Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านสิทธิฯ สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอในการปลูกฝังเรื่องนี้ในสังคมไทยเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ชี้ยังมีมุมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของตะวันตกทั้งๆ ที่คณะที่ร่างปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีผู้แทนจากประเทศในเอเซียร่วมอยู่ด้วย

 

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย

10 ธ.ค.2562 ด้วยสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) และประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day)  เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ตระหนักและเล็งเห็นถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education Foundation – TCE Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเพื่อบ่มเพาะวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้หนึ่งที่พยายามผลักดันให้มีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นพลเมือง ตั้งแต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา ในวาระนี้สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พูดคุยเพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อเสนอในการปลูกฝังเรื่องนี้

“สำหรับสังคมไทย เวลาพูดถึงสิทธิมนุษยชน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกกลัวเนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องของการเรียกร้อง และการประท้วงของคนบางกลุ่มซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคม แต่จริงๆ แล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่คนเราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร อย่างเช่นเด็กคนหนึ่งเกิดมา ถ้าเข้าไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดหรือได้รับสัญชาติ เขาก็จะขาดสิทธิโอกาสในด้านอื่นๆ เช่นในเรื่องการเข้าเรียน การได้รับการรักษาพยาบาล หรือการเข้าทำงาน ซึ่งสิทธิของเด็กที่จะได้รับสัญชาติก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ยังมีเด็กและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่เป็นคนไร้สัญชาติ หรือสิทธิในการนับถือศาสนาก็เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ในหลายๆ ประเทศก็มีการเลือกปฎิบัติกับกลุ่มผู้นับถือศาสนาที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ”  วัชรฤทัย กล่าว

เราจะปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร

ประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย กล่าวด้วยว่า เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นชุดคุณค่าซึ่งมองว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันถึงแม้ว่าแต่ละคนจะเกิดมาในครอบครัวหรือประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน นับถือศาสนา มีภาษาหรือสีผิวต่างกัน มีความเชื่อหรืออัตลักษณ์อื่นๆที่ไม่เหมือนกัน  แต่ทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเสมอภาคและอย่างเคารพซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เช่นผู้พิการก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาหรือทำงาน โดยรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องออกนโยบายและการมาตรการต่างๆที่จะทำให้ผู้พิการได้เข้าถึงสิทธิเหล่านี้

ดังนั้นเราต้องปลูกฝังคุณค่าเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความเข้าใจเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กัน โดยในส่วนของคุณค่าก็คงต้องปรับวิธีคิดและการปฎิบัติของคนในสังคมเช่นในเรื่องการมองคนไม่เท่ากันในสังคมไทย ก็จะต้องระวังมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า อย่างครูกับนักเรียน ซึ่งเรายังได้ยินข่าวเรื่องการลงโทษหรือทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนโดยครูหรือ ผ.อ. อยู่เป็นระยะๆ หรือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นประเด็นที่มีรากเหง้าของปัญหาที่ฝังอยู่ในวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่และความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย ซึ่งในเรื่องการปรับวิธีคิดและการปฎิบัตินี้ก็ต้องทำในทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัวไปถึงสถาบันการศึกษา โดยเราต้องสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน ในส่วนความเข้าใจเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เราก็คงต้องทำให้ความรู้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในสังคมมากขึ้น ซึ่งสถาบันการศึกษาก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาทางสถาบันสิทธิและสันติฯ ก็ได้ทำงานเรื่องนี้มาตลอด ทั้งในส่วนของการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรในระดับ ป.ตรีถึง ป.เอก นอกจากนั้นเรายังร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆทั้งของรัฐและภาคประชาสังคมในการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา โดยมีการพัฒนาหลักสูตร อบรมครูและอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศ และทำงานกับกลุ่มเยาวชน

ข้อท้าทาย

“ยังมีมุมมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตกทั้งๆ ที่คณะที่ร่างปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีผู้แทนจากประเทศในเอเซียร่วมอยู่ด้วย จริงอยู่ว่าในประวัติศาสตร์อาจจะมีการตื่นตัวในเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมตะวันตกมากกว่าในบ้านเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าและหลักการสิทธิมนุษยชนจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เพียงแต่แนวคิดและการให้คุณค่าเรื่องนี้อาจจะท้าทายระบบคิดและวิถีปฎิบัติบางอย่างในสังคม จึงทำให้มีการไม่ยอมรับ

นอกจากนั้นเรามักจะได้ยินคำพูดว่าคนเอาแต่เรียกร้องสิทธิ โดยไม่ทำหน้าที่ ซึ่งจริงๆแล้วเวลาที่เราพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยากจะย้ำว่ามันเป็นเรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ว่าในฐานะมนุษย์คนนึง เราควรจะสามารถใช้ชีวิตอย่างไร เช่น เราควรจะรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ไม่ถูกเลือกปฎิบัติ ไม่ถูกกระทำทารุณ มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล มีงานทำและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานของชีวิต ซึ่งถ้าผู้ที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิสามารถทำหน้าที่เคารพ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ ทุกคนก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามที่ควรจะเป็น ก็ไม่ต้องมีการออกมาเรียกร้อง” วัชรฤทัย กล่าว

“สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะทำความเข้าใจ เพราะเป็นคุณค่าสากลที่เป็นหลักที่จะทำให้เกิดสันติภาพและความเป็นธรรมในสังคมไทยและสังคมโลกได้”  วัชรฤทัยได้ กล่าวทิ้งท้าย พร้อมแนะนำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า เป็นสถาบันที่ให้คุณค่ากับการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจในปรัชญาแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยใช้วิธีวิจัยที่หลากหลายในการเข้าถึงองค์ความรู้โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายจริง

ติดตามข่าวสารและบทความที่น่าสนใจด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้ที่ www.ihrp.mahidol.ac.th และ facebook: สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net