Skip to main content
sharethis

ชวนสำรวจความแออัดของคุกไทย และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของกรมราชทัณฑ์ หลังกระทรวงสาธารณสุขแถลงระบุมีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ด้านอธิบดีกรมคุมประพฤติเผยผู้ติดเชื้อเป็นผู้ต้องกักขังคดียาเสพติด เข้าเรือนจำคลองเปรมตั้งแต่ 13 มี.ค. พบมีไข้สูงจึงแยกตัวออกมา ภายหลังพบว่าติดเชื้อ ระบุดำเนินการตามมาตรการไม่ให้เข้าไปแพร่เชื้อในเรือนจำ

แฟ้มภาพ

การแถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 25 มี.ค. 2563 โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 107 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้ต้องขังด้วย 1 ราย เรื่องนี้น่าสนใจไม่น้อยเพราะหลังจากมีการแถลงสถานการณ์ไม่นาน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีรายงานผู้ต้องขัง ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่จะเร่งตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียด เบื้องต้นยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจน ว่าเป็นผู้ต้องขังในการควบคุมของหน่วยใด อยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจหรือเรือนจำ

ขณะที่ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลรายบุคคลเกี่ยวกับผู้ต้องหาติดเชื้อว่า เป็นผู้ต้องคุมขังในสถานที่ใด แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยกรมควบคุมโรคร่วมกับกรมราชทัณฑ์วางมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ทุกเรือนจำประกาศปิดงดเยี่ยมญาติ กรณีผู้ต้องขังเข้าใหม่ ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำต้องคัดกรอง รายใดพบว่ามีไข้หรือมีความเสี่ยงจะใช้พื้นที่แยกออกมาเพื่อป้องกันการติดต่อไปยังผู้ต้องขังรายอื่นๆ

ส่วน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลว่า ในส่วนของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะติดจากบุคคลที่ไปเยี่ยม และในระยะนี้จึงแนะนำให้งดการไปเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากคนที่ไปเยี่ยมอาจจะติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ พร้อมระบด้วยว่า ที่ผ่านมากรมได้ร่วมมือกรมราชทัณฑ์ในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขัง ตั้งแต่การคัดกรองผู้ที่เข้าเยี่ยม ไม่ให้มีการเยี่ยมในลักษณะที่มีการสัมผัสตัวกัน ส่วนผู้ต้องขังรายใหม่จะต้องแยกขังจากรายเก่าจนครบ 14 วันจนแน่ใจแล้วว่าผู้ต้องขังใหม่ไม่มีอาการป่วย จึงจะนำเข้าสู่เรือนจำ 

ล่าสุด วิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า สำนักงานคุมประพฤติ กรุงเทพมหานคร 1 มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติงานภายในบ้านพัก และสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากได้เข้าสอบปากคำผู้ต้องกักขังในคดียาเสพติดติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่เรือนจำคลองเปรม  โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ต้องกักขังกลุ่มหนึ่งอยู่ระหว่างรอตรวจพิสูจน์ในคดียาเสพติดและไม่ได้รับการประกันตัวถูกส่งเข้าควบคุมที่เรือนจำคลองเปรม โดยเรือนจำได้ทำการตรวจคัดกรองพบว่ามีผู้ต้องกักขังรายหนึ่งมีอาการไข้สูง จึงแยกตัวออกมาและติดต่อกรมควบคุมโรคให้มารับตัวไปรักษา พร้อมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องกักขังรายนี้ ไม่ให้เข้าไปแพร่เชื้อในเรือนจำ

ส่วนผู้ต้องกักขังรายอื่นไม่ได้เดินทางมาในรถคันเดียวกับผู้ต้องกักขังที่มีอาการป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ทำการคัดครองแล้วไม่พบว่ามีอาการไข้ แต่ได้แยกตัวออกมาเฝ้าระวัง 14 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วหากไม่มีอาการใดๆ ก็จะเร่งดำเนินการให้ได้ประกันตัวออกไป ขณะที่ในวันดังกล่าวมีพนักงานคุมประพฤติได้เข้าไปสอบปากคำผู้ต้องกักขังรายอื่นที่ไม่มีอาการป่วย แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัส สำนักงานคุมประพฤติฯ จึงมีคำสั่งให้ปฏิบัติงานที่บ้านพักและสังเกตอาการ 14 วัน ทั้งนี้เรือนจำได้รับตัวผู้ต้องกักขังไว้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา และภายหลังทราบว่ามีผู้ต้องกักขังติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

สภาพคุกไทยแออัด มีผู้ต้องขังสูงอันดับ 6 ของโลก หากมีผู้ติดเชื้อเสี่ยงระบาดหนักในเรือนจำ

มาตรการหลักของหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังดำเนินการเพื่อควบคุม ป้องกัน และชะลอการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 คือ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กล่าวคือ เป็นการให้ประชาชนลดการพบปะผู้คน ลดการรวมตัวในสถานที่ซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยในหลายประเทศมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากร มีมาตรการควบคุมการทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน เช่นการสั่งปิดสถานประกอบการต่างๆ  ด้วยความมุ่งหวังว่า จะควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้นเร็วเกินไป จนระบบสาธารณสุข อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของประเทศไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์การระบาด และการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนจะให้ความร่วมมือกับรัฐต่อการลดการระบาดได้คือ รักษาระยะห่างจากคนอื่น และไม่อยู่ในสถานที่ซึ่งแออัดไปด้วยผู้คน 

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือกันทำได้ แต่สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำของไทย การใช้มาตราการดังกล่าวดูจะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และหากมาตรการในการคัดกรองผู้ต้องขังรายใหม่ และการคัดกรองการเข้าออกของบุคลากรกรมราชทัณฑ์หละหลวม จนอาจเกิดการระบาดภายในเรือนจำก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่อง การลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยระบุต่อนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีเรือนจำ 143 แห่ง มีพื้นที่เรือนนอนคิดเป็น 305,300 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 254,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ สรุปข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทย ณ วันที่ 23 มี.ค. 2563 ว่ามีจำนวนทั้งหมด 377,834 คน ฉะนั้นจำนวนนักโทษที่มีอยู่ในเรือนจำถือว่าเกินกว่าความจุของเรือนจำ และเกินกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้ คือ 1.2 ตรม./ผู้ต้องขังชาย 1 คน และ 1.1 ตรม./ผู้ต้องขังหญิง 1 คน ส่วนข้อมูลจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีน กับอินเดีย ซึ่งมีประชากรสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว จากจำนวนพื้นที่ซึ่งมีอยูจำกัด และจำนวนผู้ต้องขังที่เกินกว่าความจุ คุกไทยจึงกลายเป็นสถานที่แออัด และยากที่จะควบคุมหากมีการระบาดของโคโรน่าไวรัสในเรือนจำ 

มาตรการของกรมราชทัณฑ์ คัดกรองเข้มข้นก่อนปล่อยผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ รับการสร้างห้องกักกันโรคให้ครบทุกเรือนจำยอมรับว่าทำได้ยาก

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุถึงมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดภายในเรือนจำว่า กรมราชทัณฑ์วางนโยบายคัดกรองและเฝ้าระวังโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะซักถามประวัติและตรวจร่างกายผู้ต้องขังใหม่ทุกวัน ติดตามและยึดถือแนวทางปฏิบัติ การเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตามแนวทางของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข และดำเนินการตามมาตรฐานหากพบผู้ป่วยเข้าข่าย โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลแม่ข่ายสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจการป้องกันตัวเองกับผู้ต้องขัง รวมถึงรณรงค์รักษาความสะอาด พร้อมคัดแยกผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจออกจากผู้ต้องขังทั่วไป โดยมีอาสาสมัครผู้ต้องขังเรือนจำที่ได้รับการอบรมเรื่องไวรัสโคโรน่า จะคอยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พยาบาลอีกทาง

แม้ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในเรือนจำ แต่กรมราชทัณฑ์ได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการคัดกรองโรคด้วยการตรวจวัดไข้ตั้งแต่ห้องควบคุมใต้ถุนศาล 20 แห่ง เมื่อนำตัวมาถึงเรือนจำจะตรวจซ้ำเพื่อแยกโรค รวมทั้งมาตรการทำความสะอาดเรือนจำขั้นสูงสุด ทั้งในเรือนนอน โรงเลี้ยง และมาตรการเก็บรักษาอาหารดิบ เพราะหากมีนักโทษติดเชื้อเพียงรายเดียว อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดที่สร้างความสูญเสียมหาศาล ส่วนการสร้างห้องกักกันโรคให้ครบทุกเรือนจำยอมรับว่าทำได้ยาก เนื่องจากเรือนจำมีปัญหาความแออัด คับแคบจนไม่สามารถแยกแดนเพื่อกักกันโรคเป็นการเฉพาะได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net