เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: คนยากจนลำบากหนักหลังไข้เลือดออกระบาดทุบสถิติ

ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งมีผลทำให้ระบบบริการสุขภาพต้องรับภาระหนัก และสร้างภาระให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจน การระบาดของโรคนี้มีลักษณะเป็นวงจร โดยสถานการณ์ถูกทำให้รุนแรงขึ้นเนื่องจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและการเคลื่อนย้ายของสิ่งของและผู้คนในระดับโลก ขณะนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องจำกัดการแพร่ระบาดของโรค โดยความพยายามนี้เกิดขึ้นทั้งจากห้องทดลองในกรุงเทพฯ ไปจนถึงคลินิกชนบทตามแนวชายแดนไทย - พม่า

“ภรรยาของผมป่วยเป็นไข้เลือดออกเมื่อต้นเดือนกันยายน อีกสองสัปดาห์ต่อมาลูกสาวผมก็ป่วยมา แล้วตอนนี้ก็ถึงคราวของลูกชายผม เรารีบพาเขามาที่นี่ตอนที่เขามีไข้สูง ถ่ายเป็นเลือด และอาเจียนอย่างรุนแรง” ชาน พิเศษ ต้องหยุดขับรถตุ๊กตุ๊กถึงสามวันเพื่อดูแลลูกชายอายุสิบสองปีที่โรงพยาบาลเด็กอังกอร์ (Angkor Children’s Hospital – AHC) ในเสียมเรียบ เมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โรงพยาบาลแห่งนี้ซึ่งรักษาเด็กจำนวนกว่าห้าร้อยคนต่อวันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต้องประกาศรับเงินบริจาคฉุกเฉินมาแล้วหลายครั้ง

“ในช่วงที่ร้ายแรงที่สุด เรามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่าปีที่แล้วถึงเจ็ดเท่า ครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นต้องนอนโรงพยาบาล ระหว่างเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เรามีผู้ป่วย 200 คนต่อสัปดาห์ และร้อยละ 30 ถึง 50 ของจำนวนเตียงถูกใช้โดยผู้ป่วยที่ป่วยด้วยอาการแทรกซ้อนจากโรคไข้เลือดออก เรามีงบประมาณต่อปีทั้งหมด 6 ล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม เราใช้เงินไปแล้วทั้งหมด 290,000 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้อที่นอน ขวดให้สารน้ำทางหลอดเลือด ชุดตรวจหาไข้เลือดออก และค่าล่วงเวลาของบุคลากร ถ้าเราไม่ต้องจัดการโรคที่เกิดจากยุงปริมาณมากขนาดนี้ เราจะสามารถใช้งบประมาณไปกับโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยหนัก และหน่วยพยาบาลทารกแรกเกิดได้” พญ.โงน จันเพียกตระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กอังกอร์อธิบาย

ไข้เลือดออกส่งต่อผ่านยุงลายสายพันธุ์ Aedes aegypti หรือ ยุงลายบ้าน และ Aedes albopictus หรือ ยุงลายสวน ซึ่งสามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสซิกา เชื้อชิคุนกุนยาและไข้เหลือง ยุงเหล่านี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้น ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะซึ่งแพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุดในโลก จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีการประมาณว่าอยู่ที่ 300 – 500 ล้านรายต่อปี หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เท่าจากช่วงทศวรรษ 2490 และผู้คนจำนวนกว่า 3.9 ล้านคนใน 128 ประเทศมีความเสี่ยงติดเชื้อ ในขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ บางรายมีไข้สูง ไม่เจริญอาหาร มีผื่นคัน ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกและข้ออย่างรุนแรง โดยอาการเหล่านี้มักคงอยู่ประมาหนึ่งสัปดาห์

เนื่องจากไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ การรักษาอย่างเดียวที่มีคือการรักษาตามอาการ ติดตามระดับเกล็ดเลือด และการให้สารน้ำทางหลอดเลือด อาการของผู้ป่วยอาจจะพัฒนาไปเป็นโรคไข้เลือดออกแบบรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกภายใน โรคทางเดินหายใจ และอวัยวะล้มเหลวได้โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อายุของผู้ป่วย สภาวะที่เป็นอยู่เดิม และความล่าช้าในการเข้ารับการรักษา โดยร้อยละ 1 ของโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิต

แม่ของจัน เพียกเดย์ ช่วยถือเสาแขวนน้ำเกลือเพื่อให้ลูกชายเดินไปเข้าห้องน้ำได้ ภาพถ่ายเมื่อ 30 กันยายน 2562 ก่อนที่เด็กชายอายุ 10 ปีผู้นี้จะออกจากโรงพยาบาล ทั้งนี้เพียกเดย์เข้ารับการรักษาโรคไข้เลือดออกอยู่ที่โรงพยาบาลเด็กอังกอร์ ในเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา โดยในปีนี้ทั้งแม่ น้องสาว และเพื่อนบ้านต่างป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งสร้างภาระหนักให้กับครัวเรือนที่ยากจน

ในทุก ๆ วัน จะมีผู้ป่วยกว่า 500 รายเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 โรงพยาบาลประกาศขอความช่วยเหลือฉุกเฉินเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล (ที่มา: Luke Duggleby/ 30 กันยายน 2562)

จัน เพียกเดย์ อายุ 10 ปี นั่งอยู่หน้าบ้านหลังจากเขาหายดีแล้ว ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนซึ่งมีน้ำขังได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และทำให้ปีนี้ทั้งตัวเขา น้องสาว แม่ และเพื่อนบ้านป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก (ที่มา: Luke Duggleby/ 1 ตุลาคม 2562)

เนื่องมาจากจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมหาศาลในปีนี้ พยาบาลที่โรงพยาบาลเด็กอังกอร์ ที่เมืองเสียมเรียบ จึงสื่อสารโดยตรงกับผู้ป่วยเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อบรรเทาอาการจากไข้เลือดออก รวมทั้งอธิบายสาเหตุของโรค (ที่มา: Luke Duggleby/ 30 กันยายน 2562)

 

ในช่วงแรก ชาน พิเศษ ลองดูแลรักษาลูกชายที่บ้าน “ตอนที่เขาเริ่มมีไข้ เราไปที่ศูนย์ปฐมพยาบาลเพื่อซื้อน้ำเกลือเป็นขวด เรามีรายได้แค่ 200 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เราจึงต้องกู้เงินนอกระบบมา 330 เหรียญสหรัฐเพื่อจ่ายค่าเดินทางและค่าน้ำเกลือสำหรับทั้งครอบครัว เราไม่ได้ไปโรงพยาบาลทันทีเพราะเราไม่สามารถหยุดงานได้ทุกครั้งที่ลูกของเราคนหนึ่งไม่สบาย”

ในกัมพูชา การให้ผู้ป่วยรักษาตัวเองเป็นเรื่องต้องห้าม แต่คลินิกเอกชนส่วนใหญ่ยอมให้ผู้ป่วยกลับบ้านพร้อมกับขวดน้ำเกลือที่พวกเขาขายให้ในราคาสูง แพทย์ต่างให้คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแล ถ้าหากว่าไม่มีการให้ยาตรงตามปริมาณที่กำหนดไว้ การให้สารน้ำหรือพาราเซตามอลเกินขนาดอาจทำให้เกิดไข้เลือดออกแบบรุนแรง

20 ปีที่ผ่านมา พญ.โงน จันเพียกตระเป็นผู้รณรงค์ “เพื่อให้การศึกษา ป้องกัน และเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้น” ผ่านการบริการของโรงพยาบาลเด็กอังกอร์ “ในอนาคต ขอบเขตของการระบาดจะขึ้นอยู่กับ ความเข้าใจโรคของผู้คน และความแน่นอนของมาตรการจากภาครัฐ”

ที่ปลายตรอกเล็ก ๆ ที่มีพื้นถนนเป็นดินในรอบนอกของเสียมเรียบ ชาน พิเศษ เปิดประตูกระท่อมสังกะสีของเขาพร้อมกับถอนหายใจ “เรานอนในมุ้ง เรามีพัดลมสองตัว และผมซื้อยากันยุงเป็นประจำ แต่เรามีคน 6 คน แล้วคนในชุมชนของเราเป็นโรคไข้เลือดออกและไม่มีใครมาฉีดยากำจัดยุงให้เรา หรือแจกทรายกำจัดลูกน้ำสำหรับใส่ในภาชนะเก็บน้ำ ในฤดูมรสุม น้ำที่นี่ก็ท่วมถึงเข่า เราควรจะยกพื้นขึ้นและเทคอนกรีต แต่เราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือและไม่มีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเรา”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การเคลื่อนไหวของกองทัพฝ่ายพันธมิตรและกองทัพญี่ปุ่นแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากยุงไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2510 เป็นต้นมา การอพยพจากชนบทไปยังมหานครเขตร้อนที่ก่อสร้างกันอย่างไร้การวางแผน การขาดแคลนทั้งมาตรการที่มีประสิทธิภาพทั้งเรื่องควบคุมจำนวนยุงและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ครอบครัวหลายล้านครอบครัวอาศัยอยู่ในสลัมโดยไม่มีการกำจัดของเสียและไม่มีน้ำประปา และจำนวนผู้โดยสารนับไม่ถ้วนที่เดินทางผ่านสนามบินได้ทำให้สถานการณ์เกินกว่าจะควบคุมและนำพาโรคไปยังเขตร้อนชื้นต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะที่ยางรถยนต์ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในอุดมคติ ปริมาณพาหนะ เขตก่อสร้าง และการผลิตพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็เป็นสาเหตุเช่นกัน

ภายในเดือนมกราคมของปี 2562 ก่อนเข้าช่วงหน้าฝน หน่วยงานสาธารณสุขในมะนิลา ธากา พนมเปญ เวียงจัน กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ฮานอย และกรุงเทพฯ ได้ออกประกาศการแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นทางการหลังมีรายงานผู้ป่วยหลายพันราย ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาใต้

 

หลังจากการแพร่ระบาดหนักของโรคไข้เลือดออกในย่านเยาวราชของกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย 1 ราย เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้เข้ามาฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ และขอให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอีกด้วย (ที่มา: Luke Duggleby/ 9 ตุลาคม 2562)

หลังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในย่านเยาวราชของกรุงเทพฯ ที่ทำให้มีผู้ชายเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้เข้ามาในพื้นที่แพร่ระบาดและให้คำแนะนำประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง (ที่มา: Luke Duggleby/ 9 ตุลาคม 2562)

เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้เข้ามาในพื้นที่แพร่ระบาดเพื่อฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำและยุง และให้คำแนะนำในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ในภาพเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นสารเคมีในบ้านที่มีผู้เสียชีวิต 1 รายจากโรคไข้เลือดออก (ที่มา: Luke Duggleby/ 9 ตุลาคม 2562)

จาตุรงค์ วงษ์จิรากร อายุ 28 ยืนที่หน้าบ้านของเขาในย่านเยาวราช ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2562 พ่อแม่พี่น้องของเขารวม 4 คน ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และทำให้พ่อของเขาเสียชีวิตโดยมีสาเหตุมาจากคำวินิจฉัยโรคผิดพลาด (ที่มา: Luke Duggleby, 24 ตุลาคม 2562)

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แสดงสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้ โดยในตารางซึ่งแสดงให้เห็นตัวเลขจนถึงเดือนสิงหาคมระบุว่ามีผู้ป่วย 77,575 รายในกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 81 ราย ขณะที่จำนวนผู้ป่วยในปี 2018 และ 2017 คือ 50,079 และ 33,271 รายตามลำดับ (ที่มา: Luke Duggleby/ 30 สิงหาคม 2019)

วิริชดา ปานงาม (ซ้าย) รองหัวหน้าหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด หรือ MORU และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในผู้ทำแผนที่การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก (ที่มา: Luke Duggleby/ 16 สิงหาคม 2562)

 

ริชาร์ด มอด (Richard Maude) หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาที่หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด หรือ MORU (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit) ซึ่งเป็นเครือข่ายการวิจัยโรคเขตร้อน เรียกร้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ ระมัดระวังการทำงานกับสถิติ “การเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของจำนวนผู้ป่วยอาจเป็นผลมาจากระบบการรายงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น เช่นเดียวกับที่ความรับรู้และข้อมูลเกี่ยวกับโรคมีมากขึ้นและคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่ตัวเลขเหล่านี้อาจจะยังต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะเชื้อไวรัสเดงกีมักไม่แสดงอาการและถูกวินิจฉัยผิดพลาด การตรวจสอบโรคไม่สามารถเชื่อถือได้ 100% และจำนวนผู้ป่วยถูกรายงานโดยโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น”

ที่กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ทำหน้าที่ดูแลระบบจัดเก็บข้อมูลของประเทศไทย “เราพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุผิดปกติ เราเชื่อมโยงการระบาดเข้ากับวงจรปกติของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดขึ้นทุก 3 -5 ปี และกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและปริมาณฝน และการเกิดขึ้นของไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ตอนนี้เราต้องทุ่มเทงบประมาณส่วนหนึ่งไปกับการป้องกันและควบคุมจุดแพร่พันธุ์ตลอดทั้งปี”

การเสียชีวิตของทฤษฎี สหวงษ์ นักแสดงชื่อดังเมื่อปี พ.ศ. 2559 ขณะอายุ 36 ปี หลังจากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง สร้างความตกใจให้กับคนทั้งประเทศ เพราะแม้แต่คนมีฐานะดียังได้รับผลกระทบ เหตุนี้ยังผลักดันให้รัฐบาลต้องเสริมสร้างโครงการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก โครงการพ่นยาฆ่าแมลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล การเดินทาง ค่ายาและวินิจฉัยโรค จำนวนวันหยุดงานหรือหยุดเรียนล้วนแต่เป็นภาระของงบประมาณแผ่นดิน “ภาระทางเศรษฐกิจของไข้เลือดออก” ของ 11 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูฏานระหว่างปี พ.ศ. 2544-2553 ถูกประมาณการว่าอยู่ที่ 950 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี  แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ ในทุกพื้นที่และทุกชนชั้น

จาตุรงค์ วงษ์จิรากร เจ้าของธุรกิจออนไลน์ นั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติกในตรอกเล็ก ๆ ชื้น ๆ ในย่านเยาวราช เขากำลังช่วยแม่ของเขาขายอาหารที่หน้าบ้านตามที่เคยทำมาทุกเช้าหลังจากพ่อของเขาเสียชีวิตด้วยวัย 58 ปี เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม เขาเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกหลังได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า “วันที่ 23 กันยายน พ่อมีไข้สูงและไปหาหมอที่คลินิกเอกชน 2 ที่ซึ่งวินิจฉัยว่าพ่อเขาเป็นหวัด แต่สองวันต่อมา เขามีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและอาเจียน ผมจึงพาพ่อไปโรงพยาบาล ผมจำอาการแบบนี้ได้จากตอนสมัยเด็กที่ผมเป็นไข้เลือดออก เลยขอให้หมอตรวจว่าพ่อเป็นโรคนี้หรือเปล่า แต่หมอก็แค่วัดชีพจรและบอกว่าพ่อติดเชื้อในลำไส้ เรากลับบ้านมาพร้อมกับยาแก้วิงเวียน แต่ในตอนเช้า พ่อก็ร้องบอกว่าเขาหายใจไม่ออก”

จาตุรงค์รีบออกไปหาซื้อขวดออกซิเจน จากนั้นก็พาพ่อของเขาไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เขาได้รับการบอกว่าอาการนี้เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน แต่อาการรุนแรงมากจนในที่สุดพ่อของเขาก็ได้รับการตรวจเลือด ผลเลือดที่ออกมาในอีกสี่ชั่วโมงให้หลังพบว่าเป็นไข้เลือดออก

“เนื้อตัวพ่อเต็มไปด้วยของเหลว เราเดินทางรอบเมืองเพื่อเสาะหาเครื่องฟอกไตซึ่งเขาใช้ตลอดสองคืนต่อมา หมอบอกผมให้เตรียมตัวรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ผมจึงกลับบ้านมาบอกแม่ให้แข็งใจไว้เพราะพ่ออาจไม่กลับบ้าน ผมกำลังจับแขนแม่อยู่และเห็นจุดแดงบนแขนแม่ ผมพาแม่และน้องสาวไปพบหมอคนแรกที่ตรวจอาการคุณพ่อ และตะโกนบอกเขาว่าให้ตรวจพวกเขาด้วย ทั้งบ้านติดไข้เลือดออกและได้รับการรักษาทันเวลา แต่พ่อผมเสียชีวิตเพราะอาการไตวาย 5 วันหลังจากพ่อผมเสีย กทม. ก็มาฉีดพ่นกำจัดสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ถนนบ้านเรา แต่ก็เหมือนโชว์ เพราะพวกเขาไม่เคยกลับมาอีก" จาตุรงค์ทบทวนความทรงจำ

ในงานของวิริชดา ปานงาม นักวิจัยด้านสาธารณสุข ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะวิจัยที่ศึกษาเรื่องความท้าทายของการฉีดพ่นสเปรย์เพื่อควบคุมการระบาดของไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ พบว่ามีหลังคาเรือนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการฉีดพ่นกำจัดยุงลาย หลังจากแจ้งเรื่องการระบาดของไข้เลือดออก สาเหตุก็เพราะขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาด้านการสื่อสาร และความยากลำบากที่จะได้รับความร่วมมือจากชุมชนในเมือง

เนธิพจน์ ชาตะเมธีกุล กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าเครื่องไม้เครื่องมือในปัจจุบันมีจำกัด "เราใช้งบประมาณปีละ 2 ล้านบาท เพื่อบำรุงรักษาวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย งบประมาณนี้จะถูกตัดลดลงไปอีก เพื่อให้ความสำคัญกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง อย่างเช่น ภาชนะกักเก็บน้ำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของแหล่งที่เกิดการระบาดในกรุงเทพฯ ไม่มียุทธศาสตร์ที่เราทำในรอบ 30 ปีมานี้ที่ได้ผล 100% ยุงยังเพิ่มมากขึ้นและดื้อยาฆ่าแมลง และเราไม่ต้องการให้คนคิดว่าการฉีดพ่นยากำจัดยุงจะเป็นวิธีเดียวเพื่อป้องกันไข้เลือดออก เราต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่ของเราด้วย" ซึ่งทิศทางนี้ยังถูกประกาศในวันไข้เลือดออกอาเซียน ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันที่ 15 มิถุนายน โดยปีนี้ใช้คำขวัญว่า "หยุดไข้เลือดออก: เริ่มต้นที่ตัวเรา”

จาตุรงค์กล่าวด้วยว่า "นี่เป็นสภาพแวดล้อมที่ชำรุดทรุดโทรม ที่คนไม่มีเงินทองจะมาทำความสะอาดซอกซอย ซึ่งเวลาฝนตกมักเกิดน้ำท่วมขังจากท่อระบายน้ำ เราอยู่เมืองไทย เราถูกยุงกัดเสมอ โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานบนท้องถนน แต่สุขอนามัยสาธารณะและการบริหารจัดการของโรงพยาบาลต้องได้รับการปรับปรุง ถ้าคุณไม่รู้จักใครเป็นการส่วนตัว หมอก็ไม่ได้สนใจรักษาหรือบริการดี หรือถึงแม้คุณจะเข้าถึงเรื่องพวกนี้ เราก็หมดค่ารักษาได้ 40,000 บาทเพื่อรักษาพ่อ แล้วสิ่งที่เราได้คืออะไร?"

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์นำเสนอข้อมูลที่ว่าโรคไข้เลือดออกชนิดที่ไม่รุนแรง มักสร้างความสับสนเพราะเหมือนกับอาการของโรคติดต่อที่นำโดยแมลงอื่น ๆ โดยวนิษฐา วัฒนวรวิทย์ นักวิจัยประจำห้องทดลองของศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) โครงการซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Wellfund Trust ซึ่งเปิดคลินิกสำหรับกลุ่มประชากรชายขอบตามแนวชายแดนพม่า ระบุด้วยว่า นักวิจัยที่ด้านอณูชีววิทยา (molecular biology) ส่งเสริมให้มีชุดตรวจวินิจฉัยไข้เลือดออก "ที่มีประสิทธิภาพ, ถูก และรวดเร็ว"

ทั้งนี้ "อาการไข้สูงอาจมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหรือไวรัส และต้องการวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจึงมีความจำเป็น เพื่อที่จะได้ไม่จ่ายยาที่ผิดให้กับผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงการไปสู่อาการของโรคในระยะรุนแรง แต่ชุดตรวจหนึ่งชุดมีราคา 2,000 บาท และสถานพยาบาลในภูมิภาคไม่มีทั้งวิธีและเวลาที่จะตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างสมบูรณ์ และต้องพึ่งพาการตรวจวินิจฉัยผ่านลักษณะทางคลินิกเท่านั้น และเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอที่จะบ่งชี้แหล่งที่มาใหญ่ของอาการไข้สูง"

 

ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) อ.แม่สอด จ.ตาก เจ้าหน้าที่รวบรวมซากยุงตายที่เก็บตัวอย่างได้จากพม่า นับเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้พยายามที่จะขจัดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ และประสบผลสำเร็จอย่างมากโดยจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียลดลงมากกว่าร้อยละ 90 (ที่มา: Luke Duggleby/ 30 ตุลาคม 2019)

ฟรองซัว นอสเท็น (François Nosten) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาแพทย์ศาสตร์แห่งนัฟฟิลด์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) ที่ห้องทำงานของเขาใน อ.แม่สอด จ.ตาก (ที่มา: Luke Duggleby/ 29 ตุลาคม 2562)

คุณแม่พาทารกเข้ารับการตรวจเลือดที่คลินิกแม่ปะ บริเวณชายแดนไทย-พม่า คลินิกแห่งนี้ถือเป็นความอยู่รอดของชาวบ้านแถบนี้ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในฝั่งพม่า ที่นี่ยังมีส่วนปฏิบัติการของโครงการกำจัดโรคมาลาเรียที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) โดยผู้ป่วยที่มีอาการไข้ทุกรายจะได้รับการตรวจหาเชื้อมาลาเรีย

นอกเหนือจากการป้องกันและกำจัดโรคมาลาเรียแล้ว ศูนย์ SMRU ยังวิจัยโรคที่พบบ่อยอย่างวัณโรค โดยในปีนี้คลินิกยังต้องรับมือกับโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะอย่างไข้ชิคุนกุนยาซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่คลินิกหลายรายเจ็บป่วยด้วย (ที่มา: Luke Duggleby/ 30 ตุลาคม 2562)

 

ภูมิภาคที่ยากจนแห่งนี้ถูกขัดขวางอย่างบังเอิญ ด้วยจำนวนประชากรและปริมาณโรคในจำนวนมหาศาล การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของโรคเหล่านี้เกิดขึ้นในอัตราส่วนใหญ่โต "ปีนี้ ผม, ลูกของผม และทุกคนป่วยเป็นไข้เลือดออก หรือไข้ชิคุนกุนยา หรือบางครั้งก็เป็นทั้งสองโรค" เอ ซาลาม จากมูลนิธิแมพ สำนักงานประจำ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เข้ากล่าวด้วยว่า "ผู้คนอาจจะหมดเงินทองในช่วงนี้ได้เลย เพราะพวกเขาไม่สามารถออกไปทำงานได้เป็นหลายอาทิตย์"

ในช่วงหลายปีหลังมานี้ เกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้ชิคุนกุนยา แพร่จากชายแดนใต้ของประเทศไทยข้ามไปยังชายแดนมาเลเซีย และข้ามมาถึงแม่สอด ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
เอ ซาลาม ให้ข้อมูลด้วยว่าแม่สอดเป็นจุดข้ามแดนหลักของแรงงานชาวพม่าที่ข้ามแดนเข้ามาทำงานทั้งในตัวอำเภอแม่สอด และในโรงงานสิ่งทอ 400 แห่ง หรือไซต์งานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ทุก ๆ วันจะมีแรงงาน 2 ถึง 3 พันคนข้ามชายแดนเข้ามา และปัจจุบันมีแรงงานพม่าทำงานอยู่ในแม่สอดมากกว่า 100,000 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานผิดกฎหมาย และไม่ได้รับมาตรการปกป้องทางสังคม หรือความรู้จำเป็นในเรื่องภาษาไทยและกระบวนการยุติธรรม และการสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ก็มีเพียงน้อยนิด

"มีคลินิกจำนวนหนึ่งที่ดำเนินการโดยเอ็นจีโอซึ่งรับรักษาฟรี แต่ก็ทำได้แค่บริการพื้นฐานและห่างไกลจากโรงพยาบาลศูนย์กลาง พวกเขาสามารถจ่ายค่าปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐในแม่สอดได้ แต่การใช้เวลารอคอยและสิ่งกีดขวางทางภาษาก็ทำให้พวกเขาหลายคนไม่กล้าไปโรงพยาบาล พวกเขาอยากไปคลินิกเอกชนที่บริการรวดเร็วมากกว่า และคนที่สูงอายุก็เลือกที่จะกลับบ้านที่พม่าเพื่อไปเสียชีวิตที่นั่น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกหลานต้องเป็นหนี้ ยิ่งถ้าพวกเขาไม่มีใบอนุญาตทำงานและประสุขภาพ ผมอยากบอกพวกเขาว่าอย่ามาเมืองไทยเพราะอุปสรรคปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะแก้ไขได้” เอ ซาลาม กล่าว

เมื่อสิบปีที่แล้ว ญินญินจี วัย 31 ปีเริ่มต้นเดินทางจากเมาะละแหม่ง เมืองทางตอนใต้ของพม่า มาเมืองไทยซึ่งหลายครั้งก็เป็นการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพื่อไปหางานทำรับค่าแรงวันละ 200 บาท ที่ตลาดในแม่สอด จ.ตาก “เช้าวันหนึ่ง ฉันมีอาการปวดหัวและปวดกระดูกมาก ๆ ลุกไม่ได้เลย หมอในคลินิกเอกชนให้ยารักษาโรคชิคุนกุนยามา แต่ฉันก็ยังต้องกลับไปคลินิกอีกหลายครั้งเพราะว่ามีผื่นลายขึ้นมาทั่วตัว จ่ายค่ารักษาทั้งหมดไป 1,500 บาท”

เมื่อลูก ๆ ของญินญินจี ติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันสามีของเธอก็ต้องหยุดงาน คู่สามีภรรยาที่รับจ้างรายวันจึงไม่มีรายได้เลยเป็นเวลา 3 สัปดาห์ “เราต้องยืมเงิน 10,000 บาทจากพวกปล่อยกู้เพื่อใช้ประทังชีวิต ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เราจ่ายคืนได้แค่ดอกเบี้ยเดือนละ 2,000 พันบาท พวกเรายังถูกเพราะข้อหาเป็นแรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมาแล้ว 4 ครั้ง จ่ายเงินไปหลายพันบาทเพื่อประกันตัวออกมา ฉันอยากกลับไปที่พม่า แต่อย่างแรกเลยเราต้องจ่ายหนี้ของเรารวม 30,000 บาทก่อน ไม่งั้นเจ้าหนี้อาจไปเจอตัวเราที่ฝั่งนั้น”

ฟรองซัว นอสเท็น (François Nosten) ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) ยังคงจดจำวันที่เลวร้ายกว่านั้นได้ ในสมัยที่บริเวณนี้เต็มไปด้วย ยุงที่เป็นพาหะของเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum) อันเป็นที่มาของโรคมาลาเรียที่ร้ายแรงที่สุด

“ตอนที่ผมมาถึงแม่สอดในปี พ.ศ. 2527 มาลาเรียยังเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ อยู่ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว สถิติการเสียชีวิตอยู่ที่ 50-60 รายต่อวัน แต่ตอนนี้เสียชีวิตปีละ 1 ราย ต้องขอบคุณการรณรงค์เรื่องการวินิจฉัยขั้นต้น และยุทธศาสตร์บูรณาการระหว่างการใช้ยาต่อต้านมาลาเรียและการมีส่วนร่วมของชุมชน จนเราสามารถนำการรักษามาลาเรียไปถึงประตูบ้านของผู้ป่วย เราต้องรักษาการทำงานนี้ไว้เพื่อหยุดยั้งวงจรการติดต่อ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีแผนการเด็ดขาดในระดับโลกเพื่อหยุดยั้งโรคไข้เลือดออก หรือโรคอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำ แรงจูงใจต่อบริษัทยาในการลงทุนทำวิจัยจึงมีน้อย”

ความพยายามครั้งล่าสุดเพื่อต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกมีอายุเพียงแสนสั้น หายนะด้านสุขภาพในฟิลิปปินส์สร้างความวิตกกังวลไปทั่วภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อเกิดโรคไข้เลือดออกระบาดที่ฟิลิปปินส์  รัฐบาลฟิลิปปินส์ร่วมกับบริษัทฝรั่งเศส ซาโนฟี ปาเตอร์ (Sanofi Pasteur) เปิดตัวใช้งานวัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia) ผ่านโครงการการฉีดวัคซีนสาธารณะ มีเด็กในโรงเรียนจำนวน 800,000 คนได้รับวัคซีนอย่างเร่งด่วน ผลที่ได้กลับเป็นการเสียชีวิตของเด็กหลายร้อยคนจากอาการเลือดออกภายในร่างกาย อีกหลายพันคนต้องรับการรักษาพยาบาลอย่างฉุกเฉิน จนทำให้ผู้ปกครองต่างตั้งคำถามต่อสภาพของการฉีดวัคซีน

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 บริษัทยาได้ชี้แจงผ่านเอกสารแถลงข่าว ห้ามใช้วัคซีนเดงวาเซียกับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี โดยยอมรับว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาก่อนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกอย่างรุนแรงมากขึ้น การฉีดวัคซีนมีผลเหมือนการติดเชื้อครั้งแรก ส่วนการติดเชื้อครั้งที่สองนั้นส่วนมากจะมีความอันตรายที่สุด

ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ระบุจะไม่ยอมให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ “ในโครงการของเราใช้แต่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 เท่านั้น สำหรับวัคซีนเดงวาเซียมีประสิทธิภาพน้อยกว่าร้อยละ 60 ในหมู่เด็กเอเชีย และที่ข้อห้ามใช้ เราคาดหวังให้มีวัคซีนที่ดีกว่านี้ เพราะเราไม่มีความมั่นใจในเรื่องภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว”

ในฐานะหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม ผู้เกี่ยวข้องในการทดสอบวัคซีนเดงวาเซียระบุว่า “ในภาพรวม วัคซีนนี้ถือว่าอ่อน วัคซีนไข้เลือดออกในอุดมคติ จะต้องสามารถควบคุมไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ เรากำลังมองหาวัคซีนชนิดใหม่ที่สามารถใช้กับเด็กอายุน้อยที่มีภูมิคุ้มกัน แต่เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรค ปฏิสัมพันธ์ต่อตัวไวรัส และเรื่องเงินทุนที่ขาดแคลนก็ทำให้การป้องกันการติดเชื้อเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในขณะที่โรคระบาดแพร่กระจายตัวในพื้นที่”

"แต่ด้วยการใช้วัคซีนคู่กับชุดตรวจโรคที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการฉีดวัคซีนกับประชาชนที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ทำให้เรายังสามารถยับยั้งความสาหัสและการติดเชื้อ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยชีวิตคน ผลการศึกษาออกมาว่า วัคซีนเดงวาเซียลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไปร้อยละ 90 และลดจำนวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลของเด็กอายุมากกว่า 9 ขวบถึงร้อยละ 80”

ในเดือนเมษายนปี 2561 เอกสารความเป็นมาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตีพิมพ์ ระบุว่า อัตราส่วนระหว่างผลได้ต่อผลเสี่ยงในกรณีการใช้วัคซีนเดงวาเซียออกมาในทางสนับสนุนให้ต้องควบคุมการใช้วัคซีนดังกล่าว โดยผู้ทดลองใช้งานที่ถูกอนุมานว่าเป็นคนที่มีประวัติติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อน (seropositive) ในขณะที่ฉีดวัคซีนครั้งแรก จะมีความทนทานต่อเชื้อเดงกีและอาการที่สาหัสในช่วงการสังเกตการณ์ 5 ปี โดยวัคซีนเดงวาเซียยังคงมีบทบาทในแวดวงสาธารณสุขอยู่ เนื่องจากยังไม่มีแนวทางต่อต้านการระบาดของไข้เลือดออกที่มีมากขึ้นทั่วโลก”

WHO ยังคงจัดโรคไข้เลือดออกในฐานะ ‘โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Disease)’ เนื่องจากไม่ได้มีเหยื่อของโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับ มาลาเรีย วัณโรค และเชื้อเอชไอวี สถานภาพของไข้เลือดออกเช่นว่า ถูกใช้กับการติดเชื้อในลักษณะเดียวกันอีกราว 24 โรคที่ติดต่อกลุ่มประชากรรายได้ต่ำในทวีปแอฟริกา เอเชียและอเมริกา

“เอ็นจีโอ รัฐบาลและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ เช่นองค์กร Coalition for Epidemic Preparedness Innovations (CEPI) หรือมูลนิธิเกทส์ ที่ได้ลงทุนกับการควบคุมโรคมาลาเรียอย่างหนัก ควรจะช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก เราจำเป็นต้องมีการวิจัยต่อไปอีกเพื่อระบุตัวยีนและกระตุ้นภูมิต้านทาน (antibodies) ที่ในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีความสามารถเหล่านั้น เราต้องรวมความพยายาม การทำงานระหว่างประเทศเพื่อนำวัคซีนที่ดีกว่าเข้ามาไว้ในตลาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสระหว่างทวีป”  พรรณีกล่าว

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่อุณหภูมิอุ่นขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สามารถนำไข้เลือดออกแพร่กระจายในระดับโลกได้ ในวารสารสุขภาพและสิทธิมนุษยชนระบุว่า หลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของอุณหภูมิ รูปแบบการตกของฝน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยขึ้น จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความเป็นเมือง การย้ายถิ่น การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ ถูกคาดการณ์ว่ามีส่วนทำให้ยุงมีพื้นที่ขยายพันธุ์มากขึ้น มีอัตราการมีชีวิตรอดและการฟักตัวสูงขึ้น ทำให้มีการกระจายเชื้อไวรัสสูงขึ้น “ความเสี่ยงของการแพร่กระจายของยุงที่เกิดจากสภาพอากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างมากแม้แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในหลายพื้นที่ของยุโรป” เนื้อความระบุไว้ในวารสาร (อ่านข่าวเพิ่มเติม) 

ในปี 2555 โรคไข้เลือดออกกลับมาระบาดอีกครั้งในยุโรปที่หมู่เกาะมาเดรา เขตปกครองตนเองกลางมหาสมุทรแอตแลนติกของโปรตุเกส หลังการระบาดครั้งสุดท้ายในยุโรปมีขึ้นเมื่อทศวรรษ 2460 การระบาดครั้งล่าสุดทำให้มีผู้ป่วยมากกว่า 2,000 คน และเข้ารักษาพยาบาลถึง 120 คน ในเดือนกันยายน 2562 มีการรายงานกรณีผู้ป่วยชาย 2 คนในกรุงมาดริดติดเชื้อไข้เลือดออกผ่านเพศสัมพันธ์

ริชาร์ด ม็อด กล่าวว่า ไม่ช้าก็เร็ว ไข้เลือดออกจะมาถึงตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล เพราะพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากไวรัสเวสต์ไนล์อยู่แล้ว ในพื้นที่อุ่นและชื้นคือแหล่งเพาะพันธุ์ไข้เลือดออกที่ดี และเมื่อใดที่โลกตะวันตกได้รับผลกระทบจากไข้เลือดออก การลงทุนในงานวิจัยก็อาจจะมากขึ้น

กลับมาที่แม่สอด ฟรองซัว นอสเท็น พูดถึงภาพรวมที่เป็นหัวใจของโรคระบาดนี้ว่า "แม้จะมีวัคซีนที่ราคาถูกและเหมาะสม และสำหรับไข้เลือดออกก็อาจใช้เวลาอีกเป็นสิบปี เมื่อมีวัคซีนแล้ว ก็ยังจะต้องหาวิธีที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทาง การสื่อสาร ไฟฟ้า พูดอีกอย่างก็คือ จะต้องมีนโยบายโครงสร้างพื้นฐานโครงสร้างพื้นฐานที่จริงจัง และเช่นกัน การลงทุนในภาคส่วนสุขภาพและการศึกษาก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

"นอกเหนือจากงานวิจัยหาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ ผู้เชี่ยวชาญต้องแนะนำแนวทางบูรณาการ ที่จะใช้ควบคุมยุงแบบใหม่ ๆ และการจัดการทางคลินิกที่ดีขึ้น และสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างคือเจตจำนงทางการเมืองที่จะดำเนินการป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับภูมิภาค" ฟรองซัวกล่าว

หากไม่มีแผนการลงทุนในด้านความเป็นธรรมทางสังคมในระดับโลก ในวันที่สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลง ภาระในเรื่องไข้เลือดออกจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ได้สัดส่วน ส่งผลกระทบต่อคนยากจนทั้งในเมืองและชนบทที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลอำนาจนิยมที่ขาดความโปร่งใสในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

 

เกี่ยวกับภาพประกอบ: หลังจากการแพร่ระบาดหนักของโรคไข้เลือดออกในย่านเยาวราชของกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย 1 ราย เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้เข้ามาฉีดพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ และขอให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ที่มา: Luke Duggleby, 9 ตุลาคม 2562)

หมายเหตุ: แปลจากรายงาน "Southeast Asia’s poorest hit hard by record dengue epidemic" โดย Laure Siegel ภาพถ่ายโดย Luke Duggleby แปลโดย อันนา หล่อวัฒนตระกูล, เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา และพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

รายงานต้นฉบับในฉบับภาษาอังกฤษได้รับการสนับสนุนจาก “ทุนสำหรับเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” จากเครือข่าย Earth Journalist Network / Internews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท