Skip to main content
sharethis

จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ชนะผู้มีอิทธิพลในชลบุรีในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พร้อมทิศทางเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นในอนาคต ย้ำต้องสัมพันธ์กับการเมืองในสภา

จรัส คุ้มไข่น้ำ (เสื้อคลุมดำตรงกลาง) กับการลงพื้นที่หาเสียงพบประชาชน ในชลบุรี เขต 6 (ที่มาภาพ : เฟสบุ๊คแฟนเพจ จรัส คุ้มไข่น้ำ เบอร์5 - พรรคอนาคตใหม่ ชลบุรี เขต 6)

จากการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 62 ที่ผ่านมา มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามการเมืองไทยซึ่งอาจเป็นสิ่งที่หลายๆคนก็คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์การลงสนามทางการเมืองของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ปรากฏการณ์งูเห่า บัตรเขย่ง ฯลฯ

กรณีของผลการเลือกตั้งก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าในบางเขตบางพื้นที่ก็มีทั้งผู้สมัครหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่สามารถเอาชนะผู้สมัครที่มีอิทธิพลในพื้นที่แต่ละเขตนั้นได้ ประชาไทจึงอยากชวนมารื้อสถิติข้อมูลว่ามีที่ใดบ้างที่เกิดปรากฏการณ์เจ้าถิ่นแพ้คาบ้านตัวเอง โดยเฉพาะการขึ้นมาของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่สามารถเอาชนะพรรคเก่า และเหตุใดจึงเกิดการพลิกล็อคคะแนนเสียงจากพรรคหน้าใหม่ต่อผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่ ผ่าน ส.ส.หน้าใหม่ฝ่ายแรงงานของพรรคอนาคตใหม่อย่าง จรัส คุ้มไข่น้ำ

เปิดข้อมูลเขตที่ผลคะแนนการเลือกตั้งพลิกสนามล้มเจ้าถิ่น

ในการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมามีเขตที่คะแนนเสียงพลิกล็อกชนะ ส.ส.ผู้มีอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ ‘ช้างล้ม’ ดังนี้

ประเดิมด้วย จังหวัดตรัง อันถือเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ คนปัจจุบัน และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของไทย โดย เขต 1 จังหวัดตรัง นายสุกิจ อัถโถปกรณ์ จากประชาธิปัตย์ พ่ายแพ้ให้กับ นายนิพันธ์ ศิริธร จากพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนน 39,146 ต่อ 38,332

มาดูที่จังหวัดสระแก้ว ถิ่นเจ้าพ่อวังน้ำเย็น เสนาะ เทียนทอง พื้นที่ฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้แพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐทั้ง 3 เขต โดยเขต 1 พลังประชารัฐชนะเพื่อไทยด้วยคะแนน 63,099 ต่อ 19,097 เขต 2 พลังประชารัฐชนะเพื่อไทยด้วยคะแนน 52,787 ต่อ 21,901 และเขต 3 พลังประชารัฐชนะเพื่อไทยด้วยคะแนน 41,962 ต่อ 34,141 คะแนน

จังหวัดนครปฐม เขต 3 เกิดปรากฏการณ์พลิกล็อคถล่มทลาย เนื่องจาก น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา เบอร์ 4 พรรคอนาคตใหม่ เอาชนะเจ้าถิ่นที่ครองตำแหน่งมายาวนานอย่าง นายก่อเกียรติ สิริยะเสถียร ส.ส. จากพรรคชาติไทยพัฒนา ด้วยคะแนน 40,661 ต่อ 12,258

รวมไปถึงม้ามืดในเขต 5 จังหวัดนครปฐม โดยนางจุมพิตา จันทรขจร จากพรรคอนาคตใหม่ เอาชนะ นายสุรชัย อนุตธโต จากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนน 34,164 ต่อ 18,970 อย่างขาดลอย

สำรวจคะแนนเสียงของจังหวัดขอนแก่น เขต 1 ที่นายฐิตินันท์ แสงนาค ม้ามืดจากพรรคอนาคตใหม่ที่สามารถล้มยักษ์อย่าง ‘เสี่ยเต๋า’ นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร แชมป์เก่า 4 สมัยจากพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 38,717 ต่อ 29,396 คะแนน

สุดท้ายที่จังหวัดชลบุรี เขต 5 นายขวัญเลิศ พานิชมาก จากพรรคอนาคตใหม่ เอาชนะ ส.สจากพรรคพลังประชารัฐ ด้วยคะแนน 43,284 ต่อ 38,321 ทั้งนี้ชลบุรีเขต 6 ตระกูลคุณปลื้มพ่ายแพ้ให้กับ ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคอนาคตใหม่อย่าง นายจรัส คุ้มไข่น้ำ เอาชนะ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต ส.ส. และนายกเมืองพัทยา จากพลังประชารัฐ ด้วยคะแนน 39,189 ต่อ 33,440 ซึ่งเป็นการจุดกระแสในฐานะ มดล้มช้าง อันเป็นจุดสนใจต่อสถานการณ์ทิศทางทางการเมืองท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ เกิดคำถามต่อหลายท่านว่าเป็นไปได้อย่างไร

ผู้สมัครและพรรคการเมืองหน้าใหม่กับการชนะการเมืองผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

จรัส คุ้มไข่น้ำ ปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดชลบุรี เขต 6 ซึ่งสามารถเอาชนะ อิทธิพล คุณปลื้ม ผู้เป็นอดีตนายกเมืองพัทยาและผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองในสภามาแล้ว ทั้งนี้ตระกูลคุณปลื้มยังเป็นตระกูลที่ถือได้ว่ามีชื่อเสียงในด้านการเมืองของจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่สมัยสมชาย คุณปลื้ม หรือ ‘กำนันเป๊าะ’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลในท้องถิ่นของจังหวัดชลบุรี ถึงขั้นมีสมญานามว่า ‘เจ้าพ่อเมืองชล’

อ่านเพิ่มเติมที่ https://prachatai.com/journal/2018/09/78912

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ชลบุรี เขต 6 (ที่มาภาพ : เฟสบุ๊คแฟนเพจ จรัส คุ้มไข่น้ำ เบอร์5 - พรรคอนาคตใหม่ ชลบุรี เขต 6)

 

เนื่องด้วย จรัส คุ้มไข่น้ำ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ยังไม่มีชื่อเสียงทางการเมืองมาก่อน สามารถที่จะเอาชนะตระกูลคุณปลื้มจากการเลือกตั้ง 62 ที่ผ่านมาในครั้งนี้ได้ จึงทำให้เกิดกระแสและข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้จากหลายๆ ท่าน ว่าเหตุใด ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคการเมืองหน้าใหม่จึงเอาชนะตระกูลเจ้าถิ่นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้ และทิศทางการเมืองท้องถิ่นของเมืองชลบุรีจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

จรัส คุ้มไข่น้ำ (คนที่สามจากทางซ้าย) ชูสามนิ้วในวันแรงงานสากล ในสโลแกน “อนาคตใหม่ อนาคตแรงงานไทย ที่จะไม่โดนกดขี่ MAYDAY” (ที่มาภาพ : เฟสบุ๊คแฟนเพจ จรัส คุ้มไข่น้ำ เบอร์5 - พรรคอนาคตใหม่ ชลบุรี เขต 6)

 

คุยกับ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.หน้าใหม่จากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

 

จรัส คุ้มไข่น้ำ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของตนก่อนที่จะมาลงสนามการเมืองว่า ก่อนหน้าที่จะมาลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตนได้เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างพนักงานฝ่ายการผลิตที่บริษัทไทยซัมมิท ที่เขตนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ในปี 2534 และหลังจากนั้นในปี 2537 จึงได้ไต่เต้าขึ้นตำแหน่งมาเป็นหัวหน้าแผนกจนถึงปี 2562

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จรัสได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงานของไทยซัมมิท ซึ่งทำหน้าที่เคลื่อนไหวในทุกภาคส่วนของแรงงาน โดยมีการพัฒนาประเด็นเรื่องแรงงานสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกับค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม หรือคดีที่มีปัญหาระหว่างแรงงานกับนายจ้างก็สามารถไกล่เกลี่ยได้ในชั้นเจรจาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มพันธมิตรแรงงานที่เกิดการพิพาทกันระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง 

จรัส กล่าวว่า ตนได้ติดตาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งแต่ทำงานอยู่ในบริษัท จนถึงปี 2561 ในช่วงที่พรรคอนาคตใหม่ได้ถูกก่อตั้ง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ใหม่มากสำหรับสนามการเมืองไทย ตนจึงได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกของพรรค และต่อมาจึงได้ถูกทาบทามให้ลงสมัครเป็นส.ส.แบบแบ่งเขต ตนจึงตัดสินใจที่จะลงสมัครเลือกตั้งส.ส. และเริ่มหาสมาชิกในพื้นที่ของตน ซึ่งในระยะเวลาก่อนที่จะขึ้นมาเป็นผู้สมัครอย่างเต็มตัว จะต้องผ่านกระบวนการสรรหาของพรรค ทั้งการทำ primary vote เมื่อมีผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในเขตเดียวกัน เมื่อชนะแล้ว ก็จะต้องถูกทดสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และ ทดสอบวิสัยทัศน์ เมื่อผ่านแล้วจึงได้มาเป็นผู้สมัครอย่างเต็มตัว

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนะนักการเมืองที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น

จรัส กล่าวว่า ในเบื้องต้นแล้วปัจจัยหลักที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ กระแสของพรรคอนาคตใหม่และตัวของหัวหน้าพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ออกดีเบตในเรื่องนโยบายและแสดงจุดยืนในหลายเวทีซึ่งมีความต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสผ่านสื่อทุกช่องทางจึงทำให้พรรคเริ่มมีความน่าเชื่อถือ และกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจัยต่อมาสำหรับจรัส คือ ตัวผู้สมัครเอง ซึ่งผู้สมัครมีความมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์และความสุจริตโดยการไม่ซื้อเสียงจากประชาชน ต้องการเล่นการเมืองแบบใสสะอาด ซึ่งเวลาที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนก็จะต้องหาเสียงโดยการพูดในเชิงนโยบายว่า เราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคตของการเมืองไทยอย่างจริงจัง ซึ่งวิธีส่วนใหญ่ก็จะใช้ความขยันและความจริงใจเวลาไปเคาะประตูบ้าน ไปแนะนำตัว และสื่อให้เห็นถึงปัญหาภายในช่วงเวลาที่เราตกอยู่ภายใต้อำนาจยุค คสช. ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

จรัส กล่าวว่า ปัจจัยสุดท้ายคือประชาชนในเขตพื้นที่เองที่มีความต้องการอยากเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคคสช. เช่น เรื่องปากท้อง ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การกระทำของคสช.ที่ก่อให้เกิดภาพลบแก่ประเทศ ซึ่งประชาชนในหลายภาคส่วนก็รับรู้อยู่แล้ว และพร้อมที่จะตอบรับในเรื่องของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงจากพรรคอนาคตใหม่ผ่านนโยบายและท่าทีของพรรคด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังคงมีบางพื้นที่ที่เรายังคงเข้าไปไม่ถึงการใช้เงินซื้อเสียงเช่นกัน

เสียงจากแรงงาน คนรุ่นใหม่ และ คนที่ไม่เอาอำนาจอิทธิพลท้องถิ่น

จรัส กล่าวว่าคะแนนเสียงที่ได้มาโดยส่วนใหญ่จะมาจากคน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มแรงงานที่รู้จักจรัสเอง กลุ่มที่สองก็คือกลุ่มของคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มคนที่ตื่นตัวเรื่องการเมืองไปพร้อมๆกับพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือแม้แต่เด็ก ป.4, 5, 6 ก็ยังรู้จักอนาคตใหม่ซึ่งก็เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ในส่วนหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้ฝักใฝ่อิทธิพล ซึ่งต้องการหลุดออกจากภายใต้อำนาจอิทธิพลที่ครอบงำพวกเขามาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือกลุ่มหลักที่เทคะแนนเสียงจนทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับจรัสแล้ว มองว่า ทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมามีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นช่วงที่ห่างจากการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น New Voters ซึ่งการรัฐประหารของคสช.ก็แสดงออกให้เห็นถึงความล้มเหลวในด้านต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นจำเป็นต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของเขาเพื่อที่จะเลือกพรรคที่คิดว่าดีที่สุดและสถาบันทางการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งอนาคตใหม่คือหนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้นั้นโดยขึ้นมาในช่วงที่ประจวบเหมาะพอดี

หนทางในอนาคต เมื่อพรรคอนาคตใหม่ และ ธนาธร กระแสตก

จรัส กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่ากระแสไม่น่าจะตกไปจากสิ่งที่เรากำลังทำ กล่าวคือ ยังไม่มีภาพลบที่จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรค เว้นแต่ว่าการเสพข้อมูลข่าวสารเป็นประเด็นเรื่อง Fake News ที่ต้องมาถกเถียงกันว่าข้อเท็จจริงคืออะไรอย่างไร ซึ่งอย่างที่เห็นก็จะมีการใส่ร้ายกันในเกือบทุกข้อมูลที่คนในสังคมรับรู้ ซึ่งเราก็ต้องกลั่นกรอง และต้องคอยแก้ไขข่าวให้ตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด

แน่นอนว่าในตอนนี้ก็ยังคงมีกระแสในแง่ลบต่อพรรคอนาคตใหม่และธนาธรอยู่บ้าง แต่เราก็ยังพยายามและคิดว่าพรรคยังคงมีความน่าเชื่อถือต่อประชาชนอยู่

ทิศทางของการเมืองท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น

จรัส กล่าวว่า เบื้องต้นในส่วนของท้องถิ่นก็ได้เริ่มมีการออกมาปฏิบัติการในการออกนโยบายส่วนท้องถิ่น โดยนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องการกระจายอำนาจและการเมืองท้องถิ่นอย่าง อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง และ เลขาธิการพรรคอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ในการนำร่อง โดยเป็นจังหวัดที่มี ส.ส.ของพรรคในพื้นที่ ซึ่งชลบุรีก็เป็นจุดยุทธศาสตร์เหมือนกัน โดยเชื่อมโยงแนวคิดเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปในระดับประเทศ จะต้องยึดฐานเสียงของประชาชนหรือเชื่อมโยงกับท้องถิ่นให้ได้

การเมืองในระดับท้องถิ่นมีผลสอดคล้องกับการเมืองในสภา ในเรื่องของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร ซึ่งสำหรับท้องถิ่นก็มีปัญหาเกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่ทำให้การบริหารในระดับประเทศมีการติดขัด เห็นได้ชัดจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเดิมที่ครองตำแหน่งในการบริหารท้องถิ่น และการผูกขาดเรื่องทุน เรื่องโครงการสัมปทานต่างๆ ดังนั้นในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เพียงต้องการที่จะยึดฐานเสียงเท่านั้น มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแก้ไขรากฐานปัญหาในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารส่วนท้องถิ่นกับการบริหารระดับประเทศ

ความกังวลเรื่องความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในการเมืองท้องถิ่น

จรัส กล่าวว่า ตนเองก็ยังคงมีความกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากที่ตนเคยรับรู้ เคยเห็นจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาที่มีการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตก็มี แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องต่อสู้ต่อไปเพราะถ้าไม่สู้ประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร ถ้าไม่สู้อย่างจริงจังเราก็จะไม่รู้ว่าช้างมันตัวใหญ่เท่าไหร่ หรือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด มันตัวใหญ่แค่ไหน เราจึงจำเป็นที่จะต้องเขาไปหามันเพื่อที่จะได้คลำมันถูก

แหล่งข่าวที่มาอ้างอิงข้อมูล election.pptvhd36.com และ ไทยรัฐออนไลน์ 

สำหรับ กิตติคุณ สกลวิศาลศักดิ์ ผู้สัมภาษณ์และรายงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net