10 ปีสลายแดง : ย้อนรอยคดีศาลชี้ 'ตายจากกระสุนทหาร' แต่ยังไม่มีใครรับโทษ

เมื่อปี 2553 การชุมนุมของคนเสื้อแดงนำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กินเวลาตั้งแต่ 12 มีนาคม – 19 พฤษภาคม

รายงานของภาคประชาชน (ศปช.) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 94 ราย งานของภาครัฐ (คอป.) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 92 ราย  ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ 10 ราย

โดยขั้นตอนปกติเมื่อมีการตายที่ผิดธรรมชาติและเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องมีการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก่อนว่า “ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้” จากนั้นจึงมีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกันในศาลต่อไป  

เมื่อมีคนตายเกือบร้อยคน ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปี กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปถึงไหน และคดีเดินทางไปอย่างไร ประชาไทรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นอีกครั้ง

1

กลุ่มคดีไต่สวนการตาย

ศาลชี้ 18 ศพกระสุนมาจากฝั่งทหาร -คดีสะดุดหลังรัฐประหาร

ช่วงปี 2555-2558 ศาลทยอยออกคำสั่งในการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวม 33 ราย (ตารางด้านล่าง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ในจำนวนนี้ศาลมีคำสั่งว่า กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย ส่วนอีก 15 ราย ศาลระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

กรณีสำคัญที่ศาลมีคำสั่งว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร เช่น

  • เกรียงไกร คำน้อย ที่ถูกยิงช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย.53
  • พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.53 ขณะขับมอเตอร์ไซค์ร่วมกับหน่วย มุ่งหน้าเข้าหน้าแนวเจ้าหน้าที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติดอนเมือง โดยคำสั่งศาลระบุว่าถูกกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
  • คดี 6 ศพวันปทุมฯ ศาลก็มีคำสั่งว่าทั้งหมดเสียชีวิตจากทหาร ซึ่ง 3 ใน 6 เป็นอาสาสมัครมนุษยธรรม คือ กมลเกด อัคฮาด อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล และมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 

หลังจากรัฐประหารปี 2557 แล้ว ขั้นตอนการไต่สวนการตายดูเหมือนจะหยุดชะงักไป ไม่มีกรณีใหม่ แม้จะเหลือรายชื่ออีกครึ่งร้อยที่ยังไม่มีคำสั่งไต่สวนการตายก็ตาม

ส่วนคดีของ 1.ฮิโรยูกิ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น 2.วสันต์ ภู่ทอง 3.ทศชัย เมฆงามฟ้า ซึ่งทั้งหมดถูกยิงในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 นั้น แม้จะมีคำสั่งศาลในปี 2558 ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร แต่กระบวนการไต่สวนนั้นถือได้ว่าเกิดมาก่อนหน้ารัฐประหารและจำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น

2

ความพยายามในการดำเนินคดี

ฟ้องศาล, ศาลโยน ป.ป.ช.

1 ใน 18 ราย ที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหารคือ พัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 พ.ค.2553

กรณีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อเดือนกันยายน 2555 จากนั้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนกรณีการตายของผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองได้แถลงผลการประชุมของคณะพนักงานสอบสวนอันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ ว่า

ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหากับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่ามีความผิด “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288

เหตุผลที่ฟ้องก็คือ เนื่องจากศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งคดีการไต่สวนเหตุการตายของพัน คำกอง  ว่า “การตายของนายพัน เกิดจากถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.” และศาลยุติธรรมได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาล และถึงดีเอสไอในที่สุดคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว

คดีนี้สู้กันถึง 3 ศาล จนวันที่ 31 สิงหาคม 2560  ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องสำนวนคดีที่อัยการฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาลเห็นว่า

ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

ฟ้อง ป.ป.ช., ป.ป.ช.ตีตก

ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดยระบุว่าอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้คำร้องตกไป  แต่ก็ระบุว่าได้มีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ให้ดีเอสไอดำเนินการต่อ

การกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพลเอกอนุพงษ์กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ขอรื้อคดีกับป.ป.ช.อีกหน ก็ไม่เป็นผล

ต่อมา จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และ วรัญชัย โชคชนะ มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนมติที่ให้ข้อกล่าวหาตกไปดังกล่าว ดังนี้

1. การตัดสินใจทางนโยบาย กรณีใช้อาวุธสงครามกระสุนจริงและยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่

2. ไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันทีเมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน มีการอ้างว่าได้ปรับยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านตรวจและมีจุดสกัดปิดล้อมเพื่อให้ชุมนุมเลิกไปเองแล้ว แต่ตามวารสารกองทัพบก (เสนาธิปัตย์) อธิบายว่านั่นเป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ

3. การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยมิได้มีหลักฐานใดๆ รองรับ

4. กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือและ 2 มาตรฐาน เช่น เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 (การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ) เกิดขึ้นและยุติลงภายในวันเดียวแต่คำฟ้องของ ป.ป.ช. แบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 3 ช่วงเวลา กล่าวถึงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรายสำคัญโดยละเอียด ขณะที่เหตุการณ์ ปี 2553 (การชุมนุมของกลุ่ม นปช.) เกิดขึ้นต่อเนื่องกันกว่า 1 เดือน ต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ แต่กลับพิจารณาแบบองค์รวม

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาและตอบประเด็นทั้งหมด (อ่านที่นี่) โดยมีสาระสำคัญว่า สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล

ฟ้องทหาร อัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง

พะเยาว์  อัคฮาด ผู้เป็นมารดาของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันนั้น (19 พ.ค.2553)ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น

วันที่ 3 พ.ค.2562 พะเยาว์เปิดเผยว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยอัยการให้เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคลที่ระบุว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น

แต่คนฟ้องกลับโดนสั่งจำคุก ข้อหากลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล

ในทางกลับกัน เมื่อ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี (คำเบิกความเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก จำเลยรายละ 2 ปี) ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ 3 ตำรวจที่ทำคดีเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 ฐานกลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล จากการฟ้องข้อหาความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แม้ก่อนหน้านั้น ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องธาริตและพวกก็ตาม 

รายชื่อผู้เสียชีวิตที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายแล้ว รวม 33 ราย (จากการรวบรวมของประชาไท)

 

ลำดับ

ชื่อ

การไต่สวนการตาย

วันเสียชีวิต

อ่านเพิ่มเติม

 

1

นายมงคล เข็มทอง

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

2

นายสุวัน ศรีรักษา

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

3

น.ส. กมนเกด อัดฮาด

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

4

นายอัครเดช ขันแก้ว

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

5

นายอัฐชัย ชุมจันทร์

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

6

นายรพ สุขสถิตย์

เสียชีวิตจากทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

7

ชายไม่ทราบชื่อ

เสียชีวิตในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

8

นายฟาบิโอ โปเลงกี (Mr. Fabio Polenghi)

วิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

9

นายถวิล คำมูล

วิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

10

นายนรินทร์ ศรีชมภู

วิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร 

19 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

11

จ.ส.อ.พงศ์ชลิต ทิพยานนทกาญจน์ 

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

17 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

12

นายประจวบ ประจวบสุข

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

16 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

13

นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง

16 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

14

นายสมชาย พระสุพรรณ

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

16 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

15

นายชาญณรงค์ พลศรีลา

เสียชีวิตจากทหาร 

15 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

16

นายพรสวรรค์ นาคะไชย

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

15 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

17

นายมานะ แสนประเสริฐศรี

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

15 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

18

นายพัน คำกอง

เสียชีวิตจากทหาร 

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

19

ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ

เสียชีวิตจากทหาร 

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

20

นายบุญมี เริ่มสุข

ไม่ทราบผู้ลงมือกระทำ 

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

21

นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง

ไม่ได้ตายโดยตรงจากการถูกยิง 

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

22

นายประจวบ ศิลาพันธ์

ไม่ทราบผู้ลงมือกระทำ

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

23

นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ 

ไม่ทราบผู้ลงมือกระทำ

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

24

นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์

ไม่ทราบผู้ลงมือกระทำ

14 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

25

นายชาติชาย ชาเหลา

ตายด้วยกระสุนจากกลุ่มทหาร 

13 พ.ค.

อ่านรายละเอียด

26

นายวสันต์ ภู่ทอง

ไม่ทราบใครเป็นผู้ยิง

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

27

นายสยาม วัฒนนุกุล

วิถีกระสุนปืนมาจากฝั่งทหาร

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

28

นายจรูญ ฉายแม้น

วิถีกระสุนปืนมาจากฝั่งทหาร

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

29

นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ (Mr. Hiroyuki Muramoto)

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

30

นายทศชัย เมฆงามฟ้า

ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง 

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

31

ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ 

ถูกกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่

28 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

32

นายมานะ อาจราญ

ไม่ทราบใครเป็นผู้กระทำ 

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

33

นายเกรียงไกร คำน้อย

วิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร 

10 เม.ย.

อ่านรายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท