Skip to main content
sharethis

สื่อวิเคราะห์ผู้นำเผด็จการเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก อดีตคนคุมฟาร์มหมูรวมของสหภาพโซเวียตที่กลายเป็นผู้นำเผด็จการที่มีลักษณะเฉพาะตัว สร้างภาพลักษณ์ต่อต้าน "คนโกง" และ "ระบบที่ไร้ศีลธรรม" แต่ก็ปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างโหดเหี้ยม ทั้งอุ้มหาย จับกุม และคุกคาม รวมถึงกรณีการเลือกตั้งล่าสุดที่คุกคามและเหยียดเพศฝ่ายตรงข้าม

ตลอดช่วง 26 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก สร้างระบอบของตัวเองขึ้นมาด้วยภาพลักษณ์เผด็จการที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ในตอนนี้เขากำลังต้องเผชิญกับการต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เขาปกครองประเทศมา จากกลุ่มผู้ประท้วงหลายแสนคนอย่างต่อเนื่องมานานมากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว

สื่อนิวยอร์กไทม์พูดถึงผู้นำเผด็จการแบบลูกาเชงโกว่า เขาเป็นคนที่สั่งให้นายพลของตัวเองต้องวันทยาหัตถ์ทำความเคารพลูกชายวัยรุ่นของเขาที่มีความชื่นชอบชุดทหารแบบเดียวกับพ่อตัวเอง ลูกาเชงโกเป็นคนที่บงการหน่วยงานความมั่นคงที่ทำให้ประชาชนสาบสูญ พอถึงช่วงที่มีเหตุการณ์ COVID-19 เขาก็บอกให้ประชาชนออกไปเล่นฮ็อกกี้ ขับรถแทรกเตอร์ ไม่ต้องกังวลอะไร

ลูกาเชงโกเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งอยู่มานานมากที่สุดของกลุ่มผู้นำประเทศที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตในอดีต เขาเป็นประมุขที่เปรียบเสมือนรัฐแบบผู้ปกครองคนเดียวผิดกับเผด็จการหลายประเทศที่เป็นรัฐแบบผู้ปกครองพรรคเดียว นิวยอร์กไทม์ระบุว่าตลอด 26 ปีที่ผ่านมาลูกาเชงโกเปลี่ยนให้เบลารุสกลายเป็นประเทศเผด็จการอำนาจนิยมที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียกับประเทศสมาชิกนาโตอย่างโปแลนด์

ลูกาเชงโกพยายามตรึงอำนาจตัวเองไว้ท่ามกลางการประท้วงของประชาชน เขาอาจดูเหมือนกับสิ่งโบราณตกค้างจากยุคสมัยสงครามเย็นที่ถูกลืมหรือไม่มีใครสนใจจากการที่ลูกาเชงโกเคยเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยฟาร์มหมูรวมของสหภาพโซเวียต แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตว่าในตอนที่วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำอำนาจนิยมของรัสเซียขึ้นมามีอำนาจเขาประกาศว่าจะ "ชำระล้าง" รัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกาเชงโกเคยให้คำมั่นไว้คล้ายๆ กันกับประเทศตัวเอง

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเบลารุสเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมาถูกกล่าวหาว่ามีการโกงอย่างหนักจนกลายเป็นแค่ปาหี่ในสายตาหลายคนและหลายประเทศของโลกยังกลายเป็นเสมือนแบบทดสอบสำหรับลูกาเชงโก ว่าการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเขานั้นจะทำให้เขาอยู่ในอำนาจได้หรือไม่ กระนั้นก็มีประชาชนนับแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงเขา

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าลูกาเชงโกพยายามโต้ตอบการชุมนุมด้วยการส่งสัญญาณในเชิงแสดงอำนาจทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้เฮลิคอปเตอร์บินวนรอบทำเนียบประธานาธิบดี ลูกาเชนโกและลูกชายถือปืนกลขณะตรวจแถวตำรวจปราบจลาจล นอกจากนี้ยังมีการใช้โวหารในทำนองว่ากองทัพต้องเตรียมพร้อม "ต่อต้านการรุกราน" จากนาโต

นิวยอร์กไทม์ยังได้นำเสนอการสร้างเรื่องเล่าของลูกาเชงโกตั้งแต่ปี 2536 ไม่ว่าจะเป็นการใช้โวหารว่าจะต่อต้าน "ความวุ่นวาย" และ "คนคดโกง" การสร้างเรื่องเล่าว่าชาวเบลารุสเป็น "ตัวประกันของระบบที่เลวร้าย ไร้ศีลธรรมและไร้ระเบียบ ที่คอยบงการและหลอกลวงผู้คน" สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้เขาดูกลายเป็นเทวทูตผู้ชำระล้างที่มาปราบปรามชนชั้นนำ

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าลูกาเชงโกยังเคยอ้างอิงคำของอับราฮัม ลินคอร์น ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง แต่ขณะเดียวกันก็ใช้โวหารในทำนองว่า "การสิ้นสุดของอนาธิปไตยมาถึงแล้ว" ลูกาเชงโกยังเคยบอกกับ จอร์จ โครล ทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ที่อยู่ในเบลารุสในสมัยนั้นว่าตนเองรู้สึกมีความเกี่ยวดองกับบิล คลินตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้น

โครลวิเคราะห์ว่าลูกาเชงโกพยายามสร้างภาพตัวเองให้ดูเป็น "ประชานิยม" ที่มาโปรดคนที่ผิดหวังจากประชาธิปไตย, ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และชนชั้นนำพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ผู้คนมองว่าลูกาเชงโกก็เป็นแค่คนหยาบๆ คนหนึ่ง แต่พวกเขาได้มองข้ามเล่ห์เหลี่ยมไร้ปราณีของลูกาเชงโกไป

เพราะว่าในปัจจุบันแม้แต่ประชาชนที่เคยสนับสนุนเขาเมื่อราว 26 ปีที่แล้วก็ออกมาประท้วงเขาบนท้องถนน อเล็กซานเดอร์ เฟดูตา ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงให้กับลูกาเชงโกในปี 2537 กล่าวว่า ลูกาเชงโกเป็นผู้ทำลายระบบเดิมแต่ในตอนนี้เขาทำให้ตัวเขากลายเป็นระบบเสียเอง

ลูกาเชงโกพยายามกล่าวหาการประท้วงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเป็นแค่การเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ที่มีชีวิตสบายเกินไปหรือไม่ก็อ้างว่าเป็นการวางแผนแทรกแซงจากต่างชาติ และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาก็เดินทางไปที่ทางตะวันตกของประเทศเพื่อพยายามเรียกคะแนนจากฐานเสียงของเขาที่เริ่มหดหายไป แต่โดยรวมแล้วตอนนี้ลูกาเชงโกก็เน้นพึ่งพาความจงรักภักดีของฝ่ายความมั่นคงของตัวเองเป็นหลัก

อีกส่วนหนึ่งที่จะส่งผลต่อลูกาเชงโกคือประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียที่สามารถให้คุณให้โทษกับลูกาเชงโกมานาน แต่ความเป็นพันธมิตรของพวกเขาก็ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเดือนที่แล้วนี้เองเขาเพิ่งกล่าวหาว่ารัสเซียพยายามจะโค่นล้มเขา แต่เมื่อไม่นานนี้ลูกาเชงโกกลับเห็นว่ารัสเซียเป็ยเพราะคุ้มกันที่ดีที่จะช่วยให้พวกเขาต่อต้านกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติในเรื่องข้อหาการโกงการเลือกตั้งได้

อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเบลารุส ไนเกล โกล์ด-ดาวีส์ พูดถึงระบบการเมืองในเบลารุสว่าเป็นแบบเน้นที่ตัวบุคคลคนๆ เดียวคือลูกาเชงโก ไม่มีการถ่วงดุลจากพรรคการเมืองและองค์กรอิสระใดๆ ระบบเศรษฐกิจในเบลารุสยังมีอิทธิพลจากสมัยโซเวียตอยู่มากจากการที่รัฐเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่มีลูกาเชงโกเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด อีกทั้งยังมีการฟื้นคืนกลุ่มยุวชนจงรักภักดีต่อรัฐบาลแบบสมัยสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ในอีกชื่อหนึ่งคือ "ลูกาโมล" ทั้งนี้ยังมีคนมองว่าลูกชายอายุ 15 ปีของลูกาเชงโก นิโคไล อาจจะถูกวางตัวไว้เป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของเขาโดยที่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ

โกล์ด-ดาวีส์ ในปัจจุบันทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันนานาชาติเพื่อการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เขาเล่าว่าในเบลารุสเวลาที่เขาเข้าร่วมงานพบปะที่ประธานาธิบดีเป็นคนจัดนั้นแทนที่จะจับมือกับลูกาเชงโกคนเดียวเขาต้องจับมือกับลูกชายของลูกาเชงโกด้วยถึงแม้ในตอนนั้นจะอายุเพียง 5 ปี นายพลในกองทัพเบลารุสต้องทำความเคารพต่อลูกชายของลูกาเชงโก ไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการว่าแม่ของเขาเป็นใคร แต่ก็มีผู้คนลือว่าน่าจะเป็นอดีตแพทย์ของลูกาเชงโกเอง

โกล์ด-ดาวีส์ บอกว่ารัฐบาลของลูกาเชงโกอาจจะดูมีระบบที่แปลกแต่ก็ไม่ได้น่าขัน ในทางตรงกันข้ามกลับน่ารังเกียจอย่างมาก รัฐบาลลูกาเชงโกมักจะคุกคาม จับกุมคุมขัง และแม้กระทั่งทารุณกรรม คนที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง มีบางส่วนถูกทำให้หายสาบสูญ ถึงแม้ว่าจะไม่ขั้นระดับเกาหลีเหนือก็ตาม

มีการตั้งข้อสังเกตในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอีกว่า เมื่อคู่แข่งของลูกาเชงโกคือ สเวตลานา ทิคานอฟสกายา ลงชิงตำแหน่ง ลูกาเชงโกก็ใช้วิธีเหยียดเพศกล่าวหาว่าทิคานอฟสกายา "อ่อนแอ" เพราะเป็นผู้หญิงจึง "ไม่เหมาะ" ที่จะมาเป็นจะมาเป็นประธานาธิบดี แอนดริว วิลสัน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนวิเคราะห์ท่าทีแบบนี้ของลูกาเชงโกว่าเป็นการโต้ตอบด้วย "ความหยาบคายอย่างมาก" เนื่องจากเขากลัวว่าทิคานอฟสกายาจะชนะการเลือกตั้งได้จริง วิลสันเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเบลารุสชื่อว่า "เบลารุส : เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป"

นอกจากนี้ยังมีกรณีการข่มขู่คุกคามทิคานอฟสกายาเกิดขึ้นหลังจากที่เธอร้องเรียนว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ทางการใช้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงควบคุมตัวทิคานอฟสกายาเอาไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมงและบีบบังคับให้เธอพูดออกวิดีโอเสมือนถูกจับเป็นตัวประกันว่าอย่าให้ผู้สนับสนุนเธอออกมาประท้วง หลังจากนั้นในคืนเดียวกันทิคานอฟสกายาก็ลี้ภัยไปลิธัวเนีย

มีคนวิเคราะห์ตัวตนของลูกาเชงโกไว้ว่าเป็นคนที่โหดเหี้ยมมานานแล้วตั้งแต่สมัยเป็นหัวหน้าฟาร์มหมูรวมของสหภาพโซเวียต เคยมีหลักฐานออกมาในช่วงก่อนหน้าที่เข้าจะเข้าสู่การเมืองเบลารุสระบุว่าเขาใช้กำลังทำร้ายคนงานฟาร์มหมูโฮโรเดต วาเลอรี คาร์บาเลวิช คนเขียนชีวประวัติของลูกาเชงโกเป็นภาษารัสเซียกล่าวว่าลูกาเชงโกเป็นคนที่ "บ้าอำนาจ" และ "ไม่มีชีวิตครอบครัวหรือเพื่อน" และไม่มีจินตนาการเลยว่าเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าไม่ได้เป็นผู้นำ

มีอดีตนักการทูตชื่ออังเดร ซานนิคอฟ ที่เคยถูกคุมขังและทารุณกรรมหลังจากที่ลงชิงตำแหน่งแข่งกับลูกาเชงโกในปี 2553 เล่าว่าลูกาเชงโก "เสียสติและโหดร้ายมาก" และบอกว่าเป็นคนที่ "พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ"

ประเด็นที่น่าสนใจสุดท้ายคือความสัมพันธ์ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างรัสเซียกับลูกาเชงโก ในช่วงยุคหลังสงครามเย็น ลูกาเชงโกพยายามผลักดันให้มี "รัฐสหภาพ" ที่มีการรวมประเทศแบบหลวมๆ ระหว่างเบลารุสกับรัสเซีย ลูกาเชงโกเชื่อว่าจากสุขภาพที่ย่ำแย่ของประธานาธิบดีบอริส เยลซิน ในยุคนั้นจะทำให้เขาสามารถครองอำนาจรัฐสหภาพนี้ได้ หลังจากนั้นวิทยุของเบลารุสก็เพิ่มการโจมตีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีของรัสเซียและชื่นชมว่าลูกาเชงโกทำให้เบลารุสรอดพ้นจากระบบนี้มาได้อย่างไร

แต่หลังจากที่เยลซินป่วยหนักและได้ปูตินสืบทอดทางการเมือง ท่าทีระหว่างปูตินกับลูกาเชงโกอาจจะไม่ได้ชื่นมื่นนักแต่รัสเซียก็คอยให้เชื้อเพลิงราคาถูกกับเบลารุสทำให้อุ้มเศรษฐกิจของเบลารุสจนลูกาเชงโกได้รับการสนับสนุนมามากกว่าหนึ่งทศวรรษ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเบลารุสก็ถดถอยลงและรัสเซียก็เริ่มเบื่อลูกาเชงโก ไม่พอใจที่เขาพยายามเกี้ยวประเทศตะวันตกอยู่เป็นพักๆ และการที่ลูกาเชงโกยกเลิกการจัดตั้งรัฐสหภาพที่เขาเคยเสนอ ทำให้รัสเซียลดความช่วยเหลือด้านพลังงานลงแก่เบลารุส และในช่วงต้นปีนี้ก็ถึงขั้นหยุดการสนับสนุนโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจเบลารุสก็ดิ่งลงไปพร้อมกับความนิยมในตัวลูกาเชงโก

คาร์บาเลวิชกล่าวว่า เช่นเดียวกับเผด็จการรายอื่นๆ ที่เกาะกุมอำนาจมายาวนาน ลูกาเชงโกสูญเสียความเชื่อมโยงกับประชาชน กับสังคม เขาไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็น "คนนอกที่ต่อสู้กับกลุ่มชนชั้นนำอีกแล้ว" แต่กลายเป็นมีภาพลักษณ์ว่าเป็น "ผู้นำของชนชั้นนำเสียเอง"

เรียบเรียงจาก

Belarus Protests Test Limits of Lukashenko’s Brutal, One-Man Rule, New York Times, 24-08-2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net