กรีนพีซระบุไฟป่าอินโดฯ เชื่อมโยงกับความรุนแรงโควิด-19 แต่รัฐบาลอาเซียนเพิกเฉย

รายงานกรีนพีซระบุรัฐบาลอาเซียนเพิกเฉยต่อผลกระทบจากไฟป่าที่อินโดฯ คนไทยหลายหมื่นป่วยจากสาเหตุดังกล่าว เผยมลพิษจากไฟป่านอกจากก่อปัญหาสุขภาพมากมายยังเชื่อมโยงกับความรุนแรงของโควิด-19


 ภาพโดย Ulet Ifansasti / Greenpeace 

9 ก.ย. 2563 วันนี้ รายงานฉบับใหม่ของกรีนพีซ (จาการ์ตา) ระบุว่ารัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพจากไฟป่าและป่าพรุของอินโดนีเซีย รายงาน The ‘Burning Up’ นำเสนอผลการวิเคราะห์จากการรวบรวมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นานสองทศวรรษเพื่อเปิดโปงหายนะนานนับทศวรรษจากการทำลายป่าไม้และไฟป่าต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รายงานฉบับนี้ยังแสดงความกังวลว่ามลพิษทางอากาศจากไฟป่าอาจเพิ่มความเสี่ยงจากการติดเชื้อ Covid-19 และจะสามารถยกระดับความรุนแรงให้มากขึ้นได้

จากการศึกษาที่ทำขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 และอีกการศึกษาจาก 355 เขตเทศบาลในเนเธอร์แลนด์ ที่ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 พบว่าการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของมลพิษในอากาศมีความเกี่ยวข้องแบบวัดผลได้กับอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น รายงาน ‘Burning Up’ นำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายว่ามลพิษทางอากาศสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อ Covid-19 ได้อย่างไร หนึ่งในเหตุผลที่อาจเป็นไปได้คือเมื่อเซลล์ปอดสัมผัสกับมลพิษก็จะสร้างตัวรับ (receptor) หรือ “ประตู” ที่เรียกว่า AEC2 และไวรัส COVID จะทำให้เซลล์ติดเชื้อด้วยการใช้หนามของมันเป็น “กุญแจ” เพื่อปลดล็อคประตูนี้

‘Burning Up’ ได้สำรวจผลกระทบจากวิกฤตไฟป่าของอินโดนีเซียต่อประเทศเพื่อนบ้าน เจ็ดจากสิบประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ได้รับผลกระทบจากหมอกควันพิษจากไฟป่า การศึกษาด้านสุขภาพในประเด็นผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจาก อินโดนีเซีย สู่ มาเลเซีย สิงค์โปร์ ไทย และบรูไน พบว่าหมอกควันพิษได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคปอด หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์ได้ระบุว่าภาวะที่มีมาก่อนนี้ (preexisting conditions) เพิ่มความรุนแรงให้กับ Covid-19

หลังหายนะใหญ่จากฤดูไฟป่าในปี พ.ศ. 2558 ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ที่ 24 คน อย่างไรก็ตามในปี 2559 นักระบาดวิทยาจาก ฮาร์วาร์ด และโคลัมเบีย ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากหมอกควันหลายหมื่นคน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าไฟป่าในปี พ.ศ. 2558 ได้สร้างสถิติ “ปีที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา” 

รุสมัดยา มหาฤดดิน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า

“ไฟป่าซึ่งมาจากการทำลายป่าไม้และป่าพรุเพื่อการปลูกปาล์มน้ำมันและไม้เพื่อทำเยื่อไม้เป็นสาเหตุของการตายและความเดือดร้อนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เราทราบกันแล้วว่า Covid-19 อาจเป็นหายนะสำหรับคนที่มีภาวะทางสุขภาพมาก่อนหน้า แต่หลังจากที่ต้องสูดดมควันพิษอยู่หลายปี มันรู้สึกว่าพวกเรากำลังเข้าสู่การต่อสู้แบบมัดมือชก งานวิจัยพบว่าควันจากไฟป่ากำลังทำร้ายสุขภาพของเด็ก ๆ ในอินโดนีเซีย และกุมารแพทย์กำลังบอกว่าสุขภาวะที่ย่ำแย่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศมี อัตราการตายของเด็กจาก Covid-19 สูงที่สุดประเทศหนึ่ง

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“คนไทยหลายหมื่นคนกำลังเจ็บป่วยเนื่องด้วยหมอกควันพิษข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซีย ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าไม้และปกป้องป่าพรุ แต่อินโดนีเซียกลับทำตรงกันข้าม บริษัทที่ปลูกพืชอย่างทำลายล้างยังคงหลีกเลี่ยงกฎหมายและรอดพ้นจากถูกลงโทษ ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้คนมากว่าผลกำไรของบริษัท และเรียกร้องให้อินโดนีเซียเปิดเผยข้อมูลว่า ใครเป็นผู้ดูแลพื้นที่และไฟกำลังไหม้อยู่ที่ไหน รัฐบาลของประเทศอาเซียนสามารถกำหนดให้บริษัทต่างชาติแสดงความรับผิดชอบต่อการเพาะปลูกของพวกเขาในอินโดนีเซีย” 

เฮง เกีย ชุน ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซ มาเลเซีย กล่าวว่า

“ควันจากไฟป่า อินโดนีเซีย ในปี 2558 เป็นเหตุให้ผู้คนนับพันต้องเสียชีวิต แต่ในตอนนั้นรัฐบาลของพวกเรากลับบอกว่าไม่มีผู้เสียชีวิต ความจริงอันสกปรกคือบริษัทเพาะปลูกจากมาเลเซียยังคงมีส่วนในหมอกควันพิษ เราไม่สามารถสวมหน้ากากได้ต่อไปอีกนานนับปี เราจะต้องมีมาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนนี้โดยเร็ว”

อ่านเพิ่มเติม: บทคัดย่อรายงาน  Burning Up : ผลกระทบด้านสุขภาพจากไฟป่าในอินโดนีเซียและผลกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด -19 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท