Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีนายกฯถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่ ขณะที่ยุติคำร้องของ 'ศรีสุวรรณ-อัยย์' ชี้เป็นเรื่องการกระทำ ไม่ใช่บทบัญญัติกฎหมาย ส่วนคำร้องของ 'พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์' กรณีเลือกนายกรัฐมนตรี ให้ยกคำร้อง

27 ส.ค.2562 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของนายกฯ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ละเมิดสิทธิประชาชนตามคำร้องของ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือไม่

"การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง การกระทำนั้นเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไปว่า เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ อย่างไร" เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

ส่วนคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ตกไป โดย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่เรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่เป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงยุติการส่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะส่งไปยังศาลปกครอง เพราะถือเป็นเรื่องของการกระทำ

เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ส่วนคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ร้องเรียน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยไม่ดำเนินการขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรก่อนตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญนั้น 

รักษเกชา กล่าวว่า ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ใน 5 ปีแรก ให้งดเว้นไม่ต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ให้มีการรับรองชื่อบุคคลจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งสามารถเสนอชื่อในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้เลย ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเห็นว่า ไม่ใช่การกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net