นักวิชาการแนะ 5 ข้อ รบ. ปรับแก้โควิด หวั่นคนจนเมืองเพิ่ม

นักวิชาการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 จากนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อคนจนเมือง พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางนโยบายต่อรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้คนจนเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงาน Work from Home ได้ บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงและรับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูล เครื่องมือสื่อสาร และความซับซ้อนของระบบ คาดในอนาคตหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป จะมีคนจนเมืองเพิ่มขึ้น และคนจนยิ่งจนลงกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 12 เม.ย 2563 คณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ออกมาเปิดเผยถึงผลการสำรวจ “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19” และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์แฟนเพจ “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19” นำโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ และ ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ 

คนจนเมือง ความเป็นอยู่, ผลกระทบจากมาตรการและเข้าถึงการเยียวยาของรัฐ

นักวิชาการเผยถึงข้อค้นพบสำคัญของการสำรวจนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรก สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 คนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถามคิดเป็น 89.90% สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เกือบกึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม คิดเป็น 44.27% พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน  ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่าคนจนเมืองมักจะสวมใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าพกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือ อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือมีราคาสูงกว่า ดังนั้นจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่สำรวจได้นั้นสามารถหักล้างความเข้าใจที่ว่าคนจนเมืองเป็นผู้ละเลย ไม่ดูแลตัวเองและอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อได้  สำหรับมาตรการกักตนเอง 14 วัน หากมีอาการสุ่มเสี่ยงหรือไปในสถานที่สุ่มเสี่ยงตามที่รัฐบาลประกาศนั้น ผลสำรวจชี้ 43.79% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ที่อยู่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัวโดยแยกจากคนอื่น เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการกักตัว เช่น คนจนเมืองที่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวในห้องเช่าเดี่ยวที่ไม่มีห้องนอนกั้นแยก ดังนั้น จากข้อสำรวจนี้จึงสรุปได้ว่า รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลเพื่อทำให้การกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้ มิเช่นนั้น เขาอาจจะนำเชื้อไปเผยแพร่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

ประเด็นที่สอง  ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประกอบอาชีพและการหารายได้นั้น ผลสำรวจระบุว่า คนจนเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดสถานบริการและห้างสรรพสินค้า เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 60.24% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด  และลดลงโดยเฉลี่ย 70.84% จากเดิมรายได้เฉลี่ยของคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามก่อนวิกฤติโควิดอยู่ที่ 13,397 บาทต่อเดือน ดังนั้น ในช่วงระหว่างวิกฤติคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามรายได้ลดลง 70.84 % หรือ 9,490 บาท ต่อเดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาทต่อเดือน จึงทำให้คนจนเมืองประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ  เช่น ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิคอัพ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย บางรายประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น แทบไม่มีเงินซื้ออาหารประจำวัน คนกลุ่มนี้ดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน และบางส่วนจำนวนไม่น้อย ต้องกู้หนี้ยืมสินหรือนำสิ่งของไปจำนำ

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับตัวมาทำงานที่บ้านหรือ Work from home นั้น คนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79% ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่าคนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงานโดยเครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้

ประเด็นที่สาม การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ นโยบายมอบเงินเยียวยาช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และมาตรการผ่อนปรนหนี้สินของธนาคารนั้น จากผลสำรวจระบุว่า คนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ ซึ่งคนจนเมืองที่ตอบแบบสอบถามจำนวนครึ่งหนึ่งราว 66.67% พยายามลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน แบ่งออกเป็น ลงทะเบียนสำเร็จ 51.67% ไม่สำเร็จ 14.60% บางรายไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่รัฐตั้งไว้จำนวน 28.99% เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำงานประจำและมีสิทธิจากกองทุนประกันสังคมหรือเป็นผู้ว่างงาน  นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนยังไม่ทราบวิธีการและช่องทาง จำนวน 4.54% 

หากคิดเฉพาะคนจนเมืองที่ลงทะเบียนกับโครงการเราไม่ทิ้งกันนั้น ผลการสำรวจระบุว่า 65.78% นั้นยังอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการของรัฐนั้นออกมาล่าช้า ไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของคนจน 

สำหรับการผ่อนปรนหนี้สินของธนาคารนั้น ผลการสำรวจพบว่า มีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 44.40% ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ดีมีคนจนถึง 30.11% ที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะหนี้สินที่มีอยู่เป็นหนี้นอกระบบ ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า มาตรการบรรเทาหนี้สินให้กับประชาชนที่ดำเนินมาและที่ภาครัฐกำลังจะดำเนินการในอนาคตจะต้องคำนึงถึงคนจนที่ไม่มีหลักประกันและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ ทั้งนี้นักวิชาการมองว่า การจัดสรรเงินทุนให้องค์กรชุมชนเป็นผู้ดำเนินการจะทำให้คนจนเมืองเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายกว่า

5 ข้อเสนอต่อ รบ. แก้ปัญหา

นอกจากสรุปผลการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 จากนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อคนจนเมืองแล้ว นักวิชาการยังเสนอแนะแนวทางนโยบายต่อรัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้

1) สำหรับเงื่อนไขการได้รับเงินเยียวยานั้น นักวิชาการเสนอว่ารัฐควรใช้แนวคิด “คัดคนออก” แทนแนวคิด “คัดคนเข้า” กล่าวคือ รัฐควรให้สวัสดิการถ้วนหน้ากับประชาชนและประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงมาตรการการเยียวยาจากรัฐบาล ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐควรเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 น้อยที่สุดมากกว่าผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่รัฐกำหนด

2) รัฐควรจัดสรรงบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้านในการฟื้นฟูชีวิตของคนรากหญ้า ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริงและสามารถตรวจสอบได้ในระดับพื้นที่  

3) รัฐบาลควรเร่งรัดให้กองทุนประกันสังคมปฏิรูปการทำงานให้จ่ายเงินตามสิทธิของผู้ประกันโดยเร็ว

4) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงประกอบการดำเนินชีวิตของประชาชนต่างก็ตื่นตัวในการการป้องกันตัวเองมากขึ้น รัฐบาลควรผ่อนปรนมาตรการ เปิดให้มีพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการโดยเร็ว

5) รัฐบาลควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ จากคนละ 600–800 บาทต่อเดือน เป็น 2,000 บาทต่อเดือน 

สำหรับผลการสำรวจอย่างเร่งด่วนเฉพาะกิจดังกล่าว สำรวจคนจนเมืองทั่วทุกภาคส่วนของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนแออัดในพื้นที่คลองเตย และพื้นที่อื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ รวม 18 จังหวัด ใช้เวลาในการสำรวจ 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย.ที่ผ่านมา  เก็บผลสำรวจได้รวม 507 ชุด แบ่งออกเป็นเพศหญิง 58.78% เพศชาย 38.86% ไม่ระบุเพศและเพศทางเลือก รวม 2.37% อายุโดยเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบสำรวจคือ 50 ปี อาชีพกลุ่มใหญ่ที่สุดของผู้ตอบแบบสำรวจคือ รับจ้างรายเดือนแต่ไม่มีประกันสังคม 29%, รับจ้างรายวัน 24% และแม่ค้า หาบเร่ รถเข็นแผงลอย 22% 

เฟซบุ๊คไลฟ์ ของคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ถึงผลการสำรวจ “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19” และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 

จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถดัดแปลงที่พักสำหรับการกักบริเวณได้

ผศ.ดร.บุญเลิศ หนึ่งในผู้ทำการสำรวจนี้ กล่าวว่า จากข้อค้นพบที่ว่ากว่า 89.90% ของคนจนเมืองที่ทำแบบสอบถามนั้น สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน หรือมีบางส่วนที่พกเจลล้างมือก่อนออกจากบ้านนั้น จากข้อค้นพบนี้จึงอยากจะชี้ในประเด็นที่ว่า ความเข้าใจที่คิดว่าคนจนไม่สนใจสุขภาพ ละเลย และอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และอยากเสนอให้ภาครัฐเอื้อหรือดูแลการกักบริเวณของคนจนเมืองที่มีอาการสุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีคนจนเมืองจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถดัดแปลงที่พักสำหรับการกักบริเวณได้ มิเช่นนั้น คนจนเมืองที่มีความเสี่ยงในการติดโควิดอาจจะแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัวได้

ไม่ใช่คนฉวยโอกาส 

ผศ.ดร.บุญเลิศ อภิปรายต่อว่า ยังมีคนจำนวนหนึ่งคิดเป็น 28.99%  ที่ไม่ได้กดรับสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยานี้ เนื่องจากทราบดีว่า พวกเขาไม่มีสิทธิในการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือนี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกประกันสังคม และมีความเกรงในข้อกฎหมาย และกลัวว่าการที่ตนมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่รัฐกำหนดไว้แล้วไปกดรับสิทธินั้นจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีคนจนเมืองที่ไม่ทราบวิธีในการลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งมักจะเป็นคนชายขอบที่ไม่ได้รับการดูแลก่อน และเป็นผู้ที่หลุดออกไปจากการดูแลของรัฐก่อน 

ไม่สามารถ Work from Home ได้ และมาตรการของรัฐไม่ทันการณ์

หนึ่งในผู้ทำการสำรวจนี้ยัง ยกตัวอย่างถึง คุณป้าสองท่าน อายุ 63 ปี และ 67 ปี  เป็นผู้เช่าอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง มีอาชีพตั้งรถเข็นขายน้ำอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่เมื่อการรถไฟฯ ประกาศหยุดเดินรถ ดังนั้น หัวลำโพงจึงปิดไปโดยปริยายจึงทำให้ป้าทั้งสองท่านไม่มีรายได้ ทั้งนี้ คุณป้าท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล ส่วนอีกท่านหนึ่งนอกจากจะไม่มีลูกหลานดูแลแล้ว หากแต่ยังต้องดูแลลูกสาวอีกคนซึ่งพิการ ป้าทั้งสองบอกว่า กำลังจะโดนเจ้าของห้องเช่าไล่ออกจากห้อง เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง 

ผศ.ดร.บุญเลิศ ยังกล่าวต่อว่า จากตัวอย่างที่ยกไปนั้น แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่กลับได้รับการช่วยเหลือที่ล่าช้าและแทบจะไม่ทันการณ์

แนะรัฐควรเปลี่ยนจาก ‘สงเคราะห์ผู้เดือดร้อน’ เป็น ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’

รศ.สมชาย อีกหนึ่งในผู้สำรวจ แนะนำว่า แทนที่จะไปตั้งเกณฑ์คัดคนเข้า รัฐควรเปลี่ยนวิธีคิดเป็นแบบคัดคนออก เนื่องจากในกรณีนี้เป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบกันทั่วประเทศ ดังนั้นในเบื้องต้น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนได้รับผลกระทบ แล้วค่อยใช้วิธีเกณฑ์คนคัดออก สำหรับคนที่แทบจะไม่ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือเยียวยานี้ อย่างเช่น ข้าราชการประจำพนักงานประจำของรัฐหรือพนักงานบริษัทเอกชน ที่ชัดเจนว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิดนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ซึ่งเป็นวิธีที่หลายๆ ประเทศใช้กัน 

รศ.สมชาย ยังกล่าวต่ออีกว่า  วิธีการคัดคนเข้าเพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลนั้นมีปัญหา เนื่องจากภาครัฐไม่มีฐานข้อมูลของคนกลุ่มนี้ที่ทันสมัย จึงไม่ควรยึดฐานข้อมูลของรัฐเป็นเกณฑ์ในการคัดคนออก และฐานข้อมูลที่ไม่ทันสมัยนี้ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบ Artificial Intelligence (AI) ในการคัดกรองคนที่ได้รับสิทธินี้ ดังเช่นในกรณีตัวอย่างของคุณสมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่เข้าเรียนโรงเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม แต่กลับถูกระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่า คุณสมบัติเป็นนักเรียน/นักศึกษา และตัดสิทธิคุณสมบัติ 

ควรจัดงบฯ กระจายสู่ อปท. เข้าถึงกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริง-ตรวจสอบได้

รศ.สมชาย อภิปรายต่อว่า สำหรับงบประมาณอีก 400,000 ล้านบาทสำหรับการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจนั้น รัฐควรใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ให้กว้างขวางมากที่สุด เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้าน ในการจัดสรรงบประมาณสู่ประชาชน เนื่องจาก หากใช้แต่หน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียวเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสู่ประชาชนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในหลายครั้งคือ เกิดการตกหล่นของงบประมาณ จนทำให้ประชาชนนั้นเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเต็มที่

เงินของผู้ใช้แรงงาน ต้องกลับคืนสู่ผู้ใช้แรงงาน

หนึ่งในผู้สำรวจกล่าวเสนอต่อกองทุนประกันสังคมว่า ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันสังคมในแต่ละเดือนทั้งที่นายจ้างหยุดกิจการหรือปิดกิจการ ขณะที่การช่วยเหลือของประกันสังคมกลับมาสู่ผู้ใช้แรงงานนั้นเป็นไปอย่างล่าช้ามาก การหักเงินเป็นไปตามปกติทุกเดือน แต่เมื่อเดือดร้อนการจะได้รับเงินประกันตามสิทธินั้นกลับใช้เวลานาน ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมต้องตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้  กล่าวคือ เงินของผู้ใช้แรงงานต้องกลับคืนสู่ผู้ใช้แรงงานเพื่อที่จะเยียวยา ไม่ให้เขาเดือดร้อนไปมากกว่านี้

ปิดเมืองได้ ต้องไม่ใช่ปิดตาย ปชช.ต้องหายใจ ต้องทำมาหากินได้

รศ.สมชาย กล่าวว่า รัฐควรผ่อนปรนพื้นที่ค้าขายและพื้นที่สาธารณะ ด้วยการเปิดอย่างมีกระบวนการการจัดการ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการหรือดึงกลไกของรัฐอย่าง อสม. เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากการปิดพื้นที่หรือการล็อคดาวน์แบบชนิดที่ไม่ให้มีการเคลื่อนที่นั้นทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้ เนื่องจากหลายๆ คนไม่ใช่คนที่มีทุนรอนมากพอที่อยู่ในสภาวะนี้ได้ ดังนั้น ปิดเมืองได้ ต้องไม่ใช่ปิดตาย และประชาชนต้องหายใจ ต้องทำมาหากินได้ โดยการดึงให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการชุมชน

ผู้สูงอายุเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับกระทบจากสภาวะวิกฤตนี้เช่นกัน ดังนั้นควรเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวิธีการประคับประคองผู้ที่เปราะบางในสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ สำหรับคำว่า “ผ่านพ้นวิกฤต” นั้น  รศ.สมชาย ให้ความคิดเห็นว่า ทุกคนควรผ่านไปได้ในแบบที่ไม่ใช่ว่าบางคนประสบกับความยากลำบากมาก ในขณะที่บางคนสามารถผ่านไปได้โดยไม่ลำบาก เพราะฉะนั้น การเพิ่มเบี้ยยังชีพนี้เป็นการเสริมให้คนเปราะบางผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้พร้อมกับคนอื่นๆ ในสังคม

คนรายได้ต่ำ ทำงานเล็กๆ น้อยๆ กลับไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะมันไม่ชัดเจน

รศ.ดร.ประภาส อีกหนึ่งผู้สำรวจกล่าวว่า การประเมินการคัดคนเข้าของระบบ AI นั้น ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ยังมีคนที่อยู่ในกลุ่มอาชีพรับจ้างรายวัน เช่น อาชีพแม่บ้านหรือรับเลี้ยงเด็กที่ได้รับผลกระทบ แต่กลับถูกระบบ AI คัดออก รศ.ดร.ประภาส ยังกล่าวต่อว่า คนยิ่งรายได้ต่ำ ทำงานแบบเล็กๆ น้อยๆ กลับไม่ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากมันไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ระบบไม่สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้ ซึ่งแตกต่างจากพนักงานที่ทำงานในห้างสรรพสินค้าหรือบริษัทที่ปิดไปอย่างชัดเจน ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรที่จะได้รับเงินชดเชยเช่นเดียวกัน จึงไม่อยากให้รัฐมองข้ามคนกลุ่มนี้ไป

อนาคตจะมีทั้งคนจนหน้าใหม่ และคนจนยิ่งจนลงกว่าเดิม

ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า หลังจบสถานการณ์โควิด-19 จะมีทั้งคนจนหน้าใหม่ และคนจนยิ่งจนลงกว่าเดิม ถ้าไม่มีการช่วยเหลือเขาอย่างทันควัน อย่างเช่น แม่ค้าขายของรายวันที่ต้องทุนสำรองไว้รองรับ ซึ่งการที่เขาจะตั้งตัวได้นั้นต้องอาศัยทุนก้อนใหญ่ นอกเหนือจากเงินชดเชย 5,000 บาทแล้วนั้น  การจัดสรรงบประมาณอีก 400,000 ล้านบาทนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระจายให้เข้าถึงคนรากหญ้าให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาตั้งตัวและประกอบอาชีพได้อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับ รดารัตน์ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 3 ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท