Skip to main content
sharethis

เลขาฯ สมช. เผย ชง ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน เพื่อรับมือผ่อนคลายกิจกรรมล่อแหลมเฟส 5 ยันไม่เกี่ยวกับการเมือง ย้ำกิจกรรม 24 มิ.ย. ก็ยังจัดได้ไม่มีใครโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่วานนี้ ศบค. เผยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมา 30 วันแล้ว

ภาพจากเว็บไซต์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

25 มิ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์ รายงาว่า เวลา 14.30 น. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แถลงภายหลังการประชุมเพื่อประเมินความเหมาะสมในการขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า วานนี้ (24 มิ.ย.) มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ การผ่อนคลายกิจกรรมในระยะที่ 5 ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเรียกได้ว่า มีการผ่อนคลายทั้งหมด เช่น การเปิดเรียน การไม่จำกัดเวลาในการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด ร้านเกม ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ต้องเสนอให้ ศบค. ชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย. ส่วนการแข่งขันกีฬา จะให้มีผู้เข้าชมได้เมื่อไหร่นั้น ต้องรอดูการผ่อนคลายระยะที่ 5 ก่อน ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โลกดีขึ้นค่อยพิจารณา เพราะวันนี้ ศบค.ชุดเล็กเขาก็ประเมินกันเป็นรายวัน

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้คณะกรรมการได้พิจารณาเกี่ยวกับการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเราดูในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง ข่าวกรอง กฎหมาย และสาธารณสุข ซึ่งเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค. เพราะกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 5 มีความล่อแหลมต่อการระบาดของโควิดมากที่สุด เช่น การเปิดเรียน เราจึงต้องให้ความสำคัญในการป้องกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป เพราะหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องใช้กฎหมายถึง 5 ฉบับมาแทนที่ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่ากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรค ก็จะเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ใช่การทำงานเชิงรุก กลยุทธ์ในการป้องกันโควิดของเราตั้งแต่แรก คือ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมไม่ให้มีการนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพ เป็นกลไกสำคัญ เมื่อเราจะผ่อนคลายกิจกรรมที่ล่อแหลม จึงต้องคงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ต่อไป และเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการพิจารณาของชุดเฉพาะกิจ ยังต้องเข้าที่ประชุม ศบค.และ ครม.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนัยแฝงทางการเมือง นอกเหนือจากการป้องกันโควิด เลขาฯ สมช. กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีนัยทางการเมืองตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันและอนาคต เห็นได้จากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่มีการทำกิจกรรมทางการเมือง ก็ไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปดำเนินการ เพราะมีการ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะอยู่ เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเป็นหลัก และเมื่อมีการประกาศผ่อนคลายเฟส 5 แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ที่สำคัญช่วง 1 เดือนนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะสถานการณ์โลกยังมีความน่าเป็นห่วง แม้ประเทศเราดี แต่ก็กังวลเรื่องการระบาดรอบ 2 หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราทุ่มเทมาจะสูญเปล่า เราจึงต้องมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจป้องกันการแพร่ระบาด นั่นคือ การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 

พล.อ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการพิจารณา Travel bubble ว่า เรื่องนี้มีการพูดคุย แต่ยังไม่มีข้อยุติในเร็ววันนี้ ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดประสานเข้ามาแต่อย่างใด แต่ที่มีข้อยุติในเร็ววัน คือ การเดินทางของนักธุรกิจที่ปัจจุบันมีบางส่วนเดินทางเข้ามาแล้วต้องถูกกักตัว 14 วัน แต่เราจะพิจารณาในส่วนของนักธุรกิจที่เข้ามาเพียงไม่กี่วัน จะให้เขาสามารถเดินทางไปทำธุรกิจต่อได้เลย ไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น คือ ต้องมีการตรวจโควิด อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ก่อนเดินทาง เมื่อมาถึงไทย และก่อนออกจากประเทศไทย รวมถึงระหว่างอยู่ประเทศไทยก็ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอด ซึ่งคาดว่าจะให้เขายื่นเรื่องเข้ามาให้เราพิจารณาได้ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป โดยประเทสที่เราจะพิจารณาในเบื้องต้น คือ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และ จีน บางเมือง ซึ่งเราจะพิจารณาถึงประเทศต้นทางว่ามีขีดความสามารถทางสาธารณสุขใกล้เคียงกับเรา และที่สำคัญการจะให้เข้ามานั้นต้องประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อรักษาการเจ็บป่วย (Medicai and wellness tourism) การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ นั้น ยืนยันว่า ผู้ที่เข้ามา จะไม่ใช่การเข้ามาเพื่อรักษาโควิด เพราะหากเป็นโควิดก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ตั้งแต่ต้น เวลาเข้ามาเขาก็ต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน และหากรักษาเสร็จสิ้นจะอยู่ต่อหรือไม่ก็ได้ ถือเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีหลายชาติให้ความสนใจในส่วนนี้

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ตลอดเดือนกรกฎาคม เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายในเฟส 5 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาให้เปิดได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมถือเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการเปิดเรียน จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อป้องกัน กรณีหากพบว่าเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ซึ่งการใช้กฎหมายปกติอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ยืนยันการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวข้องหรือมีนัยทางการเมือง แต่ใช้เพื่อการสาธารณสุขเท่านั้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่ม แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าไปดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ตามการแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ ศบค. วานนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมา 30 วันแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net