อยู่อย่างไรต่อไปในรัฐบาล คสช. จำแลง

เกือบ 4 เดือนหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงวันนี้ยังไม่มีการตั้งคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ แต่แน่ชัดแล้วว่าผู้นำประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรียังคงเป็นคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเลือกตั้งที่ผ่านมามีข้อครหามากมาย  แต่ต่อให้มีความไม่พอใจอย่างไร เราก็ยังต่ออยู่ในประเทศที่มีโครงสร้างการเมืองเช่นนี้อยู่ การตั้งคำถามว่าต่อจากนี้จะอยู่อย่างไรจึงกลายเป็นคำถามที่สำคัญ

เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์เลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย หรือ We Watch คือกลุ่มเยาวชนที่ทำงานติดตามและสังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งที่ผ่าน ได้สัมภาษณ์ ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงการเลือกตั้งที่ผ่าน มุมมองต่อรัฐบาลในการบริหารบ้านเมืองหลังจากนี้ รวมไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง

การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่เสรี ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน 

ชัยพงษ์ เปิดบทสนทนาด้วยการชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ การเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ การแสดงความอึดอัดของประชาชน เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ เป็นการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ความไม่แฟร์ทางกฎหมาย ต่างๆ นานา ไม่เท่าเทียมกันสำหรับทุกฝ่าย เป็นการเลือกตั้งจอมปลอม ไม่ได้แสดงเจตนาที่แท้จริงของการเลือกตั้งในฐานะประชาชนมองว่ามีความไม่เท่ากันในการหาเสียง การประชาสัมพันธ์การอำนวยความสะดวก รวมถึงการปิดกั้นสื่อ มีข้อจำกัด ม. 44 ภายใต้อำนาจของทหาร ความเข้าใจในกฎกติกาใหม่เป็นบัตรใบเดียวเลือกตั้งทั้งคนทั้งพรรค เป็นการเลือกตั้งแบบทุลักทุเล ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้สื่อความหมายถึงเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพราะครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งภายใต้ความบิดเบี้ยวของกฎหมาย

รัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง จะขาดเสถียรภาพ การสั่งการแบบเดิม ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป 

เขากล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแค่หน้าฉากหรือพิธีกรรม นำมาสู่ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลหลังจากนั้น หลังการเลือกตั้งผ่านมาเกือบ 3 เดือน ก็ยังไม่มีความชัดเจน หากย้อนไปก่อนเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจคนเดียวแต่หลังเลือกตั้งไม่เป็นอย่างนั้นเพราะนักการเมืองก็คิดว่าตัวเองก็มาจากประชาชน พล.อ.ประยุทธ์  จะสั่งการแบบเดิมๆ ไม่ได้ หลังจากนี้คิดว่ารัฐบาลจะอยู่บนความไม่มีเสถียรภาพ อำนาจรัฐประหารซึ่งเป็นอำนาจนำเดี่ยว ต่างจากอำนาจจากการเลือกตั้งที่ต้องรับผิดชอบต่อเสียงที่คุณได้มาต้องรับผิดในวงกว้าง แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้แคร์ฐานเสียง คิดว่าระหว่างรัฐบาลรักษาการกับรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังตอบอะไรไม่ได้ นโยบายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ง่ายเหมือนรัฐบาลทหารที่จะมาสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ถ้าจะมีอะไรแบบเดิมๆ เช่นการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคำถามก็จะเกิดขึ้นในสภา จะเห็นได้ตั้งแต่การอภิปรายตรวจสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

เขาอธิบายต่อว่า การเมืองหลังจากนี้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน จะชิงไหวพริบกันมหาศาล เพราะรัฐบาลทหารหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีเสียงปริ่มน้ำขนาดนี้ อย่างน้อยก็เกินครึ่งมาเยอะ เช่นรัฐบาลถนอม กิตติขจร เป็นต้น อาจจะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเต็มใบก็ไม่ใช่ ลักษณะเป็นแค่เศษเสี้ยวสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยนั้นมีการกันตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง ให้กลุ่มตัวเอง จากนั้นก็เฉลี่ยให้พรรคอื่น ต่างจากรัฐบาลคุณประยุทธ์ที่นักการเมืองมีบทบาทคุมกระทรวงที่สำคัญอย่าง เกษตร พาณิชย์ พลังงาน อุตสาหกรรม นี้เป็นความต่างซึ่งจะนำมาสู่เรื่องการผลักดันนโยบายที่สำคัญๆ นักการเมืองก็ต้องต่อรองเพื่อฐานเสียง สมัยพลเอกเปรมพูดอะไรนักการเมืองก็ฟัง แต่สมัยนี้คุณประยุทธ์จะพูดอะไรนักการเมืองคนทั่วไปก็ไม่ค่อยฟังนี่คือความต่าง

ภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็ง สนับสนุนการเคลื่อนไหวในสภาของ ส.ส.ฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงจับตาการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น

ชัยพงษ์ กล่าวต่อว่า ระบบที่เดินไปบนความไม่มีเสถียรภาพ รัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรม สมาชิกวุฒิสภาสามารถเข้าแทรกแทรกการเมืองได้ รวมไปถึงยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี สิ่งที่ภาคประชาชน จะต้องทำคือสร้างพลเมืองให้เข็มแข็ง อีกส่วนหนึ่งคือสนับสนุนการเคลื่อนไหว คัดค้าน ของ ส.ส. ฝ่ายประชาธิปไตยในสภา ขณะเดียวกัน ส.ส. ก็ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจประเด็นต่างๆ เพราะประชาชนคือฐานของความชอบธรรมการเมืองเลือกตั้ง ถ้ายิ่งทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นเท่าใด อำนาจการต่อรองการเคลื่อนไหวก็จะสูงมากเท่านั้น คิดว่าสองส่วนนี้ต้องเดินควบคู่กันต่อไป

ชัยพงษ์ กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเป็นการเมืองฐานราก ต้องทำให้การเมืองในท้องถิ่นเป็นฐานของการเมืองใหญ่ คิดว่าพรรคต่างๆ ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็ต้องการควบคุมการเมืองท้องถิ่น  ตอนนี้เลือกตั้งท้องถิ่นห่างหายไปนานมาก บางส่วนตั้งแต่ ปี 2555 ค้างมาถึงรักษาการปัจจุบันนี้  ปกติการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการเลือกตั้งตรวจสอบกันมาตลอด  ในหลายปีที่ผ่านมาทำให้การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ไม่มีความหมาย กลับกลายเป็นการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแบบรัฐราชการอีกครั้ง คิดว่าที่ผ่านมาคุณประยุทธ์ต้องการเป็นรัฐราชการแบบเดิม มีราชการส่วนกลางเป็นคนกำหนด

ชัยพงษ์ กล่าวต่อว่า เลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเข้ามาภาคประชาชนต้องทำให้เห็นว่าท้องถิ่นมี การกระจายอำนาจมีความสำคัญอย่างไร การกระจายอำนาจถ้าเกิดขึ้นจริงๆ จะทำให้การรัฐประหารเกิดยากขึ้น เพราะทรัพยากรส่วนมากจะกลับไปที่ท้องถิ่น เมื่อทรัพยากรส่วนกลางมีน้อยลง ใครก็ไม่อยากรัฐประหารที่ส่วนกลาง เพราะไม่มีอะไรให้ทำ กลไกท้องถิ่นจะเป็นการสลายอำนาจส่วนกลางและกำหนดทิศทางใหม่ของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท