Skip to main content
sharethis

'กรรณิการ์' กรรมการหลักประกันสุขภาพ ข้องใจกฤษฎีกาไม่เชิญผู้แทนบอร์ด สปสช.เข้าร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ทั้งๆที่แจ้งรายชื่อผู้แทน สปสช.ไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 แล้ว ชี้ราคายาจากระบบสิทธิบัตรมีผลกระทบต่องบกองทุนหลักประกันสุขภาพของคนไทย กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น จัดมหกรรม-เปิดผลงาน 12 ปี ‘กองทุนสุขภาพตำบล’ ท้องถิ่นเข้าร่วม 99% ‘อนุทิน’ มอบรางวัล 24 ผลงานเยี่ยม ขณะที่ สปสช.ลงพื้นที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เตรียมเดินหน้า

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

26 ส.ค.2562 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติให้ตนเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นและพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ... ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำหนังสือแจ้งรายชื่อผู้แทนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้เวลาผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตนเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ทั้งที่กฎหมายสิทธิบัตรนี้มีความสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับสิทธิบัตรยาจะมีผลกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงยาของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดประชุมโดยเร็ว เพื่อจะได้รับทราบความเห็นที่รอบด้านในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

 “ขณะนี้ทราบมาว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว 1 ครั้ง โดยเป็นรอบการรับฟังความเห็นและคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การประชุมครั้งนี้กลับไม่เชิญผู้แทนจากบอร์ด สปสช.เข้าร่วม ทั้งที่บอร์ด สปสช.นั้นดูแลเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราคายามีผลกระทบต่อการขึ้นลงของงบประมาณกองทุนอย่างมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่เชิญเข้าร่วมประชุมพิจารณาด้วย และยังไม่แน่ใจว่าจะมีการประชุมพิจารณาอีกหรือไม่ เนื่องจากทราบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุว่าแต่ละหน่วยงานสามารถทำความเห็นเป็นหนังสือมายังกฤษฎีกาได้ ส่วนจะมีการเชิญไปชี้แจงอีกหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาจากหนังสือต่อไป กระทรวงพาณิชย์และกฤษฎีกาทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง” กรรณิการ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือที่ สปสช. ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีเนื้อหาว่า เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความห่วงใยต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. ... ที่อาจกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงยาของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้สิทธิโดยสิทธิบัตร การขึ้นทะเบียน และการพิจารณาคำขอสิทธิบัตร ซึ่งยาที่ติดสิทธิบัตรเป็นยาที่มีราคาแพงและใช้งบประมาณจำนวนมาก สปสช.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในการดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2562 เห็นชอบให้กรรมการเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. ...

ในการนี้เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการสิทธิบัตรที่มีประสิทธิภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพสามารถคุ้มครองการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชนผู้มีสิทธิได้ สปสช. ขอแจ้งรายชื่อ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านชุมชนแออัด ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นตัวแทนร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นและพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ...

กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. ... มีบางประเด็นที่เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า “มาตรการทริปส์ผนวก” หรือ “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาและก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข อาทิ ประเด็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการซีแอล) หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจประกาศใช้มาตรการใช้ซีแอล เป็นต้น

เปิดผลงาน 12 ปี ‘กองทุนสุขภาพตำบล’ ท้องถิ่นเข้าร่วม 99% ‘อนุทิน’ มอบรางวัล 24 ผลงานเยี่ยม

ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอผลงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ภายในการจัดมหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 12 ปี กปท. เดินหน้าพลังท้องถิ่นไทย รอบรู้สร้างสุขภาพอย่างยั่งยืน

ธีรวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือที่เรียกว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล เข้าร่วมโครงการจำนวน7,736 แห่ง หรือ 99% ซึ่งสามารถหนุนเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดนวัตกรรมดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2559 ได้มีการเพิ่มภารกิจการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือที่เรียกว่ากองทุน Long Term Care (LTC) เป็นอีกหนึ่งภารกิจของการดำเนินงาน กปท. โดยปัจจุบันมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 5,961 แห่ง มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลทั้งสิ้นกว่า 1 แสนคน

ธีรวุฒิ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว  สปสช. จึงได้จัดประชุม “Community Health Literacy” กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น รอบรู้จัดการระบบสุขภาพชุมชน พ.ศ.2562 ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2562 โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยบริการ และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมกว่า 1,200 คน

ขณะเดียวกันภายในงาน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข  (สธ.) ยังได้เป็นประธานมอบนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น และมอบรางวัลกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นดีเด่น โดยมีกองทุนฯ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ 24 แห่ง จากผลงานดีเด่น อาทิ กองทุนต้นแบบด้านการบริหารจัดการ การสร้างทีมดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง นวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนเฉพาะราย นวัตกรรมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในโรงเรียนผู้สูงอายุ นวัตกรรมซองยามหัศจรรย์ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในศูนย์เรียนรู้การแพทย์ ตลาดส่งเสริมสุขภาพ และเก้าอี้ออกกำลังกาย เป็นต้น

“ขอชื่นชมกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ที่ได้รับมอบรางวัลกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นดีเด่นทั้ง 24 แห่ง ที่ได้พัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ ให้ใส่ใจการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ นับต้นแบบการดำเนินงานและแหล่งการเรียนรู้นำไปสู่การส่งเสริมพัฒนากองทุนในพื้นที่อื่นต่อไป” อนุทิน กล่าว พร้อมระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ยังเน้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น การเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยมี กปท. เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบสุขภาพประเทศเกิดความยั่งยืน

อนึ่ง ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 47 ได้กำหนดให้ อปท. เป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติให้ สปสช. ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายต่างๆ สนับสนุนให้ อปท. ในการดำเนินงาน กปท. มาตั้งแต่ปี 2549

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 24 แห่งที่ได้รับรางวัลดีเด่น ดังนี้

1.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

2.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน

3.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย

4.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก

5.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.วังตะภู อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร

6.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

7.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

8.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.ไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

9.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลท่าไม้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

10.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

11.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบางตำบลพนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

12.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง

13.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองเมืองพล อ.พล จ.ขอนแก่น

14.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

15.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองบ้านดุง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

16.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลนาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

17.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลสุรนารี อ.เมือง นครราชสีมา

18.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.ตากูก อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์

19.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

20.กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.กุง อ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ

21.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต

22.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาตำบลทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร

23.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลโคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

24.กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลโคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง

สปสช.ลงพื้นที่ 'ร้านยาชุมชนอบอุ่น' เตรียมเดินหน้า

วันเดียวกัน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช., นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช., นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช., นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผอ.สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ สปสช.เขต 13 กทม. ในโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เพื่อพัฒนาเป็นหน่วยบริการร่วมด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเยี่ยมชมการดำเนินงาน “ร้านยาเขียวมะกอกเภสัช” เขตจตุจักร กทม.

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ให้ “ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นเพิ่มเติมตามมาตรา 3  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีมติดำเนินการในพื้นที่คลินิกหมอครอบครัว 11 เขต และพื้นที่เขตปทุมวัน โดย สปสช.เขต 13 กทม.ได้รับสมัครขึ้นทะเบียนร้ายาชุมชนอบอุ่น ล่าสุดมีร้านยาชุมชนอบอุ่น รวม 51 แห่ง

ทั้งนี้บริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นในระยะเริ่มต้นนั้น จะเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค อาทิ การคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมแจกสมุดบันทึกสุขภาพ การให้สุขศึกษา ความรู้ คำแนะนำด้านสุขภาพ และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ร่วมกับทีมคลินิกหมอครอบครัว และการให้บริการคลินิกอดบุหรี่

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563 จะขายเพิ่มขึ้นในอีก 12 เขต รวมเป็น 13 เขต ซึ่งจะมีร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มมากขึ้น และหากเพิ่มกิจกรรม ได้แก่ การรับยาที่ร้านยา การเติมยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นเพิ่มเติม จะทำให้เภสัชกรประจำในร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็น “เภสัชกรประจำครอบครัว” ช่วยเติมเต็มระบบสุขภาพและตอบสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดระบบผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาคุณภาพ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนไม่ต้องรอคิวรับยา และลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม และ สปสช. เชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านยาเข้าร่วมเพื่อระดมความเห็นในการดำเนินการ ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กทม.

“ในวันนี้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น ซึ่งร้านยาเขียวมะกอกเภสัชเป็น 1 ใน 8 ร้านยาชุมชนอบอุ่นในพื้นที่เขตจตุจักรที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ โดยเป็นร้านยา ขย.1 และมีเภสัชกรประจำร้านคอยให้บริการ นอกจากบริการด้านยายังให้บริการสุขภาพใน 4 กิจกรรมร้านยาชุมชนอบอุ่น เพื่อเป็นทางเลือกร่วมดูแลสุขภาพคนในชุมชน รวมการเข้าร่วมนโยบายผู้ป่วยรับยาร้านยาในอนาคต” เลขาธิการ สปสช.กล่าว 

ภญ.นิดา เจียรธีรางกูร เภสัชกรร้านยาเขียวมะกอกเภสัช กล่าวว่า ทางร้านได้เข้าร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา และได้เข้าร่วมอบรมกับทาง สปสช.ในการดำเนินกิจกรรมสุขภาพ ด้วยที่ตั้งของร้านยาอยู่ในชุมชนจึงมองว่า น่าจะมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนได้ โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ร้ายยาเขียวมะกอกเภสัชได้ให้บริการจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด จำนวน 10 ครั้ง การคัดกรองความเสี่ยง จำนวน 28 ราย และการให้สุขศึกษา ความรู้สุขภาพ จำนวน 54 ครั้ง

ส่วนนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยานั้น มองว่าเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย เนื่องจากในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยมาก อาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้สอบถามข้อสงสัย โดยร้านยาจะเข้ามาช่วยเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ เป็นประโยชน์สำหรับประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net