สื่อนอกติง หลายประเทศฉวยลิดรอนเสรีภาพ-ประชาธิปไตยด้วยการคุมโรคระบาด

ในช่วงที่รัฐต่างๆ มีมาตรการสารพัดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่ก็น่าเป็นห่วงว่ารัฐจะฉวยโอกาสปิดกั้นเสรีภาพในหลายๆ ด้าน เพราะการจัดการวิกฤตก็มีความเป็นการเมืองอยู่ในตัว ยูเอ็นแถลงให้รัฐบาลต่างๆ ไม่ควรอ้างเรื่องโรคระบาดมาข่มเหงปราบปรามกลุ่มคนหรือบุคคล รวมถึงควรใช้มาตรการอย่างสมเหตุสมผล ปราศจากการเลือกปฏิบัติ

ภาพผู้ชุมนุมเดินประท้วงไปยังรัฐสภา เกียกกาย เมื่อ 13 มี.ค. 63 (แฟ้มภาพ)

26 มี.ค. 2563 อิชาน ทารูร์ นักข่าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวอชิงตันโพสต์ชี้ประเด็นให้ประชาชนระมัดระวังว่ารัฐบาลจะฉวยโอกาสใช้มาตรการช่วงวิกฤตโรคระบาดในการลิดรอนสิทธิของประชาชนมากกว่าที่ควรจะเป็น ในรายงานของทารูร์ระบุถึงความเข้าใจว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 นั้นมีอันตรายอย่างไรและกำลังระบาดไปทั่วโลก มีคนดังออกมาเปิดตัวว่าติดเชื้อเหล่านี้ รวมถึงในประเทศที่มีสงครามอย่างซีเรียก็มีรายงานผู้ติดเชื้อด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังพยายามยับยั้งการระบาดพร้อมกับเตรียมรับมือปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์และเตียงพยาบาล รวมถึงมีมาตรการฉุกเฉินในด้านการระงับการเดินทางและมาตรการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แต่ก็มีความกังวลว่ารัฐบาลบางแห่งอาจจะพยายามฉวยโอกาสนี้ในการเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองให้ตัวเอง

ทารูร์ตั้งข้อสังเกตว่ามีประเทศเผด็จการ ประเทศที่ถูกนานาชาติกดดันและกษัตริย์นิยมในภูมิภาคอาหรับหลายประเทศอ้างว่าใช้มาตรการด้านสาธารณสุขนี้ในการปกป้องตัวเองไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงจากประชาชน เช่นประเทศโบลิเวียที่ถูกวิจารณ์เรื่องสั่งเลื่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้โดยเป็นหนึ่งในแผนการการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางการฮ่องกง อินเดีย และรัสเซีย ก็อ้างเรื่องความเสี่ยงในการแพร่กระจายโควิด-19 ในการให้ความชอบธรรมการสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและใช้สั่งห้ามการชุมนุมใหญ่ของประชาชน

"การจัดการวิกฤตก็เช่นเดียวกับสงคราม อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นเรื่องทางการเมืองได้ด้วย" ทารูร์ระบุในรายงานข่าว

ทั้งนี้ยังมีการยกตัวอย่างกรณีของอิสราเอลที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู มีคำร้องให้กระทรวงยุติธรรมเลื่อนการกล่าวหาดำเนินคดีข้อหาทุจริตคอร์รัปชันไปก่อน ในขณะที่มาตรการฉุกเฉินเรื่องโควิด-19 ก็ทำให้ต้องมีการเลื่อนการจัดตั้งรัฐบาลออกไปหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว นั่นทำให้ไม่มีการแต่งตั้งนักการเมืองอย่างเนทันยาฮูหรือคนอื่นๆ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันเนทันยาฮูก็เล่นบทเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่คอยแถลงสั่งการทางด้านความมั่นคงร่วมไปกับพันธมิตรอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

เบอร์นาร์ด อวิชัย นักเศรษฐศาสตร์การเมืองเขียนในเดอะนิวยอร์กเกอร์ว่าเนทันยาฮูพยายามทำให้ผู้โหวตเลือกฝ่ายค้านลืมเรื่องผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในช่วง 10 ปีที่เนทันยาฮูอยู่ในตำแหน่ง เขาให้งบประมาณโรงพยาบาล เงินเดือนแพทย์ และการศึกษาทางการแพทย์น้อยมาก แต่ในตอนนี้เขาสามารถหลบเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์ได้สำเร็จจากการที่เขาอวดอ้างว่าปฏิบัติตามหลักวิธีป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขได้ดี

มีนักวิจารณ์บางคนบอกว่าการทำให้กระบวนการทางการเมืองชะงักงันและหลบเลี่ยงการดำเนินคดีโดยอ้างวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ เป็นการที่เนทันยาฮูกระทำสิ่งที่เทียบได้กับการ "รัฐประหาร" ระบอบประชาธิปไตยอิสราเอล

อีกกรณีหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของฮังการี วิคเตอร์ ออร์บาน ผู้ที่อ้างว่าการติดเชื้อว่ามาจากกลุ่มผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และหลังจากนั้นออร์บานกับรัฐบาลชาตินิยมของเขาก็ขยายบทเฉพาะกาลใหม่ให้กับกฎหมายภาวะฉุกเฉินซึ่งอาจจะถูกนำมาอ้างใช้เอาผิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาได้ โดยอ้างเรื่องกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

เดวิด วิก ผู้อำนวยการสาขาฮังการีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่าการออกกฎใหม่ของออร์บานเป็นหนึ่งในความพยายามยาวนานที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยของตุรกี โดยเริ่มต้นจากการขจัดกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มองค์กร ความเป็นอิสระทางการเงินของสถาบันสาธารณะ แล้วตั้งกลไกมาควบคุมสิ่งเหล่านี้แทน ให้กลายเป็นการรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงฝ่ายเดียวต่อนโยบายสำคัญในทุกๆ ด้าน

ในสหรัฐฯ เองก็มีความพยายามอย่างเดียวกันจากที่รัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามเสนอขยายขอบเขตอำนาจช่วงภาวะฉุกเฉิน รวมถึงให้มีบทเฉพาะกาลระบุให้ศาลมีอำนาจในการในการสั่งคุมขังบุคคลได้ในระยะเวลาที่ไม่จำกัด แม้ว่าข้อเสนอเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ไม่น่าจะได้รับการยอมรับจากสภาคองเกรสก็ตาม

ถึงแม้โควิด-19 จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและมีความสำคัญ แต่นักวิเคราะห์ก็เริ่มเตือนว่ามาตรการต่างๆ อาจจะเสี่ยงต่อการทำลายหลักนิติธรรมได้ เช่นเอริกา ฟรานซ์ นักรัฐศาสตร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออังกฤษว่าวิกฤตนี้สร้างความเสี่ยงต่อประชาธิปไตยจากการที่รัฐบาลอาจจะอ้างใช้มันในการปราบปรามประชาชนได้ จึงต้องจับตามองเหตุการณ์จากวิกฤตนี้อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการทำลายประชาธิปไตย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ย้ำเตือนต่อรัฐบาลต่างๆ ว่า "การโต้ตอบแก้ไขวิกฤตฉุกเฉินใดๆ ก็ตามต่อปัญหาโคโรนาไวรัสต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ตามความจำเป็น และไม่มีการเลือกปฏิบัติ"

แถลงการณ์ของยูเอ็นยังย้ำเตือนอีกว่า "การประกาศภาวะฉุกเฉินใดๆ ก็ตามเกี่ยวเนื่องกับการระบาด (ของโคโรนาไวรัส) ไม่ควรที่จะกลายเป็นข้ออ้างในการเพ่งเป้าไปที่กลุ่มคน ชนกลุ่มน้อย หรือปัจเจกบุคคล ... มันไม่ควรจะถูกใช้เป็นการปกปิดปฏิบัติการข่มเหงปราบปรามผู้คนโดยอ้างเรื่องการปกป้องสุขภาวะ และไม่ควรอ้างใช้ปิดปากการทำงานของผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน"

เรียบเรียงจาก

How politicians are using the coronavirus to seize control, The Washington Post, Mar. 23, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท