Skip to main content
sharethis

5 ก.ย. 2562 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้เดินทางเข้ายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ... กับตัวแทน 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายแถลงว่า ทางเครือข่ายต้องการให้การยื่นร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐสวัสดิการ ต้องการเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล มีเจตจำนงค์ในการทำให้ประชาชนคนไทยที่มีอายุ 60 ขึ้นไปมีหลักประกันด้านรายได้

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ และในหมวดที่ 5 ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสวัสดิการให้กับคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้ลงไปในทุกชุมชน เพื่อรวบรวมรายชื่อจนครบ 10,000 รายชื่อ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ แต่ยังไม่ดำเนินการยื่นให้กับสำนักเลขาธิการสภาผูแทนราษฎรเนื่องจากต้องการผลักดันเรื่องนี้กับพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล และต้องการเห็นเจตจำนงค์ของฝ่ายต่างๆ ว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างไร

“คนอายุ 60 ปี ก็คือคนที่ก่อนหน้านี้ทำงานเลี้ยงประเทศ ประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งยังไม่มีหลักประกันอะไรเลย อยู่ได้ด้วยเงินของลูกหลาน หากลูกหลานไม่ช่วยก็เป็นปัญหา เราคิดว่าร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาคนยากจนที่เรื้อรังมานาน โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ 25 มาตรา ที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้รัฐจัดสวัสดิการด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เรามีสโลแกนว่า เปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นให้เป็นบำนาญพื้นฐาน” นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ กล่าวว่า ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้าที่เพียงพอ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3,000 บาท ต่อเดือน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณประเทศ และจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ พิจารณาการลดหย่อนภาษีใหม่ โดยเฉพาะภาษีจากการค้า การลงทุน ปรับลดงบที่ไม่จำเป็นลง ตลอดจนเปลี่ยนเงินสงเคราะห์ต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนมาพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(1): ความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(2): รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(3): รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน

ด้านสมคิด เชื้อคง  ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในนามตัวแทน 7 พรรคฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนของเครือข่ายแล้ว พร้อมชี้ว่า การรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนตามรัฐธรรมนูญจะต้องรวมลายชื่อให้ได้ถึง 10,000 รายชื่อ ซึ่งมีการกระยวนการขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบอีกมาก และอาจจะพบรายชื่อที่ตกหล่น แต่อย่างไรก็ตาม 7 พรรคฝ่ายค้านจะรับเรื่องนี้ไปขับเคลื่อนต่อ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากมติที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ส.ส. ทุกคนจะช่วนเหลือดูแลพี่น้องประขาชนตามโอกาสที่จะทำได้ และหากรับทราบผลประการใดแล้วจะรีบแจ้งให้ทางกลุ่มทราบทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net