Skip to main content
sharethis

ประธาน UHOSNET ไม่ขัดนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ผู้มีสิทธิบัตรทองไปรับบริการที่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าหมายถึงหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อไม่ให้หลงไปโรงพยาบาลตติยภูมิจนแออัด พร้อมแนะผู้ป่วยโรคเรื้อรังรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้านกับแพทย์คนเดิมจะดีที่สุดเพื่อความต่อเนื่องในการรักษา

7 ต.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช.รายงานว่า นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ให้ความเห็นถึงมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเห็นชอบข้อเสนอยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ว่า ในประเด็นที่ให้ประชาชนไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทองโดยนำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลนั้น เข้าใจว่าเป็นการเพิ่มความสะดวก เพิ่มทางเลือกแก่ผู้รับบริการให้มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ขัดอะไร แต่ขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าหมายถึงหน่วยบริการปฐมภูมิ ไม่ใช่โรงพยาบาลทุกแห่ง เพราะถ้าไม่เข้าใจก็อาจหลงไปโรงพยาบาลตติยภูมิซึ่งจะทำให้เกิดความหนาแน่น

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (UHOSNET)

ขณะเดียวกัน ตนมองว่าในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังนั้น อยากแนะนำให้ไปรับบริการกับหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านเพื่อความสะดวกในการเดินทางและจะได้รับการดูแลได้ต่อเนื่อง การจะไปรับบริการในหน่วยบริการหลายแห่ง ในระยะยาวตนมองว่าไม่ดี เพราะข้อมูลการรักษาพยาบาลจะอยู่ที่หน่วยปฐมภูมิอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน แต่ไม่แน่ใจว่าข้อมูลจะลงลึกในรายละเอียดทั้งหมดหรือไม่ ขณะที่หน่วยบริการเดิมก็ลำบากเพราะแต่เดิมดูแลคนไข้อยู่ แล้วอยู่ๆ คนไข้ไปรักษาที่อื่น หากวันหน้าเป็นอะไรมาก็อาจกังวลว่าจะดูแลได้ดีหรือไม่ ส่วนสถานบริการที่ไม่ใช่ปฐมภูมิก็อาจกังวลว่าคนไข้จะมาที่โรงพยาบาลหรือไม่เพราะขณะนี้ก็มีความหนาแน่นอยู่แล้ว

"ตรงนี้อยากแนะนำประชาชนว่าถ้าเป็นโรคเรื้อรังควรไปรักษากับหน่วยปฐมภูมิใกล้บ้านจะดีกว่า เพราะการวินิจฉัยและยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูอย่างอื่นด้วย แพทย์แต่ละคนถ้ารักษากันไปนานๆ จะรู้ว่าการตอบสนองต่อยาของคนไข้แต่ละคนเป็นอย่างไร ยาไม่เหมือนขนมที่จะเลือกกินตัวไหนก็ได้ การตอบสนองของยาในแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโรคเรื้อรังอยากแนะนำให้ไปรับบริการจากแพทย์คนเดิม นอกจากนี้ แพทย์ในระบบปฐมภูมิที่อยู่ในพื้นที่อาจไปช่วยดูแลหรือวางมาตรการสร้างเสริมสุขภาพได้ดีกว่า" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

สำหรับประเด็นที่จะให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม เพื่อไม่ให้อาการลุกลามและเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้นั้น นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ในทางนโยบายเข้าใจว่าเป็นการเพิ่มเป็นทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ยังแนะนำเช่นเดิมว่ามะเร็งก็เป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นอยากให้ไปรับบริการตามพื้นที่ที่กำหนดในเขตสุขภาพ

"เข้าใจว่าทาง สปสช.คงจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาวางระบบด้วยกันเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปเก้อ เคสเหล่านี้ไม่ได้เร่งด่วน มีเวลาเป็นวันหรือหลายๆ วันในการจัดคิว เช่น เป็นมะเร็งปากมดลูก ก็จัดคิวว่าหน่วยบริการไหนที่พร้อมรับ แล้วเอาไป Match กับความต้องการของคนไข้ ถ้าคนไข้อาจเลือกโรงพยาบาลในโซนใกล้ๆ บ้านแล้วหน่วยบริการพร้อมรับก็จบ คนไข้ไม่เดินทางไปเก้อ แต่ต้องมาร่วมกันออกแบบระบบ รวมทั้งระบบการจ่ายที่ต้องสอดคล้องกัน" นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net