Skip to main content
sharethis

คุกคลองเปรมเชิญสื่อเยี่ยมชมการจัดการของเรือนจำ จัดพื้นที่เฉพาะให้หญิงข้ามเพศ ชี้ยังทำได้แค่เรือนจำคลองเปรมที่มีผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศ 64 คน ขณะที่เรือนจำทั่วประเทศมีหญิงข้ามเพศรวม 968 คน แต่ยังมีปัญหาคุกล้นและขาดงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ทั่วประเทศ

1 ส.ค.2567 กรมราชทัณฑ์เปิดเรือนจำกลางคลองเปรม ให้สื่อมวลชนเข้าชมสภาพพื้นที่เรือนจำที่กรมราชทัณฑ์เริ่มแบ่งสัดส่วนพื้นที่รองรับผู้ต้องขังที่เป็นหญิงข้ามเพศ ทั้งคนที่แปลงเพศแล้วและยังไม่แปลงเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ (SOPs)

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนนี้ว่า ในขณะนี้ เรือนจำคลองเปรมที่มีผู้ต้องขังอยู่ทั้งหมด 1,085 คน มีผู้ต้องขังที่เป็นหญิงข้ามเพศอยู่ทั้งหมด 64 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่ผ่าตัดแปลงเพศโดยสมบูรณ์แล้วจำนวน 14 คน กลุ่มผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศแต่มีร่างกายที่ไม่ได้เป็นไปตามเพศกำเนิดแล้ว เช่น เสริมหน้าอกแล้วจำนวน 9 คน และกลุ่มที่ยังไม่แปลงเพศเลยแต่มีความจำเป็นต้องแยกขัง เช่น ลักษณะนิสัยไม่เป็นไปตามเพศกำเนิด เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศอีก 41 คน

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

สหการณ์ให้ข้อมูลภาพรวมของผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศทั่วประเทศ ว่ามีทั้งหมด 968 คน จากผู้ต้องขังประมาณ 300,000 คน

อธิบดีกล่าวว่าสำหรับเรือนจำคลองเปรมจัดให้ผู้ต้องขังกลุ่มนี้มารวมอยู่ที่แดน 1 ทั้งหมด โดยจัดห้องขังสำหรับเป็นที่นอนให้หญิงข้ามเพศอยู่รวมกัน และแยกห้องน้ำ รวมถึงส่วนของโรงพยาบาลที่ใช้รักษาก็แยกส่วนไว้

กนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา กล่าวว่า มาตรฐาน SOPs นี้ เริ่มใช้เป็นกิจจะลักษณะตั้งแต่ราวปี 2565 ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แม้ก่อนหน้านี้จะเริ่มแยกผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศมาบ้างแล้วก็ตาม

ผอ.กองทัณฑวิทยาตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นเรื่องการรับฮอร์โมนของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ด้วยว่า อนุญาตให้รับฮอร์โมนได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการการนำยาเข้าเรือนจำ โดยกลุ่มที่เคยรับฮอร์โมนตั้งแต่เข้าเรือนจำต้องแสดงใบรับรองแพทย์ หรือหากเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้ยาฮอร์โมนมาก่อนแต่ต้องการใช้หลังจากเข้ามาในเรือนจำแล้ว ก็ต้องผ่านการตรวจโดยแพทย์ของเรือนจำ

โซนห้องขังที่ใช้สำหรับคุมขังผู้ต้องขังที่เป็นหญิงข้ามเพศทั้งที่แปลงเพศแล้วและยังไม่แปลงเพศ

พรเทพ ตรีอมรสวัสดิ์ ผู้บังคับแดน 1 กล่าวถึงมาตรการในส่วนอื่นๆ ทางเรือนจำจะคัดกรองกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจร่างกายเข้าเรือนจำ โดยจะดูทั้งสภาพร่างกายและประวัติทางการแพทย์ประกอบ ส่วนการใช้ห้องน้ำก็จะอนุโลมให้อาบน้ำในห้องขังได้ด้วย และมีชุดผู้ต้องขังเป็นสีฟ้า

พรเทพระบุว่า ส่วนพื้นที่อื่นๆ และกิจกรรมประจำวันของทางเรือนจำก็ยังให้ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศใช้ร่วมกับผู้ต้องขังชายอื่นๆ ได้ แต่เมื่อถึงเวลาตรวจนับยอดผู้ต้องขังก่อนกลับเข้าหอนอน ทางเรือนจำจะให้ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศกัน

สภาพภายในห้องขังซึ่งรวมห้องน้ำที่ทางเรือนจำอนุโลมให้กลุ่มผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศสามารถอาบน้ำได้ในห้อง

อย่างไรก็ตาม พรเทพอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องแยกห้องผู้ต้องขังผู้หญิงข้ามเพศเป็น 3 กลุ่มด้วยว่า เพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศกันเองระหว่างกลุ่มที่ยังไม่ได้แปลงเพศกับกลุ่มที่แปลงเพศแล้ว

ผู้บังคับแดน 1 กล่าวถึงมาตรการกรณีข้อร้องเรียนว่ามีการคุกคามทางเพศว่า เรือนจำก็จะพิจารณาว่าการกระทำร้ายแรงแค่ไหน เช่น พูดจาแทะโลม หอมแก้ม จนถึงการล็อกคอมากอดจูบ ประกอบกับพิจารณาว่าเกิดการกระทำซ้ำๆ หรือไม่ ก็จะพิจารณาโทษทางวินัยตามความหนักเบา เช่น การลดชั้นผู้ต้องขัง การงดเยี่ยม การแยกคุมขังเพื่อสอบสวน ไปจนถึงย้ายเรือนจำผู้กระทำการคุกคามออกไป

พรเทพกล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องชุดชั้นใน ทางเรือนจำมีโบรชัวร์ให้ผู้ต้องขังสามารถเลือกซื้อได้และนำเข้ามาให้กับผู้ต้องขังตามรอบไป

ห้องน้ำที่อยู่ในพื้นที่ร่วมนอกหอนอนที่ปรับห้องน้ำของเจ้าหน้าที่ให้กลุ่มผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศมาใช้ร่วมกัน

ทั้งนี้ พรเทพกล่าวด้วยว่า ทางเรือนจำได้อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องแยกพื้นที่ใช้งานอย่างห้องน้ำหรือการให้เข้าถึงสิ่งของบางประเภทอย่างเครื่องสำอางได้ส่วนหนึ่งเพื่อลดความเครียดให้กับผู้ต้องขังที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ และทางเรือนจำเองก็ยังอธิบายเรื่องเดียวกันนี้กับผู้ต้องขังกลุ่มอื่นๆ ในเรือนจำด้วย ทั้งกลุ่มผู้ชายหรือกลุ่มรสนิยมทางเพศอื่นๆ ว่าทำไมจึงจำเป็นต้องแยกพื้นที่บางส่วนสำหรับกลุ่มหญิงข้ามเพศและที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีผู้ต้องขังที่แสดงความไม่พอใจที่มีการแยกพื้นที่เช่นนี้

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา กล่าวว่า การแบ่งพื้นที่สำหรับผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถทำได้เพียงแค่ที่เรือนจำคลองเปรมกับเรือนจำพัทยาเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่คุมขังกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่มาก รวมถึงมีปัญหางบประมาณ อย่างไรก็ตาม การขยายมาตรการนี้ไปใช้กับเรือนจำอื่น ก็เป็นเป้าหมายของกรมราชทัณฑ์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net