Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ระบุว่าซาอุดิอาระเบียใช้ศาลลับที่อ้างว่าเป็นศาลต่อต้านการก่อการร้ายแต่กลับใช้เล่นงานผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมในซาอุดิอาระเบียยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ และ "ไม่เป็นธรรม"

ธงชาติซาอุดิอาระเบีย (ที่มา: Wikipedia)

แอมเนสตี้สรุปในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียใช้ศาลอาญาพิเศษ (SCC) ที่ตั้งอยู่ในกรุงริยาด เพื่อปิดปากผู้ต่อต้านทางการเมืองและคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประเทศ ถึงแม้ว่าศาลดังกล่าวนี้จะตั้งขึ้นในปี 2551 โดยอ้างว่าใช้ดำเนินคดีความที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่ก็ถูกนำมาใช้เป็น "เครื่องมือในการกดขี่ข่มเหง" ผู้คนหลายคนในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักข่าว นักกิจกรรม นักเขียน นักเศรษฐศาสตร์ และผู้นำศาสนา โดยเฉพาะกับผู้นับถือนิกายชีอะฮ์ ผู้คนเหล่านี้ต่างต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีจากกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์

มีคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลนี้ราว 95 รายในช่วงระหว่างปี 2554-2562 มีจำนวน 11 รายที่กำลังถูกดำเนินคดี และมีราว 52 รายที่ถูกสั่งลงโทษจำคุกระหว่าง 5-30 ปี จากศาลนี้ รวมถึงมีบางรายที่ต้องโทษประหารชีวิต

เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของแอมเนสตีกล่าวว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียใช้ประโยชน์จากศาลอาญาพิเศษเพื่อการสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายเทียมๆ ใช้ปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยอ้างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

แอมเนสตี้เรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบีย ปล่อยตัวนักโทษที่จัดว่าเป็น "นักโทษทางความคิด" (prisoners of conscience) เหล่านี้โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้เลิกละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินคดีทางศาล SCC เหล่านี้ โดยที่แอมเนสตี้ระบุว่าการดำเนินคดีเหล่านี้ของซาอุดิอาระเบีย "ไม่เป็นธรรมอย่างมาก" จากการที่ใช้ข้อหาอย่างการ "ไม่เชื่อฟังประมุข" หรือ "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายโดยการเรียกร้องให้ชุมนุมประท้วง"

"ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมของ SCC แปดเปื้อนไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบ การกักขังแบบไม่ให้ติดต่อกับคนอื่นได้ และการตัดสินลงโทษโดยอาศัยสิ่งที่พวกเราเรียกว่าคำสารภาพจากวิธีการแบบทารุณกรรม" โมราเยฟกล่าว

ทาฮา อัลฮัจจี ทนายความที่เป็นตัวแทนว่าความให้กับจำเลยจำนวนมากของศาล SCC กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมของซาอุดิอาระเบียนั้นไม่มีเรื่องหลักการ "สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์" (presumption of innocence) ก่อนการพิสูจน์คดี

ขณะที่เจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (MBS) จะเป็นผู้ที่ริเริ่มประกาศปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในซาอุดิอาระเบียที่มีการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเสรีมากขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวมถึงคุมขังนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีชื่อดัง รวมถึงยังพัวพันกับข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารคอลัมนิสต์วอชิงตันโพสต์ จามาล คาชอกกี ในปี 2561

เรียบเรียงจาก

Saudi Arabia using terrorism tribunal to silence rights defenders, Aljazeera, 06-02-2020

Saudi Arabia using secret court to silence dissent, Amnesty finds, The Guardian, 06-02-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net