อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายเกือบปี ขณะที่ชื่อ 'บวรเดช-ศรีสิทธิสงคราม' โผล่เป็นตึก-ห้องใน ทบ.

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดตึกและห้องชื่อ 'ศรีสิทธิสงคราม' และห้อง 'บวรเดช' ภายใน บก.ทบ. ชูทหารสายเจ้าผู้จงรักภักดี ก่อกบฎบวรเดช หวังยึดอำนาจจากรัฐบาล 'คณะราษฎร' ขณะที่ปลายปีที่แล้ว 'อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช' หรือ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่วงเวียนหลักสี่ หายไป ปัจจุบันยังไม่ทราบอยู่ที่ไหน

9 ต.ค.2562 วันนี้ เมื่อเวลา 7.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพบก โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เป็นประธานพิธีเปิดห้องศรีสิทธิสงคราม และห้องบวรเดช ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นชื่อของนายทหารผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและกองทัพ ภายหลังจากปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นไปอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งภายใน บก.ทบ. และรอบพื้นที่ บก.ทบ. โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถทำข่าวและบันทึกภาพได้เฉพาะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศเท่านั้น และห้ามไม่ให้เดินไปยังจุดต่างๆ ภายใน บก.ทบ.อย่างเด็ดขาด

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์ โพสต์ภาพพร้อมรายงาน ผ่านเฟสบุ๊ค 'Wassana Nanuam' ว่าชื่อ ห้องใหม่ 2 ห้อง อาคารปรับปรุงใหม่ ตามไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์ อาคารสรรพาวุธ พิพิธภัณฑ์ ทบ. ข้างบนห้อง “บวรเดช” ส่วนข้างล่าง ห้อง “ศรีสิทธิสงคราม”

ทั้งนี้ “บวรเดช” พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำกบฏบวรเดชพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร และ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม “ดิ่น ท่าราบ “แกนนำกบฏบวรเดชเมื่อปี 2476 พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นพ่อของ อัมโภชน์ ท่าราบ มารดา ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานท์ องคมนตรี

วาสนา ยังรายงานว่า เหตุที่ ทบ. นำมาเป็นชื่อ ห้องประชุม ที่ปรับปรุงใหม่ ตามไอเดีย พล.อ.ประยุทธ์ ตอนเป็น ผบ.ทบ. นั้น ไม่ได้หมายถึง เหตุกบฎบวรเดช แต่ เพราะ พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดี อย่างที่สุด และไม่ได้ร่วมกับ คณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนื่องจากยึดมั่นในคำถวายสัตย์ฯ นั่นเอง

ไม่เพียงชื่อห้องเท่านั้น วาสนา ยังรายงานด้วยว่า ตั้งชื่อ พิพิธภัณฑ์กองทัพบก ส่วนปรับปรุงใหม่ ว่า อาคาร “ศรีสิทธิสงคราม” รำลึกถึง พระยาศรีสิทธิสงคราม “ดิ่น ท่าราบ” คุณตาของ “พล.อ.สุรยุทธ์” ทหารสายเจ้า ผู้จงรักภักดี ก่อกบฎบวรเดช หวัง ยึดอำนาจจากรัฐบาล “คณะราษฎร” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ เปิดอาคารศรีสิทธิสงคราม พร้อมทั้งลงนามไว้เป็นที่ระลึก โดยอาคารศรีสิทธิสงคราม เป็นอาคารสูง 2 ชั้นก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ถือเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีดำริให้ปรับปรุงอาคาร สำหรับใช้เป็นอาคารอเนกประสงค์ในการจัดประชุมต้อนรับและประกอบพิธีที่สำคัญของกองทัพบกเป็นส่วนรวม

อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายไปเกือบปีแล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่มีการนำชื่อของผู้นำกลุ่มกบฏบวรเดชมาตั้งเป็นชื่อห้องที่ ทบ. นั้น ด้านหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กลางดึกคืนวันที่ 27 ต่อ 28 ธ.ค.2561 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ฯ ด้วย จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือเรียกโดยทั่วไปว่า หมุดคณะราษฎร ที่เดิมเคยฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 จนกระทั้ง เมษายน 2560 หมุดดังกล่าวได้หายไป

ก่อนการหายไปของ อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 1 วัน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานก่อนข่าวดังกล่าวจะถูกลบไปในเวลาต่อมาว่า เมื่อคืนวันที่ 23 ธ.ค.61 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำพิธีสักการะแบบเงียบๆ เพื่อจะดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้ไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม.ย่านหนองบอน อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม 28 ธ.ค.61  วีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว VoiceTV โพสต์รายงานข่าวกรณีนี้ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ วีรนันต์ กัณหา - Weeranan Kanhar ว่า ตนโทรศัพท์สอบถามไปที่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ได้รับคำยืนยันว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ถูกย้ายออกไปเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.62 ไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ย่านหนองบอน ตามที่ 'ประชาชาติธุรกิจ' รายงาน และ กทม. ไม่เคยทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเลย

ศักดิ์ชัย ผอ.สำนักการโยธา กทม. บอกเพิ่มเติมว่า "จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจ อนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สักการะและดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ฯดังกล่าว ไปไว้ทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แล้วครั้งหนึ่ง

ที่มาของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช

ภาพจากเพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม 

สำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น เพจ 'ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม' เล่าถึงที่มาของอนุสาวรีย์ฯนี้ หรืออีกชื่อคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ โดยอ้างจากบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชื่อ“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 ที่ระบุว่า

ที่มาของอนุสาวรีย์ฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ ได้นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งจากอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมือง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกู้บ้านเมืองให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาล และถอนทหารกลับสู่ที่ตั้ง​ แต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 - 16 ต.ค. 2476 ต่อมาฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองได้พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องกฏหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่​ ณ​ ท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 ก.พ.2477

จากนั้นได้บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวินไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงได้นำอัฐิของวีรชน 17 นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ 

ภาพจาก เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล'

เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล' ได้โพสต์ภาพพร้อม คำกราบบังคมทูลของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตำบลหลักสี่ 15 ต.ค. 2479 ด้วยว่า

"กระทรวงกลาโหมขออุทิศอนุสาวรีย์นี้ให้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูด และการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสติเตือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดไป"

 

เรียบเรียงจาก : ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก Army PR Center ผู้จัดการออนไลน์ และเฟสบุ๊ค Wassana Nanuam

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท