Skip to main content
sharethis

วันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นวันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ 12 มี.ค.2553 เพราะกองกำลังทหารพร้อมรถหุ้มเกราะเข้าสลายการชุมนุมที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า “กระชับพื้นที่”  (10 เม.ย. ศอฉ.ใช้ชื่อปฏิบัติการว่า “ขอคืนพื้นที่”) หลังจากพื้นที่ชุมนุมถูกกองกำลังทหารปิดล้อมมาแล้ว 6 วัน

ปฏิบัติการกระชับพื้นที่เริ่มขึ้นภายหลังจากพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดงถูกยิงเข้าที่ศีรษะ(และเสียชีวิตในอีก 2 วันให้หลัง) ขณะที่เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศหน้าลิฟท์ขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมหลังเสียงเคารพธงชาติจบลงในเย็นวันที่ 13 พ.ค.2553 จากนั้นขั้นตอนแรกของการสลายการชุมนุมก็เริ่มต้นขึ้นในคืนนั้น โดยกองกำลังทหารเริ่มวางกำลังบนถนนสายต่างๆ รอบพื้นที่การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ในคืนนี้นอกจากเสธ.แดง แล้วยังมีชาติชาย ชาเหลาคนขับแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการของทหารอีก 1 คน

13 พ.ค.2553 พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศบริเวณลิฟท์ขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมฝั่งสวนลุมพินี https://goo.gl/maps/HJCNPjmV1xDRuPtr5

13 พ.ค.2553 ชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเข้าที่ศีรษะเสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่ทหารเริ่มวางกำลังเพื่อปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของ นปช. ที่อยู่บริเวณสวนลุมพินี ฝั่งถนนราชดำริ https://goo.gl/maps/EkQPhyohgeWyfnGa8

วันรุ่งขึ้นกองกำลังทหารใช้ทั้งอาวุธกระสุนจริงและกระสุนยางในการยิงไล่ประชาชนไม่ให้เข้าพื้นที่เพื่อตั้งด่านแข็งแรงโดยการวางรั้วลวดหนามและตั้งบังเกอร์กั้นถนนพระราม 4 ถนนราชปรารภ และถนนพระราม 1 ทั้งฝั่งชิดลมและสนามกีฬาแห่งชาติ และเพียงวันที่สองของปฏิบัติการก็มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตมากถึง 19 คน โดย 1 ในนั้นเป็นเพียงเด็กอายุ 12 ปี คือด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ที่อาศัยอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าอัซซัยดิยะฯ

ในระหว่างการปิดล้อมก่อนถึงวันที่ 19 ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 23 คน ที่ถูกยิงเสียชีวิตตามจุดที่ทหารได้ตั้งด่านเอาไว้

14 พ.ค.2553 เสน่ห์ นิลเหลือง ถูกยิงและประชาชนในบริเวณดังกล่าวช่วยกันนำตัวเข้าไปปฐมพยาบาลเบื้องต้นในปั๊มน้ำมัน ในขณะที่ทหารเตรียมตั้งด่านกั้นถนนพระราม 4 https://goo.gl/maps/o9BUddThwkpdjykZ9

14 พ.ค.2553 ประชาชนช่วยกันนำตัวคนเจ็บออกจากพื้นที่ซอยรางน้ำฝั่งถนนราชปรารภ ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ใกล้กับด่านทหารที่อยู่หน้าปั๊มเอซโซ(ปัจจุบันคือปั๊มคาลเท็กซ์) https://goo.gl/maps/JkMETywnfzWUZX1c9

15 พ.ค.2553 ภาพถ่ายร่าง สมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ข้อมูลจาก เหตุเกิดประมาณ เวลา 8.30 น. ของวันนั้น เขาถูกกระสุนปืนลูกโดดยิงเข้าบริเวณศีรษะทำให้เนื้อสมองฉีกขาด จุดเกิดเหตุหน้าร้านไท่หยางถัดทางทิศใต้หน้าร้านขายเสื้อสูท ใกล้ ซอยราชปรารภ 18 ในเวลาและสถานที่เดียวกับ สุภชีพ จุลทัศน์ 36 ปี คนขับแท็กซี่ ที่ถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ บริเวณหน้าร้านกันสาดติดกับร้านไท่หยาง ราชปรารภ เสียชีวิต นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว คือเวลา 8.00 – 9.00 น. จุดไม่ไกลจาตรงนั้น อำพล ชื่นสี 25 ปี ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่าเขาถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ จุดเกิดเหตุบริเวณหน้าทางเข้าคอนโด เดอะคอมพลีท ถนนรางน้ำ หรือหน้าร้านกันสาดจุดเดียวกับ สุภชีพ (เนื่องจาก ศปช. ยังระบุตัวตนของอำพล ชื่นสีไม่ได้ ) https://goo.gl/maps/dCLWMpnmss8u7bGt7

15 พ.ค.2553 ทหารที่ตั้งด่านอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงก์มักกะสัน นำป้าย “พื้นที่ใช้กระสุนจริง” มาติดที่แนวรั้วลวดหนาม ที่วางกั้นถนนราชปรารภฝั่งประตูน้ำ ซึ่งป้ายดังกล่าวถูกนำมาติดหลังจากในคืนก่อนหน้ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณดังกล่าวแล้วถึง 3 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน https://goo.gl/maps/6jt1Mr8NSoogdLVT7

15 พ.ค.2553 ทหารได้วางแนวบังเกอร์ปิดถนนโดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนวางกำลังอยู่บนอาคารหน้าทางเข้าสนามมวยลุมพินี โดยทหารที่อยู่บนอาคารดังกล่าวได้ใช้กล้องช่วยเล็งในการยิง https://goo.gl/maps/sPXchB84fqogwRP4A

15 พ.ค.2553 ประชาชนช่วยกันนำตัวคนเจ็บออกจากพื้นที่บริเวณปากซอยงามดูพลี
https://goo.gl/maps/XkhvYKWx41PYSjCf7

15 พ.ค.2553 ภาพของ ชาญณรงค์ พลศรีลา (สวมหมวกนิรภัยสีขาว) ขณะยังมีชีวิต ที่นิค นอสติทช์ ช่างภาพอิสระถ่ายขณะที่ชาญณรงค์อยู่หลังแนวยางที่ผู้ชุมนุมช่วยกันก่อไว้บริเวณหน้าทางเข้าปั๊มน้ำมันเชลล์ บนถนนราชปรารภ แต่หลังจากที่นิคถ่ายภาพนี้ได้ไม่นานทหารเริ่มเปิดฉากยิงทำให้ชาญณรงค์ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา https://goo.gl/maps/Rz7BekMMNhLKWazg6

15 พ.ค.2553 ประชาชนที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงช่วยกันนำตัว อุทัย อรอินทร์ ซึ่งถูกยิงเข้าที่บริเวณหัวใจออกมาจากหน้าบริษัทวิริยะประกันภัยมาที่สามเหลี่ยมดินแดงเพื่อนำตัวไปขึ้นรถฉุกเฉิน เขาเสียชีวิตหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล https://goo.gl/maps/ds5UaP1wEhvUe6hh9

16 พ.ค.2553 บริเวณชุมชนบ่อนไก่ พระราม 4
ประชาชนคนหนึ่งถอดเสื้อเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่มีอาวุธและคอยให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบ
าดเจ็บจากการถูกยิง
https://goo.gl/maps/dLQa2oLajuQDVdHy5

จนกระทั่งเช้าตรู่ของวันที่ 19 ปฏิบัติการสลายการชุมนุม(กระชับพื้นที่ตามคำของ ศอฉ.)ก็เริ่มต้นขึ้น กองกำลังทหารเริ่มเคลื่อนกำลังจากแยกศาลาแดงโดยใช้รถลำเลียงพลหุ้มเกราะนำเข้าทำลายแนวรั้วไม้ไผ่และยางรถยนต์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่กั้นปิดถนนราชดำริด้านติดถนนพระราม 4 อยู่ โดยที่กองกำลังทหารใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมตลอด จากเหตุการณ์ช่วงเช้านี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งผู้ชุมนุมและช่างภาพต่างประเทศรวม 6 คน ส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือได้ถอยกลับไปจนถึงแยกราชประสงค์และบางส่วนได้เข้าไปในวัดปทุมวนารามราชวรวิหารที่ถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานสำหรับให้ผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชราได้เข้าไปหลบพัก

 

19 พ.ค.2553 ผู้ชุมนุมกำลังวิ่งเข้าไปช่วย ถวิล คำมูล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณป้ายรถแท็กซี่ข้างสวนลุมพินีฝั่งถนนราชดำริ โดยมีทั้งนักข่าวไทยและต่างประเทศอยู่ในเหตุการณ์ด้วย https://goo.gl/maps/ur9jbcz3BHTPRQSZ7

 

19 พ.ค.2553 เจ้าหน้าที่กู้้ชีพเข้าช่วยนรินทร์ ศรีชมพู ที่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะบริเวณหน้าอพาร์ทเม้นท์บ้านราชดำริ ถนนราชดำริขณะที่กำลังทหารเคลื่อนที่มุ่งหน้าไปที่แยกราชประสงค์ https://goo.gl/maps/XsCyj2Kyxc7ZXUjJ7

19 พ.ค.2553 ประชาชนช่วยกันนำตัวประจวบ เจริญทิมที่ถูกยิงที่ขาขวาออกจากบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทั้งนี้เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา https://goo.gl/maps/yLxyPdvkbRZGzvB9A

19 พ.ค.2553 อัฐชัย ชุมจันทร์ ถูกยิงเข้ากลางหลังขณะกำลังหนีเข้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารเขาเป็น 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนารามที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงมาจากทางทหารที่เคลื่อนกำลังจากสนามกีฬาแห่งชาติมาตามถนน พระราม 1 https://goo.gl/maps/8LPsXTg4smBxBKdp7

19 พ.ค.2553 มงคล เข็มทอง(ผู้ชายสวมเสื้อมูลนิธิสีน้ำเงินทางขวาภาพ) กำลังปฐมพยาบาลอัฐชัย ชุมจันทร์ที่ถูกยิงบริเวณหน้าประตูทางเข้าวัด มงคลเป็น 1 ใน 6 ศพ ที่เสียชีวิตภายในวัดปทุมฯ โดยเขาถูกทหารบนรางรถไฟฟ้าทางหน้าวัดยิงลงมา https://goo.gl/maps/xM3PRNUaiV2qAboT9

จากนั้นในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พ.ค.2553 เมื่อแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ประชาชนที่ยังเหลืออยู่บริเวณแยกราชประสงค์ก็เข้าไปพักในวัดปทุมฯ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงช่วงเย็นทหารที่อยู่บนถนนพระราม 1 ด้านสนามกีฬาแห่งชาติก็เริ่มรุกคืบเข้ามาตามถนนข้ามแยกปทุมวันมาจนถึงแยกอังรีดูนังค์โดยมีการใช้อาวุธปืนกระสุนจริงยิงเข้าไปบริเวณหน้าวัด และยังมีทหารอีก 1 ชุด เดินมาตามรางรถไฟฟ้าจนถึงบริเวณหน้าวัดปทุมฯ แล้วเปิดฉากยิงเข้าไปในวัด จากเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต

ในระยะเวลาเพียง 7 วัน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 63 คน ทั้งในกรุงเทพฯ(60 คน) และต่างจังหวัด(3 คน) มีทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่กู้ภัย พยาบาล นักข่าว และทหาร(1 นาย) ทั้งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ว่าประชาชนที่เสียชีวิตในช่วง 7 วันนี้มีอาวุธและไม่ปรากฏภาพของกองกำลังติดอาวุธใดๆ ในภาพข่าวของสื่อไทยและเทศ ตามที่ ศอฉ.กล่าวอ้างว่ามีกองกำลังติดอาวุธปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม

แม้ผู้เสียชีวิตบางกรณีจะมีข้อสรุปจากกระบวนการไต่สวนการตายภายในศาลยุติธรรมออกมาแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” นี้ เช่น กรณีของพัน คำกองและด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณที่ถูกยิงบริเวณด่านทหารที่อยู่ใต้สถานีแอร์พอร์ทลิงก์มักกะสัน หรือกรณีของชาญณรงค์ พลศรีลาที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตภายหลังบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ถนนราชปรารภ หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตของ 6 ศพ วัดปทุมฯ ที่ปรากฎภาพหลักฐานว่าทหารได้ยิงเข้าไปในวัดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่หลังเหตุการณ์จนกระทั่งศาลก็ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

แต่ดูเหมือนว่าการตายที่มีข้อเท็จจริงชัดเจนเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำตัวเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการรวมไปถึงผู้สั่งการมาพิจารณาคดีในศาลได้จนถึงทุกวันนี้ โดยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมก็ไม่รับฟ้องเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะต้องเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้อง แต่ ป.ป.ช.ก็มีมติให้คำร้องที่กล่าวหาอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณตกไปเนื่องจากเห็นว่าทั้งสองคนไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือมีเจตนาเล็งเห็นผลให้เกิดความเสียหายและการเสียชีวิต หรือกระทั่งกรณีที่ดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ให้อัยการศาลทหารดำเนินการฟ้อง แต่อัยการศาลทหารก็มีคำสั่งไม่ฟ้องโดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

จะไม่อยากพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมครั้งนี้ เพราะไม่ว่าญาติผู้เสียชีวิตจะดำเนินการฟ้องร้องไปที่ศาลใดก็ถูกปฏิเสธว่าคดีไม่ได้อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลเหล่านี้ ยังไม่ต้องกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตอื่นๆ ที่ศาลอาจระบุเพียงว่ากระสุนที่ยิงถูกผู้เสียชีวิตนั้นมาจากทิศทางที่ทหารตั้งด่านอยู่เท่านั้นแต่ไม่ทราบว่าใครยิง หรือกระทั่งว่าไม่ทราบว่ากระสุนถูกยิงมาจากทางใด ที่ขณะนี้ไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ ว่าได้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติ่มโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หรือไม่

ผ่านมาแล้ว 10 ปี บางคนอาจเห็นว่าความตายที่เกิดขึ้นเป็นความจริงที่ปรากฏชัดกับตามาตลอด บางคนอาจยังเห็นว่าเป็นความจริงที่ยังต้องตามหา บางคนอาจไม่อยากให้ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ปรากฏขึ้นมาอีก เมื่อได้เห็นว่ามีคนกำลังตามหามันอีกครั้ง

สามารถดูรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 คน จุดเกิดเหตุของผู้เสียชีวิตแต่ละคน รวมถึงการพิจารณาคดีไต่สวนการตายผู้ผู้เสียชีวิตบางรายได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net