Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตัวเลขที่น่ากลัว
สถิติอาจเป็นสิ่งน่ากลัวได้ วันที่ 21 มกราคม 2563 ขณะที่ดิฉันนั่งอยู่ที่โต๊ะในสถานที่ทำงานในปัตตานี ดิฉันเห็นข่าวหนึ่งในหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ดิฉันตกใจกลัวและกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 ดิฉันก็เหมือนคนอื่นที่เคยเห็นภาพอันโหดร้ายในสื่อของคนที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นจากความตาย

ในประสบการณ์ของดิฉัน ดิฉันมักจะได้ยินการระบาดเฉียบพลันของโรคที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งดิฉันคาดว่าก็คงเป็นเหมือนโรคอื่นๆ ที่เดี๋ยวก็จะควบคุมได้ในไม่ใช้ แต่ตัวเลขในรายงานขององค์การอนามัยโลกทำให้ดิฉันตื่นกลัวและต้องการทำอะไรบางอย่าง ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 21-25 มกราคม 2563 เป็นจำนวน 282, 314, 581, 846 และ 1,320 ตามลำดับ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม 2563 เป็นจำนวน 3 รายในเมืองอู่ฮั่น (องค์การอนามัยโลก, 2563)

นักวิจัยได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับโคโรน่าตั้งแต่เริ่มระบาดและใช้ข้อมูลนั้นคำนวณจำนวนผู้ป่วยใหม่ต่อวันจนถึงปัจจุบัน (26 มกราคม 2563) ตัวเลขแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงแบบ 1, 2, 3, 4, 5 แต่เพิ่มขึ้นเกือบทีละเท่าตัวเป็น 1, 2, 4, 8, 16 ผู้ติดเชื้อแต่ละคนแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นโดยเฉลี่ยได้สองคนก่อนเสียชีวิต ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยต่อวันจะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกสามสัปดาห์ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่าการระบาดจะยิ่งใหญ่เพียงใดหากผู้ติดเชื้อแต่ละคนยังคงแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นอีกสองคนไปเรื่อยๆ การเพิ่มขึ้นเท่าตัวนี้ช่างน่ากลัว

ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลของการเพิ่มทีละเท่าตัวเป็นครั้งแรกจากการระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก สิ่งที่เพิ่มจำนวนทีละเท่าตัวนั้นเพิ่มได้เร็วมากกว่าที่เราคิด ดังนั้นดิฉันจึงรู้ว่าสถานการณ์ในแอฟริกาตะวันตกนั้นค่อนข้างจะสิ้นหวัง ไลบีเรียเสี่ยงต่อหายนะที่แย่กว่าสงครามกลางเมืองที่เพิ่งสิ้นสุดลง และโรคนี้ยังอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีโบล่าต่างจากมาลาเรียที่แพร่กระจายได้ในสภาพอากาศทุกรูปแบบและอาจไปกับเครื่องบิน ข้ามชายแดนและมหาสมุทรโดยอาศัยร่างกายของผู้โดยสารที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อไป และยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้ออีโบลา (โรสลิง, โรสลิง และ เรินน์ลุนด์, 2562)

เฉกเช่นเดียวกันกับไวรัสโคโรนา เริ่มมีผู้คนเสียชีวิตและแพร่กระจายเชื้อภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เวลาที่ใช้เพิ่มเป็นเท่าตัว สถานการณ์จะแย่ลงไปอีกเท่าตัว การจัดการปัญหาช้าไปหนึ่งสัปดาห์ หมายความว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวและทรัพยากรที่ต้องใช้ก็เพิ่มเป็นเท่าตัว จึงต้องหยุดการแพร่กระจายโคโรน่าให้ได้ในไม่กี่สัปดาห์

สิ่งแรก เราควรเปลี่ยนลำดับความสำคัญของงาน ควรเริ่มศึกษาข้อมูลและผลิตวิดีโอเพื่ออธิบายความเร่งด่วนของสถานการณ์นี้ ดิฉันหวังว่าเราจะเข้าใจความยิ่งใหญ่และความเร่งด่วนของวิกฤตโคโรน่าไม่ช้าเกินไป ดิฉันคิดว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัวไม่ใช่เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรง เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราก็ควรลงมือทันทีอย่างรวดเร็ว

สรุป

เราต้องมั่นใจว่าเราเข้าใจสถิติตัวเลข เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากเราคิดไปเองว่า เรารู้ว่าตัวเลขที่เรายังมองไม่เห็นจะไปในทิศทางใด ย่อมก่อเกิดความผิดพลาดและตามมาด้วยข้อสรุปที่ผิด และนั่นคือการตระหนักได้ว่าการระบาดของโคโรน่าเป็นแบบทวีคูณ และนั่นคือข้อเท็จจริงที่ทุกคนรับรู้ ที่คิดว่าผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นถ้าเรายังไม่ตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น

เอกสารอ้างอิง
องค์การอนามัยโลก. (2563). Novel Coronavirus (2019-nCoV) situation reports. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2563 จากเว็บไซต์: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/situation-reports.
โรสลิง, ฮันส์, โรสลิง, โอลา, และ เรินน์ลุนด์, อันนา (2562). จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน (นที สาครยุทธเดช, ผู้แปล). กรุงเทพมหานคร: 2562.



เกี่ยวกับผู้เขียน: อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net