Skip to main content
sharethis
  • นักวิชาการมอง การเลือก สว. 67 ล้มเหลว ป้องกันการฮั้วไม่ได้ และไม่ได้คนตรงกลุ่มอาชีพเข้าไปสะท้อนปัญหา ชงประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ก่อน แล้วค่อยเพิกถอนสิทธิทีหลัง เพื่อการเปลี่ยนผ่าน
  • 'พิชาย' มองเลือก สว.ปี 67 สะท้อนความอ่อนแอ และความไม่ไว้ใจต่อเครือข่ายสีแดง เชื่อแม้ สว.ชุดนี้แม้ส่วนใหญ่มาจากเครือข่าย ‘สีน้ำเงิน’ แต่ยังเป็นประชาชน สามารถโน้มน้าวใจเป็นพันธมิตรผลักดันประเด็น ปชต.ร่วมกันได้
  • 'ปุรวิชญ์' รัฐศาสตร์ มธ. เสนอตั้งกลไกตรวจสอบการทำงานของ สว. หรือ Senate Watch ให้ทำงานสมเป็นตัวแทนประชาชน


สืบเนื่องจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี 2567 ซึ่งมีการจัดตลอดทั้งเดือน มิ.ย. 2567 จนกระทั่งได้ว่าที่ สว. 200 คนสุดท้าย และตัวสำรองอีก 100 คน เพื่อสรุปบทเรียน และวิเคราะห์อนาคตฉากทัศน์ทางการเมือง กลุ่ม We Watch โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ "สว.67 ทางข้างหน้า จากสิ่งที่เห็น" ณ ห้อง 322 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมถอดบทเรียนการเลือก สว.ปี 2567 โดยมีการชวนผู้สมัคร สว. ผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. และนักวิชาการที่ติดตามกระบวนการเลือก สว.อย่างใกล้ชิด มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อสังเกตที่ได้พบเห็นจากการเลือก สว.ปี 2567

ครั้งนี้ประชาไท สรุปเสวนาย่อยหัวข้อ “เลือก สว.จะได้ประกาศผลเมื่อไร ปัญหาการฮั้ว กกต.จะสอยอย่างไร” โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิชาการทั้ง 3 คนมาร่วมตั้งข้อสังเกตจากการเลือก สว.67 สะท้อนฉากภูมิทัศน์ทางการเมืองอย่างไร ภารกิจของ สว. ที่ถูกนิยามว่าเป็น 'เสรีนิยมประชาธิปไตย' หรือ 'สว.ภาคประชาชน' ในการแต่งตั้งองค์กรอิสระที่ให้คุณให้โทษทางการเมือง พร้อมข้อเสนอหารแสวงหาพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตย และการตั้งกลไก Senate Watch ตรวจสอบการทำงานของสภาสูงอย่างเข้มข้น

เครือข่าย 'สีแดง' อ่อนแอลง

พิชาย กล่าวว่า กระบวนการเลือก สว. ล้มเหลว เพราะมีชัย ฤชุพันธ์ุ และคณะผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ เคยอ้างว่าการออกแบบการเลือก สว. เพื่อ 1. ป้องกันการฮั้ว และ 2. ต้องการได้คนทุกกลุ่มอาชีพเข้าไปสะท้อนปัญหา และผลปรากฏว่าระบบนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าไม่สามารถป้องกันการฮั้วทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ เพราะมีการจัดตั้งของเครือข่ายนักการเมืองที่มีอำนาจและเงินตราอย่างหนาแน่น  นอกจากนี้ ปัญหาการเลือก สว.ยังไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพอย่างแท้จริง เช่น บางคนเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า แต่สมัครกลุ่ม 18 กลุ่มสื่อมวลชนฯ หรือสมัครไม่ตรงกลุ่มวิชาชีพและความสามารถอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะไม่ผิดตามกฎหมายก็ตาม

(ซ้าย) พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (ที่มา: iLawTH)

พิชาย มองว่า กลุ่มที่มีความสำเร็จในการจัดตั้ง และได้ผู้สมัคร สว.จำนวนมาก คือ เครือข่าย ‘สีน้ำเงิน’ ซึ่งการเลือก สว.ที่ผ่านมา เครือข่ายนี้อาจมีสมาชิกสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนวุฒิสภาทั้งหมด ซึ่งสะท้อนศักยภาพในการจัดตั้ง อิทธิพลทางสังคม และสะท้อนความอ่อนแอของเครือข่าย ‘สีแดง’

"ความพ่ายแพ้ของสมชาย ในเรื่องนี้ เครือข่ายสายสีแดงมีการประเมินว่าเป็นเครือข่ายหลัก และคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ ปรากฏว่าไม่ใช่ และมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจในสังคมไทยที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ไว้ใจเครือข่ายสีแดง และไม่ให้เครือข่าย ‘สีแดง’ ยึดกุมสภาล่าง และบน และให้เครือข่าย ‘สีน้ำเงิน’ ยึดกุมสภาบนให้ได้ และคอยรักษาสถานะของกลุ่มอำนาจเดิมเอาไว้" พิชาย กล่าว

ทั้งนี้ พิชาย แบ่งภูมิทัศน์ทางการเมืองในการเลือก สว.ปี 2567 ไว้จำนวน 3 กลุ่มใหญ่ 1. เครือข่ายกลุ่ม 'สีแดง' คือ 'ฝ่ายขวาประชานิยม' ซึ่งในการเลือก สว.ครั้งนี้ศักยภาพในการจัดตั้งเครือข่ายอ่อนแอลงมาก และพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายสีน้ำเงิน และพ่ายแพ้ให้กับฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงการเลือก สส.ที่ผ่านมา

เครือข่าย ‘สีน้ำเงิน’ เป็นกลุ่มที่กำลังคุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจำนวน สส. อย่างน้อย 100 เสียงขึ้นไป หมายความว่า วุฒิสภาชุดนี้ถูกครอบงำโดยอนุรักษ์เชิงอุปถัมภ์ แต่อย่างไรก็ตาม พิชาย ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า สว.อนุรักษ์นิยมแบบอุปถัมภ์ มีความเข้มข้นน้อยกว่า สว.อนุรักษ์นิยมแบบจารีต และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดได้

"กลุ่มคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์ สามา่รถปรับเปลี่ยนเชิงทัศนคติ หรือพฤติกรรมมากกว่าในเชิงจารีต และคนกลุ่มนี้มีสิทธิที่จะปรับเปลี่ยนจุดยืนได้บ้าง อาจจะมีศักยภาพที่จะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยในกลุ่มสภาบน" พิชาย กล่าว

อาจารย์จาก NIDA กล่าวต่อว่า กลุ่มสุดท้าย สว.เสรีประชาธิปไตย ที่คาดว่าจะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้า ตอนนี้อาจมี สว.ประมาณ 20-30 ราย แต่ดีกว่าสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วที่ไม่มีเลย กลุ่มนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจขยายไปเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ตามตัวเลข เพราะมีประมาณ 70-80 คนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย ‘สีน้ำเงิน’ แม้ว่าไม่ได้เป็นทุกคนที่จะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย อาจจะเป็นเครือข่ายของกลุ่มทุน หรือสายเขียว (ทหาร) ที่หลงมาบ้าง แต่มองว่าสามารถเป็นพันธมิตรกับ สว.เสรีประชาธิปไตย ในบางประเด็นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้

เสนอฝ่ายเสรีประชาธิปไตยต้องแสวงหาพันธมิตร

พิชาย กล่าวเตือนเครือข่ายสีน้ำเงินว่า แม้ว่าจะคุม สว.เสียงข้างมากก็จริง แต่การทำอะไรตามอำเภอใจมากจนเกินไป ประชาชนจำนวนมากเขาคงจะไม่ยอม และอยากให้กำลังใจ 20 กว่าคนของเครือข่ายเสรีนิยมฯ ว่าพวกคุณมีประชาชนเกือบ 20 ล้านคนคอยหนุนหลังอยู่ เพื่อให้คุณเป็นหัวหอกการเปลี่ยนแปลงการเมืองในสภาบน แม้ว่าจะเสียเปรียบเรื่องจำนวนคน แต่การทำงานบนหลังอิงประชาชน พลังจากประชาชนจะเข้าไปหนุนช่วย

"มูลค่าทางการเมืองของเครือข่ายสีน้ำเงินมันสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแวดวงของกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ แต่ไม่ได้สูงขึ้นในสายตาของประชาชน เพียงแต่ว่าทำให้ประชาชนเห็นถึงแบบแผนการเมืองแบบเดิม ตอกย้ำให้ประชาชนทราบอีกทีว่าการเมืองแบบเดิมนั้น มันดำรงอยู่ และไม่ได้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา

"สุดท้าย ผมอยากฝากถึงการทำงานของ สว.รุ่นที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ต้องขยายพันธมิตรเพิ่มเติม และมองว่าการควบคุมมันไม่ได้เป็น ‘absolute’ (เบ็ดเสร็จ) เหมือน สว.ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แม้ว่าในเครือข่าย 120 คนมาจากการหนุนก็จริง แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เขาก็อาจจะมีความคิดเป็นของตัวเอง และฟังเสียงประชาชน เพราะเขาก็คือประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายชนชั้นสูงมาก่อน เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้" พิชาย กล่าว

ด้านปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะเบื้องต้น ว่าการประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ไปก่อน เพื่อให้ สว.ชุดเก่าออกไปก่อน และค่อยเพิกถอนสิทธิทีหลัง เนื่องจากคำร้องยังมีหลายร้อยคำร้องมากตั้งแต่ระดับอำเภอ เพื่อนำไปสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน สว.ชุดใหม่

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข (ที่มา: iLawTH)

สมรภูมิต่อไป การตั้งองค์กรอิสระ

ปุรวิชญ์ ระบุว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ ‘เครือข่าย’ แต่มีลักษณะเป็น ‘โครงข่าย’ คือการเอาหลายๆ เครือข่ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน ประสานงานกันหลวมๆ ส่งผู้สมัครในปริมาณที่มั่นใจได้ว่าเอาเข้ามาแล้ว จะมีจำนวนมากพอที่จะเข้าไปเป็น สว.ได้แน่ๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวสะท้อนผ่านแบบแผนการลงคะแนนเลือก สว.ระดับประเทศ  โดยคะแนนตั้งแต่อันดับที่ 1-6 จะกระโดดทิ้งห่างจากอันดับที่ 7-10 อย่างชัดเจนเป็นแบบนี้หลากหลายกลุ่ม ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘Coordinated block vote’ อย่างแท้จริง

ต่อมา ปุรวิชญ์ กล่าวต่อว่า เขาคิดว่าการเมืองความเคลื่อนไหวใน สว.ชุดใหม่จะมีสภาพคล้ายๆ กับ สว.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กล่าวคือหลังจากเริ่มทำงาน สว.จะเริ่มมีการจับกลุ่มชัดมากขึ้นเป็น ‘บล็อก’ ต่างๆ และบล็อกนี้จะสะท้อนออกมาชัดเจนตอนเลือก ‘องค์กรอิสระ’ และประธานวุฒิสภา แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เมื่อปี 2540 ค่าย ‘สีแดง’ มีสัดส่วนเยอะกว่า แต่วันนี้ปี 2567 เป็นค่ายสีน้ำเงิน ส่วน ‘สว.ภาคประชาชน’ อาจมีบทบาทหน้าที่เหมือนเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ

ปุรวิชญ์ ระบุว่า ปฏิทินการเมืองจัดทำโดย iLaw ว่าด้วยวาระองค์กรอิสระหลายองค์กรที่จะครบวาระช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งสมรภูมิแรกในปี 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะครบวาระจำนวน 2 รายในเดือน พ.ย. 2567  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครบวาระ 3 รายในเดือน ธ.ค. 2567 และยังมีอีก 1 ตำแหน่งที่ยังว่างแต่ถูกปัดตกเข้าไปที่วุฒิสภาแล้ว

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ระบุต่อว่า ปี 2568 จะเข้มข้นไม่เบา เพราะ กกต.จะพ้นวาระ 3 ท่านเดือน ส.ค. 2568 และ กกต. 2 ท่านในเดือน ธ.ค. 2568 ผู้ตรวจการแผ่นดินครบวาระ 1 คนในเดือน พ.ย. 2568 ส่วนในปี 2569 ยังไม่มีเรื่ององค์กรอิสระหมดวาระ

ปี 2570 มี ป.ป.ช.อีก 1 คนครบวาระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบวาระ 5 คนในเดือน ส.ค. 2570 และถ้าปี 2570 รัฐบาลอยู่ครบวาระจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่อีกครั้ง ต่อมา ปี 2571 จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ้นวาระ 6 คน และผู้ตรวจการแผ่นดิน พ้น 2 คนในเดือน พ.ย. 2571

'Senate Watch' ติดตามการทำงานของ สว.อย่างใกล้ชิด

ปุรวิชญ์ กล่าวว่า ด้วยบทบาทของ สว. ที่สามารถกลั่นกรองผู้ที่จะมาเป็นองค์กรอิสระสามารถให้คุณให้โทษทางการเมืองในภูมิทัศน์ทางการเมืองหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาอยากเสนอว่าต้องมี Senate Watch หรือการมอนิเตอร์ว่า สว.ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่ ระหว่างประชาชนและผู้ที่ทำให้ท่านได้เข้ามาเป็น สว. สุดท้ายแล้วอยากให้ท่านคำนึงประโยชน์ส่วนรวม

ปุรวิชญ์ กล่าวว่า สว.ชุดนี้แม้ว่าจะมีคนจากบ้านใหญ่ (ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น) เข้ามา หรือค่ายสีนี้เข้ามา แต่ว่าตอนนี้เราเห็นคนธรรมดาสามารถเข้าไปเป็น สว.ได้ มากน้อยว่ากันอีกที แต่เมื่อ สว.ได้เข้าไปแล้ว จะเป็นเสียงหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระที่สังคมและการเมืองควรจะเดินหน้าไป

แนะ สว.ใช้โอกาส สร้างกระบวนการที่โปร่งใส

ด้านปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มองว่า หลังจากฟังปุรวิชญ์ พูดแล้วมันจะมีปัญหาต่อไปอีก เพราะราคาดหวังว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริงได้มากขึ้น แต่ก็ยังลำบากภายใต้ สว.ชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ปริญญา มองว่าเรื่องนี้จะดีขึ้น ถ้าฝั่ง ‘สว.ภาคประชาชน’ ไปถูกทาง

(ซ้าย) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (ที่มา: iLawTH)

ปริญญา ระบุต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีกลุ่มการเมืองใดที่ได้เสียง สว.เกินครึ่ง สภาวะแบบนี้จะทำให้เกิดการเจรจาต่อรอง และเกิดการประนีประนอม และเสียงของ ‘สว.ภาคประชาชน’ หรือ สว.ที่ไม่อยู่ใต้อาณัติของใคร แม้ว่าอาจจะน้อยกว่าที่คาดหวัง แต่เขามองว่าอาจจะมีมากกว่าที่พูดกัน ดังนั้น ในการเลือกองค์กรอิสระ มันจะเกิดการต่อรอง ซึ่งจะส่งผลให้ สว.ภาคประชาชน เสียงดังขึ้น เพราะว่าเขาต้องการเสียงมาเติมให้เกินครึ่ง ซึ่งจะทำให้ สว.ภาคประชาชน สามารถผลักดันกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยได้

ปริญญา เสนอว่า เบื้องต้น สว.ภาคประชาชน ควรผลักดันให้กระบวนการสรรหาผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องเปิดเผย โปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้กระบวนการอันไม่ชอบมาพากลหมดไป โดยจากนี้ไปการสรรหาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไม่ใช่แค่กรรมการสรรหาทำกันเอง แต่กระบวนการสรรหาต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้คนที่เป็นอิสระและทำงานเป็น คิดว่าอันนี้มีความหวัง สิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้นเอง เรื่องของ 'Senate Watch' ก็ดี เรื่องของการผลักดันให้เกิดความโปร่งใสขององค์กรอิสระ เหล่านี้คือเครื่องมือสำคัญเพื่อนำไปสู่การผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ปริญญา มองว่า กกต.ควรประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ไปก่อน และเพิกถอนสิทธิ สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติชัดเจน กกต.ก็ยังไม่ต้องประกาศรับรอง ให้เลื่อนตัวสำรองมาแทน แต่ สว.ที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องปัญหาคุณสมบัติ ให้ กกต.รับรองก่อน และถ้ามีหลักฐานค่อยเพิกถอนสิทธิทีหลัง ซึ่งถ้าทำแบบนี้ในทางการเมืองจะทำให้มันเดินหน้าต่อไปได้ 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net