Skip to main content
sharethis

‘ดวงมณี’ ระบุไทยเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน การศึกษา สาธารณสุข ประกันสังคม กระบวนการยุติธรรม เมื่อเทียบกลุ่มคนรวยสุด-จนสุดพบว่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างกัน 59 เท่า ทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า ที่ดินต่างกัน 855 เท่า ‘ษัษฐรัมย์’ ชี้ต้องทำให้รัฐสวัสดิการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเหมือนน้ำและอากาศ เพื่อให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

11 ก.พ. 2562 เครือข่ายวีแฟร์ (We Fair) จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2562 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ร่วมเสวนาคือ เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(1): ความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(2): รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง

 

ดวงมณี เลาวกุล: ไทยเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน การศึกษา สาธารณสุข ประกันสังคม กระบวนการยุติธรรม

 

ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ที่พูดกันว่าไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกนั้นโดยส่วนตัวคงบอกไม่ได้ว่าจริงรึเปล่า เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอ และการเปรียบเทียบระหว่างประเทศต้องไปดูรายละเอียดว่าใช้อะไรเปรียบเทียบ แต่ไม่ว่าไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกหรือไม่ สำคัญคือความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง มีต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายศตวรรษ ไม่ว่าไทยจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมไปมากแค่ไหน บางช่วงอัตราเติบโตเกิน 10% แต่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ มีช่วงที่ดีขึ้นบ้าง แต่ถึงที่สุดยังไม่มีการลดความเหลื่อมล้ำได้จริงและยั่งยืน

ความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินในประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ค่าจีนี รายจ่ายดูเหลื่อมล้ำไม่มาก เพราะคนอาจไปกู้ยืมมาจ่าย แต่ค่าจีนีรายได้อยู่ที่ 0.4-0.5 และค่าจีนีทรัพย์สินอยู่ที่  0.6 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ฐานข้อมูลนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงคนที่รวยจริงๆ ถ้าเข้าถึงได้ก็จะทำให้ค่าเหล่านี้แย่กว่านี้อีก

นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือน 10% ถือครองทรัพย์สินประมาณ 50% และคน 1% ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดมีแหล่งรายได้มาจากธุรกิจและการลงทุน เขตเมืองมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าเขตชนบท ในช่วง 30 ปี ตัวเลขไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 0.4-0.5 ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำยังอยู่

*หมายเหตุ ภาพประกอบมาจากสไลด์ประกอบการบรรยายของ ดวงมณี เลาวกุล

 

ชายแดนใต้เหลื่อมล้ำสูงสุด 0.485 และถ้าดูเป็นภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลื่อมล้ำสูงสุด 0.432

 

คน 10% รวยสุด กับ 10% จนสุด ในชายแดนใต้ต่างกันถึง 20 เท่า รวมทั้งประเทศต่างกัน 17 เท่า

 

ดวงมณีระบุว่าสาเหตุมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและครอบครัว คนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย ก็มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ประกอบอาชีพหารายได้ได้มากกว่า อีกสาเหตุคือความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ปัจจัยทรัพยากรมีไม่เท่ากันในแต่ละภาค ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน มูลค่าผลิตภัณฑ์แต่ละภาค ภาคตะวันออก 400,000 ต่อปี ขณะที่ชายแดนใต้ 70,000 กว่าบาท

 

โครงสร้างการกระจายรายได้จากการผลิตในแต่ละภูมิภาค เกินกว่าครึ่งกระจายอยู่ในภาคกลาง (ร้อยละ 56.1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ) รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกร้อยละ 17.6 สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน มีการกระจายรายได้จากการผลิตไปสู่แต่ละภาคน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคใต้ชายแดนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ

ความแตกต่างของการพัฒนาคนของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาคนด้านการศึกษาซึ่งคือการสร้างคน โอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดูจากผลการทดสอบโอเน็ต ใน 4 วิชาหลัก ภาคกลางดีที่สุด และภาคใต้ชายแดนแย่ที่สุด

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ข้อมูลจากปี 2555 ผู้ยื่นแบบในขั้นเงินได้สูงสุด (มากกว่า 20 ล้านบาท) มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ที่อยู่ในขั้นเงินได้ต่ำสุด (ต่ำกว่า 5 แสนบาท) 114 เท่า ซึ่งดีขึ้นแล้วจากก่อนหน้านี้

 

ถ้าแบ่งคนเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มที่ 10 มีรายได้มากกว่ากลุ่มที่ 1 ประมาณ 58 เท่า และผู้ที่มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากที่สุด Top 10% มีสัดส่วนเงินได้ประมาณ 45% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย

ดวงมณีอ้างถึงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559 พบความเหลื่อมล้ำในหลายประเด็นดังนี้

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

พบว่าการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงมีเด็กในวัยเรียนบางส่วนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และแนวโน้มอัตราการเข้าเรียนลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อัตราการเข้าเรียนสุทธิ ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 87.3 ระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 67.4 อัตราการเข้าเรียนระดับอนุบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 72.3)

อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับชั้นอื่นๆ อัตราการเข้าเรียนในแต่ละภาคจำแนกตามระดับชั้น ไม่แตกต่างกันมาก

อัตราการเข้าเรียนระดับปริญญาตรีของกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ส่วนภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ของไทย เกือบจะดี ชั้น 1 2 3 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 4 กับ 5 (ซึ่งฐานะดีกว่า) แต่ไปรวมอยู่ที่ 3

ข้อมูลที่สำรวจโดยยูเนสโกพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยแค่ประมาณ 5% เท่านั้น เทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยที่สุด 20% แรก ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 100%

 

ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข

เกิดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการบริการทางสาธารณสุข เนื่องจากการกระจายบุคลากรทางการแพทย์มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค

จำนวนแพทย์ต่อประชากรที่้ต้องดูแลมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น การกระจุกตัวของแพทย์ต่างกัน ที่กทม. ประชากร 716 คนต่อแพทย์ 1 คน บึงกาฬน้อยสุดคือประชากร 5,906 ต่อแพทย์ 1 คน มากกว่าภูมิภาคอื่นส่งผลต่อระยะเวลาในการรอคิวตรวจรักษา และคุณภาพการให้บริการ

 

ความเหลื่อมล้ำด้านการคุ้มครองทางสังคม

มีการขยายสวัสดิการครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน คือโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในครัวเรือนที่ยากจนโดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน

แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังขาดการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นระบบ แม้มีการขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ โดยการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 แต่มีผู้สนใจเข้าสู่ระบบเพียง 2.24 ล้านคน (ร้อยละ 10.52 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมดในปี 2559) และแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 เท่า

ความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม

รายงานความเป็นธรรมโลก ปี 2559 พบว่า ดัชนีหลักนิติธรรม (RULE OF LAW INDEX) ในภาพรวมของประเทศไทยมีคะแนน 0.51 เป็นลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศทั่วโลก และอยู่ลำดับที่ 10 และ 15 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

• คะแนนสูงสุดในด้านการมีความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย (0.70)

• คะแนนน้อยที่สุดในด้านกระบวนการยุติธรรรมทางอาญา (0.45) โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการสอบสวน การปราศจากการเลือกปฏิบัติและกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากกระบวนการยุติธรรมมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปัญหาความไม่เท่าเทียมจากกระบวนการยุติรรมสองมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย

ความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน

ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินร้อยละ 1 ที่มีที่ดินสูงสุด ถือครองที่ดินประมาณ 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด ที่คนถือครองที่ดินมากเพราะอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน เพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คนที่มีทรัพย์สินมากจึงซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร

ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่, ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่ และร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครองมากกว่า 5 ไร่

หากแบ่งคนเป็น 10 กลุ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มที่ 10 ซึ่งรวยที่สุด และคนกลุ่มที่ 1 ที่จนที่สุด พบว่า รายได้ต่างกัน 19 เท่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)ต่างกัน 59 เท่า ทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า ที่ดินต่างกัน 855 เท่า

 

ความมั่งคั่งของเศรษฐีไทย

ปี 2561 87% ของจำนวนบัญชีเงินฝาก มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท เปรียบเทียบ 18 เงินฝากมากกว่า 500 ล้านบาท

ในปี 2561 สัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรวมของเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกคิดเป็น 32% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยประมาณ 40% ของจีดีพี เท่ากับว่าความมั่งคั่งของเศรษฐีเหล่านี้เกือบจะใช้หนี้ได้

มูลค่าทรัพย์สินรวมของ 40 อันดับแรกมหาเศรษฐีไทย เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 สูงกว่าปี 2552 6 เท่า

มูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีไทยที่เป็น billionaire เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61 สูงกว่าปี 52 11 เท่า

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ต้องทำให้ข้อมูลทั้งทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้

2. รัฐต้องมุ่งลดการผูกขาดทางธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขัน

3. ส่งเสริมให้การกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างฯ ที่ผ่านสภาฯ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ใน 2 มิติ คือ เป็นการบั่นทอนการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการคลัง และไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในรูปของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้

รัฐบาลควรลดการยกเว้นภาษีลง ปรับการลดหย่อน และอัตราภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

5. สำหรับภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว 

6. ควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน

7. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

8. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลเพียงในระยะสั้น

9. ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ ลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด

10. มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย และการอุดหนุนคนสูงอายุ

• สำหรับสวัสดิการด้านการศึกษาควรพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ และควรเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กด้อยโอกาส

• ในด้านการประกันสังคม ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานเหมือนน้ำและอากาศ เพื่อให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า “รัฐสวัสดิการไม่ใช่การมองว่าคนรวยให้คนยากจน แต่มองในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ เหมือนกับถนน น้ำ ไฟ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการยกเลิกรัฐสวัสดิการในยุโรป เพราะเหมือนกับการที่บอกว่าคนไม่ต้องดื่มน้ำ ไม่ต้องหายใจ

ผมอยากเล่าประสบการณ์ในอดีตของผม แม่ของผมเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนัก เหมือนผู้หญิงในประเทศนี้ที่มีลูกแล้วก็ไม่มีสวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร แม่ลาออกมาเลี้ยงดูบุตร พ่อผมต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป แม่เป็นคุณแม่ฟูลไทม์ไม่มีการลาพักร้อน ไม่มีการขึ้นเงินเดือน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนมากในประเทศนี้

แม่เป็นแม่ฟูลไทม์มา 30 กว่าปี เมื่อลูกเรียนจบ เมื่อพ่อเสียชีวิต สวัสดิการที่พ่อเคยได้จากการเป็นข้าราชการก็หายไป รัฐบาลประเทศนี้ให้คุณค่ากับผู้หญิงที่ทำงานหนัก ไม่มีโบนัส ไม่มีการเลื่อนขั้น ไม่มีวันลา คือ 600 บาทต่อเดือน

นอกจาก 600 บาท สิ่งที่เป็นบำเหน็จบำนาญให้คุณแม่ผมคือ เบาหวาน ความดัน และพาร์กินสัน โรคเหล่านี้ถ้าใครศึกษาด้านสาธารณสุขมันคือโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิต โรคจากคุณภาพชีวิตที่ต่ำตมของประเทศนี้ อาหารที่ไม่มีคุณภาพ มลพิษ PM2.5 ไม่ได้มีผลกับเราในวันนี้พรุ่งนี้ แต่อีก 20 ปีเราจะเป็นโรคประจำตัว และเราจะมีชะตากรรมแบบนี้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ความเหลื่อมล้ำทำให้เราถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด

จากการคำนวณของธนาคารโลก คนที่เกิดมาเป็นชนชั้นล่างของสังคม 7 คนมีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเป็นชนชั้นบน

มีนักศึกษาคนหนึ่งไม่กู้ กยศ. ขอผ่อนผันไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะบอกว่าพ่อเขาไม่มีเงิน พ่อเขามีอาชีพขายประกัน เขารู้ดีว่าเงินของบ้านมีอยู่เท่าไหร่ สุดท้ายเขาบอกว่าพ่อเขาจะกดบัตรเครดิตมาจ่าย ถ้าเราคิดด้วยนักเศรษฐศาสตร์ มันคือการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยบัตรเครดิตประมาณ 25-27% ต่อปี ไปกู้ กยศ. ดอกเบี้ย 1% แถมยังไม่ต้องใช้ทันที แต่สิ่งที่พ่อเขาพูดกับเขาคือ ‘จำคำกูไว้นะ ถ้าชีวิตมึงตอนเรียนจบเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 300,000 บาท ชีวิตมึงทั้งชีวิตก็เป็นได้แค่คนขายประกัน’ นี่คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ไม่เท่ากัน

เราอาจเจอคำหยามหมิ่นว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ และถ้าคุณคิดว่าเป็นไปได้เครื่องมือทางเศรษฐกิจก็จะตามมา คำอธิบายทางปรัชญาก็จะตามมา

ภาษีเงินได้ของประเทศนี้ถ้าเก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นอกจากได้เงินเพิ่มเป็นหลักหมื่นล้าน อีกสิ่งคือการลดอำนาจทางการเมืองของคนเหล่านี้ ต้องลดเสียงของคนกลุ่มนี้และเพิ่มเสียงของพวกเราให้ดังมากขึ้น

งานวิจัยของ Oxfam เรื่องดัชนีความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศ ดัชนีตัวนี้เป็นตัวบอกว่าแต่ละประเทศมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำเพียงใด โดยนำปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ ไทยอยู่ลำดับที่ 70 กว่า จากทั้งหมด 150 กว่าประเทศ แม้แต่ประเทศที่ดูแลประชาชนดีที่สุดอย่างสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ก็ยังสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้อีก ไม่ใช่ถึงปลายทางแล้ว

งานสำรวจของเว็บไซต์เดอะการ์เดียน เกี่ยวกับคนแต่ละประเทศเข้าใจเกี่ยวกับประเทศตัวเองมากน้อยแค่ไหน ไทยสำรวจว่า คิดว่าไทยใช้งบประมาณสาธารณสุขกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี พบว่าคนไทยเป็นกลุ่มที่เข้าใจผิดที่สุดในโลก เพราะเราคิดว่าเราใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข 30-40% ของจีดีพี แต่จริงๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 3-4% เท่านั้นเอง ถ้าคิดเฉพาะงบบัตรทองก็ยิ่งน้อยลงอีก

มายาคติที่บอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ หรือเสนอสร้างกองทุนประกัน ให้รับผิดชอบตัวเอง สิ่งเหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะเป็นการยืนยันว่าคุณทำงานหนักและต้องจ่ายแพงเพิ่มขึ้นทุกปี คนรุ่นใหม่มีชีวิตที่เปราะบางอย่างมาก ทำงานหนัก เครียด ซึมเศร้า ดังนั้นหากมีรัฐสวัสดิการคนได้ประโยชน์คือคนรุ่นใหม่ด้วย ที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถวิ่งตามความฝันของตัวเองได้มากขึ้น

มายาคติอีกข้อคือการบอกว่าตลาดสามารถทำงานได้ดีกว่าภาครัฐ ถ้ารัฐเข้ามาจะเกิดการคอร์รัปชัน ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นเราจะเห็นแคมเปญ ไม่ต้องมีรัฐสวัสดิการ แต่มีเงินในกระเป๋าก็พอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการไม่ได้ปฏิเสธการขึ้นค่าจ้าง แต่สำคัญกว่าการขึ้นค่าจ้างคือการมีสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อให้คุณมีชีวิตที่มั่นคง

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากเพราะไปอยู่ในมือเอกชน ดังนั้นเอกชนไม่สามารถดูแลชีวิตประชาชนได้ดีกว่ารัฐ และรัฐสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า

แนวคิดเสรีนิยมใหม่มักกล่าวอ้างว่ารัฐสวัสดิการคือเส้นทางสู่การเป็นทาส ตั้งแต่ในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จอร์จ ออร์เวลล์ได้ตอบโต้ว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณให้อำนาจของกลไกตลาดมาทำหน้าที่แทนรัฐทั้งหมดมันคือหายนะและเผด็จการที่สุดของมนุษยชาติ อำนาจรัฐถ้าคุณทำให้เป็นประชาธิปไตย คุณสามารถตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นอำนาจของกลุ่มทุน ถ้าคุณไม่สามารถถือหุ้นเพียงพอ คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

มายาคติอีกชุดคือรัฐสวัสดิการจะทำให้ประเทศกลายเป็นแบบอาร์เจนติน่า เวเนซูเอลา กรีซ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวเนซูเอลาไม่ได้เป็นแบบรัฐสวัสดิการครบวงจรถ้วนหน้า แต่มีความคล้ายบัตรคนจนอย่างมาก มีการลดราคาสินค้าสำหรับกลุ่มคนจนที่ผ่านการทดสอบ และไม่มีความพยายามที่จะลดอำนาจของชนชั้นสูง ปฏิรูปภาษี แต่ใช้งบประมาณของรัฐจากการขายน้ำมัน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตจึงทำให้รายได้ของรัฐหายไป แต่งบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการของเวเนซูเอลาอยู่ที่ 18% ของจีดีพี สวีเดน ฝรั่งเศสงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการอยู่ที่ 30-40% ของจีดีพี และไม่ได้ทำให้ประเทศเขาล้มละลาย

มีงานวิจัยของฟินแลนด์เรื่องเงินเดือนให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นพัฒนาการขั้นต่อของรัฐสวัสดิการ คือมีสวัสดิการพื้นฐานแล้ว และรัฐบาลให้เงินเดือนให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ให้เดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลาสองปี ชีวิตคนเป็นอย่างไร พบว่าการให้เงินเดือนแบบนี้ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ แต่มี concentrate ต่อสิ่งที่ตัวเองรู้สึกสำคัญในชีวิต เช่น การวาดรูป การกลับไปหาพ่อแม่ที่ไม่ได้ไปหามานาน ทำให้คนมีจินตนาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์ชนะเอไอ ชนะแพลตฟอร์มใหม่ๆของทุน ไม่ทำให้เราติดอยู่กับกับดักของการสะสมทุนแบบโบราณ และทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรากลับคืนมา”

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net