Skip to main content
sharethis

9 ก.ค. 2563 ทิวากร วิถีตน ผู้สวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จากสถานพยาบาลควบคุมตัวไปยัง รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และเขาอาจถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาลได้อีกอย่างน้อยถึงวันที่ 7 ส.ค. 2563 ระหว่างกระบวนการตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 และอาจมากกว่านั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่าเขามีความผิดปกติทางจิต อยู่ในภาวะอันตราย หรือจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา

ห้ามมัด ห้ามกักบริเวณ ห้ามแยกเดี่ยว

จากการเข้าเยี่ยมทิวากรที่โรงพยาบาล ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 2 นาย ทิวากรเล่าว่า ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเขาไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน แต่แสดงอาการไม่ยอมรับการจับกุมด้วยการนั่งเฉยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ราว 6 คน ต้องอุ้มเขาขึ้นรถพยาบาล เขาถูกมัดข้อมือ และฉีดยาที่ต้นแขนทั้งสองข้าง ทำให้เขารู้สึกชา และเจ็บบริเวณหน้าอกเมื่อพยายามใช้ความคิด

ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 มาตรา 17 ระบุว่า การบำบัดรักษาโดยการผูกมัดร่างกาย การกักบริเวณ หรือแยกผู้ป่วยจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเอง บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้บำบัดรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ

ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอม

มาตรา 21 ระบุว่า การบำบัดรักษาจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการบำบัดรักษา รายละเอียดและประโยชน์ของการบำบัดรักษา และได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เว้นแต่จะมีความจำเป็นต้องบำบัดรักษา หรือแสดงออกโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ภาวะนี้เช่นนี้เรียกว่าภาวะอันตราย

มาตราเดียวกันนี้ยังระบุอีกว่า ถ้าต้องรับผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา ความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ

เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง​ 18 ปีบริบูรณ์ หรือขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี จึงจะเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนได้

ตามรายงานของบีบีซีไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรณีของทิวากรเป็นการเข้ารับการรักษาโดยสมัครใจ โดยญาติยินดีให้เข้ารับการรักษา

อย่างไรก็ตาม​ ไม่ปรากฏว่าขณะถูกจับกุม ทิวากรขาดความสามารถในการตัดสินใจหรือไม่ เนื่องจากญาติจะให้ความยินยอมแทนได้เฉพาะบางกรณีตามที่กฎหมาย​กำหนดเท่านั้น​ ซึ่งตัวทิวากรเองอายุ​ 47​ ปีแล้ว​ เคยประกาศตัดขาดจากครอบครัว​ และแสดง​อาการ​ไม่ยอมรับ​ขณะถูกควบคุมตัว​ด้วย

ตำรวจส่งตัวเข้ารักษาได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินหรือมีภาวะอันตราย

นอกจากนี้ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องในการควบคุมตัวก็อาจขัดต่อมาตรา 24 และ 26 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ที่ระบุให้ ตำรวจนำตัวบุคคลส่งเข้ารับการบำบัดรักษาได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในภาวะอันตราย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หรือกรณีฉุกเฉินที่อันตรายใกล้จะถึงเท่านั้น

แพทย์ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นภายใน 48 ชั่วโมง

หลังทิวากรถูกนำตัวส่ง รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ขั้นตอนตามกฎหมายกำหนดให้แพทย์และพยาบาลตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นภายใน 48 ชั่วโมง แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ทิวากรได้รับการวินิจฉัยอย่างไร มีเพียงคำบอกเล่าจากทิวากรที่ว่า พยาบาลบอกว่าเขาปกติดี

คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาต้องตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการโดยละเอียดภายใน 30 วัน

ตามมาตรา 29 พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ เมื่อโรงพยาบาลรับตัวทิวากรจากตำรวจ จะต้องให้คณะกรรมการสถานบำบัดรักษา ซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์เป็นประธานกรรมการ แพทย์จำนวนหนึ่งคน พยาบาลจิตเวชจำนวนหนึ่งคน นักกฎหมายจำนวนหนึ่งคน และนักจิตวิทยาคลินิก หรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล หรือผ่านการอบรมด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านจิตเวช หรือนักกิจกรรมบำบัด จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ ดำเนินการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการทิวากรโดยละเอียดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับตัวไว้

หากคณะกรรมการสถานบำบัดรักษาเห็นว่าบุคคลอยู่ในภาวะอันตราย หรือจำเป็นต้องบำบัดรักษา จึงจะสามารถสั่งให้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาล หรือในสถานที่อื่นแบบมีเงื่อนไขได้

กรณีของทิวากรน่าจะอยู่ในขั้นตอนนี้ โดย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีไทยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการแพทย์ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยว่า ทิวากรมีอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่ โดยมีเงื่อนเวลาตามที่ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ กำหนด "แต่โดยทั่วไปใช้เวลาไม่นาน"

อาจเป็นการควบคุมตัวตามอำเภอใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและยุติการควบคุมตัวทิวากร กรณีใส่เสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ว่า ทิวากรยังอยู่ในภาวะปกติ สามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้มีลักษณะที่อยู่ในภาวะอันตรายที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ขาดความสามารถในการให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว อันจะเข้าองค์ประกอบที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจบังคับบุคคลไปบำบัดรักษา

ประกอบกับข้อเท็จจริงว่าต้องใช้เจ้าหน้าที่ถึง 6 รายในการอุ้มทิวากรมาขึ้นรถ การนำตัวทิวากรมายังสถานบำบัดจึงไม่ใช่ความยินยอมของทิวากร ทั้งการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปพบทิวากรที่บ้านหลายครั้ง ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. เพื่อขอให้เลิกใส่เสื้อ และวันที่เกิดเหตุได้นำกำลังรถไปเกือบสิบคันโดยญาติมิได้ร้องขอ อาจทำให้ญาติของทิวากรไม่กล้าแสดงเจตนาที่แท้จริงในการยินยอมให้ควบคุมตัวทิวากรได้ 

นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวทิวากรมายังสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ยังสับเปลี่ยนกำลังในการเฝ้าสถานพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงไม่อาจเชื่อว่า นี่เป็นกระบวนการรักษาปกติโดยอาศัยความยินยอมของทิวากร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า หากกระบวนการดังกล่าวเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษา ก็ไม่จำเป็นต้องยึดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืดของทิวากรไป เพราะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการรักษา ขณะที่ พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล ผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.ภ.จว.) จังหวัดขอนแก่น ชี้แจงผ่านบีบีซีไทย เมื่อ 14 ก.ค. 2563 ว่า การควบคุมตัวทิวากรนั้น “เป็นเรื่องทางการแพทย์และมีการนำตัวไปรักษาตามช่องทางทางการแพทย์”  และไม่มีการดำเนินคดีกับทิวากร

ในแถลงการณ์ยังระบุถึงความกังวลว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐอาจเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล โดยอาจเป็นการนำกระบวนการทางการแพทย์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมตัวบุคคลตามอำเภอใจ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net