คนอีสานขอ ‘สุดารัตน์-ธนาธร’ สอบแผนสร้างโรงงานน้ำตาล- โรงไฟฟ้าชีวมวลในโครงการประชารัฐ

9 ก.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ ที่จังหวัดยโสธร ณ วัดบ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว ตัวแทนคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาค (คปน.) ภาคอีสาน ได้ยื่นหนังสือต่อสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบโครงการสานพลังประชารัฐ กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน หลังเดินทางมาเยี่ยม ให้กำลังใจและนำสิ่งของมามอบให้ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่

มะลิจิตร เอกตาแสง คณะกรรมการ คปน. ภาคอีสาน กล่าวว่า วันนี้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือถึง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการและการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน เพราะที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ซึ่งกำลังจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลต่างก็ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อนเลย ดังนั้นวันนี้จึงยื่นหนังสือให้พรรคฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบด้วย และเร็วๆ นี้ ตัวแทน คปน.ภาคอีสาน จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง 7 พรรคฝ่ายค้านอีกครั้งที่รัฐสภา

ด้านสิรศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล คปน. ภาคอีสาน กล่าวว่า ประเด็นหลักในการยื่นหนังสือถึง สุดารัตน์ และ 7 พรรคฝ่ายค้าน เพราะต้องการให้มีดำเนินการตรวจสอบโครงการประชารัฐ กรณีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนหน้านี้ คปน. ได้ติดตามกระบวนการดำเนินการของโครงการประชารัฐกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ภาคอีสาน พบว่า พื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินโครงการก่อสร้าง เพราะโรงงานมาตั้งใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ เช่น พื้นที่ จ.อำนาจเจริญ-จ.ยโสธร,อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น,จ.ศรีสะเกษ,อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์,จ.ร้อยเอ็ดและ จ.อุดรธานี อีกทั้งสถานที่จะดำเนินการก่อตั้งโรงงานไม่มีวัตถุดิบหลักคืออ้อย และสถานที่จะก่อตั้งโรงงานนั้นใกล้ทรัพยากรสำคัญของชุมชน เช่นแหล่งน้ำ นั้นย่อมจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ทั้งใต้ดินและเหนือผิวดิน

สิรศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลอีกด้วยว่า ในหลายพื้นที่พบว่า โครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผนนโยบายของจังหวัด ขณะที่เวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่ผ่านมาก็เป็นเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง

“ทางผู้ประกอบการเองไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรอก เพราะมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนไม่สามารถที่จะประเมินค่าได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ภาคอีสานถึงจะเป็นพื้นที่ที่ส่วนใหญ่จะมีการปลูกข้าว นั้นก็ย่อมหมายถึงการมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มาตั้งแต่ตั้งรกราก มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และชุมชนเขาก็มีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ด้านดิน ด้านน้ำ ด้านอากาศ และคุณภาพชีวิต เพื่อปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากร ปกป้องวิถีชีวิต และชุมนชนก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการที่จะแสดงความคิดเห็นที่จะไม่เห็นด้วยในการที่จะมีโรงงานอุสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเขา เนื่องจากการดำเนินโครงการอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายประเด็น” สิริศักดิ์ กล่าว

สิรศักดิ์ อธิบายถึงผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ยังห่วงกังกลประกอบด้วย 1.ผลกระทบด้านกลิ่น ฝุ่น เสียง น้ำเสีย 2.ผลกระทบด้านสังคมที่จะมีประชากรแฝงเข้ามาเพิ่มในพื้นที่มากขึ้น 3.ผลกระทบด้านการแย่งชิงทรัพยากร และ 4.ผลกระทบด้านการจราจร ดังนั้นทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาค คปน.อีสาน จึงมีข้อเสนอต่อ 7 พรรคฝ่ายค้าน ดังนี้

1.ให้ตรวจสอบโครงการประชารัฐ กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน โดย เฉพาะ พื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร,ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ,โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ไพรบึง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ,โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์,โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.บ่านไผ่ จ.ขอนแก่น.โรงไฟฟ้าชีวมวลขยะ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี.โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ร้อยเอ็ด

2.ต้องยกเลิกกระบวนการทั้งหมด เพราะทาง คปน.ภาคอีสาน มองว่าที่ผ่านมานั้นกระบวนการที่ผู้ประกอบการดำเนินการมานั้นผิดขั้นตอน

3.ให้มีการพูดคุยเปิดเผยข้อมูลนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งภาคอีสาน

4.จะต้องประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมภาคอีสานก่อน

5.ให้ 7 พรรคฝ่ายค้านลงพื้นที่ดูความจริง

วันเดียวกัน ที่จังหวัดขอนแก่น ขบวนการอีสานใหม่ รายงานว่า กลุ่มฮักบ้านเกิด อ.บ้านไผ่ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อขอให้ช่วยผลักดันยกเลิกนโยบายสานพลังประชารัฐกรณีอ้อยและน้ำตาล ระหว่างเวทีสานเสวนาครั้งที่ 3 “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ : ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มฮักบ้านเกิดคือประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่รวมตัวกันเนื่องจากต้องการที่จะปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเพณีท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งเล็งเห็นว่าโครงการโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ได้

ตัวแทนกลุ่มฮักบ้านเกิดเปิดเผยว่า กระบวนการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเริ่มต้นจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในวันที่ 10-12 ก.ย. 2562 แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่รอบด้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯ

ตัวแทนกลุ่มฮักบ้านเกิดกล่าวด้วยว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบเนื่องจากที่มาของโครงการนั้นไม่ได้มาจากประชาชนในพื้นที่แต่แป็นสิ่งที่ คสช. ยัดเยียดโครงการดังกล่าวผ่านนโยบายสานพลังประชารัฐ ทั้งกระบวนการเริ่มต้นดำเนินการของบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินกิจการน้ำตาล ก็ไม่ได้เปิดให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนในอำเภอบ้านไผ่ออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว ส่วนนโยบายสานพลังประชารัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนเพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับโครงการดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท