Skip to main content
sharethis

23 พ.ค.2563  ศบค.แถลงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,040 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดเสียชีวิตสะสม 56 คน หายดีแล้ว 2,916 คน รักษาตัวใน รพ. 68 คน ยืนยันไม่มีหักหัวคิวโรงแรมทำสถานที่กักตัว | นายกสั่งตรวจสอบดำเนินคดีผู้แอบอ้างกินหัวคิว State Quarantine | ครั้งแรก ทีมวิจัยจุฬาฯ-วช.เริ่มทดสอบวัคซีน COVID-19 ในลิง

23 พ.ค.2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงระบุว่ากล่าวว่ามีกลุ่มคนหักหัวคิวโรงแรมที่จะใช้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยเรียกเงินดังกล่าว หากพบขอให้ผู้ประกอบการแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที

ขณะที่ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน สะสม 3,040 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สะสม 56 คน หายดีแล้ว 2,916 คน รักษาตัวใน รพ. 68 คน โดยผู้ป่วยใหม่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 2 คน เป็น นศ. ชายไทยอายุ 24 ปี กลับจากประเทศอียิปต์ และเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด จ.ชลบุรี ส่วนคนที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 43 ปี อาชีพพนักงานสปา เดินทางกลับมาจากอินเดียและเข้ากักตัวที่ จ.ชลบุรี และ ผู้ป่วยใหม่อีก 1 คน เป็นชายสัญชาติอิตาลี อายุ 49 ปี อาศัย จ.ภูเก็ต มีประวัติเดินทางไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว

สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด ตั้งแต่วันที่ ก.พ. - 23 พ.ค.นี้ พบติดเชื้อทั้งหมด 104 คน เป็นชาย 91 คน หญิง 13 คน ส่วนใหญ่พบติดเชื้อหลังกลับมาจากอินโดนีเซีย 65 คน ปากีสถาน 10 คน อียิปต์ 4 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมในช่วง 14 วัน พบปัจจัยเสี่ยงเดินทางมากจากต่างประเทศ 17 คน สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 คน ไปสถานที่ชุมชน 5 คน อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในที่แออัด 3 คน ค้นหาเชิงรุก 1 คน

พญ.พรรณประภา กล่าววถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 5.3 ล้านคน เสียชีวิต 3.4 แสนคน สหรัฐฯ พบผู้ป่วยใหม่ 2.4 หมื่นคน สะสม 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 9.7 หมื่นคน ส่วนในเอเชียพบอินเดียป่วยเพิ่ม 6.5 พันคน สะสม 1.2 แสนคน ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 73 ของโลก ผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในบราซิลเพิ่มเป็น 20,082 คน โดยผู้ว่าการรัฐส่วนใหญ่ เน้นย้ำให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม และเพิ่มมาตรการของสถานประกอบการต่าง ๆ

นายกฯ สั่งตรวจสอบดำเนินคดีผู้แอบอ้างกินหัวคิว State Quarantine

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย ขบวนการแอบอ้าง เรียกเก็บเงินลักษณะค่าหัวคิว สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่ประสงค์ เสนอใช้สถานที่ สำหรับเป็น State Quarantine ตามที่มีการเสนอข่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ. ศบค ยืนยันจะไม่ปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวอย่างเด็ดขาด และจะใช้กฎหมายลงโทษอย่างเข้มงวด หากพบมีผู้กระทำผิด หรือแอบอ้าง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังประสบกับปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 ไม่ควรที่จะมีผู้ใดมาใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตาม

ครั้งแรก ทีมวิจัยจุฬาฯ-วช.เริ่มทดสอบวัคซีน COVID-19 ในลิง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) คณะนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทดลองวัคซีนต้นแบบป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) ชนิด mRNA ของศูนย์วัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยวันนี้ได้นำวัคซีนมาทดสอบในลิงที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เราวิ่งแข่งเพื่อมวลมนุษยชาติ สิ่งที่ทำมากกว่าวิธีการ คือพัฒนาวัคซีนเอง และร่วมมือในระดับโลก หากต่างประเทศมีวัคซีนและตอบโจทย์ได้ก็จะได้ใช้ก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีโจทย์ให้คณะวิจัยว่าคนไทยต้องมีวัคซีนใช้เอง ทั้งภายใต้กรอบการวิจัยเองและการร่วมมือกันในระดับโลก

นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วัคซีนต้นแบบชนิด mRNA ที่นำทดสอบฉีดในลิง เป็นอีกขั้นตอนสำคัญเพื่อทดสอบในสัตว์ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้หรือไม่ รวมทั้งจะทดสอบว่าหากลิงติดเชื้อแล้วจะสามารถป้องกันเชื้อได้หรือไม่

ขั้นตอนการทดสอบในลิงจะใช้เวลาในการทดลอง 3-6 เดือน โดยใช้งบประมาณวงเงิน 60 ล้านบาท หากผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะทดสอบในคน ซึ่งการทดสอบในคนจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ฉีดในจำนวนคนที่ไม่มากแล้วตรวจสอบว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะวัคซีนแต่ละแบบมีความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยี

“ทั่วโลกวิจัยและพัฒนาวัคซีนเกือบ 200 แบบ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นสัตว์ทดลองในสัตว์ขนาดเล็ก รวมทั้งของไทยที่มีการพัฒนาวัคซีน 5 แบบ และยังไม่แน่ใจว่าแต่ละแบบจะสำเร็จหรือไม่ และเมื่อใด แต่คาดว่าทั่วโลกหากสำเร็จในทุกขั้นตอนอาจจะมีวัคซีนออกมาใช้ใน 12-18 เดือน”

ด้าน ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์ไพรเมท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเวลา 07.39 น.ได้ทดลองฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มแรกในลิงทดลองแล้ว จากนั้นจะฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ในอีก 1 เดือนข้างหน้า และอีก 1 เข็ม ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการเจาะเลือดดูทุกระยะของการทดสอบวัคซีนต้นแบบ เพื่อตรวจสอบว่าลิงจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหรือไม่ โดยมีการทดลองวัคซีนในลิง 10 ตัว ซึ่ง 5 ตัวใช้โดสต่ำ อีก 5 ตัวโดสสูง ส่วนอีก 3 ตัว เป็นตัวควบคุมเทียบกับการทดสอบวัคซีน โดยใช้ลิงตัวเมียทั้งหมด อายุ 4-6 ปี เทียบเท่ากับคนอายุ 12-18 ปี

เหตุผลที่ต้องทดสอบในลิงแสม เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับคน โดยต้องการหาคำตอบใน 4 เรื่องคือ ความเป็นพิษ ความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีน

ศ.ดร.สุจินดา ยอมรับว่ามีความเครียด แม้ว่าจะเคยเจาะเลือดลิงมาเป็น 1,000 ตัว เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองวัคซีน COVID-19 ซึ่งต้องลุ้นว่าจะผ้านขั่นตอนนี้ไปสู่การทดสอบในคนได้หรือไม่

สำหรับศูนย์ไพรเมทแห่งชาติ ในปี 2563 มีการเลี้ยงลิงแสม จำนวน 406 ตัว เพื่อใช้ในการทดสอบวัคซีนโรคซิก้า และไวรัสไข้เลือดออก และไวรัส COVID-19 ที่เริ่มทดสอบวันแรก

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | TNN

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net