Skip to main content
sharethis

 

ประวัติศาสตร์การบังคับทรงผมนักเรียน “เกรียน-ติ่งหู” เกิดตั้งแต่ปี 15 สมัยรัฐบาลเผด็จการ “จอมพลถนอม" ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 18 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่โรงเรียนหลายแห่งกลับไปยึดตามกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม

 

จากความเดิมตอนที่ 1 เราได้อภิปรายถึงปัญหาการบังคับใช้ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563” ที่ออกมาในปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำให้โรงเรียนหลายแห่งปรับปรุงระเบียบทรงผมของโรงเรียนให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนไว้ผมทรง “เกรียน-ติ่งหู” ได้ในขณะนี้ จนเกิดปัญหาตามที่กลุ่มองค์กรนักเรียนเลวได้ยื่นร้องเรียนต่อกระทรวงศึกษาธิการนั้น

การแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ มีคำอธิบายจาก “ประเสริฐ บุญเรือง” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตามการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ข่าวเว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 8 ก.ค. 2563 เขาเปิดเผยถึงการได้ลงนามในหนังสือคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนที่สุด แจ้งไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เรื่องซักซ้อมความเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน ให้รับทราบและถือปฏิบัติ พร้อมให้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดกำกับดูแลยกเลิกการใช้บังคับระเบียบสถานศึกษาเดิมเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน และจะต้องวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนขึ้นใหม่ ข้อ 7

“ทรงผมนักเรียนที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ เนื่องจากกลุ่มนักเรียนต้องการให้โรงเรียนดำเนินการตามข้อ 7 ของกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ เพราะขณะนี้มีสถานศึกษาบางแห่งยังยึดกฎระเบียบฉบับเดิมอยู่ ซึ่งจากนี้ไปสถานศึกษาจะต้องจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน และครู เพื่อออกเป็นข้อปฏิบัติการไว้ทรงผมนักเรียนของแต่ละโรงเรียนให้ชัดเจน เช่น โรงเรียนเอประชุมร่วมกับทุกฝ่ายแล้วมีข้อสรุปว่ายังต้องการยึดทรงผมนักเรียนแบบเดิม หรือ โรงเรียนบีประชุมร่วมกับทุกฝ่ายแล้วมีข้อสรุปว่าจะถือปฏิบัติเรื่องทรงผมนักเรียนตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ก็ได้ เป็นต้น” ปลัด ศธ. กล่าว

การยกตัวอย่างโรงเรียนเอ โรงเรียนบี ของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ทำให้เกิดคำถามต่อไป ว่าจะกลายเป็นข้อยกเว้นอีกหรือไม่ ถ้าโรงเรียนหลายแห่งจะเลือกวิถีของโรงเรียนเอ เพื่อคงไว้ซึ่งการบังคับทรงผมเกรียน-ติ่งหู ที่แม้มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายจริง แต่ถ้าเสียงของครูและผู้บริหารโรงเรียนเป็นเสียงข้างมากเห็นชอบตามวิถีแบบโรงเรียนเอ จะถือว่าไม่ขัดแย้งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกระนั้นหรือ?

ประวัติทรงผมนักเรียน “เกรียน-ติ่งหู” เกิดสมัยรัฐบาลเผด็จการ

ย้อนดู ประวัติศาสตร์การบังคับทรงผมนักเรียน “เกรียน-ติ่งหู” เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 สมัยรัฐบาลเผด็จการ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ตาม “กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132” ลงนามโดย “บุญถิ่น อัตถากร” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 28 มิ.ย. 2515 ระบุว่า

“ข้อ 1 การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 (1) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครานักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”

สำหรับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ที่ประกาศโดยจอมพลถนอมในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ วันที่ 22 เม.ย. 2515 ซึ่งเป็นแม่บทของกฎกระทรวงนี้ ให้เหตุผลว่า

“โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า นักเรียนและนักศึกษาเป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรม พร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ ในโอวาทคำสั่งสอน รวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการสมควรจะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาท ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

จากวันที่รัฐบาลจอมพลถนอมปกครองประเทศแบบเผด็จการ จนกระทั่งมาสู่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมครั้งใหญ่ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอมออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ เข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ในที่สุด ก็มีการออก “กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132” ลงนามโดย “เกรียง กีรติกร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 ม.ค. 2518 แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 1 เรื่องทรงผมนักเรียนที่ไม่เหมาะสม เป็นข้อความว่า

“(1) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”

เมื่ออ่านข้อความตามนี้แล้ว เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การบังคับนักเรียนชายให้ไว้ผมทรง “เกรียน” ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เรียบร้อยแล้ว ในส่วนนักเรียนหญิงยังคงข้อความเดิมไว้ บังคับให้ไว้ผมทรง “ติ่งหู” ยกเว้นไว้ยาวก็ให้รวบ แต่เท่าที่สังเกตเรื่อยมา มักจะพบนักเรียนหญิงถูกบังคับไว้ทรงติ่งหูเป็นจำนวนมาก ในระดับตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นลงไป

ดังนั้น โรงเรียนหลายแห่งในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อาศัยอำนาจใดในการออกระเบียบโรงเรียนบังคับนักเรียนชายไว้ผมเกรียน ทั้งที่ขัดต่อกฎกระทรวงตั้งแต่ปี 2518 แล้ว กลับไปยึดตามกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยจอมพลถนอมปี 2515 ที่ถูกแก้ไขยกเลิก จึงเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนในระบบกฎหมายอย่างชัดเจน ใช้ของเก่า ไม่เอาของใหม่ อำนาจของการยึดติดประเพณีดั้งเดิมสำคัญกว่ากฎหมายใช่หรือไม่?

การพยายามแก้ปัญหาทรงผมนักเรียน เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2556 โดย “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้น ลงนามในหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0209/189 วันที่ 17 ม.ค. 2556 เรื่อง “ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน” มีสาระสำคัญว่า ให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนเป็นแนวทางเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาปรากฏว่าสถานศึกษาบางแห่งมีความเข้าใจในเรื่องทรงผมนักเรียนไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงขอชี้แจงและซ้อมความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งให้สถานศึกษาปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนเป็นแนวทางเดียวกัน ดังนี้

“1) นักเรียนชาย ให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ หากไว้ผมยาวด้านข้างและด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม เช่น แบบทรงผมรองทรง 2) นักเรียนหญิง ให้ไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวก็ให้รวบให้เรียบร้อย อนึ่ง ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงเรียนมาเพื่อทราบ และแจ้งเวียนให้สถานศึกษาในสังกัดทราบและถือปฏิบัติต่อไป”

ตามหนังสือแนวทางปฏิบัตินี้ พัฒนาไปอีกขั้นในการให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนหญิงไว้ผมทรงติ่งหูด้วย จนในที่สุดปัจจุบัน ปี 2563 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ออกมาบังคับใช้ ในสมัยของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนปัจจุบัน ก็มีเนื้อหาเรื่องทรงผมนักเรียนชาย-หญิง ทำนองเดียวกับหนังสือแนวทางปฏิบัติสมัยรัฐมนตรีพงศ์เทพ ที่ไม่ได้บังคับทรง “เกรียน-ติ่งหู” แล้ว ถ้าไม่ติดปมเรื่องข้อ 7 ของระเบียบ ก็น่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

กฎหมายระดับประเทศ จากปี 2518 ถึงปัจจุบัน ยกเลิกบังคับนักเรียนชายไว้ผมเกรียน จากปี 2556 ถึงปัจจุบัน เริ่มใช้แนวปฏิบัติยกเลิกบังคับนักเรียนหญิงไว้ผมทรงติ่งหู และปัจจุบัน 2563 ยกเลิกทั้งสองอย่างตามกฎหมาย ระหว่างนั้นจนถึงระหว่างนี้ ที่เด็กนักเรียนถูกสั่งไว้ผมเกรียน-ติ่งหู ไม่เป็นไปตามกฎหมายระดับประเทศ ฉะนั้นจะถือเป็น “กฎเถื่อน” ที่อาศัยประเพณีอำนาจนิยมเหนือกว่าหรือไม่? ความเป็นอำนาจนิยมในสถาบันการศึกษา ผูกมัดเรามาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ในรูปแบบที่แตกต่างไปอย่าง “ระบบโซตัส” ติดตามกันตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง : 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net