Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงสองถึงสามปีนี้ หนังสือเรื่อง “Sapiens: A Brief History of Humankind” และเล่มต่อเนื่องของศาสตราจารย์ยูวัล โนอาห์ ฮาราริ (Yuval Noah Harari) คือหนังสือเรื่อง “Homo Deus: A Brief History of Tomorrow” ได้สร้างองค์ความรู้เชิงบวกและความตื่นตระหนกเชิงลบให้แก่ผู้อ่านทั่วโลก จากการคาดการณ์ความเป็นไปของสังคมในศตวรรษที่ ๒๑ แม้ผู้เขียนท่านนั้นจะยืนยันว่า เนื้อความคาดการณ์ในหนังสือเป็นเพียงการประเมินความเป็นไปได้ในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของมนุษย์เท่านั้น มิใช่คำพยากรณ์แน่นอนตายตัวแล้ว แต่หลายสิ่งที่ปรากฏในหนังสือก็เริ่มก่อรูปเป็นร่างให้เราเห็น หนึ่งในนั้นคือกระแสของการถอดรื้อทางเทคโนโลยี (Technological Disruption)** คำ ๆ นี้สร้างความงุนงงให้แก่ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งสร้างความแตกตื่นให้แก่วัยรุ่นยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมเกมและแอบพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เด็กรุ่นใหม่ตื่นตัว (และอาจจะตื่นกลัว) ต่อคำ ๆ นี้ เพราะดูเหมือนในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างไปจากมนุษย์ จนอาจไม่เหลืองานอะไรให้พวกเขาทำ ไม่เหลือแม้แต่ตัวตนให้ภาคภูมิใจบนโลกใบนี้ได้อีก

การถอดรื้อทางเทคโนโลยีหมายถึงอะไร แท้จริงแล้วคำว่า “Disruption” แปลได้หลายอย่าง ซึ่งเราจะแปลว่าการทำลาย การรื้อ การถอดถอน การกำจัด การลบล้าง การทำให้กระจัดกระจาย การหกคะเมนตีลังกา การรบกวน การรุกล้ำทำให้เสียหาย การแยกสลาย การทำให้ยุ่งเหยิง หรือแม้แต่การทำให้เกิดความปั่นป่วนก็ได้ สืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมปัญญาเทียม (Artificial Intelligence) ในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนหนังสือชี้ถึงความเป็นไปได้ที่องค์กรยักษ์ใหญ่เช่น Amazon, Google หรือ Facebook จะคิดค้นโครงข่ายจักรกลปัญญาเทียมที่สามารถแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวของมนุษย์ทุกคนที่กำลังใช้เครือข่ายร่วมกัน ดึงเข้าสู่ระบบการคำนวณในคอมพิวเตอร์ที่มีเป้าหมายเพื่อการตัดสินใจและแก้ปัญหาทุกอย่างแทนมนุษย์ เรียกระบบของการคำนวณแบบนี้ว่า “Algorithm” อัลกอริทึ่มเป็นชุดของลำดับวิธีการประมวลผล (a methodical set of steps) ที่ถูกออกแบบให้เป็นระบบเพื่อคำนวณ แก้ปัญหา ตลอดจนกระตุ้นการตัดสินใจ มันทำงานเชื่อมโยงกับสมองของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

เมื่อเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจนก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ระบบอัลกอริทึ่มจะสามารถสแกนสายตาหรือลายนิ้วมือของมนุษย์ได้โดยอัตโนมัติ จากนั้นมันจะดำเนินการป้อนและถ่ายโอนข้อมูลทางชีวภาพของแต่ละคนจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปสู่ศูนย์กลางของจักรกลปัญญาเทียมที่เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้เองแทบจะทันที ระบบคำนวณตัวเองได้นี้จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคนที่กำลังท่องโลกออนไลน์ ขอแค่นาย ก. พิมพ์คำศัพท์คำหนึ่งเกินสามครั้ง มองกล้องผ่านจอด้วยสายตาเหม่อลอยหรือตั้งใจก็ได้ กดชอบ หรือแชร์ข้อมูลต่อ ระบบนั้นจะทำการบันทึกพฤติกรรมของนาย ก. เก็บเป็นสถิติไว้ในจักรกลโดยที่นาย ก. อาจไม่รู้ตัวเลย ข้อมูลส่วนตัวของนาย ก. ที่ถูกบันทึกไว้จะถูกนำไปประมวลผลรวมกับข้อมูลของคนอื่น ๆ อีกนับล้าน เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางสถิตที่แม่นยำ ยิ่งมีข้อมูลดิบ (data) ของมนุษย์ให้เก็บมากเพียงไร การประเมินผลของระบบก็ยิ่งถูกต้อง แม่นยำ และใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการตัดสินใจได้มากเพียงนั้น

ในที่สุดระบบซึ่งจัดการคำนวณข้อมูลได้เองนี้จะไม่ต้องอาศัยความรู้สึกและเหตุผลของมนุษย์ในการตัดสินใจเรื่องใด ๆ อีก กลับกลายเป็นมนุษย์ที่ต้องอาศัยระบบของจักรกลในการคิดและตัดสินใจแทนตัวเอง เพราะสถิติที่มันคำนวณออกมาแม่นยำมากและแม่นยำเกินกว่าที่มนุษย์คนใดจะทำได้เสมอเหมือน ระบบนี้จะตัดสินใจแทนเราในวันที่ป่วยว่าเราควรได้รับการรักษาแบบใด มันบอกได้กระทั่งว่ายีนของเราเป็นอย่างไร มีจุดบกพร่องในโครโมโซมส่วนไหนของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจเราอยู่ที่ระดับใด น้ำตาลในเลือดมีมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนพฤติกรรมความเสี่ยงของชีวิตเราคืออะไร ระบบนี้จะแนะนำแพทย์และโรงพยาบาลที่เหมาะสมให้แก่เรา มันทำได้ขนาดหาคู่หรือเพื่อนที่เหมาะสมให้เราด้วยขอเพียงแต่แจ้งความประสงค์ มันบอกได้ว่ามนุษย์คนใดในโลกนี้มียีนใกล้เคียงกับเรา หากอยู่ด้วยแล้วจะเข้ากันได้เป็นอย่างดีและมีความสุข ดังนี้เป็นต้น

แน่นอนว่าระบบอัลกอริทึ่มมีประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตมนุษย์ มันคิด คำนวณ และตัดสินใจแทนเราได้แทบจะทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ แต่มันก็ทำให้มนุษย์อ่อนแอลงเพราะอำนาจของคนถูกโอนถ่ายไปที่จักรกล มนุษย์เริ่มไม่แน่ใจความรู้สึกของตนเอง ไม่เชื่อมั่นในจิตใต้สำนึกของตน และหันไปพึ่งพิงสถิติจากระบบการคำนวณที่แม่นยำกว่า ยิ่งเทคโนโลยีคืบหน้าไปเพียงใด สามารถสร้างระบบอัลกอริทึ่มที่ดูดซับจับความคิดและความรู้สึกของมนุษย์มาประมวลผลเป็นสถิติได้มากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้มนุษย์หันเหออกจากความคิดและความรู้สึกของตนเองมากเพียงนั้น ในอนาคตเราอาจเห็นมนุษย์ที่ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของตนเองได้อีกถ้าไม่ได้ปรึกษาระบบอัลกอริทึ่มในหุ่นยนต์ก่อน ในทำนองเดียวกับที่เราได้เห็นในปัจจุบันแล้วว่า มนุษย์บางคนไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้อย่างแม่นยำถ้าเขาไม่ได้กดมือถือหรือใช้เครื่องคิดเลข และอีกหลายคนไม่มั่นใจที่จะออกจากบ้านถ้าไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลไปด้วย เป็นต้น

ระบบอัลกอริทึ่มไม่น่ากลัวตราบเท่าที่มนุษย์ยังเห็นความสำคัญของชีวิต เลือด เนื้อ และจิตวิญญาณของตนเอง แต่หากวันใดโครงสร้างทางประสบการณ์ทั้งหมดของมนุษย์ถูกมองว่าเป็นเพียงกระบวนการถ่ายเทข้อมูล (data processing) และวันใดที่ความสำนึกรู้ (consciousness) ของมนุษย์ถูกมองว่าเป็นแค่ผลลัพธ์ของเครือข่ายเส้นใยการทำงานของสมอง (neuronal activities) วันนั้นมนุษย์จะเริ่มตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของตัวเองว่าแตกต่างและเหนือกว่าหุ่นยนต์อย่างไร เรามีจิตใจ (mind) ที่แตกต่างจากสมอง (brain) ไหม ความรู้สึกนึกคิดของเราเป็นแค่กลุ่มก้อนของระบบชีวเคมีแค่นั้นใช่หรือไม่ หรือตัวตนของมนุษย์แท้จริงเป็นแค่รูปแบบทำซ้ำของการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์อย่างนั้นหรือ

ตราบที่มนุษย์ยังไม่สามารถตอบคำถามข้างต้นได้ การกำหนดความหมายให้แก่การดำรงอยู่ของตนเองและเผ่าพันธุ์แห่งมนุษย์ก็จะพร่ามัวและอ่อนล้าลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกลับคืบหน้าไปทุกขณะ วิทยาศาสตร์บางสาขาและการทหารของบางประเทศไม่สนใจตอบคำถามเรื่องความสำนึกรู้ของมนุษย์อีกแล้ว เพราะมันไม่มีมูลค่าทางการตลาด สิ่งที่พวกเขาสนใจวิจัยคือการค้นหาความสามารถของสมองที่สร้างระบบคำนวณหรือสถิติแม่นยำเพื่อใช้ประโยชน์ได้ต่างหาก เมื่อเรื่องของความสามารถทางสมอง (intelligence) ที่ขายได้ถูกแยกออกจากเรื่องของความสำนึกรู้ที่คลุมเครือและขายไม่ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญเน้นเฉพาะการพัฒนาความสามารถทางสมอง (เทียม) ผ่านการสร้างเครือข่ายให้ระบบอัลกอริทึ่มสำหรับใช้ในวงการต่าง ๆ วันนั้นมนุษย์จะถูกผลักให้ต้องแข่งขันกันที่ความสามารถทางสมองเท่านั้น และที่สำคัญเราจะต้องแข่งกับหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเลิศในด้านจำลองการทำงานของสมองมนุษย์แล้ว ซึ่งไม่ว่าแข่งอย่างไรมนุษย์ก็แพ้อยู่ดี

หากความเคลื่อนไหวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังดำเนินไปตามแนวนี้ โดยที่ไม่มีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้ามาถ่วงดุล สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มนุษย์จะสามารถอัพเกรดสมองกับร่างกายของตนเองได้มากขึ้น แต่สูญเสียความสามารถทางจิตใจที่จะสัมผัส คิด รู้สึก หรือสร้างเชื่อมั่นในตัวเองได้อีก ในวันที่มนุษย์ทันสมัยขึ้น มีสิ่งแวดล้อมอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีทางเลือกของชีวิตมากขึ้น แต่วันนั้นความสามารถที่จะ “ตระหนักรู้” และ “ตอบสนอง” ต่อสิ่งที่ตนเลือกเองนั้นกลับลดน้อยถอยลงไป เทคโนโลยีอาจยกระดับความสามารถทางสมองให้แก่มนุษย์ แต่มันก็ลดระดับคุณค่าทางจิตใจของมนุษย์ไปพร้อมกันด้วย

เหตุผลคือ (หนึ่ง) แม้ความสามารถทางสมองของเราจะเพิ่มขึ้นเพียงไร เราก็แข่งขันกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เพราะเป้าหมายของการมีชีวิตกับเป้าหมายของการสร้างจักรกลอัลกอริทึ่มนั้นแตกต่างกัน (สอง) ระบบอัลกอริทึ่มทำให้คนอยากรู้อยากลองมากขึ้น เราไม่อยากตกยุคหรือพลาดเทคโนโลยีในด้านหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าอย่างไรเสียเราก็ก้าวตามมันไม่ทัน ความอยากรู้อยากลองของมนุษย์จึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีให้แก่อัลกอริทึ่ม และ (สาม) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระบบอัลกอริทึ่มยิ่งทำให้คนสูญเสียความสามารถของมนุษย์ อำนาจการตัดสินใจของมนุษย์ถูกถ่ายโอนไปยังจักรกลที่ทันสมัย แม่นยำ และไม่มีข้อจำกัดเหมือนมนุษย์

เมื่อใดก็ตามที่ความสามารถของจักรกลทำให้มนุษย์รู้สึกว่า ความสำนึกรู้ (consciousness) ของคนมีค่าเท่ากับความสามารถทางสมอง (intelligence) เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อว่า ทางรอดของมนุษย์อยู่ที่การแข่งขันความสามารถทางสมองมากกว่าปลุกความสำนึกรู้ เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อว่า ระบบในร่างกายของคนไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ารูปแบบกลไกทางคณิตศาสตร์ เมื่อใดที่เราเชื่อว่า ประสบการณ์ของคนเป็นเรื่องของกระบวนการประมวลผลข้อมูลไหลเข้า-ไหลออก และเมื่อใดที่เราเชื่อว่า ความรู้สึกของเราเองเป็นเรื่องของระบบชีวเคมีเท่านั้น เมื่อนั้นเราพึงทราบว่า เทคโนโลยีได้ถอดรื้อโครงสร้างของแต่ละชีวิตให้เป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งในระบบข้อมูลสากลเรียบร้อยแล้ว มันทำให้ชีวิตมนุษย์แต่ละคนเป็นแค่กลุ่มก้อนข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในกาละและเทศะหนึ่ง ๆ รอเวลาให้ระบบอัลกอริทึ่มเข้ามาจัดการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกันเท่านั้น

นี่เองคือความหมายแท้จริงของการถอดรื้อทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์ แต่มนุษย์จำนวนมากยังไม่รู้ และนี่เองคือด้านน่ากลัวของเทคโนโลยีที่นักธุรกิจระดับโลกมักมองข้าม เพราะพวกเขามีความกระหายใคร่รู้ ไม่กลัวการเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ที่เห็นตรงหน้า และมีกำลังทรัพย์มากพอจะอพยพไปอยู่ดาวดวงอื่น แต่มนุษย์เดินดินส่วนใหญ่บนโลกนี้ทำไม่ได้

เพราะเทคโนโลยีในเวลานี้คือ “คลื่นลูกใหญ่” ไม่ใช่แค่ “เครื่องมือ” อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่มนุษย์ควรทำในยุคต่อจากนี้จึงไม่ใช่การปฏิเสธเทคโนโลยี แต่คือการอยู่กับเทคโนโลยีโดยเฉพาะระบบอัลกอริทึ่มอย่าง “รู้เท่าทัน” โดยไม่ต้องทำตัวให้ฉลาดกว่ามัน นอกจากนี้ มนุษย์ควรให้เวลาแก่ตัวเองในแต่ละวันเพื่อทำความ “เข้าใจ” การมีอยู่ของตนเอง พยายามกำหนดรู้ความหมายและให้คุณค่าแก่ชีวิตของมนุษย์ในเชิงบวก เพราะหาไม่แล้วการถอดรื้อทางเทคโนโลยีจะทำให้คนรู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า ซึมเศร้า และฆ่าตัวตายได้ง่ายมาก เนื่องจากมันทำให้เราสูญเสียความรู้สึกและกลายเป็นแค่ฟันเฟืองข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น ฟันเฟืองแรงงานในยุคอุตสาหกรรมยังมีประโยชน์ในด้านการผลิตที่มนุษย์รับผิดชอบตัวเองได้อยู่ แต่ฟันเฟืองข้อมูลในยุคเทคโนโลยีเป็นแค่เศษเสี้ยวอิเล็กทรอนิกส์ (chips) ที่ล่องลอยในโลกออนไลน์ มันจับต้องไม่ได้และมีประโยชน์หลักในแง่เป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนอัลกอริทึ่มเพื่อรอขายนักธุรกิจต่อไป

ยิ่งกว่านั้น การเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกหลานที่กำลังเติบโตขึ้นในยุคใหม่เป็นเรื่องจำเป็น เด็กรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถอดรื้อทางเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ “ความรักในครอบครัว” และ “การซึมซับความอบอุ่นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้แก่พวกเขา เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งน่ากลัว อัลกอริทึ่มแม้จะฉลาดกว่าคนก็ยังไม่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือมนุษย์ผู้เขียนรหัสใส่ไว้ในระบบผ่านหุ่นยนต์ต่าง ๆ หากคนในปัจจุบันอยู่รอดได้ด้วยจิตใจที่แห้งแล้ง พบเจอแต่โลกของคนเห็นแก่ตัว มักแก่งแย่งและทำลายกัน มันก็คงไม่ยากที่เราจะคาดการณ์ต่อไปได้ว่า หุ่นยนต์ที่พวกเขาใส่รหัสไว้นั้นจะเป็นอย่างไร และอนาคตของมนุษยชาติในยุคเทคโนโลยีจะเสี่ยงอันตรายมากแค่ไหน เพราะฉะนั้น หากการถอดรื้อทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเพื่อกวาดล้างมนุษย์ในยุคหน้า มันก็อาจเป็นแค่ผลพวงสะท้อนกลับให้เราเห็นความผิดพลาดของมนุษย์ในยุคนี้นั่นเอง  


** ในระหว่างที่ทำงานชิ้นนี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่ามีการแปลคำว่า “technological disruption” อย่างเป็นทางการในภาษาไทยแล้วหรือยัง จึงขอแปลคำนี้ในความหมายตามที่ตนเองเข้าใจ และเลือกคำที่แสดงให้เห็นภาพกว้างแต่คิดว่าเป็นกลางที่สุด  



หนังสืออ่านประกอบการเขียน

Baker, Lynne Rudder (2013). Technology and the Future of Persons. The Monist 96 (1): 37-53.
Harari, Yuval Noah (2017). Homo Deus. London: Vintage.
Harari, Yuval Noah (2019). 21 Lessons for the 21st Century. London: Vintage.
Horgan, John (1994). Can Science Explain Consciousness? Scientific American 271 (1): 88-94.
Moody, Todd (2007). Naturalism and the Problem of Consciousness. The Pluralist 2 (1): 72-83.
Nagel, Thomas (1974). What Is It Like to Be a Bat? The Philosophical Review 83 (4): 435-450.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net