Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็นงบประมาณของกองทัพเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันยาวเชียวครับ เพราะมันเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ ตามประสาของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบกึ่งสุกกึ่งดิบคือมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่โกงการเลือกตั้งได้นายกฯ หน้าเดิม และองค์กรต่างๆ มีอิทธิพลสูงมากซึ่งหนึ่งในนั้นคือกองทัพซึ่งคอยค้ำจุนรัฐบาลไว้ และ ผบ.ทบ.ซึ่งกำลังจะเกษียณเดือนตุลาคมปีนี้ก็ได้แสดงท่าทีและบทบาททางการเมืองอย่างไม่ยั้งปาก สำหรับคนที่ชอบรัฐบาลลุงตู่จะบอกว่างบสูงๆ นั้นดีเพราะจะได้ปกป้องประเทศจากภัยต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวและอาวุธก็สมควรเปลี่ยนได้แล้วตามความเหมาะสม ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่าไม่เห็นจะมีภัยอะไรเลย นอกจากภัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทหารเช่นโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ตรงนี้คือการให้ความหมายต่อความมั่นคงของประเทศเสียใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะการทหารต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายก็พยายามโจมตีกันและกันว่าเป็นสลิ่มและควายแดง อันเป็นคำตีตราหรือ labeling ใหม่แทนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง

ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ได้จะได้รับการแก้ไขได้ในระดับหนึ่งและมากด้วย ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐสภาเข้มแข็ง นั่นก็คือรัฐสภาโดยเฉพาะฝ่ายค้านและคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกองทัพในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนสามารถทำหน้าที่ในการพิจารณา ตรวจสอบการทำงานของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับกองทัพในสารพัดเรื่องได้และกองทัพก็สามารถชี้แจ้งได้ว่างบเยอะ ๆ ในการซื้ออาวุธนั้นคุ้มค่าจริงๆ หรือไม่ เช่นซื้อเรือดำน้ำมาแล้วจะทำให้ไทยปลอดภัยหรือเปล่า ภัยที่กำลังคุกคามประเทศไทยนั้นมีตัวตนที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่เกิดจากการแถลงของรัฐบาลและกองทัพซึ่งเป็นเครือข่ายกันหรือการมโนเอาของพลเมืองชาวเน็ตทั้ง 2 ฝ่ายที่ทั้งไม่ชอบลุงและชอบลุง เป็นเรื่องจริงที่ว่าหลายเรื่องเป็นความมั่นคงของประเทศที่เปิดเผยไม่ได้ในระดับสาธารณชน แต่ว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าที่อ้างว่าเป็นความลับของประเทศนั้นเป็นความตั้งใจของกองทัพในการปกปิดเรื่องทุจริตของตัวเองเหมือนช่วงสงครามเย็น จึงต้องมีระดับขั้นของเปิดเผยข้อมูลให้พอดี สอดคล้องกับความจำเป็น

อันนี้เป็นไปตามแนวคิดของฝรั่งซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั่นก็คือการตรวจสอบและถ่วงดุล แต่สำหรับไทยนั้นมีวัฒนธรรรมแบบอำนาจนิยมที่กองทัพมีอำนาจและบทบาทสูงมาก ดังภาษาอังกฤษคือ Praetorianism รวมไปถึงปัญหาเสื้อสีที่ค้างคามานาน คนจำนวนมากที่มีหัวคิดอนุรักษ์นิยมคือผสมกับชาตินิยมและกองทัพนิยม จะยกย่องทหารและคิดว่าเป็นองค์กรที่เสียสละเพื่อชาติมานาน มีความยิ่งใหญ่ (ยิ่งผูกตัวเองเข้ากับสถาบันด้วยแล้ว) เกินกว่ารัฐสภาซึ่งเต็มไปด้วยสส.ที่เถียงกันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองจะมาตรวจสอบหรือหยามเกียรติได้ ที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากจะรู้สึกแปลกๆ เมื่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาเชิญผู้นำเหล่าทัพมาให้การและคนเหล่านั้นจะรู้สึกพอใจที่ผู้นำเหล่าทัพท่าทางอิดออด มาเสียไม่ได้ทั้งที่เป็นความผิดปกติของประชาธิปไตย ผมคิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศไทยมีการจัดชนชั้นศักดินาใหม่หรือ Neo feudalism นั่นคือสถาบันและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คือชนชั้นสูง ส่วนนักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายค้านคือชนชั้นล่างลงมา (อันนี้ไม่ต้องนับประชาชนแบบเรา) การเชิญนายพลเหรียญเต็มอกมาให้การที่สภาก็เหมือนกับพวกไพร่มาบังคับให้พวกพระยามานั่งลงบนพื้นเพื่อคุยกัน อันขัดแย้งกับความดีงามของความเป็นไทยอย่างไงอย่างงั้น และท่านเจ้าพระยาก็พร้อมจะกุดหัวพวกไพร่ได้ทุกเมื่อนั่นก็คือการเอารถถังมายึดอำนาจอีกรอบ

ในทางกลับกันสำหรับคนไทยจำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยศรัทธากองทัพนัก เห็นว่าเป็นกองทัพที่มีปัญหาเรื่องทุจริตไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ เพราะมีข่าวฉาวออกมาตลอดยิ่งมีนายทหารชั้นประทวนออกมาแฉเรื่องทุจริตในกองทัพยิ่งตอกย้ำมุมมองตรงนี้ได้ดี และแนวคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากคือเสรีนิยมนั่นคือคนเท่ากันและไม่ได้มีมุมองต่อชนชั้นสูงเหมือนเมื่อก่อน ทั้งหัวคิดอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมไม่น่าจะคุยกันรู้เรื่องนัก

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ใสบริสุทธิ์ ผู้นำมาจากความเห็นชอบของประชาชนจริงๆ ก็จะรับลูกจากรัฐสภาในการตรวจสอบ โยกย้ายผู้นำที่มีปัญหา รวมไปถึงปฏิรูปกองทัพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ถ้ารอให้กองทัพทำเองก็เห็นได้ว่าแย่ขนาดไหน ดูอย่างอภิรัชต์หลังจ่าบุกฆ่าประชาชนที่โคราช ทำไปได้นิดเดียว พอโควิด -19 มาก็เงียบไปเลย) จำนวนกำลังพลสอดคล้องกับความเป็นจริง งบประมาณไม่สูงเกินจริง ที่สำคัญคือกองทัพต้องยินยอมตามอำนาจของรัฐบาลพลเรือน จะมาอ้างว่าไม่ต้องการให้การเมืองเข้าแทรกแซงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วถึงแม้ไม่มีนักการเมือง กองทัพก็เล่นการเมืองกันอยู่แล้ว มีการเล่นพรรคเล่นพวกโดยการใช้รุ่นหรือเครือข่ายเดียวกันเพื่อดันให้พวกตัวเองขึ้นมามีอำนาจดังเป็นข่าวที่คุ้นตาพวกเราจนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริงคือการทุจริตอีกแบบนั่นแหละ นอกจากนี้กองทัพยังถูกอำนาจอื่นเข้าแทรกแซงอยู่แล้วอย่างเช่นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ซึ่งเป็นแค่ประธานองคมนตรีแต่สามารถเข้ามีอิทธิพลต่อกองทัพได้อย่างมหาศาล เป็นที่รู้ว่าในยุคนั้นใครอยากเป็นใหญ่ในกองทัพต้องเป็นลูกป๋า

ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลและกองทัพรวมถึงองค์กรอื่น ๆ ที่ทรงอิทธิพลมีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ และใช้เงินอย่างมีคุณค่าจริงๆ ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินมามากเลย เราจะมีเงินเหลือไว้ใช้เพื่อโครงการอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงอีกเยอะแยะ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ตรงนี้ทำให้นึกถึงหลายเดือนที่แล้วมีพรรคการเมืองหนึ่งเสนอแนวคิดดังกล่าว ทำให้พวกอนุรักษ์นิยมโจมตีอย่างไม่มีเหตุผลว่าพยายามทำลายกองทัพ ยิ่งการเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารด้วยแล้วก็ทำให้พวกเขาเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของชาติไทย อีกทั้งอดีตหัวหน้าพรรคก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวกเดียวกับทักษิณ ศัตรูตัวร้ายอีกตัวของความดีงามทั้งปวงของความเป็นไทย จึงไม่ต้องสงสัยว่าชนชั้นนำของไทยจะเห็นสอดคล้องด้วย (หรือจริงๆ แล้วชนชั้นนำของไทยนั่นแหละที่ทำให้พวกเขาเชื่ออย่างนั้น) และพรรคก็โดนยุบในที่สุด ทั้งที่การเสนอเช่นนี้คือหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เหมือนความคิดของใครหลายคนที่ไปตัดต่อว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ไปเลือกตั้งแล้วจบ (เอาตามจริง ถ้าคนเหล่านั้นอาจจะศรัทธาในเผด็จการก็ได้คือไปเลือกให้ลุงตู่ "ปราบซ่า" นักการเมืองเครือข่ายทักษิณแค่นั้นเอง)

อย่างไรก็ตามจากการพิจารณางบประมาณกองทัพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะเห็นว่าประเทศประชาธิปไตยมีงบประมาณกองทัพสูงมาก อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประชาธิปไตยบกพร่อง (คือมีปัญหามากมายเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน) มีงบประมาณอันดับ 1 ของโลกมานาน ถัดมาก็ได้แก่อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลีใต้ ฯลฯ อันสะท้อนให้เห็นถึงพลังของระบบราชการที่มีสามารถคานอำนาจกับรัฐบาลพลเรือนได้ ด้วยรัฐบาลพลเรือนนั้นไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ตัวอย่างคือสหรัฐฯ ซึ่งกองทัพไม่มีบทบาททางการเมืองเลย แต่มีกระทรวงกลาโหมและ Military-Industrial Complex หรือเครือข่ายระหว่างกระทรวงกลาโหม กองทัพและบริษัทเอกชนเกี่ยวกับการทหารโดยเฉพาะเรื่องอาวุธ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวขับเคลื่อนให้สหรัฐฯ ทำสงครามไปทั่วโลกมานาน แม้แต่ประธานาธิบดียังทำอะไรไม่ได้ อย่างบารัก โอบามาพยายามตัดงบประมาณกองทัพ แต่ไม่สำเร็จ เพราะเครือข่ายดังกล่าวมีอิทธิพลในรัฐสภามาก อย่างไรก็ต้องตามสำหรับสหรัฐฯ เราก็ต้องคำนึงถึงนโยบายต่างประเทศและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของแต่ละยุคด้วย อย่างเช่นยุคของโรนัลด์ เรแกนในทศวรรษที่ 80 ที่เพิ่มงบประมาณกองทัพอย่างมากมายเพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียตที่เขามองว่าเป็นจักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย เหมือนสหภาพโซเวียตล่มสลายและสหรัฐฯ เสร็จศึกจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย งบประมาณกองทัพในยุคของบิล คลินตันก็ลดลงไปมาก

นอกจากนี้หลายประเทศได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ อันสะท้อนให้เห็นว่ามีปัจจัยอื่นมาเสริมด้วยเช่นเรื่องการรับรู้ของภัยคุกคามของรัฐและประชาชน ซึ่งกลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสำหรับคะแนนเสียงและบทบาทที่แข็งกร้าวของประเทศบนเวทีโลก รวมไปถึงการเอาใจกองทัพและอุตสาหกรรมอาวุธ ซึ่งภัยดังกล่าวไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง อย่างเช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กับท่าทีอันไม่เป็นมิตรของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงอินเดียซึ่งภาครัฐไม่ค่อยโปร่งใสนักก็จะใช้ปากีสถานศัตรูตัวฉกาจเป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ หรืออย่างอังกฤษ อิตาลี เยอรมันยังต้องทำตามเงื่อนไขขององค์การนาโตที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกมีงบประมาณร้อยละ 2 ของจีดีพี อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านั้นมีระดับประชาธิปไตยไม่สูงถึงระดับต้นๆ เหมือนกับประเทศในสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดนซึ่งแม้งบประมาณกองทัพจะเพิ่มขึ้นเพราะกลัวภัยต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียเหมือนอังกฤษ อิตาลี เยอรมันแต่โดยภาพรวมงบประมาณป้องกันประเทศต่อจีดีพีก็ยังไม่สูงอยู่ดี

สำหรับประเทศไทยที่ระดับประชาธิปไตยไม่สูงนัก ผมคิดว่าเราไม่ได้มีภัยคุกคามเท่าประเทศเหล่านั้น แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อกองทัพขยายบทบาทหน้าที่ไปทั่วสังคมโดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เหมือนกับลัทธิ dwifungsi กองทัพอินโดนีเซียยุคซูฮาร์โตไปเสียนี่ ศัตรูจึงมีอยู่เต็มไปหมดและงบประมาณก็ต้องสูงเสียหน่อย

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่างบประมาณของกองทัพมีปัจจัยคือความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมาภิบาล (1) อิทธิพลของระบบราชการ นโยบายการต่างประเทศและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ถึงภัยคุกคามต่อประเทศอีกด้วย แต่ผมมองว่าปัจจัยสำคัญที่สุดคือข้อแรกหรือความเป็นประชาธิปไตยนั้นเอง คือถ้าไม่มีประชาธิปไตยเป็นฐาน ปัจจัยอื่น ๆ อาจส่งผลให้งบประมาณและอิทธิพลของกองทัพก็จะขยายวงยิ่่งขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไร้แรงฉุดดึง

 

หมายเหตุ:
(1) เคยมีลูกศิษย์ของผมที่เป็นทหารบอกว่ารูปแบบการปกครองไม่สำคัญ หากขึ้นอยู่กับการมีธรรมาภิบาล ตรงนี้ผมก็สงสัยว่าจะมีสักกี่ประเทศที่เป็นเผด็จการและมีธรรมาภิบาลหรือ Good Governance อย่างเช่นความโปร่งใส คงมีเป็นบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์ สำหรับประเทศที่ดูยิ่งใหญ่อย่างจีนและรัสเซียก็สอบตกเพราะอยู่ในอันดับความโปร่งใสต่ำมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net