Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาลงดาบ 'นวพล ทะลุฟ้า' ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 ปี จากกรณีเผาหุ่นฟางและภาพสมาชิกรัฐบาล-สว. ม็อบ19สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 ก่อนได้รับการประกันตัว วางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท

 

25 ม.ค. 2567 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุวันนี้ (25 ม.ค.) ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ 'ไดโน' นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำให้เสียทรัพย์, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย และทำให้เกิดเพลิงไหม้จนอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นฯ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาหุ่นฟางและภาพสมาชิกรัฐบาล-สว. ระหว่างชุมนุม #ม็อบ19สิงหาไล่ล่าทรราช ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 

'ไดโน' นวพล ต้นงาม (ที่มา: iLaw)

สำหรับคดีนี้ เดิมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้แจ้งข้อหาหลัก คือฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยจากกลุ่มทะลุฟ้ารวม 10 ราย (3 ราย ยังเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี) แต่ต่อมาเฉพาะไดโน่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 3 ข้อหาดังกล่าว และถูกแยกฟ้องคดี

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของเขา โดยกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "ม็อบ 19 สิงหา ไล่ล่าทรราช" โดยเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า "ทรราชในคราบ (คนดี)" ไปแขวนบริเวณอนุสาวรีย์

ก่อนที่จำเลยกับพวกได้นำหุ่นฟางและภาพของคณะรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภามาวางรวมกันบนพื้นถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมมั่วสุมของกลุ่มคนจำนวนมาก ก่อนร่วมกันวางเพลิงเผาหุ่นฟางและภาพดังกล่าว บนพื้นถนนจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นการทำให้ถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะเสียหาย และมีค่าเสียหายรวมเป็นเงินประมาณ 157,000 บาท 

หลังการสั่งฟ้องต่อศาล ศาลอาญากลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่าผู้ขอประกันไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ไดโน่ได้ถูกคุมขังไว้ 1 คืน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังญาติยื่นประกันอีกครั้ง

คดีนี้มีนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 7-8, 12 ธ.ค. 2566 และ 25 ม.ค. 2567 โดยข้อต่อสู้ของจำเลยคือ ในระหว่างการชุมนุมได้มีการจัดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามสมควร มีการสวมหน้ากากอนามัย และพื้นที่ชุมนุมมีลักษณะเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ชุมนุมสามารถรักษาระยะห่างและเคลื่อนที่ได้  

ในส่วนข้อหาทำเกิดเพลิงไหม้ฯ ต่อสู้ว่าไม่ได้เผาหุ่นฟางในบริเวณที่อยู่ใกล้ชิดกับอาคารบ้านเรือนและประชาชน เป็นการเผากองฟางเชิงสัญลักษณ์ รวมไปถึงขณะเผาไฟก็มีการเฝ้าระวังอยู่ตามสมควร และอยู่จนกระทั่งไฟดับลง การเผาหุ่นฟางดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น 

สำหรับข้อหาทำให้เสียทรัพย์-ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่า บนพื้นผิวถนนไม่ได้เกิดความเสียหายหนัก มีเพียงรอยกระดำกระด่างบนพื้นถนน อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการชุมนุมอื่น ๆ ที่มากระทำในลักษณะเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ารอยไหม้ดังกล่าวเกิดจากจำเลยหรือไม่ 

เวลา 10.05 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า จำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมในขณะที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมมั่วสุมในสถานที่แออัด ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-2019 จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว

ในส่วนของข้อหาทำให้เกิดเพลิงไหม้และทำให้เสียทรัพย์ จำเลยในฐานะแกนนำได้ปราศรัยเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเผาหุ่นฟาง ซึ่งเป็นวัตถุติดไฟง่าย อันตราย และอาจลุกลามเป็นวงกว้างได้ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้มีอุปกรณ์ดับเพลิงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าดับไฟ รวมถึงการเผาหุ่นฟางยังทำให้พื้นผิวถนนเกิดความเสียหาย

ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในมาตรา 220 วรรคแรก “ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น”, มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” , มาตรา 360 “ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย” และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือข้อหาตามาตรา 220 ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลง 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ สมพร เกิดทรัพย์ และ วรชาติ เกลี้ยงแก้ว  

หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไดโน่ลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ทนายความและนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ 

จนเวลาประมาณ 16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 10,000 บาท จากหลักทรัพย์เดิมจำนวน 90,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 100,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สำหรับคดีจากการชุมนุมเดียวกันกับคดีนี้ ของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ พบว่ามีนักกิจกรรม 6 ราย ถูกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ  ที่ศาลแขวงดุสิต และเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ศาลพิพากษาลงโทษปรับเพียงอย่างเดียว คือปรับจำเลย 3 ราย คนละ 2,600 บาท ปรับจำเลย 2 ราย คนละ 2,500 บาท และอีกหนึ่งรายปรับรวม 3,100 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net