Skip to main content
sharethis

ครอบครัวและนักเรียน “เด็กบ้านเรียน” หรือโฮมสคูล ทวงเงินเยียวยาที่กระทรวงศึกษาธิการชดเชยให้นักเรียน “ทุกคน ทุกสังกัด” 2,000 บาทต่อคน ย้ำไม่เยียวยา คือความเหลื่อมล้ำ ละเมิดสิทธิ พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 18(3)

ตามที่รัฐบาล ได้ออกประกาศนโยบายเยียวยานักเรียน ด้วยงบประมาณทั้งหมด 22,000 ล้านบาท จุดประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจน คือ นักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.และ ปวส.จำนวนทั้งหมด 11 ล้านคน  โดยให้แจกทุกคน ทุกสังกัด จำนวน  2,000 บาท/คน  โดยเริ่มมีการแจกเงินเยียวยา ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายนที่ผ่านมา

ซึ่งต่อมา ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เปิดเผยผ่านสื่อมวลชน โดยเน้นย้ำว่าต้องจ่ายเงินเยียวยานักเรียน ให้ผู้ปกครองเสร็จภายใน 7 ก.ย.นี้ อีกทั้งยังได้กำชับว่าต้องจ่ายเงินเยียวยาครบ 2,000 บาท ห้ามหักเด็ดขาด

ผ่านมาจนถึงวันนี้  ในขณะที่นักเรียนในสถานศึกษาทั่วไป ต่างได้รับเงินเยียวยากันครบเกือบหมดแล้ว แต่เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท นั้นยังไม่ถึงมือผู้ปกครอง เด็กบ้านเรียนหรือเด็กโฮมสคูล จำนวนกว่า 2,000 ครอบครัวทั่วประเทศ  ทั้งๆ ที่เด็กบ้านเรียน นั้นอยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มีรหัสสถานศึกษา มีชื่อเป็นนักเรียน อย่างถูกต้องชัดเจน เนื่องจาก บ้านเรียนและศูนย์การเรียน ถือเป็นการจัดการศึกษาที่มีการจัดตั้งตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นสถานศึกษา ตามมาตรา 18 (3)ศูนย์การเรียน จึงมีสิทธิเท่าเทียมกับสถานศึกษา ม.18(1) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ม.18(2) โรงเรียนต่างๆ

แต่ ศธ.และ สพฐ.กลับเมินเฉยจ่ายเงินเยียวยาเด็กบ้านเรียนทั่วประเทศ กว่า 2,000 ครอบครัว?!

จนทำให้ผู้ปกครองในฐานะผู้จัดการบ้านเรียนได้ร่วมกันติดแฮชแท็คตั้งคำถามเรียกร้องกันผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย ว่านักเรียนโฮมสคูลหรือนักเรียนบ้านเรียน ก็สังกัด สพฐ.เช่นเดียวกัน ทำไมถึงไม่ได้รับสิทธินี้  และหากตกหล่นหรือเพิกเฉย นั่นหมายความว่า  ทางศธ.และสพฐ.กำลังมีการละเมิดสิทธิของผู้เรียน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ มาตรา 12 หรือไม่

ตัวแทนกลุ่มบ้านเรียน  ส่งเสียงเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม

สุณิสา  นัดวิไล ผู้ปกครองและผู้จัดการศึกษา บ้านเรียนนาลันทา  สพฐ.เขต 2 จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า ตอนนี้ทางบ้านเรียนนาลันทา ยังไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยานักเรียนเลย  ซึ่งเราคิดว่าเด็กบ้านเรียนนั้นควรได้รับสิทธิ์ที่เท่าเทียมในฐานะ ประชาชนของประเทศคนหนึ่งเช่นเดียวกัน 

“แต่ถ้าไม่ได้รับเงินเยียวยา  เราถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์  เพิกเฉยต่อสิ่งที่เด็กควรได้รับโดยเสมอภาค ดังนั้น เราขอเรียกร้องสิทธิ์นี้ให้กับเด็กบ้านเรียน ไปยัง สพฐ.ด้วย”

สาธนีย์ เหลืองพิทักษ์ ผู้ปกครองและเป็นผู้จัดการศึกษา บ้านเรียนมีนาพลอย  สพป.ลำพูนเขต 1 กล่าวว่า  เด็กและเยาวชนทุกคนควรได้รับสิทธินี้เหมือนกัน ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ว่าจะอยู่นอกระบบ ในระบบ หรือตามอัธยาศัยอะไรก็ตาม

“เด็กบ้านเรียนก็คือการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง ค่าใช้จ่ายไม่ได้ต่างไปจากเด็กในโรงเรียน ต่างแค่คนรับเงินและคนสอนกับรูปแบบ สิทธิพื้นฐานที่ควรได้ก็ต้องจัดให้ค่ะ ไม่ใช่ถูกลืม ตอนนี้ บ้านเรียนนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาค่ะ” ผู้ปกครองและผู้จัดการศึกษา บ้านเรียนมีนาพลอย กล่าวยืนยัน

เช่นเดียวกับ พจนีย์  อุ้ยตา ผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนม่อนสีรุ้ง  สพป พิษณุโลก เขต 2 ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า  “เด็กบ้านเรียนควรได้รับ การสนับสนุน ให้เทียบเท่า เด็กทุกๆคน ทั้งเงินเยียวยาและรวมถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่นนมโรงเรียน และอื่นๆ เพราะ ครอบครัว เด็กบ้านเรียนก็เป็นประชากรไทย เช่นกัน”

ทางด้าน ศรีไพร ทักข์อิทธิพร ผู้ปกครองและเป็นผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร สพฐ.เขต 2 จังหวัดเชียงใหม่ ก็ออกเรียกร้องและทวงสิทธิในครั้งนี้ว่า  ตอนนี้ทางบ้านเรียนทักข์อิทธิพร ซึ่งมีจำนวนผู้เรียน 2 คน ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาทำให้เรามีความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกัน 

“ทำไมโรงเรียนอื่นได้รับเงินเยียวยาหมดแล้ว แต่บ้านเรียนยังไม่ได้รับ ทั้งๆ ที่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  ก็ระบุชัดเจน  ว่าบ้านเรียนก็ถือเป็นโรงเรียนๆ หนึ่งด้วยซ้ำ เด็กนักเรียนก็มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับเด็กนักเรียนที่เรียนในระบบโรงเรียนทุกประการ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการเยียวยา คิดว่าละเมิดสิทธิ์ มาตรา 12 อย่างแน่นอน” 

ผู้ปกครองและเป็นผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนทักข์อิทธิพร  กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมลงชื่อกับทางภาคีเครือข่ายบ้านเรียน และได้ร่วมกันแชร์โพสต์ผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับเด็กบ้านเรียน อีกทั้งยังได้โทรไปสอบถามเบอร์ 1579 ซึ่งได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่มาว่ากำลังเสนอ ครม.รอบ 2 อยู่ ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใดเลย

เช่นเดียวกับ สกาวรัตน์  วงศ์มั่นกิจการ  ผู้ปกครองและผู้จัดการศึกษา บ้านเรียนฟีนิกซ์/ บ้านเรียนโฟนิค/ บ้านเรียนฟีน่า/บ้านเรียน Phenomenon Homeschool  กรุงเทพมหานคร โดยมีเด็กบ้านเรียน ในการจัดการดูแล ทั้งหมด 4 คน เปิดเผยว่า  ถึง ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย

“ส่วนตัวของบ้านเรียนตนเองรับผิดชอบดูแลอยู่  ได้ทำหนังสือถึงท่านรมว.ตรีนุชโดยตรง และโทรสอบถามพร้อมร้องขอให้ช่วยดำเนินการส่งเรื่องถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงผ่านทาง 1579 แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน  ซึ่งทำให้ตนมีข้อสังเกตถึงวิธีการทำงานและแนวทางการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล  กระทรวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการในยุคนี้ กับการประกาศแนวทางการทำงานที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขับเคลื่อนเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่ระบบตรวจสอบกลับตกหล่นกลุ่มบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน ซึ่งอยู่ในการศึกษาตามพ.ร.บ.มาตรา 12 สังกัดสพฐ. โดยในเบื้องต้น การประกาศช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยมติต่างๆ เป็นกระบวนการเพื่อดูแลตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และการประกาศช่วยเหลือเรื่องเงินเยียวยา เสมือนเป็นไปตามสิทธิของบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่จัดสรรให้อย่างครบถ้วน หรือทำให้ตกหล่น หลงลืม ตนถือว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิได้ค่ะ”

ทั้งนี้ สกาวรัตน์  ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลายาวนานว่า  ในกระบวนการทำงานในสถานการณ์ตอนนี้มีอุปสรรคหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินการขับเคลื่อน การประสานติดตามข่าวสารอย่างปัจจุบัน และในส่วนของต้นสังกัด สพฐ. สพป. สพม. หลายพื้นที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน สะท้อนการทำงานที่ไม่เป็นระเบียบ ลำดับขั้นตอน ซึ่งตอนนี้ส่งผลให้กระทบต่อสิทธิผู้เรียน สิทธิครอบครัว

“ในส่วนนี้ ทางเครือข่ายบ้านเรียนเราพยายามประสานติดต่อติดตามและขอให้ทำงานอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการประสานทำงานอย่างมีคุณภาพ และครอบคลุมทั่วถึงและเท่าเทียม และจะช่วยลดปัญหาในการทำงานได้ และขอย้ำเพิ่มเติมว่า ขอให้ทางกระทรวงฯ คณะทำงาน สพฐ. เปิดใจทำงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งยังมีปัญหาที่ซุกใต้พรมอีกมากมายที่ต้องติดตามแก้ไขและทำให้ถูกต้อง สำคัญยิ่งกว่าคือไม่ควรให้ปัญหาเดิมต้องเกิดขึ้นอีกเพราะการทำงานหลายขั้นตอนที่ผ่านมา กระทบสิทธิของกลุ่มบ้านเรียน ศูนย์การเรียน อย่างร้ายแรงและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างจริงจังค่ะ”

 

ปัจจุบัน  มีการสำรวจพบว่า มีจำนวนเด็กบ้านเรียนทั่วประเทศ ปี 2564 จำนวน  1,708 คน และมีจำนวนเด็กบ้านเรียน สพป.กทม. ซึ่งปีนี้ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่ากำลังสรุปยอด แต่คาดว่าจะมีประมาณ 600 คน ดังนั้น ยอดรวมของเด็กบ้านเรียนทั้งหมดรวมกัน คาดว่าจะมีประมาณ 2,300 คน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้าราชการบางคน บางกลุ่ม โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาในระบบของ สพฐ.ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วย ที่ต้องมีการจ่ายเยียวยาให้แก่เด็กบ้านเรียน เพราะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากปัญหาโควิด เพราะว่ายังไงก็เรียนที่บ้านตามปกติอยู่แล้ว?

ด้านสกาวรัตน์  ตัวแทนผู้ปกครองบ้านเรียน กล่าวว่า "ต้องมองที่นโยบายที่ออกมาว่า ข้อมูลข้อความที่รัฐแจ้งให้เราทราบคืออะไร ครอบคลุมถึงตรงไหนอย่างไร  อาจจะหาอ่านจากข่าวหรือดูข่าวดูคลิปย้อนหลังก็ได้ว่า คือถ้ารัฐบาลออกมาประกาศชัดเจนว่า จะแจกเฉพาะเด็กในโรงเรียนนะ ฉันจะให้เฉพาะเด็กที่อยู่ที่พื้นที่นั้นๆ นี้ๆ นะ เป็นไปตามการทำงานบนความเท่าเทียม เรายอมรับค่ะว่าเราจะไม่ได้"

แต่ที่ผ่านมา ในนโยบายที่รัฐบาลประกาศคือ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวผู้ปกครองนักเรียนจากผลกระทบในช่วงโควิด-19 โดยเขาระบุและประกาศชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้มีอยู่จำนวนกว่า 11 ล้านคน แบ่งเป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษา รวม 9.8 ล้านคน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. อีก 1.2 ล้านคน

"ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้น แล้วทำไมเราถึงไม่ควรได้ ขนาด กศน. ยังได้รับเลย เชื่อว่าในตอนนี้ไม่มีใครไม่ลำบากค่ะ ลำบากกันหมดทุกฝ่าย หากมีสิทธิ์นั้น คนที่ควรได้ ก็ควรติดตามสิทธิ์ของตนได้"

“ถ้ารัฐประกาศว่า เงินส่วนนี้เฉพาะคนที่จ่ายค่าเทอมให้รัฐเท่านั้น คนกลุ่มนั้นก็รับไปนั่นถูกแล้ว แต่นี่เขาประกาศนโยบายมาชัดเจนว่าครอบคลุมกลุ่มไหนอย่างไรบ้าง เราก็เป็นหนึ่งตามสิทธิ์นั้น หากไม่ได้เราควรทวงถามสิทธิ์เพื่อให้รัฐได้ทำงานครอบคลุมทั่วถึง เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หรือหากเราเข้าใจผิดประการใด รัฐออกมาชี้แจงได้เลยค่ะ แต่ส่วนนี้เขาแจ้งว่าเราได้ และได้ทุกคน แต่ยังไม่ได้ ตอนนี้มันเงียบเพราะเจ้าหน้าที่ Work From Home ด้วย เราก็ควรติดตามทวงสิทธิ์ค่ะ เราทำตามหน้าที่เราในฐานะพลเมืองในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ยิ่งเป็นครู ทำงานแวดวงการศึกษา ก็ยิ่งควรรู้...” ตัวแทนกลุ่มบ้านเรียน กล่าวย้ำยืนยันทิ้งท้าย

นักวิชาการชี้ หากสพฐ.ทำบ้านเรียนตกหล่นยกแผง เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ขัดรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต  มีความเห็นต่อประเด็นเรื่องนี้ว่า สำหรับผมคิดว่า เป็นความล่าช้าในกระบวนการทำงานของ สพฐ.  ซึ่งอาจเลือกทำให้กับสถานศึกษาที่สังกัดตนเองก่อน ไม่น่าจะเป็นการตกหล่น  หากตกหล่นแบบยกแผงจริงๆ หมายถึง เด็กบ้านเรียนทั้งหมดไม่ได้รับเงินเยียวยา ก็จะเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญโดยตรงเลยครับ เพราะฉะนั้น  ศธ. หรือ สพฐ. ไม่น่าจะกล้าปล่อยให้ตกหล่น

“ส่วนการดำเนินการ ผมว่าเรื่องนี้สอบถามตรงไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะได้คำตอบไวที่สุดครับ ซึ่งวิธีการสอบถาม อาจทำได้ตั้งแต่ การยื่นจดหมายเปิดผนึก และการประสานให้ สส. ตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ครับ” 

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ย้ำบ้านเรียนมีสิทธิเท่าเทียมกับสถานศึกษาอื่นๆ

ขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ได้ติดตามกรณีปัญหานี้อย่างใกล้ชิด บ้านเรียนและศูนย์การเรียน  ถือเป็นการจัดการศึกษาที่มีการจัดตั้งตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นสถานศึกษา ตามมาตรา 18 (3)ศูนย์การเรียน จึงมีสิทธิเท่าเทียมกับสถานศึกษา ม.18(1) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ม.18(2) โรงเรียนต่างๆ  ดังนั้น  การจ่ายเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2000 บาท จึงควรถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม 

“การที่ทางกระทรวงศึกษา จ่ายเงินเยียวยานักเรียน ให้กับโรงเรียน ตามมาตรา 18(2) แต่ไม่จ่ายให้สถานศึกษา ตามมาตรา18(3) ศูนย์การเรียน จึงถือว่าเป็นการละเลยปฏิบัติ เป็นการเลือกปฏิบัติซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กศูนย์การเรียนซึ่งขัดกับหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี  ในนามของสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย จึงขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเด็กบ้านเรียนและศูนย์การเรียนทุกแห่งอย่างเสมอภาคกันโดยเร่งด่วน โดยทางสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย เราจะเฝ้าติดตามประเด็นนี้กันอย่างใกล้ชิดและจำทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำชี้แจงกันต่อไป” 

เสนอให้ ศธ.ศึกษา มาตรา 18(3)ให้ถ่องแท้ เด็กบ้านเรียน อาจเป็นทางออกในอนาคต

ทั้งนี้ นายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย ยังได้มีข้อเสนอแนะและทางออกอีกด้วยว่า ขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมให้ถ่องแท้ และควรจะปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ที่เน้นเฉพาะสถานศึกษา ตามมาตรา 18 (1), (2) และ (3) ให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมา มาตรา 18(3) มักจะถูกเลือกปฏิบัติทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด

“อีกประการหนึ่ง อยากให้ทางกระทรวงศึกษา ถือโอกาสทบทวน หลังจากเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ระบาด จนทำให้สถานศึกษา ตามมาตรา 18 (1)และ(2) ประสบปัญหาไม่สามารถเปิดดำเนินการในชั้นเรียนได้  ดังนั้น ทางกระทรวงศึกษา ควรจะทบทวน และสนับสนุนให้สถานศึกษา ตามมาตรา18 (3) ซึ่งก็คือศูนย์การเรียน และบ้านเรียน  นั้นเป็นทางออกในการแก้ไขวิกฤตปัญหาการศึกษาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสถานการณ์โควิดนั้นเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าจะแพร่ยาวนานไปแค่ไหนและจะจบลงเวลาใด  ดังนั้น การศึกษาแบบบ้านเรียน หรือโฮมสคูล อาจเป็นทางออกในอนาคต” นายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net