Skip to main content
sharethis

คณะกรรมาธิการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ออกคำสั่งเบื้องต้นให้เฟซบุ๊กหยุดถ่ายโอนข้อมูลของผู้ใช้งานในยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันการสอดแนมข้อมูล

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 คณะกรรมาธิการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ออกคำสั่งเบื้องต้นให้เฟซบุ๊กหยุดถ่ายโอนข้อมูลของผู้ใช้งานในยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกา และเฟซบุ๊กยืนยันว่ามีการส่งคำสั่งนี้ถึงพวกเขาจริง

บุคคลผู้ใกล้ชิดกับสถานการณ์แสดงความเห็นต่ออินดิเพนเดนต์ดอทไออีของไอร์แลนด์ว่า คำสั่งนี้เป็นพัฒนาการในทางที่ดี และเป็นผลจากการตัดสินของศาลยุโรปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ สั่งคว่ำข้อตกลงการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก หมายความว่า คำสั่งนี้จะทำให้ความชอบด้วยกฎหมายของ "ข้อสัญญามาตรฐาน" (Standard Contractual Clauses หรือ SCCs) ที่บริษัทสัญชาติไอร์แลนด์และยุโรปจำนวนมากใช้ในการถ่ายโอนข้อมูลใกล้จะถูกยกเลิก และอาจจะสร้างความโกลาหลต่อเศรษฐกิจโลกได้ในระยะสั้น

นิค เคลก รองประธานฝ่ายกิจการนานาชาติและการสื่อสารของเฟซบุ๊กแถลงว่า คณะกรรมาธิการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์เริ่มตรวจสอบการควบคุมการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ของเฟซบุ๊ก ก่อนมีคำแนะนำว่า ไม่สามารถนำ SCCs มาใช้ในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ได้ในทางปฏิบัติ

เคลกผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของอังกฤษแถลงต่อไปว่า ผลกระทบในเรื่องนี้ “อาจจะเกิดกับธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ในหลายภาคส่วน สถานการณ์เลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้นที่เทคสตาร์ตอัพขนาดเล็กในเยอรมนีไม่สามารถใช้บริการคลาวด์จากผู้ให้บริการที่มีฐานอยู่ที่สหรัฐฯ หรือบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์สัญชาติสเปนไม่สามารถดำเนินการผลิตข้ามไทม์โซน หรือผู้ค้าปลีกฝรั่งเศสไม่สามารถคงคอลเซ็นเตอร์ในโมร็อกโก" เคลกยังอ้างอีกว่า การยกเลิกกลไกการถ่ายโอนข้อมูลนี้ อาจกระทบถึงแอปพลิเคชันติดตามโควิดในไอร์แลนด์อีกด้วย

ในด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว คำสั่งนี้ถือเป็นความก้าวหน้า เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทอย่างเฟซบุ๊กเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากยุโรปส่งไปยังสหรัฐฯ ในขณะที่ยุโรปยังไม่มีกลไกที่ดีพอในการป้องกันการสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้

เฟซบุ๊กจะต้องปรับเปลี่ยนบริการของตนเองเพื่อกำจัดข้อมูลของผู้ใช้ชาวยุโรปที่พวกเขาเก็บเอาไว้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็จะต้องยกเลิกการให้บริการแก่ชาวยุโรปในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมดอย่างน้อยชั่วคราว หากเฟซบุ๊กไม่สามารถปฏิบัติตามในแง่นี้คณะกรรมมาธิการของไอร์แลนด์มีอำนาจสั่งปรับเฟซบุ๊กได้สูงสุด 2,800 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้ต่อปีของเฟซบุ๊ก

คำสั่งในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของนักรณรงค์ด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวของยุโรป ที่เคยเรียกร้องต่อหน่วยงานตรวจสอบและต่อสู้ในศาลเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่บริษัทในสหรัฐฯ เพราะอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกดูข้อมูลด้วยวิธีการที่ไม่โปร่งใสได้


เรียบเรียงจาก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net