Skip to main content
sharethis

20 มิ.ย. 2563 เพจสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย - Student Union of Thailand ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกหมายเรียกสมาชิกของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย้อนหลังไปถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ที่ทางสมาชิก สนท. ได้ไปจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน

"ความพยายามในการขัดขวางการทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างเหนือความคาดหมาย ครั้งนี้แสดงให้เราได้เห็นว่าพวกเขาไม่เคยคิดที่จะประนีประนอมกับประชาชนที่ได้ออกมาเรียกร้องทวงคืนความยุติธรรม และยังสรรหาวิธีมาจัดการให้พวกเราต้องยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมของพวกเขา"

"พวกเผด็จการที่ยังลอกคราบไม่เสร็จ อ้างโควิดมาประกาศใช้พ.ร.ก. เสมือนการยึดอำนาจโดยมีใบรับรองแพทย์ แถมเอามาไล่จับคนทำกิจกรรมเพื่อขู่ประชาชน ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม !!!"

"ทั้งนี้พวกเราจะสู้ต่อไป และจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อความอยุติธรรมที่ได้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยและความยุติธรรมแก่ประชาชนคืนมา" เพจสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย - Student Union of Thailand ระบุ

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่านางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน สมาชิกกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.ปทุมวัน ในคดีที่มีนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ตกเป็นผู้ต้องหากับพวก จากข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยนายพริษฐ์คาดว่า หมายเรียกดังกล่าวมาจากกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563

สำหรับกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง โดยกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) หลังมีข่าวการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากหน้าที่พักในประเทศกัมพูชา เพื่อทวงความเป็นธรรมและรำลึกถึงผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายรายที่ต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นเดียวกับวันเฉลิม โดยก่อนเริ่มกิจกรรมได้มีการจัดแถววัดอุณหภูมิร่างกาย ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างระหว่างการทำกิจกรรม จากนั้นมีการแสดงความคิดเห็นและวางดอกไม้หน้ารูปของวันเฉลิมก่อนจะทำการคุกเข่าไว้อาลัย กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมรวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและผู้สื่อข่าวราว 150 คน

ก่อนที่เวลาประมาณ 17.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ซึ่งก่อนหน้านี้กระจายกำลังสังเกตการณ์และถ่ายรูปอยู่โดยรอบ ได้เข้าแจกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้กับกลุ่มผู้จัดและแจ้งให้ทราบว่า​ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม​ อีกทั้งแจ้งให้กลุ่มผู้จัดกิจกรรมดำเนินการอย่างระมัดระวังตามประกาศ​ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการประกาศผ่านลำโพงขอความร่วมมือให้ทำกิจกรรมตามประกาศดังกล่าวอีกด้วย

 

คดีนี้นับเป็นการนำข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีกับการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์เป็นคดีที่ 6 จากที่ก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีกับนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ในการจัดกิจกรรมรำลึกกิจกรรมครบรอบ 10 ปี ซึ่งภายหลังตำรวจออกหมายเรียกผู้ร่วมทำกิจกรรมเพิ่มอีก 7 คน, กรณีอนุรักษ์ถูกดำเนินคดีอีกครั้งในการทำกิจกรรมกิจกรรม​เล่นดนตรีเปิดหมวกหาเงินช่วยเหลือ​ชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะโควิด-19 ในวันรำลึก 6 ปีการรัฐประหาร ร่วมกับ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ, กรณีนายสมยศ  พฤกษาเกษมสุขและพวกรวม 6 คน กับนายณัฐวุฒิ อุปปะและพวกรวม 4 คน ถูกดำเนินคดีหลังทำกิจกรรมเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชาและไทยให้สืบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา และกรณีเยาวชนในจ.ระยอง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว พร้อมป้าย “ใคร สั่ง อุ้ม วันเฉลิม”

ทั้งนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวระบุให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net