยืดหยุ่น กล่าวคือ เวลาที่เคยแยกกันเด็ดขาดระหว่างเวลาใช้ชีวิตกับเวลาทำงานมีความไม่ชัดเจน งานที่ทำส่วนมากถูกผลิตที่บ้าน การทำฟรีแลนซ์ หรือการทำงานพาร์ตไทม์ ฯลฯ โดยในสังคมทุนนิยมก่อนหน้าเวลาส่วนใหญ่ของผู้หญิงอยู่ที่บ้าน และเป็นเวลาแบบยืดหยุ่น หาเส้นแบ่งไม่ได้ งานส่วนมากเป็นงานผลิตซ้ำทางสังคม เช่น การทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร ฯลฯ ดังนั้น เวลาและพื้นที่ของการผลิตมูลค่าในระบบทุนนิยมยุคปัจจุบันจึงมีลักษณะเหมือนเวลาและพื้นที่ในการทำงานของผู้หญิงยุคก่อนหน้า และ สาม งานที่เป็นงานของผู้หญิงซึ่งไม่เคยถูกนับว่าเป็น “งาน” เพราะถูกมองว่าไม่สร้างมูลค่าให้ทุน หรือที่เรียกโดยรวมว่างาน “การผลิตซ้ำทางสังคม” เช่น งานบ้าน หรืองานบริการที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขและความหมายของความสุข ความเป็นบ้าน ความเป็นมิตร หรือความรู้สึก ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะเป็นอวัตถุทั้งสิ้น ได้กลายมาเป็นรูปแบบและเป้าหมายของการทำงานหลักของสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน ดังนั้น จากเดิมที่นักสังคมวิทยาจัดแบ่งแรงงานออกเป็น “แรงงานคอปกขาว” (White Collars) ที่ใช้ความรู้และทักษะของการคิดในการทำงานออกจาก “แรงงานคอปกน้ำเงิน” (Blue Collars) ที่ใช้กำลังแรงกายทำงานในภาคอุตสาหกรรม แต่เมื่อการศึกษาขยายตัว ลักษณะของงานและการทำงานเปลี่ยนแปลงไป แรงงานส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มกลายมาเป็นแรงงานคอปกขาวมากขึ้นเรื่อยๆ หรือหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว แรงงานส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นแรงงานอวัตถุเพิ่มขึ้นนั่นเอง ประกอบกับงานประเภทที่ใช้กำลังแรงงานก็ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่น โดยพึ่งพาความรู้และทักษะในการตัดสินใจของแรงงาน แรงงานในลักษณะนี้จึงไม่ได้ถูกจองจำโดยเครื่องจักรและไม่ถูกลดทักษะลงไป (เก่งกิจ 2560ก, 78)

กระนั้นก็ดี หากพิจารณาจากที่ได้อภิปรายมาดูเหมือนว่าแรงงานในยุคปัจจุบันจะมีอิสระมากกว่ายุคทุนนิยมอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วอย่าลืมว่ามันคือกระบวนการของการปลดปล่อยตัวเองออกจากแรงงานของทุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มันเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบที่ถูกวางไว้โดยทุนอยู่แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงของการทำให้แรงงานรู้สึกว่าตัวแรงงานเป็นปัจเจกชนที่มีอิสระคือ กระบวนการเข้าไปกล่อมเกลาปลูกฝังค่านิยมหรือปลุกจิตสำนึกให้แรงงานประพฤติตัวเป็นตัวตนที่ดีตามแนวทางของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ว่าตัวแรงงานคือ “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneurs) (ดู Harvey 1989) เจ้าของธุรกิจ หรือเป็นนายตัวเอง เพื่อให้แรงงานมีความคิดว่าตัวเองคือชนชั้นกลางหรือชนชั้นผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจที่มีอิสระที่ได้เข้ามาแข่งขันในตลาดคนหนึ่ง ไม่ใช่แรงงานที่ถูกกดขี่ขูดรีดจากทุน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็คือกระบวนการทำให้จิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นแรงงานเลือนหาย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดไป เพียงแต่มันจะเข้ามากัดเซาะบ่อนทำลายให้ชนชั้นแรงงานไม่ต้องการหรือไม่มีจิตสำนึกที่จะออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของตนเอง ดังนั้น ในแง่นี้จึงต้องมีการออกมาเปิดโปงการทำงานของระบบทุนนิยม ผ่านการต่อสู้ทางชนชั้นโดยเฉพาะในปริมณฑลทางอุดมการณ์ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกทางชนชั้นขึ้นมา

3. แรงงานเสี่ยง (Precariat)

ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนถึงการสะสมทุนในระบบทุนนิยมรูปแบบใหม่ หรือที่ Harvey (1989, Part II) เรียกว่า “การสะสมทุนแบบยืดหยุ่น” (Flexible Accumulation) ซึ่งเป็นวิธีการขูดรีดอันมีลักษณะเด่นที่นิยมนำมาใช้ในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ กล่าวคือ การเข้ามาเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีส่งผลให้มันได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงงานมนุษย์ที่ผลิต “วัตถุ” ในโรงงานอุตสาหกรรมจึงถูกลดบทบาทและจำนวนลงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนงานที่ต้องใช้กำลังแรงงานมนุษย์ผลิต เพื่อการลดต้นทุนการผลิตทุนจึงผลักแรงงานออกจากระบบการจ้างงานตลอดชีวิต (Permanent Employment) ซึ่งเป็นระบบการจ้างงานที่มีค่าจ้างที่แน่นอนตายตัวหรือการรับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนหรือรายวัน มีสวัสดิการต่างๆ ที่สร้างความมั่นคงให้แรงงาน แล้วเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Employment) โดยแรงงานจะขายกำลังแรงงานของตนเองผ่านระบบสัญญาการจ้างงานแบบชั่วคราว การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานไม่เต็มเวลา หรือมีการเว้นระยะเวลาจากการจ้างงานปกติที่ยาวนาน เช่น การที่แรงงานรับงานไปทำที่บ้านโดยรับค่าแรงรายชิ้น (เก่งกิจ 2560ข, 102) แรงงานแบบเหมาค่าแรง แรงงานตามฤดูกาล แรงงานข้ามชาติ ผู้รับจ้างงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ กลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบแพล็ตฟอร์มที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองต่อรายได้ของตัวเอง กลุ่มที่ไม่มีงานประจำซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีงานเมื่อไร หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กลุ่มคนว่างงาน” ซึ่งอาจรวมถึงแรงงานในครอบครัวด้วย นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงแรงงานที่ผลิตอวัตถุโดยตรงด้วยอย่าง “ศิลปิน” ในแขนงต่างๆ 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (2556, 161-162) ชี้ว่างานและการทำงานในลักษณะนี้ถูกวางอยู่บนเงื่อนไขที่เกิดจากการพูดคุยต่อรองระหว่างนายทุนกับแรงงานในฐานะปัจเจกชน จึงส่งผลต่อการขาดการคุ้มครองทางกฎหมายของรัฐ หรือปราศจากการคุ้มครองโดยองค์กรหรือสถาบันวิชาชีพต่างๆ ทำให้เกิดแรงงานที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน และได้รับค่าแรงในอัตราที่ต่ำหรือยืดหยุ่นตามสภาพเศรษฐกิจของนายทุน สอดคล้องกับฮาร์วี (2555, 271-272) ที่ชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่พยายามฉีกทิ้งเครื่องห่อหุ้มคุ้มครองชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการต่อรองกับรัฐและนายทุนโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น ในบางประเทศ อำนาจของสหภาพแรงงานและสถาบันของชนชั้นแรงงานถูกลิดรอนหรือถูกล้มล้าง เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าทำให้โครงสร้างการจ้างงานเปลี่ยนไป มีการใช้มาตรการที่ทำให้ตลาดแรงงานยืดหยุ่น อีกทั้งภาครัฐก็เลิกอุดหนุนสวัสดิการสังคม สิ่งเหล่านี้ฮาร์วีกล่าวว่ามันได้ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากกลายเป็นส่วนเกิน อันทำให้ทุนมีอำนาจเหนือแรงงานในตลาดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนั้น คนงานต้องโดดเดี่ยวและไร้อำนาจเมื่อเผชิญหน้ากับตลาดแรงงานที่มีแต่สัญญาระยะสั้นและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามความพอใจของนายจ้าง ความมั่นคงของหน้าที่การงานกลายเป็นเรื่องในอดีต “ระบบความรับผิดชอบส่วนบุคคล” เข้ามาแทนที่การคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเคยเป็นพันธะผูกมัดนายทุนและรัฐ ทำให้ปัจเจกบุคคลต้องหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ในตลาดที่ขายการคุ้มครองทางสังคมแทน (เช่น ประกันชีวิต) ความมั่นคงของปัจเจกบุคคลจึงเป็นทางเลือกของแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการซื้อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ฝังอยู่ในตลาดการเงินอันง่อนแง่น ซึ่งลักษณะของแรงงานที่กล่าวมาข้างต้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แรงงานเสี่ยง” (Precariat) ดังนั้น หากพิจารณาจากลักษณะดังกล่าวมานี้แรงงานอวัตถุก็จัดเป็นแรงงานเสี่ยงประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน

ภาคการผลิตที่หันหน้าไปฝั่งอวัตถุมากขึ้นในปัจจุบัน หากกลับไปพิจารณางานของมาร์กซ์ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนายไว้ในงานเรื่อง “Grundrisse” ในช่วงศตวรรษที่ 19 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในยุคปัจจุบัน เขาชี้ว่าพัฒนาการของทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่การผลิตอวัตถุ โดยเฉพาะการพัฒนาพลังการผลิต (เช่น การเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงที่มากขึ้นของแรงงาน) จะนำไปสู่การพัฒนาพลังการผลิต/ศักยภาพของแรงงานซึ่งแรงงานจะมีความรู้และทักษะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นแรงงานก็จะเริ่มใช้ความคิดมากขึ้นในกระบวนการผลิตมูลค่าสินค้า (เก่งกิจ 2558, 83) ในงานดังกล่าวมาร์กซ์ได้เสนอมโนทัศน์เรื่อง “ปัญญาทั่วไป” (General Intellect) ซึ่งหมายถึง การที่ความรู้ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตของสังคมทั้งหมดและซึมแทรกเข้าไปในทุกมิติของชีวิต โดยความรู้ดังกล่าวหมายถึงความรู้ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ความคาดหวัง จินตนาการ การมองโลก และเกมของภาษา ไม่ใช่เพียงความรู้ในเชิงเทคนิคของการใช้แรงงานกายเพื่อเชื่อมหรือตอบสนองต่อเครื่องจักรแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเท่านั้น ทว่าความคิดมันได้กลายมาเป็นเครื่องจักรในตัวของมันเอง (เก่งกิจ 2558, 84)

4. บทสรุป: ทุนกำลังขุดหลุมฝังตนเอง?

จากที่อภิปรายลักษณะของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่าพลวัตของระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยิ่งมันพัฒนาก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปตามที่มาร์กซ์และเองเกลล์ (2553, 58) เคยกล่าวไว้คือยิ่งพัฒนาก็เหมือนกับยิ่งขุดหลุมฝังตัวเอง ดังจะเห็นว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้เน้นกลไกตลาดเสรีแบบเข้มข้นผลที่ตามมาก็คือ การกระจุกตัวของทุนหรือการผูกขาดของทุน เพราะกติกาของการแข่งขันนั้นมีเพียงข้อเดียวคือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ทุนใหญ่ควบรวมทุนเล็ก รวมไปถึงกระบวนการในการปลดปล่อยตัวเองของทุนออกจากแรงงานในลักษณะต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าทุนจะเป็นอิสระออกจากแรงงานมากขึ้น ทว่าเมื่อย้อนพิจารณาในอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่าทุนได้ขยายพื้นที่ของความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า “โรงงานสังคม” กล่าวคือ หากมองจากแนวความคิดแบบมาร์กซิสต์ พื้นที่ของการผลิตถือเป็นพื้นที่ของการสร้างมูลค่า ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่นายทุนจะมาควบคุมสั่งการเพื่อแย่งชิงมูลค้าส่วนเกินที่แรงงานผลิตออกมา และนั่นก็หมายถึงพื้นที่หลักของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างทุนกับแรงงาน ดังนั้น เมื่อการผลิตขยายออกไปสู่ลักษณะของ “โรงงานสังคม” แล้ว ทุกพื้นที่ของสังคมจึงกลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างทุนกับแรงงาน (เก่งกิจ 2560ก, 125) ลักษณะเช่นนี้จึงหมายถึงการที่ทุนได้เพิ่มปริมาณของชนชั้นผู้ถูกกดขี่หรือชนชั้นกรรมาชีพให้มากขึ้นนั่นเอง

ลักษณะของการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกรรมาชีพยังสอดคล้องกับการที่ทุนมีสภาพการณ์ผูกขาดด้วย เพราะตามทฤษฎีนั้นเมื่อจำนวนนายจ้างที่ประกอบกิจการของตนเองมีจำนวนลดน้อยลง กลุ่มคนที่ไร้ปัจจัยการผลิตซึ่งถูกบังคับให้ต้องขายกำลังแรงงานของตนเองก็จะเพิ่มขึ้นเสมอ (กนกศักดิ์ 2536, 71) นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่าทุนได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาพลังทางการผลิต โดยเฉพาะด้านทักษะความรู้ สนับสนุนงานที่แรงงานต้องใช้ความคิดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ใช้กำลังกายหรือแรงงานที่ใช้ความคิด แม้ว่าทุนจะปรับการจ้างงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อขัดขวางไม่ให้แรงงานรวมตัวกันเพื่อสร้างสำนึกทางชนชั้นเหมือนในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าทุนไม่คำนึงถึงการรวมตัวกันแบบใหม่ผ่านโลกออนไลน์หรือพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมันสามารถสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นได้ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น กนกศักดิ์ แก้วเทพ (2536, 71) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจึงกล่าวสรุปไว้ได้น่าฟังว่า “ชนชั้นกรรมาชีพนับวันมีแต่จะเติบโตและก้าวหน้ามากขึ้นทุกที... เพราะความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบที่ต้องผลิตซ้ำโดยระบบอัตโนมัติของระบบทุนนิยมนั่นเองเป็นสาเหตุหลัก” ดังกล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่ามันได้เป็นไปตามแนวโน้มที่มาร์กซ์เคยทำนายไว้ว่าระบบทุนนิยมยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ลักษณะการผลิตก็จะรวมศูนย์ (ผูกขาด) มากขึ้นเท่านั้น และมักจะมีลักษณะการผลิตแบบสังคม (โรงงานสังคม-แรงงานสังคม) มากขึ้นด้วย ซึ่งขัดแย้งกับระบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันเสรีและความเป็นปัจเจกบุคคล เขาจึงมองว่าระบบทุนนิยมที่ชนชั้นนายทุนสร้างขึ้นมาจะช่วยทำลายความกระจัดกระจายของการผลิตรายย่อยและช่วยทำให้การนำการผลิตมาเป็นของสังคมโดยรวมในยุคสังคมนิยมทำได้ง่ายขึ้น (ใจ 2546, 76)

กล่าวโดยสรุปแล้ว เมื่อลักษณะของกระบวนการผลิตหรือกลไกการทำงานเพื่อการสะสมทุนได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกลไกการกดขี่ขูดรีดแรงงานที่มีความเข้มข้นขึ้นดังกล่าวมาเช่นนี้ ในด้านหนึ่งแม้มันจะหมายถึงสิ่งที่ฮาร์วีเสนอว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่คือโครงการทางเศรษฐกิจการเมืองของการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นทุน แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งมันก็กำลังสะสมความไม่พอใจขยายจำนวนชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพอยู่ด้วย ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะขอจบโดยสรุปแบบสั้นๆ ว่าระบอบและยุทธศาสตร์ของการสะสมทุนแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เปรียบเสมือนสัปเหร่อที่กำลังขุดหลุมฝังตนเองอยู่ อย่างไรก็ตาม ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ก็ได้เข้าไปสลายตัวตนของชนชั้นกรรมาชีพลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าไปทำลายสลายจิตสำนึกในการต่อสู้ ดังนั้น การสร้างหรือการคำนึงถึงตัวตนในฐานะที่เป็นองค์ประธานของการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยผู้เขียนเสนอว่า การต่อสู้ทางชนชั้นในพื้นที่อุดมการณ์เป็นจุดเริ่มที่ดีในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกครอบงำโดยทุนนิยมยุคปลายนี้

 

เอกสารอ้างอิง
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2557. ““เวลา” กับการศึกษาประวัติศาสตร์: ประวัติศาสตร์ของเทพเจ้า, ประวัติศาสตร์แห่งรัฐ-ชาติ-ทุน และประวัติศาสตร์แห่งการปลดปล่อย.” วารสารมนุษยศาสตร์สาร ปีที่ 15, ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน): 1-26.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2558. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 160413 อุตสาหกรรมกับแรงงาน. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. Academia, เข้าถึงเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564. https://www.academia.edu/21116836/เอกสารประกอบการสอนวิชาอุตสาหกรรมกับแรงงาน_Industry_ and_Labour_.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560ก. เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560ข. Autonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: Illumination Editions.

ใจ อึ๊งภากรณ์. 2546. “แง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับบทความ “ทรรศนะของมาร์กซ์เรื่องสัตสังคม” ของ อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย.” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 34, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 73-80.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร. 2549. “บทนำ การต่อสู้ของทุนไทย การปรับตัวและพลวัตหลังวิกฤตปี 2540,” ใน การต่อสู้ของทุนไทย เล่ม 1. บก. ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 15-40. กรุงเทพฯ: มติชน.

มาร์กซ์, คาร์ล. และ เองเกลล์, เฟรเดอริค. 2553. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์. นนทบุรี: ไฟลามทุ่ง.

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. 2556. “ชนชั้นแรงงานเสี่ยง กลุ่มคนชายขอบ บนศูนย์กลางทุนนิยมเสรีนิยมใหม่.” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 43, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 157-172.

ฮาร์วี, เดวิด. 2555. ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่. แปลโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นรุตม์ เจริญศรี ภัควดี วีระภาสพงษ์ สุรัตน์ โหราชัยกุล และ อภิรักษ์ วรรณสาธพ. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.

Harvey, David. 1989. The Condition of Postmodernity: An Enquiry into the Origins of Cultural Change. Oxford: Blackwell.

 

โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (1): ยุทธศาสตร์การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท