Skip to main content
sharethis

21 ส.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงาน "นักเรียนชูสามนิ้ว-ติดโบว์ขาว 3 วัน ร้องเรียนถูกคุกคาม-ปิดกั้น 103 กรณี" ระบุว่า ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค. 2563 มีนักเรียนและนักศึกษาร้องเรียนว่าถูกคุกคามหรือปิดกั้นจากการแสดงออกทางการเมือง 103 กรณี ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนเท่าที่ทราบจากที่มีการร้องเรียนและติดตามจากสื่อมวลชนเท่านั้น

ข้อมูลนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้มาจากการเผยแพร่แบบฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนกรณีนักเรียน-นักศึกษาถูกคุกคามจากครูอาจารย์ สถานศึกษา หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันยังได้รับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์สายด่วนและข้อความเป็นระยะตั้งแต่ 17 ส.ค. 2563

ในเวลา 3 วัน ระหว่าง 17-19 ส.ค. 2563 พบว่า มีผู้ร้องเรียนเข้ามาในช่องทางต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งจากการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติม รวม 103 กรณี 

ในจำนวนเรื่องร้องเรียนและเรื่องติดตาม 103 กรณีดังกล่าว สามารถแยกเป็นกรณีในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 56 กรณี, ภาคเหนือ จำนวน 8 กรณี, ภาคอีสาน จำนวน 29 กรณี และภาคใต้จำนวน 10 กรณี

เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ยังนับเฉพาะกรณีที่ถูกคุกคาม-ปิดกั้นจากการแสดงออกทางการเมือง ได้แก่ การชูสามนิ้ว การผูกโบว์ขาว และการชูกระดาษเปล่า ขณะเดียวกันยังมีข้อร้องเรียนการถูกคุกคามจากปัญหาอื่นๆ ในสถานศึกษาอีกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น ปัญหาเรื่องทรงผมนักเรียน การล่วงละเมิดทางเพศหรือทางจิตใจในโรงเรียน การยึดโทรศัพท์นักเรียน หรือผลกระทบจากกฎระเบียบที่นักเรียนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

รูปแบบการละเมิด เช่น ถูกสถานศึกษาสั่งห้ามชูสามนิ้ว ติดโบว์ขาว หรือประกาศห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมการเมือง ขัดขวางการชูสามนิ้วด้วยการตบหัว ตีมือ ตบโทรศัพท์ ยึดอุปกรณ์แสดงออกของนักเรียน ถูกครูตำหนิ ด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ถูกครูข่มขู่จะเรียกผู้ปกครอง หรือลงโทษในรูปแบบต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอดส่องในโรงเรียนและเรียกนักเรียนคุย เป็นต้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนย้ำว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียง “ตัวอย่าง” จำนวนหนึ่งของเหตุการณ์ปิดกั้นคุกคามที่นักเรียนร้องเรียนเข้ามา และที่ปรากฏเป็นข่าวสาธารณะ แต่ในสถานการณ์ที่ความตื่นตัวแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กและเยาวชนจึงน่าจะเป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าตัวเลขและตัวอย่างในรายงานนี้อีกมาก 

ขณะเดียวกันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังมีข้อสังเกตว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ยังมีความซับซ้อนหลายระดับ เมื่อนักเรียนที่ถูกละเมิดบางส่วนไม่กล้าออกมาเปิดเผยข้อมูลการถูกคุกคาม บางกรณีก็ถูกครูข่มขู่ไม่ให้เผยแพร่ข้อมูล ให้ลบหรือยุติการเผยแพร่หลังนักเรียนทวิตถึงปัญหา หรือกระทั่งข่มขู่จะลงโทษ ทำให้นักเรียนเลือกที่จะเงียบมากกว่า และอาจได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดอยู่เพียงลำพัง แต่ก็ยังมีบางโรงเรียนที่มีรายงานข่าวว่า ทางผู้บริหารหรือครูได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก และไม่ได้มีการปิดกั้นกิจกรรมของนักเรียนด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net