Skip to main content
sharethis

ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า แต่การช่วยเหลือของรัฐไม่ถ้วนหน้า ทำให้คนตกหล่นถึงร้อยละ 50 จากการสำรวจของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 'เดชรัต สุขกำเนิด' จะมาบอกเล่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นและบำนาญแห่งชาติเป็นจริงได้หรือไม่

  • ประชาชนร้อยละ 50 เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือของรัฐ
  • โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงมากต่อทุกกลุ่มรายได้ คนกว่าร้อยละ 50 รายได้ลดลงตั้งแต่ร้อยละ 50-75 ร้อยละ 19 ของคนที่มีกันชนทางการเงินน้อยต้องเริ่มกู้เงินนอกระบบ
  • ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า การที่ประชาชนเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือสำคัญกว่ากรณีผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่ได้รับความช่วยเหลือ
  • การเยียวยาที่จะตามมาควรส่งเงินตรงไปยังประชาชนโดยไม่ผ่านหน่วยงานราชการ
  • แนวคิดบำนาญแห่งชาติมีความเป็นไปได้ รัฐต้องหารายได้เพิ่มและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เดชรัต สุขกำเนิด (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

ไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ทั้งต่อบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับครัวเรือน แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมา แต่ก็ดำเนินไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง ความเปราะบางที่ดำรงอยู่ก่อนแล้วในสังคมไทยจึงกะเทาะแตกหักออกให้เห็นบาดแผล

เดิมทีเรามีความเชื่อว่าผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งในที่นี้เจาะจงที่ระดับ 70,000 บาท น่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ‘แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19’ ระหว่างวันที่ 14-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,998 คน กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (Welfare Watch Network: WWN) กลับไม่เป็นเช่นนั้น

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการ ที่ทำการศึกษาข้อมูลจากการสำรวจนี้ มองว่านี่คือจุดเปลี่ยนที่มีต่อแนวคิดเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น?

ภาพ ประชาชนเดินทางมาร้องเรียน และขอให้ช่วยแก้ปัญหา กรณีการขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ณ ลานอเนกประสงค์ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 (ที่มา: กระทรวงการคลัง)

คน 50 % เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของรัฐ

ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดยังเข้าถึงสวัสดิการการช่วยเหลือได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ หรือเงินเยียวยา 5,000 บาท เดชรัตตั้งข้อสังเกตว่าการที่ประชาชนกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงเป็นเรื่องของกระบวนการคัดกรอง ที่มีประเด็นตั้งแต่ว่าบางคนไม่แน่ใจว่าตนเองเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ บางคนเข้าขั้นตอนไปแล้ว แต่ตกหล่นอยู่ในกระบวนการขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งแล้วไม่ได้ดำเนินการต่อจึงไม่ได้รับเงินเยียวยา หรือบางคนอยู่ระหว่างรอความช่วยเหลือ แต่ข้อค้นพบที่สำคัญมีอยู่ว่า

“ความเสี่ยงหรือความเปราะบางของครัวเรือนไทย ถ้ามองในแง่ตัวเลขทางการเงินหรือกันชนทางการเงิน มันมีมาก่อนหน้าโควิดแล้ว พูดง่ายๆ คือตอนมกราคม 2563 เรารู้อยู่แล้วว่าเรามีความเสี่ยงเยอะ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของศูนย์วิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์หรือในมุมมองของคนตอบแบบสอบถาม เพียงแต่ว่าในเดือนมกราคมเรานึกไม่ออกว่าเราจะเจอภัยอะไรหรือวิกฤตอะไร

“พอเรามาเจอโควิดผลกระทบมันรุนแรงมากในด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขหนึ่งที่สำคัญก็คือรายได้ที่ลดลงไปตั้งแต่ 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเรียกว่าเกือบหมดมีอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่รายได้ลดลง 50 ถึง 75 เปอร์เซ็นต์มีประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ 2 กลุ่มนี้รวมกันก็ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้วที่รายได้หายไปครึ่งหนึ่งของรายได้เดิมที่เคยได้ ซึ่งตรงนี้ก็ไปเจอกับปัญหาเรื่องกันชนทางการเงินที่มีจำกัด ตัวเลขกันชนทางการเงินที่ผมเสนอไว้มันก็มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าแม้กระทั่งครัวเรือนที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาท ก็ไม่ได้มีกันชนทางการเงินที่ดีนักคือมีกันชนทางการเงินประมาณไม่เกิน 3 เดือน พอรายได้ของเขาหายไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าและเจอต่อเนื่องกันมา 2 เดือนกว่าก็เลยเกิดปัญหาขึ้น นี่คือข้อค้นพบที่สำคัญเพราะฉะนั้นผลกระทบมันรุนแรงมาก”

กันชนทางการเงินในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินออมเผื่อฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังรวมถึงทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย ซึ่งการที่ครัวเรือนไทยมีกันชนทางการเงินน้อยเกิดจากการออมน้อย อีกด้านหนึ่งก็เกิดจากการกู้จนเต็มวงเงิน เพราะหากยึดหลักเกณฑ์อัตราการชำระหนี้ต่อรายได้อย่างเคร่งครัดย่อมทำให้กันชนทางการเงินมีเหลืออยู่โดยปริยาย

“สมมติเรากู้ได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ตรงนี้ก็เป็นรายจ่ายส่วนหนึ่งที่น้อยลงไปสำหรับเดือนถัดไป แต่ถ้าระบบอนุญาตให้คนกู้เงินเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ มันก็จะทำให้รายจ่ายของเขาที่ต้องจ่ายแน่ๆ เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หรือถ้ามีวิธีการลดรายจ่ายอื่นๆ เราก็อาจมีกันชนทางการเงินเยอะขึ้นได้ แม้ว่าจะมีอัตราหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนใกล้เคียงกัน ผมคิดว่ากันชนทางการเงินคือตัวที่บอกชัดเจนว่า เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของตนเองได้นานเท่าไหร่”

ทุกระดับรายได้ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก

คำถามที่ตามมาก็คือกลุ่มรายได้ที่ได้รับผลกระทบพยายามทำอะไรบ้างเพื่อให้ตนเองอยู่รอด ผลการสำรวจพบว่ามีตั้งแต่การลดรายจ่าย การหารายได้เสริม หรือแม้กระทั่งขอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่สิ่งที่พบคือมันก็ยังไม่พอที่จะรับมือ ในกลุ่มคนที่มีกันชนทางการเงินน้อยกว่าเริ่มเกิดปัญหาอย่างชัดเจน เช่น ประมาณ 1 ใน 3 ของคนที่มีกันชนน้อยเริ่มขายหรือจำนำทรัพย์สิน หรือประมาณร้อยละ 19 ของคนที่มีกันชนทางการเงินน้อยเริ่มกู้เงินนอกระบบ ในขณะที่คนที่มีกันชนทางการเงินมากกว่ายังพอทนอยู่ได้

“ถามว่าแล้วการช่วยเหลือของภาครัฐที่ล่าช้าเป็นเพราะอะไร ส่วนหนึ่งก็คือเพราะรัฐบาลพยายามจะกรองไม่ให้คนที่ไม่ได้รับผลกระทบไปขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งก็น่าจะเป็นเจตนาที่ดี คือพยายามใช้เงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ปรากฏว่าความพยายามนี้มันส่งผลให้เกิดการเยียวยาที่ล่าช้า เลยเกิดผลที่คนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้

“ในขณะที่คนที่รอดการกรองและได้รับความช่วยเหลือมีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ คือคนที่ได้รับผลกระทบน้อย แต่ได้รับความช่วยเหลือมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองของคนกลุ่มนี้ มันจึงเหมือนว่าเรากังวลกับคนกลุ่มนี้มาก ผลปรากฏว่าเราใช้เวลาในการคัดกรอง จนมันไปกระทบกับคนอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่า”

เดชรัต แบ่งผลกระทบเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่าลักษณะของผลกระทบ เช่น การถูกเลิกจ้าง โรงงานถูกปิด ซึ่งผลกระทบลักษณะนี้มีอัตราส่วนนี้ใกล้เคียงกันมาก

ส่วนที่ 2 ลักษณะของรายได้ แน่นอนว่าคนที่จนที่สุดได้รับเดือดร้อนมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เล็กน้อย ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท เดือดร้อนน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์รุนแรงเหมือนกัน เพราะในกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 70,000 บาท ต้องประสบกับภาวะรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งถึงร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าสูง

ส่วนที่ 3 คือความสามารถในการรับมือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมีอัตราการขายทรัพย์สินหรืออัตราการกู้เงินมากกว่าคนที่มีกันชนทางการเงินมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น การกู้เงินนอกระบบ คนที่มีกันชนทางการเงิน 6 เดือนถึง 1 ปี มีการกู้เงินนอกระบบประมาณร้อยละ 3 ส่วนคนที่มีกันชนทางการเงิน 1 เดือน มีการกู้เงินนอกระบบถึงร้อยละ 19

“จริงๆ มันน่าสนใจตั้งแต่กันชนทางการเงิน คือขนาดรายได้ 30,000 บาทถึง 50,000 บาทกันชนทางการเงินยังปริ่มน้ำไม่ต่างกับคนรายได้ 10,000 บาท ถ้าดูตัวเลขกันชนทางการเงินของคนรายได้ 70,000 บาทก็พอไปได้ อันนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้แม้ว่ารายได้ของเขาจะลดลงไปครึ่งหนึ่งเหลืออยู่ 30,000 กว่าบาท แต่เขาก็ยังไม่จำเป็นต้องขาย หรือจำนำทรัพย์สิน หรือกู้เงินนอกระบบ ยังไม่นับรวมว่าเขาก็กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้เยอะด้วย มันกลายเป็นว่าความแตกต่างของคนที่มีรายได้เยอะๆ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบ แต่เขายังมีทางเลือกอยู่ ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเข้าถึงทางเลือกได้น้อยกว่ามาก”

ข้อค้นพบประการต่อมา พบว่า ผลกระทบมีความรุนแรงมาก แม้ผู้คนจะพยายามรับมือ แต่ก็รับมือไม่ไหว ทำให้นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าในช่วงจากนี้ต่อไปอีกประมาณ 3-6 เดือน คือตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคมจนถึงปลายปีจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หมายความว่าถ้าการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐไปไม่ถึง ก็อาจนำไปสู่การขายหรือจำนำทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สำรวจกังวล

ภาพ ประชาชนเดินทางมาร้องเรียน และขอให้ช่วยแก้ปัญหา กรณีการขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ณ ลานอเนกประสงค์ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม 6 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 (ที่มา: กระทรวงการคลัง)

ผลสำรวจแสดงชัด ‘ช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าดีกว่า’

จากการสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจต่อการช่วยเหลือของรัฐต่ำ ซึ่งเดชรัตแสดงทัศนะว่าเป็นเพราะคนรู้สึกว่าการช่วยเหลือล่าช้า

“แล้วก็มีโจทย์ข้อหนึ่งที่สำคัญมาก เราถามคำถามในลักษณะที่ว่าอะไรเป็นปัญหามากกว่ากันระหว่างคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่กลับได้รับความช่วยเหลือ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออันนี้ชัดเจนว่าคนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ตอบมาเลยว่าคนที่ตกหล่นสำคัญกว่า

“ผมคิดว่าจะช่วยให้สังคมไทยมองมุมใหม่ เมื่อเช้าก็มีสื่อถามผมมาเหมือนกันว่าการที่รัฐบาลมีกระบวนการคัดกรองเพราะกลัวว่าถ้าจ่ายหมดไปทีเดียวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ ผมก็คิดว่ามันมีส่วนเป็นไปได้ แต่พอจะคัดกรอง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดพลาดของรัฐบาลเพราะเราต้องตั้งคำถามแรกแล้วว่าประสิทธิผลของการคัดกรองเราจะดีแค่ไหน สิ่งแรกที่รัฐบาลใช้คือฐานข้อมูลซึ่งรัฐบาลอาจจะคุยว่าเป็น AI แต่จริงๆ มันแค่ระดับฐานข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลที่รัฐบาลมีมันไม่โอเค มันจึงเกิดปัญหาตกหล่น สุดท้ายแล้วเรียกว่ารัฐบาลเหมือนจะเสียเงินเท่าเดิมกับที่คิดไว้ แต่ในทางกลับกันกลายเป็นว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น”

จุดนี้เองที่เดชรัตมองว่า คนไทยเปลี่ยนความเชื่อแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่เปลี่ยน หมายความว่า ณ นาทีนี้ ผู้คนเชื่อว่าการช่วยเหลือที่ไม่ครบถ้วนมีความสำคัญกว่าการที่คนได้รับเงินทั้งที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจนี้เห็นชัด แต่รัฐบาลยังเปลี่ยนท่าทีไม่ได้

ส่งเงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ผ่านราชการ

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ในช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ รัฐบาลควรทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน การสำรวจนี้ทำให้เห็นอีกเช่นกันว่าการที่รัฐบาลลงเงินผ่านสถาบันการเงินนั้น ครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบกลับเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินได้ดีกว่า ทำให้เดชรัตไม่แน่ใจว่าการใช้เงินผ่านหน่วยงานรัฐจะสามารถไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบสูงได้หรือไม่

“อันนี้ก็เป็นเหตุให้เราเสนอเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า พูดง่ายๆ ก็คือให้โฟลว์ของเงินมันกลับทางกัน พูดภาษาเศรษฐศาสตร์ที่รัฐพยายามจะผลักเงินลงไปเรียกว่า supply side คือผ่านไปยังหน่วยราชการและค่อยๆ หาไป จนลงไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่เราอยากให้กระตุ้นไปยังฝั่งที่ได้รับผลกระทบเลย เมื่อผู้ได้รับผลกระทบได้รับเงินแล้วก็จะค่อยๆ หาว่าตัวเองต้องการใช้เงินอย่างไร เรียกว่าเป็นฝั่ง demand Side และจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงมากกว่า”

ดังนั้น ถ้ามีเงินจำกัด เงินก้อนนี้ต้องเลือกระหว่างส่งตรงไปยังประชาชนกับผ่านช่องทางระบบราชการ หากเลือกอย่างหลังโดยไม่ระบุว่ามีข้อดีกว่าอย่างไรในเชิงประจักษ์ เดชรัตเห็นว่าจุดนี้จะเป็นปัญหา

เมื่อถามย้ำว่า ต้องการให้โอนเงินเข้าบัญชีของประชาชนโดยตรงโดยไม่เลือกระดับรายได้ใช่หรือไม่? เดชรัตตอบว่า

“อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราคุยกัน ก็ปรากฏว่าประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางที่อยากจะรวมคนไทยทุกคนเลย แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่มองว่าควรจะมีการคัดออก หมายถึงว่าถ้ามีตัวเลขอย่างเช่นข้าราชการได้รับเงินเดือนประจำเท่าเดิมก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ รัฐบาลก็จะทำหน้าที่คัดรายชื่อนั้นออก แต่ปัจจุบันนี้มันเป็นกระบวนการที่เรียกว่า คัดเข้า คนต้องไปยื่นและแสดงหลักฐานว่าตนเองได้รับผลกระทบและรัฐบาลต้องเชื่อในหลักฐานนั้นถึงจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา”

ส่วนตัวเลขเงินเยียวยาควรเป็นเท่าไหร่นั้น ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนเนื่องจากยังไม่ทราบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถ้าไม่มีเงินก้อนนี้จะฟื้นตัวลักษณะไหน แต่เบื้องต้นเดชรัตคิดว่าตัวเลข 3 เดือนน่าจะเป็นตัวเลขขั้นต่ำคือตั้งแต่กรกฎาคมถึงกันยายน ขณะที่เรื่องตัวเงินซึ่งเปลี่ยนฐานจากครัวเรือนเป็นตัวบุคคล ทำให้อาจไม่จำเป็นต้องถึง 5,000 บาท อาจปรับลงมาเหลือ 3,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เม็ดเงินที่ต้องใช้คือประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเดชรัตเห็นว่ามีความเป็นไปได้ เพราะใกล้เคียงกับเงิน 4 แสนล้านบาทที่รัฐจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

บำนาญแห่งชาติ

ผลการสำรวจที่ออกมาในทิศทางว่า รัฐควรให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้ามากกว่า ตรงกับวาระของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการที่เชื่อว่า ระบบบำนาญแห่งชาติจะเป็นหนทางรับมือวิกฤตในอนาคตข้างหน้า โดยผ่านร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชนที่มีแนวคิดเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า

“ตอนนี้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าอยู่แล้ว คำว่าบำนาญคงเป็นมิติในเชิงอุดมการณ์หรือความคิดมากกว่าระหว่างเบี้ยยังชีพกับบำนาญ ผมก็เห็นด้วยว่าบำนาญดีกว่า แต่ประเด็นสำคัญที่เราสอบถามไปในครั้งนี้คือจำนวนเงินแทนที่จะอยู่ที่ 600 บาทเหมือนเดิม เราเพิ่มขึ้นไปเลยดีไหม ซึ่งคนก็เห็นด้วยว่าควรจะเพิ่มขึ้น ทีนี้ถ้านำคำถามมาจับกับเวลานี้ก็เหมือนรัฐบาลมี 2 ทางเลือก ทางหนึ่งคือเรื่องเยียวยา เขาไม่ฟังเรา แต่ก็ช่วยเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุได้ไหม กับทางที่ 2 ก็คืออาจจะเพิ่มทั้ง 2 ทาง คือเพิ่มการเยียวยาที่ถ้วนหน้าด้วยและหลังจากนั้นเบี้ยผู้สูงอายุก็ปรับเพิ่มขึ้นต่อไป”

การจะสร้างระบบบำนาญแห่งชาติได้ เดชรัตคิดว่ามี 2 ส่วน คือวิธีการหารายได้ของรัฐบาลกับการลดรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งเขาคิดว่าทำได้ 2 ทาง ทางแรกคือการรวมระบบสวัสดิการทั้งหมดเข้าเป็นระบบสวัสดิการเดียว เช่น เวลานี้ผู้สูงอายุบางคนได้รับเบี้ยยังชีพและเงินสวัสดิการแห่งรัฐคู่กัน ดังนั้น รัฐจึงควรเพิ่มอัตราขึ้นแล้วรับทางเดียว ซึ่งจะช่วยลดรายจ่าย แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากเท่ากับเงินที่เพิ่มขึ้น

รัฐจำเป็นต้องหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามา ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นความหวังมากคือภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน แต่ว่ารัฐบาลได้ประกาศลดให้ภาษีทรัพย์สินไปแล้วร้อยละ 90 ในปีแรก ซึ่งเป็นการลดที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญ

“ส่วนที่ 2 ผมคิดว่าเป็นเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนเองมากกว่า ในการสำรวจนี้พบข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือคนทุกกลุ่มเห็นด้วยว่าผู้สูงอายุควรได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น แต่ในกลุ่มคนอายุน้อย พอเราถามว่าตัวเลขควรจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้ก็จะบอกตัวเลขที่น้อยกว่า เช่น 600 ถึง 1,000 บาท ขณะที่ผู้สูงอายุตัวเลขเอียงไปทาง 2,000 ถึง 3,000 ตรงนี้แหละครับที่ผมคิดว่ามันน่าคุยกับคนที่เป็นคนหนุ่มสาว เพราะจริงๆแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่เงินคุณดูแลแม่คุณหรือเงินคุณผ่านภาษีแล้วก็ไปดูแลแม่ของคุณและแม่ของเพื่อนๆ ของคุณ”

เงินไม่พอ?

เป็นคำถามที่ต้องเผชิญเสมอมาเมื่อมีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสวัสดิการถ้วนหน้า โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์มักกังวลว่าจะไม่มีเงินเพียงพอ

เดชรัต กล่าวว่า สำหรับผู้ที่คิดเช่นนี้ควรตั้งคำถามก่อนว่าคุณตั้งคำถามกับอะไรบ้าง?

“ยกตัวอย่างเช่นเราจะตั้งคำถามกับเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท แล้วเราจะตั้งคำถามนี้กับบรรดาข้าราชการซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 แสนล้านบาทไหม หรือค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ เราจะตั้งคำถามกับมันว่าอย่างไร ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ตั้งคำถามได้เอียงมาก คือเราสามารถตั้งคำถามกับคนที่จะได้เงิน 600 บาทให้เพิ่มขึ้น แต่เราไม่ตั้งคำถามกับคนที่ได้เป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือน

“เราต้องเริ่มต้นกันที่จุดนี้ก่อน ทีนี้ถ้าคุณคิดว่าส่วนนั้นมันลดไม่ได้ แล้วอันนี้มันเพิ่มไม่ได้เหรอ ผมคิดว่ามันจะเป็นประเด็นนั้น ถ้าถามผม ผมก็ว่าจำเป็นต้องทำให้มันได้ แน่นอนมันอาจจะเป็นลำดับขั้นไป ค่อยๆ เพิ่มไป และในขณะเดียวกันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องจำกัดอันที่เกินเลยไป อย่างเช่นบำนาญ ผมคิดว่าก็ควรมีจำกัดเช่นเกิน 40,000 บาทพอไหม ข้าราชการบำนาญต้องรับ 40,000 บาทจากรัฐทุกเดือนอย่างนี้มันมากไปไหม

“ผมว่าถ้านักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามมาที่จุดเดียวคือประชาชน ผมคิดว่าแบบนี้ไม่โอเค แต่ถ้าเขาตั้งคำถามทั้ง 2 กลุ่ม แล้วเขาคิดว่ามันก็ยังไม่พอ อันนี้ผมคิดว่าเราก็ค่อยๆ เพิ่มเติมขึ้นเป็นลำดับได้”

เดชรัต ยกตัวอย่างประกอบว่า ตอนเริ่มแรกที่มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐพุ่งกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สูงอายุที่ยากจนเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุมีผู้สูงอายุที่ยากจนประมาณร้อยละ 20 แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบถ้วนหน้า พบว่าความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุลดลงประมาณ 7 แสนคนในเวลา 2 ปี

“ปรากฏการณ์นี้แปลว่าพอเราช่วยวงกว้าง คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็คือ 7 แสนคนนั้น ซึ่งตอนแรกไม่ได้ช่วย แล้วทำไมตอนหลังเราช่วยได้ล่ะ ถ้าพูดในทางกลับกันก็คือ 7 แสนคนนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราหาไม่เจอ แต่พอเราเลิกหาและเราก็ยอมให้คนที่อาจจะไม่ใช่คนที่จนที่สุดได้รับเงินด้วย กลับปรากฏว่าช่วยคนจนได้ เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่ความสามารถในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย”

บทสรุป

“เราไม่เคยคิดหรือเคยคิดแต่เรานึกไม่ออกว่า ความเปราะบางที่เคยมี มันมีผลอย่างไร เราก็รู้ว่ามันมีดัชนีนี้อยู่ แต่มันไม่เคยเห็นจะๆ ว่าเวลาเรามีความเปราะบางกันเยอะๆ แล้วมันแปลว่าอะไร โควิดมันทำให้เราเห็นแล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน แต่ก่อนที่เราจะพลิกไปสู่จุดเปลี่ยนนั้นได้ มันเหมือนกับเราตกลงมาอย่างแรงและเยอะมาก

“ที่เราเคยเชื่อว่า คนที่ได้รับผลกระทบมีเฉพาะบางคน แล้วเราค้นหาได้ เราควรจะค้นหา และเราควรจะช่วยเฉพาะคนเหล่านั้น ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยน ถ้าการค้นหานั้นใช้เวลาและมีโอกาสตกหล่น อย่าค้นหาดีกว่า ใช้แบบถ้วนหน้าดีกว่า แล้วตัวเลขที่เราคุยกันสามพันบาท ห้าพันบาท มันไม่ใช่ตัวเลขที่ทำให้กลับไปสู่ความร่ำรวยเลย มันเป็นเพียงแค่ Safety Net ที่ทำให้เขาไม่แย่ไปกว่านี้”

 

แท็ก-เดชรัต สุขกำเนิด, โควิด-19, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, ร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน, กันชนทางการเงิน, สวัสดิการแบบถ้วนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net