Skip to main content
sharethis

การปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐมีข่าวการทุจริตเป็นระยะ เช่น การรีดไถเพื่อไม่ตั้งข้อหา ผู้ต้องหาบางรายก็เสนอผลประโยชน์เพื่อแลกกับอิสรภาพ เป็นปัญหาของกฎหมาย ตัวบุคคล หรือทั้งสองอย่าง ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (6): ผู้หญิงในคดียาเสพติด ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’, 27 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (7): บนเส้นทางสู่โลกหลังกำแพง, 29 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (8): ยา คน คุก และสาบสางที่ล้างไม่ออก, 1 มิ.ย. 63

การทุจริตคอร์รัปชั่นมีทุกแวดวง การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐก็เช่นกัน ในคดียาเสพติดซึ่งมีโทษสูง การเรียกรับเงินของเจ้าหน้าที่หรือการให้สินบนเจ้าหน้าที่แลกกับการไม่ดำเนินคดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

‘สืบ บก.น.5 รวบอดีตผบ.หมู่ 191 นำ 2 สมุนอุ้มยัดยา รีดเงินเหยื่อ’
‘ผู้การฯปากน้ำ เซ็นคำสั่งย้ายขาด ด.ต.-ส.ต.ต. สภ.คลองด่าน ตั้งแก๊งยัดยา’
‘สาวโผล่อ้างเป็นเหยื่อ "ตำรวจยัดยา" โดนซ้อมให้สารภาพ ทนทุกข์ 4 ปีในคุก’
เรามักได้ยินข่าวคราวทำนองนี้เป็นระยะตามหน้าสื่อ และในทางตรงกันข้าม...
‘จับไอ้แจ๊ค โพธิ์ดำ เอเย่นต์ยาบ้า แถมขอติดสินบนปล่อยตัวที่ 7 หมื่น’
‘รองมิสทีนฯ ดิ้นหนีคุกปฏิเสธยันเตคดีติดสินบนเจ้าพนักงาน 3 แสน เพื่อให้แฟนรอดคุกคดีค้ายาบ้า’
‘อีกกระทง! แก๊งค้ายายัดเงิน ตร.แลกปล่อยตัว เจอซ้อนแผนจับเพิ่มอีกคดีติดสินบน’

ยืนยันได้ว่ามีเจ้าหน้าที่นอกแถวและผู้ต้องหาที่ใช้เงินเคลียร์คดีอยู่จริง

“ก็เลยรู้สึกว่าผู้ใช้ยาเป็นเหยื่อของกฎหมาย”

นายเอเล่าเหตุการณ์เมื่อเขาย้ายพื้นที่ทำงานจากภาคใต้มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ผมฟังว่า วันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ใช้ยาเพื่อให้ข้อมูลความรู้การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด

“มีวีโก้สีดำมา 4 คนอาวุธครบมือ ตำรวจนอกเครื่องแบบ วันนั้นผมลงพื้นที่หมู่บ้านหนึ่ง ออกมาจากหมู่บ้านปุ๊บเขาก็มาดักเพราะเขารู้ว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแน่นอน เขาก็จู่โจมเข้ามาเลยครับ ให้ผมจอดรถมอเตอร์ไซค์ ผมก็ทำอะไรไม่ได้ก็ยกมือให้เขาตรวจ ผมบอกพี่ ผมไม่มีอะไร เขาก็ตรวจ ไม่มีอะไรก็ขอตรวจฉี่ก็เจอครับเพราะผมเป็นคนใช้ยา คราวนี้เขาบอกว่าโอเคขึ้นรถ

“ผมก็ต่อรองกับเขาว่าพี่ผมเป็นคนทำงานนะ มาให้ข้อมูลเรื่องการลดอันตรายจากยาเสพติดกับเพื่อนผู้ใช้ยา เขาก็บอกเหมือนเดิมว่าคุณเป็นเจ้าหน้าที่แล้วมายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ยังไง ถ้าเจ้านายรู้เขาก็ไล่ออกอีกผมก็พยายามอธิบายว่าองค์กรผมทำงานกับผู้ใช้ยา ให้โอกาสผู้ใช้ยาเข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาตัวเอง และช่วยเหลือเพื่อนผู้ใช้ยาที่ทุกข์ยากลำบากเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารทั้งเรื่องสุขภาพและอุปกรณ์สะอาดต่างๆ เขาก็ไม่ฟัง แล้วบอกว่า อยากรอดไหม ผมถามว่าผมต้องทำยังไงเขาว่าเขาต้องการหมื่นหนึ่ง ผมก็พยายามต่อรองว่าพี่ผมเงินเดือนไม่เท่าไหร่เอง ผมขอ 6,000 ได้ไหมครับ ผมพอจะหาหยิบยืมได้ แต่จริงๆ ผมไม่มีในตัวหรอก มีอยู่ร้อยกว่าบาท หัวหน้าชุดก็หันมาแล้วบอกว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน 8,000 บาทไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องต่อรองอะไรแล้วผมก็คิดอยู่ว่าจะโทรหาใครดีทางบ้านก็ไม่มีแน่นอนและก็คงรู้สึกแย่แน่ๆ ถ้าลูกโดนจับแบบนี้คือไม่อยากให้ทางบ้านรู้ ผมก็เลยโทรหาเพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ เพื่อนก็โอนให้ทันที เขายึดโทรศัพท์ผมอยู่พอเงินโอนเข้า ข้อความมันก็ขึ้น เขาพูดว่าโอ้โหเพื่อนมึงเร็วขนาดนี้เลยเหรอ”

นายเอไม่ได้พกบัตรเอทีเอ็มมาด้วย ตำรวจนอกเครื่องแบบอาสาพาไปส่งที่บ้าน ก่อนจะพาไปกดเงิน

“กดเสร็จปุ๊บผมก็ถือเงิน 8,000 ยื่นให้เขา เขาก็ไม่กล้ารับนะ เขาบอกให้ไปวางตรงฝาเปิดรถ ผมก็วางไว้แล้วเขาก็บอกว่ามีเงินค่าปรับรถมอเตอร์ไซค์ไหม ร้อยหนึ่ง ไปที่ สน. เพราะว่าเขายึดรถมอเตอร์ไซค์ผม ให้ผมเสียค่าปรับเอารถคืนข้อหาไม่ได้พกใบอนุญาตขับขี่ ก็ทำเป็นคดีว่าไม่ได้พกใบอนุญาตขับขี่เรื่องก็จบ”

เขาพูดอย่างคับข้องใจว่า “ผมรู้สึกเจ็บใจมาก ทำไมโดนกระทำเยอะจังเลย ก็เลยรู้สึกว่าผู้ใช้ยาเป็นเหยื่อของกฎหมายและนโยบายที่ออกมา”

จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (ที่มา: แฟ้มภาพ/สยามรัฐ)

จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โต้แย้งและให้ข้อมูลว่าบางครั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ใช้องค์กรเอ็นจีโอบังหน้าเพื่อเข้าถึงยา “ถ้าเราฟังข้อมูลด้านเดียว เราจะฟังอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราฟังอีกด้านหนึ่งจะพบว่าไม่ใช่” 

แต่เขายอมรับเช่นกันว่ามีเจ้าหน้าที่นอกแถวจริง

“มันมีบ้าง ทำให้คดียาเสพติดมีปัญหาจนทุกวันนี้ เพราะเราไม่สามารถให้ความไว้วางใจเจ้าพนักงานได้ทุกกรณี ทำให้ศาลต้องปล่อยผู้ต้องหาที่ทำความผิดไปเยอะ เพราะไม่เชื่อคำให้การของเจ้าพนักงาน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่น่าเชื่อถือศาลจะยกประโยชน์หมด เพราะกลัวจะเป็นการแกล้งกัน แต่ถ้าเป็นประเทศอื่นที่เจ้าพนักงานสุจริตร้อยเปอร์เซ็นต์โอกาสที่จะยกฟ้องน้อยมาก แต่บ้านเราการที่เจ้าพนักงานส่วนหนึ่งทำตัวไม่ดีจนเป็นที่เลื่องลือทำให้เวลาพิจารณาคดีศาลต้องระวังมาก ถ้ามีข้อสงสัยก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยทำให้ผู้ต้องหาหลุดไปเยอะ”

ตรวจฉี่

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ถูกด่านตำรวจให้ตรวจปัสสาวะ เล่าว่าผลออกมาเป็นบวก เจ้าหน้าที่จึงพาไปโรงพักและให้เซ็นเอกสารว่าไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัด แต่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการบังคับบำบัด แหล่งข่าวรายนี้ยืนยันให้ส่งปัสสาวะไปตรวจที่โรงพยาบาล เนื่องจากการตรวจปัสสาวะแล้วเจอผลบวกไม่ได้บ่งชี้ว่าผู้นั้นใช้สารเสพติด เพราะในยานอนหลับหรือยาจิตเวชบางตัวก็ส่งผลให้ปัสสาวะมีผลบวกได้

ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายซึ่งเจอเหตุการณ์ทำนองเดียวกันยอมเซ็นรับสารภาพ ถูกดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โดยระหว่างรอตรวจพิสูจน์ถูกกักตัวอยู่ในเรือนจำ

“เรื่องตรวจฉี่ เราคิดว่าปัญญาอ่อนมาก มันไม่ใช่ทางที่แก้ปัญหาคนใช้ยาเลย มันเป็นวิธีหากินของตำรวจชัดๆเพราะว่าตรวจฉี่มาแล้วยังไง มีเงินก็กลับบ้าน ตรวจทำไม เดือนที่แล้วเพื่อนเราโดนกัญชาสองคน ก็โดน 30,000 บาท มันอยู่ที่ที่ตรวจที่ตรวจหาเมท หากัญชา หาเฮโรอีน หาเมทาโดน แต่บาง สน. มีชุดแบบ 4 หลุมเลย เอาฉี่เราใส่เข้าไปทั้ง 4 หลุม แล้วแต่อันไหนขึ้น” ปากคำของแหล่งข่าวอีกราย

นายตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด บอกว่า การตรวจปัสสาวะเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่หากบุคคลมีพฤติการณ์น่าสงสัย ผู้ที่ถูกขอตรวจสามารถปัสสาวะตรงนั้นหรือไปที่โรงพยาบาลก็ได้ ถือเป็นสิทธิ์ แต่ต้องยอมรับว่าต้องเสียเวลา แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้ ทว่า ส่วนใหญ่เลือกความเร็วและสะดวก

“มันไม่ใช่การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องไม่เกินเท่าไหร่ แต่การตรวจสารยาเสพติดประเด็นคือคุณมีสารเสพติดในร่างกายหรือเปล่า ถ้าตรวจแล้วเจอเครื่องตรวจจะมีมาตรฐานว่า 500 นาโนหรือ 1,000 นาโนอันนั้นไม่เกี่ยว ความคิดเห็นส่วนตัวผมนะ เพราะไม่มีกฎหมายตัวไหนระบุว่าชุดตรวจจะต้องมีกี่นาโน การตรวจของตำรวจเป็นการตรวจเบื้องต้น สุดท้ายจะดำเนินคดีหรือไม่ต้องส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลอยู่ดี มาตรฐานของโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันใช่ไหม เพราะเวลาแจ้งข้อกล่าวหาเรานับ ณ เวลาที่ผลตรวจของโรงพยาบาลออกมา ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาที่ด่าน

“ส่วนใหญ่ถ้าเขาอยากไปตรวจที่โรงพยาบาล ตำรวจก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่จะบอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ไม่ได้ มันก็มีพวกที่พิสดารหมายถึงเจตนาทุจริตแต่แรก ตำรวจสองแสนกว่านาย ผมไม่กล้ารับประกันแทนใคร แต่ในทางปฏิบัติที่ผมทำมา ถ้าใครสงสัยเรื่องปัสสาวะตัวเอง เรายินดีพาไปตรวจที่โรงพยาบาล นั่งรถไปด้วย ออกค่าตรวจให้พร้อม”

วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การเรียกตัวผู้เสพไปช่วยราชการกรณีทำยอดไม่ได้ตามเป้าเป็นอีกเรื่องราวที่ผมมักได้ยินเสมอ นายตำรวจคนเดิมบอกว่า ไม่มี ส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าคนไหนเสพยาแล้วนำตัวมา แต่ประเภทเรียกตัวมาแล้วไปส่งบำบัด ไม่มี อีกรูปแบบหนึ่งเป็นผู้เสพที่สามารถซื้อยาได้จากหลายเจ้า คนกลุ่มนี้เจ้าหน้าที่จะให้เป็นผู้ล่อซื้อและได้รับการปล่อยตัว เพราะถือเป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่ เขายอมรับว่าถ้าไม่มีพวกนี้ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันไม่ได้

“ผมใช้ระบบเลี้ยงสาย ไม่ใช้แบบเอาตัวเข้าไปแฝง คนที่เข้าไปเป็นสายมันบอบช้ำเยอะ ได้ไม่คุ้มเสีย มันต้องเสพด้วย คนเล่นยากับคนไม่เล่นยาบุคลิกท่าทางมันต่างกันเยอะ”

นายตำรวจรายนี้ เล่าวิธีทำงานอีกว่า ในฐานะตำรวจนอกเครื่องแบบการจับใครในข้อหาสำคัญแบบนี้ต้องมีการสืบสวนมาก่อน แล้วลงไว้เป็นหลักฐานว่ามีการสืบสวนมา เป็นคนคนนี้ อายุเท่านี้ ใช้เบอร์โทรนี้ มีพฤติการณ์จำหน่ายยาบ้าเม็ดละเท่านี้ๆ โดยให้สายทำการล่อซื้อหลายครั้ง ทุกครั้งที่ซื้อมาได้จะนำไปลงบันทึกประจำวัน ยาเสพติดที่ซื้อมาได้นำส่งให้พนักงานสอบสวนเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อรอจังหวะล่อซื้อเพื่อจับกุม

“ไม่ค่อยมีหรอกที่ออกตรวจแล้วไปค้นเจอ มันสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน ถ้าเราจะจับเขา ต้องชัดว่าเขามีพฤติการณ์จำหน่ายจริง อาจจะมีอีกกรณีหนึ่งคือรู้ว่าคนนี้ขาย แต่ไม่ขายให้สายของเรา แต่ลูกค้าเขารู้ว่าอยู่ไหน เก็บยาบ้าไว้ที่ไหน เราก็เข้าค้นที่บ้าน ถ้ารู้ว่าอยู่บ้านโดยใช้อำนาจของพนักงาน ป.ป.ส. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) เพราะบางทีไม่สามารถล่อซื้อได้เนื่องจากมันไม่ขายให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการสืบสวนมาก่อนหน้านี้ ป้องกันตัวตำรวจเองด้วย

“ในการสืบสวนจริงๆ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ใช่ลงไปเจอผู้ต้องสงสัยแล้วตรวจ ผมจะต้องมีข้อมูลหมดแล้ว ถ้าจะจับใคร ไม่มีแบบโนเนมมายืนอยู่แล้วโดนพวกผมจับ เท่าที่ทำมาไม่เคย”

ผมถามว่า ถ้าผู้เสพมียาบ้า 20 เม็ดสำหรับเสพเอง แล้วถูกจับกุม คนคนนี้จะถูกตั้งข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย?

“ยาบ้าถูกๆ ตอนนี้เม็ดละ 60 บาท ราคาส่งคือต้องซื้อ 2,000 เม็ดถึงจะได้เม็ดละ 60 บาท” เขาอธิบาย “แต่ถ้าคุณมี 20 เม็ดคุณน่าจะต้องซื้อมาในราคา 2,000 บาท ถามว่าคนที่มีเงินซื้อยาบ้าครั้งละ 20 เม็ดแล้วมาเก็บไว้เพื่อเสพส่วนใหญ่จะเก็บไว้ที่บ้านเพื่อเสพ จะไม่ถึงร่อนไปร่อนมาแน่นอน จากประสบการณ์การทำงาน การถือยาบ้า 20 เม็ดร่อนไปร่อนมามีเหตุผลเดียวคือจะไปส่งขายให้กับลูกค้า เราก็เอาจากประสบการณ์มาสันนิษฐาน ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ไปพิสูจน์กัน เพราะในกระบวนการยุติธรรมศาลไม่ใช่พวกเดียวกับตำรวจ ตำรวจเป็นผู้กล่าวหาตามข้อกฎหมายและสถานการณ์ที่เราพิจารณาแล้วว่าเป็นอย่างนี้ ส่วนผู้ต้องหาจะหาหลักฐานมาหักล้างก็เป็นสิทธิ์ของเขาว่าเขามีไว้เสพจริงๆ”

คนขนยาและการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน?

อีกกรณีหนึ่งที่มีปัญหาทั้งเรื่องการทุจริต ซึ่งจิตรนราได้ต้องข้อสังเกตไว้ใน คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง และในแง่ของการลงโทษให้ได้สัดส่วนคือ การขน เนื่องจากการขนไม่อยู่ในฐานความผิดของกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ผู้รับจ้างขนจึงถูกตั้งข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะการขนแต่ละครั้งมียาเสพติดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน

ทว่า บางครั้งผู้ขนไม่รู้ว่ามียาเสพติดอยู่ในรถ พอดีกับมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือทางบ้าน หรือบางกรณีรู้ว่าน่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะค่าจ้างสูง แต่ไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด และแน่นอนว่าต้องมีคนที่รับรู้ว่าตนกำลังขนยาเสพติด ซึ่งต้องแยกอีกระหว่างผู้ที่ทำเป็นประจำกับผู้ที่ตั้งใจทำครั้งเดียวเพื่อแลกกับเงิน (แต่หลังจากนั้นจะทำอีกหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต) ประเด็นมีอยู่ว่าผู้ขนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จำหน่ายเสมอไป

“ใช่ ในความเป็นจริงเขาคือผู้ขน แต่การขนมันไม่ใช่ความผิดที่เป็นสากล ฐานความผิดเหล่านี้ไม่ใช่เราคนเดียวเป็นฝ่ายกำหนด มันเป็นความผิดที่อยู่ในข้อตกลงว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยลำพังการขนไม่ได้ผิดกฎหมายโดยฐานความผิด แต่เป็นความผิดเพราะการขนนำมาซึ่งการครอบครอง ขนคือการครอบครองจึงเป็นความผิดฐานครอบครอง”

จิตรนรายอมรับว่า มีกรณีที่ผู้รับจ้างขนไม่รู้ว่าขนอะไร แต่รู้ว่าผิดกฎหมายเพราะค่าจ้างสูง ตัวผู้บงการก็ไม่บอก  เพียงแต่ให้กุญแจรถและบอกสถานที่จอด แล้วขับไปยังที่หมาย ซึ่งจะมีคนสะกดรอยตามดู พอถูกจับผู้ขนจึงรู้ว่าเป็นยาเสพติด

“แต่คนพวกนี้พร้อมเสี่ยงจะขนอะไรไม่รู้ ขอเอาเงินแสนไว้ก่อน การขนยาเสพติดเป็นแสนทุกครั้งไม่มีราคาถูกกว่านี้

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งของกฎหมายไทยคือการไม่ใช้หลักการปรับโทษให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละคน กฎหมายและแนวยี่ต๊อกของศาลที่ใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดดูจากปริมาณยาเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงพฤติการณ์หรือความชั่วร้ายของแต่ละคนว่าจำเลยเป็นผู้ขน ผู้เสพ หรือผู้ค้า

“มันเกิดขึ้น แต่มันไม่มี แล้วจะตรวจสอบอะไร”

‘รายงานการทบทวนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย’ จัดทำโดยแผนงานภาควิชาการสารเสพติด (ภวส.) คณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด เมื่อปี 2557 ที่เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ตุลาคม 2554-สิงหาคม 2555 พบว่ามีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 366 ราย มีการตรวจสอบ จับกุม ดำเนินคดีไป 132 ราย ประกอบด้วยตำรวจ 25 ราย พลทหาร 25 ราย ทหาร 17 ราย ข้าราชการพลเรือน 6 ราย ผู้บริหารท้องถิ่น 10 ราย สมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น 7 ราย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 4 ราย ครู 1 ราย ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ 4 ราย

ยังมีการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมเจ้าหน้าที่อีกไม่น้อยกว่า 200 ราย ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ แบ่งเป็นตำรวจ 104 ราย กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 59 ราย ผู้บริหาร/สมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น 46 ราย 
ประเด็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ จิตรนรา กล่าวว่าปัญหาการทุจริตไม่ใช่ปัญหาในมุมของกฎหมาย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกกรณี ดังนั้น ในมุมของคนทำงานเรื่องนี้จึงมองว่าเป็นปัญหาของคน ไม่ใช่ปัญหาของระบบ ไม่ว่าจะออกกฎหมายอะไรก็มีการทุจริตได้ทั้งนั้น

“การทุจริตยังไงก็แก้ไม่ได้ด้วยข้อกฎหมายเพราะเป็นพฤติกรรมของคน”

เมื่อผมถามนายตำรวจว่า ควรมีกลไกการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่ เขาตอบว่า

“ถามว่าควรมีหรือไม่ แต่ผมยังไม่รู้ว่ามันเป็นกลไกอะไร ตรวจสอบอะไร จริงๆ มันมีกลไกการตรวจสอบของมันอยู่แล้ว ที่รู้กันว่ามีการยัดยา มีการเรียกรับเงิน มันก็เกิดจากการที่เป็นคดีขึ้นมาถึงได้รู้ แล้วเบื้องหลังที่ไม่รู้อีกล่ะ ต่อให้คุณมีกลไกดีมากขนาดไหน มันจะตรวจสอบอะไรได้ ถ้ามันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบ มันเกิดขึ้นจริง แต่มันไม่มี ไม่มีคนร้อง ไม่มีคนรับ ไม่มีคนให้ แล้วถามว่ากลไกจะตรวจสอบอะไร มันเกิดขึ้น แต่มันไม่มี แล้วจะตรวจสอบอะไร

“คำว่ากลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่กลไกการตรวจสอบ ผมกลับมองว่าเป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้การทำงานมากขึ้น แต่ต่อให้มีความซับซ้อนอะไรก็แล้วแต่ ในฐานะผู้ใช้กฎหมายมันก็มีช่อง”

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net