ราชทัณฑ์แจงเกณฑ์ปล่อยตัวนักโทษลดเสี่ยงโควิด-19 ต้องรับโทษแล้ว 2 ใน 3 ประพฤติดีเยี่ยม

อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจงกรณีปล่อยตัวผู้ต้องขัง 8,000 ราย แบ่งเป็น 2 ส่วน กลุ่มแรกรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษที่ได้รับและต้องมีความประพฤติดีเยี่ยม กลุ่มสองรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 แต่ต้องมีอายุ 70 ขึ้นไป

16 เม.ย. 2563 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยขั้นตอนที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการพักโทษและปล่อยผู้ต้องขังภายในเรือนจำแล้วกว่า 8,000 ราย โดยที่ผ่านมา ใช้วิธีทยอยปล่อยตัว ไม่ได้เป็นการปล่อยตัวพร้อมกันทั้งหมด โดยมีการคัดกรองผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวตามหลักเกณฑ์ โดยจะเป็นการปล่อยการพักการลงโทษรวม 6 เดือน โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 จำนวน 1,261 คน, เดือน พ.ย. 2562 จำนวน 1,167 คน, เดือน ธ.ค. 2562 จำนวน 1,317 คน, เดือน ม.ค. 2563 จำนวน 1,377 คน, เดือน ก.พ. 2563 จำนวน 903 คน และเดือน มี.ค. 2563 จำนวน 1,865 คน รวมทั้งสิ้น 7,890 คน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การปล่อยผู้ต้องขังมีการคัดกรอง เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ต้องโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของกำหนดโทษ ต้องมีความประพฤติดีเยี่ยม จึงจะได้รับการพิจารณา ในส่วนที่ 2 ของการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ คือ ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และต้องเป็นผู้ที่ชราภาพมีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีอาการเจ็บป่วยหรือพิการจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีการทำแบบประเมินการช่วยเหลือตนเอง ว่าหมดความสามารถและไม่มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำ ถึงได้รับการอนุมัติ

"อย่างไรก็ตาม การปล่อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยก่อนปล่อยตัวต้องมีญาติมาเซ็นอุปการะดูแลและเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจนกว่าจะสิ้นสุดตามกำหนดโทษ แต่หากยังกระทำผิดซ้ำ หรือ ผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนการพักการลงโทษ และนำตัวกลับเข้ามารับโทษในเรือนจำตามโทษที่เหลือต่อไป" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

สมาคมสิทธิฯ ร้อง 'ประยุทธ์' ปล่อยตัวผู้ต้องขัง 7 แบบ เพื่อความปลอดภัยจากโควิด 19

ไอลอว์ เสนอรัฐลดความแออัดในเรือนจำก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาดจนเกินรับมือ

คุกไทยปลอดภัยแค่ไหนภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ เรื่อง ขอให้ดำเนินการการปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ลงชื่อโดย  นิกร วีสเพ็ญ ประธานกรรมการ สมาคมฯ โดย มีข้อเรียกร้อง ให้ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการหรือมาตการต่างๆ ที่เหมาะสม อาทิ การปล่อยก่อนกำหนด การพักโทษ การปล่อยตัวชั่วคราว และการเปลี่ยนโทษจำคุกที่เหลือเป็นการควบคุมตัวที่บ้าน กับผู้ต้องขัง 7 ลักษณะ

ประกอบด้วย 1. ผู้ต้องขังระหว่างที่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ประกอบด้วย ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนพิจารณา และการอุทธรณ์ฎีกา รวมทั้งผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง 2. ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่อายุมากกว่า 60 ปี 3. ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคระบบการหายใจเรื้อรัง และโรคมะเร็ง 4. ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ 5. ผู้ต้องขังเด็ดขาดที่เหลือโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีลงไป 6. ผู้ต้องขังเด็ดขาดกลุ่มคดีอื่นๆ ที่มีความผิดไม่ร้ายแรง (อาทิ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.การพนัน คดีลหโุทษ ฯลฯ) และ 7. ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับการการมีส่วนร่วมสาธารณะ และผู้ต้องขังคดีที่มีสาเหตุทางการเมือง

ขณะที่ ศาสตราจารย์ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เสนอให้รัฐบาลออกมามาตรการปล่อยตัวผู้ต้องขังเป็นการชั่วคราวเพื่อลดความแออัดภายในเรือนจำ เพื่อลดความเสี่ยงหากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำ

โดยจำแนกกลุ่มผู้ต้องขังที่เห็นว่าควรถูกปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด 153,800 คน ประกอบด้วย

-กลุ่มนักโทษเด็ดขาด (เหลือโทษจำคุกไม่ถึง 1 ปี) รวม 72,000 คน

-กลุ่มผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี (ผู้ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม) รวม 67,000 คน

-กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ (มีอายุเกิน 60 ปี และคดีถึงที่สุดแล้ว) รวมจำนวน 5,8000 คน

-กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ รวม 9,000 คน

ซึ่งหากทำได้จะสามารถลดความแออัดภายในเรือนจำได้อย่างมากจะทำให้มีผู้ต้องขังเหลืออยู่ในเรือนจำประมาณ 224,034 คน ซึ่งอยู่ภายใต้เกณฑ์ความจุของเรือนจำที่รับรองได้

สำหรับประเทศไทยมีเรือนจำทั้งหมด ประเทศไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนคิดเป็น 305,300 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 254,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ สรุปข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทย ณ วันที่ 23 มี.ค. 2563 ว่ามีจำนวนทั้งหมด 377,834 คน ฉะนั้นจำนวนนักโทษที่มีอยู่ในเรือนจำถือว่าเกินกว่าความจุของเรือนจำ และเกินกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้ คือ 1.2 ตรม./ผู้ต้องขังชาย 1 คน และ 1.1 ตรม./ผู้ต้องขังหญิง 1 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท