Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมวิจารณ์เรื่องขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ที่รากฐานมุมมองแบบเหยียดเชื้อชาติสีผิว จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้มีบางองค์กรที่ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ รวมถึงมีการเสนองานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการให้ชนพื้นเมืองหรือคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งในเชิงปฏิบัติการและการเสนอนโยบาย ไม่ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ของตัวเอง จะส่งผลดีมากกว่าการอนุรักษ์แบบเบียดขับคนท้องถิ่นและ "สร้างกำแพง" ให้กับ "ธรรมชาติ"

ที่มาภาพจาก pixnio

ประกาช กัชวัน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการวิจัยสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของสถาบันสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งคอนเนคติคัท เปิดเผยในบทความของเขาว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการเหยียดเชื้อชาติสีผิวแฝงอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการยุติธรรม ในกีฬา หรือในวัฒนธรรมป็อบ อย่างไรก็ตามชาวอเมริกันก็เริ่มเล็งเห็นมากขึ้นว่ามีวัฒนธรรมเหยียดเหล่านี้แฝงอยู่ในหลายภาคส่วนของชีวิต รวมถึงในขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมเองด้วย

เมื่อไม่นานนี้ เซียร์ราคลับ หนึ่งในองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกาศยอมรับว่าในอดีตผู้ก่อตั้งของพวกเขามีแนวคิดแบบเหยียดเชื้อชาติสีผิวมาก่อน ผู้ก่อตั้งองค์กรพวกเขาอย่าง จอห์น มูร์ ก็เคยเขียนถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมอเมริกาและคนดำว่า "สกปรก, ขี้เกียจ และไร้อารยธรรม" ในบทความที่ต้องการส่งเสริมอุทยานแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการบริหารเซียร์ราคลับคนปัจจุบันคือ ไมเคิล บรูเน ได้ระบุยอมรับเมื่อเดือน มิ.ย. ปีนี้ว่า ในช่วงที่ผู้ประท้วงสนับสนุนความเป็นธรรมทางเชื้อชาติสีผิวต่อคนดำรื้ออนุสาวรีย์เหยียดเชื้อชาติทั่วประเทศพวกเขาก็ต้องพิจารณาอดีตของตัวเองรวมถึงบทบาทของพวกเขาเองด้วยว่ามีส่วนในการเกื้อหนุนต่อแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่อย่างไรบ้าง

กัชวันบอกว่าถึงแม้จะเป็นการแสดงออกท่าทีที่น่าชื่นชม แต่จากการทำการวิจัยในที่ต่างๆ หลายแห่งในโลกแล้วสำหรับกัชวันปัญหาไม่ได้มีอยู่แต่จากเซียร์ราคลับ แนวคิดเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบอเมริกันที่แฝงการเหยียดเชื้อชาติสีผิวนี้ได้ส่งอิทธิพลกระจายไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามที่ต่างๆ ทั่วโลก สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือการวามกรรมการอนุรักษ์ที่มีอคติกับชุมชนท้องถิ่นแต่เน้นปกป้องผืนป่าที่ดูบริสุทธิ์ วาทกรรมที่มีอำนาจนำแบบนี้เองที่กลายเป็นการละเลยกลุ่มชนพื้นเมืองและคนจนอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยผืนดินเหล่านี้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่ปกปักษ์รักษษธรรมชาติในพื้นที่เหล่านั้นได้มีประสิทธิภาพมากกที่สุดก็ตาม

การเหยียดเชื้อชาติสีผิวจากนักอนุรักษ์ในอเมริกาย้อนไปไกลได้ก่อนหน้ายุคสมัยของมูร์ เมื่อ จอห์น เจมส์ ออดูบง นักวาดภาพและนักสิ่งแวดล้อมที่เป็นผู้ถือครองทาสนำเสนอผลงานของเขาในชื่อ "นกแห่งอเมริกา" ในสมัยปี 2370-2381 เขาใช้งานกลุ่มคนดำและชนพื้นเมืองในการเก็บข้อมูลและการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต แต่แทนที่จะให้เครดิตพวกเขากลับแค่พูดถึงพวกเขาว่าเป็น "มือไม้" ที่เดินทางไปด้วยกันกับคนขาว

แม้แต่องค์กรของออดูบงในยุคปัจจุบันคือเดอะเนชันแนลออดูบงโซไซตีก็ถอนประวัติส่วนตัวของออดูบงออกจากเว็บไซต์โดยระบุว่าการที่ออดูบงเคยมีส่วนร่วมในการค้าทาสมาก่อนถือเป็น "ส่วนที่ท้าทายต่อตัวตนและการกระททำของเขา" นอกจากนี้ยังประณามออดูบงโดยตรงเกี่ยวกับบทบาทของเขาที่มีต่อการใช้ทาสคนดำและการสืบทอดวัฒนธรรมคนขาวเป็นใหญ่

บทความยังมีการวิจารณ์อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประธานาธิบดีสิ่งแวดล้อมคนแรกของสหรัฐฯ แต่รุสเวลต์เองก็เป็นนักล่าสัตว์ตัวยงที่เคยนำการล่าสัตว์ครั้งใหญ่ในเคนยาในนาม "สมิทธ์โซเนียน-รูสเวลต์แอฟริกันเอ็กซ์เพดิชัน" ในปี 2452-2453 ในตอนนั้นรุสเวลต์และพรรคพวกของเขาสังหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นช้าง, ฮิปโป, แรดขาว ไปมากกว่า 11,000 ตัว

รูสเวลต์อ้างว่าการล่าสัตว์ของเขาดีต่อธรรมชาติเพราะมันกระตุ้นให้เขาอยากอนุรักษ์แต่แนวคิดแบบนี้เองที่กัชวันมองว่าเป็นมายาคติความเข้าใจผิดในโลกสมัยใหม่ที่คิดไปเองว่าการที่คนรวยล่าหัวสัตว์มาประดับบ้านเรือนตัวเองโดยที่ซื้อใบอนุญาตล่าจากรัฐบาลซึ่งรายได้จะนำไปจ่ายให้กับอารอนุรักษ์ในแอฟริกานั้นเป็นสิ่งทีช่วยการอนุรักษ์ แต่กัชวันระบุว่ามีหลักฐานน้อยมากสนับสนุนเรื่องนี้ แต่การล่าสัตว์เพื่อเป็นของที่ระลึกแบบนี้กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลอ้างใช้ขับไล่ชุมชนท้องถิ่นออกจากพื้นที่เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่ล่าสัตว์

อีกปัญหาหนึ่งของนักอนุรักษ์ตะวันตกคือข้ออ้างที่ว่า จำนวนประชากรที่มากเกินไปเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้มาจากแนวคิดของนักนิเวศวิทยา อัลโด ลีโอโปลด์ บิดาของระบบการจัดการป่าไม้สหรัฐฯ แนวคิดนี้มีปัญหาตรงที่ว่ามันเป็นการกล่าวโทษชาติที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจน้อยกว่าว่าเป็นตัวปัญหา ไม่เพียงลีโอโปลด์เท่านั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าข้ออ้างนี้ถูกนำมาใช้แม้แต่จากพระโอษฐ์ของเจ้าชายวิลเลียมแห่งสหราชอาณาจักรและนักวานรวิทยาชื่อดัง เจน กูดออล

กัชวันชี้ว่าข้ออ้างดังกล่าวนี้ไม่เป็นความจริง มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุสรุปไปในทางตรงกันข้ามว่าสิ่งที่เป็นปัญหาต่อสิ่วแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่จำนวนประชากร แต่เป็นวิถีชีวิตแบบที่บริโภคพลังงานจำนวนมากของกลุ่มคนรวยในประเทศโลกที่หนึ่งต่างหาก เช่น มีงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนรวยร้อยละ 10 ของโลกสร้างมลภาวะก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากลุ่มประชากรร้อยละ 90 ที่ไม่ใช่คนรวยรวมกัน

เรื่องต่อมาที่กัชวันพูดถึงคือการที่วาทกรรมกระแสหลักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ละเลยกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่เหล่านั้น เช่นในสารคดี "ไวลด์คาร์นาตาคา" ไม่มีการพูดถึงกลุ่มชนพื้นเมืองเลยแม้แต่น้อยถึงแม้ว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่จะเป็นคนที่ปกปักษ์รักษามรดกโลกเอาไว้ สารคดีบางชิ้นก็ถึงชั้นไม่ได้ไปถ่ายทำในพื้นที่ป่าจริง รูปแบบการเล่าเช่นนี้กลายเป็นการทำให้กลุ่มคนในพื้นที่ไม่มีตัวตน

ในวาทกรรมการอนุรักษ์ตะวันตกได้สร้างระบบอุทยานแห่งชาติขึ้นมา กัชวันบอกว่าระบบแบบนี้มีปัญหาตรงที่มันเป็นพื้นที่ของกลุ่มชนพื้นเมืองและคนในท้องถิ่นมาตั้งแต่บรรพบุรุษแต่พวกเขากลับถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตัวเองในช่วงที่มีการล่าอาณานิคมจากชาวยุโรปในอเมริกาเหนือ และคามอยุติธรรมแบบเดียวกันนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นในที่อื่นๆ หลายแห่ง จากการวิจัยใน 137 ประเทศพบว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงและมีสถาบันการเมืองแบบไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยเลยมักจะมีสถานที่อุทยานกว้างขวางมาก

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าอุทยานเหล่านี้จะถูกอ้างว่าเป็นพื้นที่จัดไว้เพื่ออนุรักษ์ป่าแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อโกงและระบบการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์รวมถึงผู้จัดซาฟารีก็หาผลประโยชน์จากอุทยานเหล่านี้ โดยจัดพื้นที่ไว้ให้แต่เฉพาะกลุ่มคนจากประเทศโลกที่หนึ่งแต่กีดกันไม่ให้คนที่เคยเป็นคนในพื้นที่เข้าไปหาของอุปโภคบริโภคพร้อมกับจัดการดูแลป่าในแบบของพวกเขาเองได้

มีนักวิจารณ์เรียกแนวคิดอุทยานแบบปิดกั้นนี้ว่า "การอนุรักษ์แบบล้อมกำแพงฐานทัพ" ซึ่งทำให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นแทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของป่าร้อยละ 80

แล้ววิธีการอนุรักษ์แบบไหนถึงจะดีกว่า กัชวันเสนอว่าการจะแก้ปัญหาได้ต้องเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนจากระบบที่กีดกันคนในท้องถิ่นเหล่านี้ เพราะมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าการปล่อยให้ชนพื้นเมืองปกป้องผืนป่าของตัวเองได้ผลมากกว่าการปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าไปใช้เลย

กัชวันยกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่เขาเข้าไปศึกษาโดยตรงคือในป่าพื้นที่ใจกลางประเทศอินเดียที่เป็นพื้นที่ของชุมชนชนพื้นเมืองไบกา ชนพื้นเมืองเหล่านี้มีการทำการเกษตรแบบยั่งยืนอยู่แล้วโดยใช้สารเคมีเป็นปุ๋ยน้อยมากและมีการควบคุมการใช้ไฟ ลักษณะการเกษตรที่เป็นทุ่งหญ้าเปิดโล่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้สัตว์กินพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ได้เติบโต ซึ่งนักนิเวศวิทยารู้ดีว่าภูมิประเทศแบบธรรมชาติและการเกษตรยั่งยืนที่ไม่หนาแน่นเกินไปส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้การให้คนเข้าไปใช้งานได้ยังเป็นการส่งเสริมคนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้ดีคือการให้ชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย กัชวันยกตัวอย่างงานวิจัยของตัวเองเกี่ยวกับนโยบายการอนุรักษ์ธรรมชาติในเม็กซิโกเช่นนโยบาย "ป่าชุมชน" ของเม็กซิโกว่าส่งผลดีกว่าในการจัดการความขัดแย้งในเรื่องการใช้ทรัพยากร

กัชวันระบุในบทความว่า "การอนุรักษ์ธรรมชาติในแบบที่เป็นธรรมทางสังคมนั้นจะเป็นไปได้ภายใต้ 2 เงื่อนไขคือ การที่ชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจังในการคุ้มครองทรัพยากรเหล่านั้น" และการที่ชุมชนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมการตัดสินใจเชิงนโยบายได้

"มันชัดเจนสำหรับผมว่า ในระยะยาวแล้ว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะประสบความสำเร็จได้ถ้าหากเพียงแค่มีการส่งเสริมเป้าหมายที่เคารพในการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนและของสรรพชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์" กัชวันระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

The Most Effective Conservation Is Indigenous Land Management, Yes!, 02-10-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net