Skip to main content
sharethis

ภาพจำต่อ 'หมอสุภัทร' คือผู้สนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. แต่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาโพสต์สเตตัสขอโทษต่อความผิดพลาดในอดีต เขารู้แล้วว่าโดนหลอก ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด และคนรุ่นใหม่ก้าวไปไกลมากจริงๆ นี่คือบทสนทนาถึงความคลี่คลายในตัวเขาที่ทำให้เกิด “คำขอโทษจากหัวใจ”

“คำขอโทษจากหัวใจ” เป็นหัวข้อสเตตัสของ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ หมอสุภัทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ที่โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 หลังจากเข้าร่วมชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม

ก็แน่นอนว่าเขาย่อมได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐจากสองฟากทางความคิด อันเนื่องมาจากการสนับสนุนการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. ของ สุภัทร เมื่อปี 2557 ได้กลายเป็นภาพจำและบาดแผลในเวลาเดียวกัน

“บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ผมต้องกล่าวคำว่า ขอโทษ กับน้องนักเรียนนักศึกษาและทุกคนในสังคมไทย ที่ผมได้เข้าร่วมการชุมนุม กปปส. จนนำมาซึ่งการรัฐประหารในครั้งนั้น”

3 ปีก่อน ‘ประชาไท’ สนทนากับเขาครั้งหนึ่ง 3 ปีต่อมาเรากลับมาคุยกับเขาอีกครั้งท่ามกลางบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปและความคลี่คลายทางความคิดของตัวเขาเอง

“เราโดนหลอก”

สุภัทร เคยพูดว่า การเคลื่อนเรื่องฐานทรัพยากรของชุมชนคือหัวใจหลัก ส่วนประชาธิปไตยเป็นเรื่องรอง ถ้าเผด็จการเข้ามารักษาความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน ชุมชนก็รับได้ แต่เขาก็ต้องผิดหวังเพราะไม่ว่าการปกครองแบบไหนก็เลวทั้งนั้น ถึงตอนนี้...

“ที่ผมคิดว่าการปกครองมันเลวเพราะรัฐธรรมนูญมันแย่ กลไกโครงสร้างอำนาจส่วนบนที่ถูกออกแบบไว้มันแย่ มันก็เลยทำให้ระบบการเมืองแย่ ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ดูแลฐานทรัพยากร ไม่ดูแลชุมชน ตอนนี้ชุดความคิดมันก็เปลี่ยนไปพอสมควร คำว่ารัฐธรรมนูญดีจริง มันหมายถึงการกระจายอำนาจสุดขั้วแล้วในทัศนะของผมหลังจากที่ผ่านการทบทวนตัวเองจากกรณีที่น้องๆ ชุมนุมบ้าง จากการต่อสู้ของชาวบ้านอย่างยาวนานในยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ถ้ารัฐธรรมนูญดีจริงหมายถึงกระจายอำนาจโครงสร้างส่วนบน ทำให้ได้รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้และมีการกระจายอำนาจอย่างสุดๆ ไปเลย เช่นอาจจะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคและเน้นการปกครองส่วนท้องถิ่นจริงๆ มีแค่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นนี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริงในทัศนะผม”

สุภัทร กล่าวว่า เขาคิดว่าตนมีส่วนกวักมือเรียกรัฐประหารมาตลอด 6 ปี เราจึงถามเขาว่า ตอนที่เราสนทนากันเมื่อ 3 ปีก่อนแสดงว่าเขายังไม่กล้าที่จะยอมรับสิ่งนี้อย่างนั้นหรือ?

“ใช่ ตั้งแต่รัฐประหารก็คิดแล้ว ว่าเราโดนหลอก ขบวนประชาชนโดนหลอก โดนหลอกอย่างยิ่ง แล้วคนที่รู้สึก วันนี้ก็มีเยอะ ไม่ได้มีแต่ผม แต่ตอนนั้นเราก็ไม่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธอำนาจเผด็จการ ความรู้สึกที่ถูกรัฐประหารมันก็เก็บเอาไว้ว่า มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เลย แล้วยิ่งพอ คสช. มีอำนาจ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยิ่งชัดเจน มันถูกเก็บไว้ยังไม่มีจังหวะที่จะบอกกล่าวผู้คน

“อัตตาด้วยและส่วนหนึ่งก็คือสังคมยังไม่รับกับคำขอโทษของผม คือผมแสดงออกอย่างจะแจ้งมาก เอารถพยาบาลขึ้นกรุงเทพฯ ตอนนั้น ส่วนใหญ่การแสดงออกของผมก็จะแสดงออกในนามของชมรมแพทย์ชนบท ทำหน่วยแพทย์ดูแลคนที่ไปชุมนุม กปปส. คิดเล็กคิดน้อยก็ไม่ได้ทำมัน จนมาถึงช่วงกระแสประชาธิปไตยสูงที่เริ่มมาคิดอย่างจริงจัง”

ความหวังและความผิดหวัง

สิ่งที่ทำให้ สุภัทร เขาร่วมการชุมนุมของ กปปส. คือความหวัง

“เราก็หวังเห็นการปฏิรูปหรือจริงๆ อาจจะมากกว่าปฏิรูป อยากเห็นการปฏิวัติ เห็นการตื่นตัวของภาคประชาชนทั้งประเทศในการปรับระบบโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างข้างบน ซึ่งข้างบนไม่ได้ไปไกลถึงสถาบันนะ ข้างบนก็คือระบบรัฐสภาระบบพรรคการเมืองหรือกลไกการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล แต่ว่ามันไปไม่ถึง แล้วก็บวกด้วยความเป็นหมู่ เป็นพวก ของพี่น้องคนใต้ บวกกับชมรมแพทย์ชนบทและกระแสวิชาชีพแพทย์ ณ เวลานั้น ที่ไปกันอย่างเป็นขบวน

“การรัฐประหารในวันนั้นก็ชัดเจนว่าเรารับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ผมไม่กล้าพอที่จะแสดงออก ก็กลับมาตั้งฐานกับชาวบ้านทำงานพื้นที่ ช่วงนั้นมีประเด็นเรื่องถ่านหินไม่ถ่านหิน เริ่มมาก็มีการรวมกันครั้งสำคัญคือขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ที่จะเดินไปกรุงเทพฯ ผมก็ร่วม เดินได้ 2 วันก็โดนจับ โดนไปปรับทัศนคติ”

พลังของนักศึกษาและคำขอโทษ

แต่เพราะในอดีตเขาเคยอยู่ในขบวนการนักศึกษา เคยมีบทบาทในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 การได้เห็นพลังของนักศึกษาในรอบนี้จึงเป็นความงดงามและยิ่งใหญ่ มันมีพลังงานมากพอที่จะทำให้เขาละวางสิ่งที่เคยยึดถือและเอ่ยขอโทษ

“พอน้องๆ นักศึกษาขึ้นมาทำการรณรงค์ขนาดนี้ผมก็รู้สึกว่าอยากเข้าร่วมขบวน อยากจะสนับสนุนน้องๆ แต่มันก็ชัดว่ามีอุปสรรคสำคัญมากอันหนึ่งก็คือความที่คนอื่นมองผมว่าเป็นสลิ่ม และผมก็รู้สึกว่าอยากจะปลดพันธนาการนี้ในตัวเองด้วย ด้วยการขอโทษและจะได้เข้าร่วมขบวนการได้อย่างเต็มที่และมีความสุขในตัวเอง เห็นเด็กๆ แล้วรู้สึกโอเคมาก ก็เลยเกิดการทบทวน คิดแล้วคิดอีก สุดท้ายก็มีโอกาสไปชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคมที่ธรรมศาสตร์พอดี บรรยากาศในที่ชุมนุมก็ยิ่งชวนให้เราสตรอง รู้สึกมีพลัง เห็นนักศึกษา เห็นผู้คนก็เลยกลับมาเขียน”

สุภัทร ยอมรับว่าข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่เคยอยู่ในความคิดเขามาก่อน ทั้งในอดีตและก่อนหน้านี้ เขาจึงเห็นว่าความคิดของนักศึกษา

“ไปไกลโคตรๆ ครับ ไปไกลมากๆ ทั้งในแง่ความกล้าหาญและประเด็น และการวิเคราะห์สังคมไทยการมองปัญหาเชิงโครงสร้าง ดีใจและเป็นห่วง เพราะมันก็ไม่ง่าย เพราะความฝันของน้องๆ มันเป็นความฝันที่ยากและมีความเสี่ยงมากแต่ก็ดีใจที่น้องๆ กล้าฝัน”

ผลที่ตามมาจากคำขอโทษคือเขาถูกทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เจอทัวร์ลงจากทั้งสองฝ่าย ทั้งชื่นชมและด่าทอ ทั้งอภัยและไม่ไว้ใจ

บทเรียนจากจะนะ

ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรม 16,000 ไร่ที่กำลังเข้าไปในจะนะก็มีท่าทีคุกคามชุมชน วิถีชีวิตดั้งเดิมต้องเปลี่ยนไป

“อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบของพื้นที่เลยครับ เพราะเขาก็จะเป็นได้แค่ยาม เป็นคนสวน เป็นคนถูห้องน้ำ หรือลูกหลานเขาเรียนสูงหน่อยก็อาจได้ทำบัญชี ได้เป็นนายช่าง เป็นลูกมือวิศวกร แต่เขาได้เป็นเจ้าของโรงงานไหม ไม่ได้ เขาคงได้แค่ค่าแรง ซึ่งรายได้ก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันเขาก็เป็นอิสระชน เสรีชน เป็นเกษตรกร เป็นชาวประมง ที่จะนะมีโรงงานปลากระป๋อง โรงงานน้ำยางพารา คนที่ไปทำงานโรงงานคือคนที่ยากจนและลำบาก ที่ไม่มีเงิน ไม่มีที่ดิน ไม่มีเรือ

“แต่ชาวบ้านจริงๆ ที่เป็นเสรีชน ที่ทำงานเป็นนายตนเอง เขามี ไม่ใช่ไม่มี มีรถยนต์ขับ มีเรือของเขาเอง เรือลำละเป็นแสน จับปู จับปลา ไปเลี้ยงนกเขา ไปแข่งนก มีความสุข แล้วจะทำให้เขากลายเป็นลูกจ้างหรือ มันใช่หรือเปล่า”

สุภัทร กล่าวว่าเขาและชาวจะนะมีท่าทีประนีประนอมพอสมควร พร้อมจะพูดคุย ออกแบบการพัฒนาจะนะร่วมกันระหว่างรัฐ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายทุน ชาวบ้าน ภาควิชาการ

“มันก็เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบหนึ่งที่สำคัญมาก แต่มันไม่เกิด มันมีแต่กระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อผลักดันให้เกิดโครงการ ผมคาดหวังประชาธิปไตยที่กินได้ของแท้ ถ้าอยากพัฒนาจะนะให้เจริญก็มาตั้งวงคุยกันอย่างจริงจัง คุยกันแล้วไม่รู้เรื่องก็แยกย้ายกลับไปทำเปเปอร์ แล้วกลับมาคุยกันใหม่ คุยกันจนกว่าสุดท้ายแล้วการพัฒนาจะนะแบบไหนที่วินวินทุกฝ่าย อาจจะมีนิคมก็ได้แต่เป็นนิคมเกษตร นิคมเล็กๆ 2,000 ไร่ ท่าเรือมีก็ได้ แต่ต้องเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านรับได้ แล้วประมงจะอยู่ยังไง ต้องตอบให้ชัด ซึ่งมันต้องการการพูดคุยกันอย่างหนัก

“แต่ทั้งหมดนี้ก็รู้ว่าใช่ว่าจะเกิดขึ้นโดยง่าย มันต้องการการกระจายอำนาจการตัดสินใจมาให้ที่พื้นที่ แล้วมาทะเลาะกันในพื้นที่ อีกอันหนึ่งก็หวังว่าจะมีรัฐบาลที่ดี แล้วคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงใหญ่เชิงโครงสร้าง”

ไม่มีทางลัด

กรณีนี้ทำให้ สุภัทร ต้องย้อนกลับมาคิดถึงการเมืองในระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะกติกาอย่างรัฐธรรมนูญ ที่เขาคาดหวังว่าจะเกิดกระจายอำนาจอย่างเข้มข้น การพัฒนาโครงการใดๆ ต้องให้พื้นที่ถกกันจนได้ข้อสรุป ไม่ใช่การสั่งการจากกรุงเทพฯ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

“ชุดความคิดปัจจุบันคืออำนาจมันกระจุกสุดๆ และการกระจุกของอำนาจนำมาสู่การคอร์รัปชัน การทำโครงการพัฒนาที่เลอะเทอะ ไร้สาระ สร้างความเสียหายให้กับชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ แล้วเหตุการณ์นี้มันเกิดกับทุกกรม ทุกกระทรวง ก็เลยคิดว่าวิธีเดียวที่ดีที่สุดคือยกเลิกอำนาจส่วนกลางให้มากที่สุด ยุบราชการส่วนภูมิภาคซะ แล้วยอมโกลาหลอยู่สัก 3 ปี 5 ปีให้อำนาจมาอยู่ที่ท้องถิ่น แต่ว่ารูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบไหนที่ใช่ อันนี้ยังต้องถกกันในทางวิชาการ รูปแบบ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) โดยไม่มีผู้ว่าฯ ใช่ไหมหรือจังหวัดเล็กๆ ต้องเป็นกลุ่มจังหวัดไหม”

และ...

“ต้องเลือกตั้งทุกระดับเพราะมันไม่มีวิธีการแต่งตั้ง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะยอมรับวิธีการแต่งตั้งในชุดคิดแบบนี้ เลือกแล้วได้คนไม่ดี ได้เจ้าพ่อมาก็ต้องทำใจ แล้วก็สู้กันต่อไป ซึ่งก็เป็นพัฒนาการที่ต้องผ่าน”

นี่ดูเหมือนจะต่างจากทางลัดของ กปปส. โดยสิ้นเชิง สุภัทร ตกผลึกกับตัวเองด้วยน้ำเสียงหนักๆ ว่า

“มันไม่มีทางลัด เดิมผมก็ฝันทางลัด แต่มันไม่มีทางลัด มันผ่านการพิสูจน์ครั้งสำคัญมากในชีวิตผมว่ามันไม่มีจริงๆ ต้องยอมรับเส้นทางการเลือกตั้ง แม้มันจะแย่ เผด็จการโดยธรรมไม่มีจริง แต่เส้นทางการเลือกตั้งก็ใช่ว่าจะสวยหรูเพราะเราก็จะได้นายกฯ อบจ. ที่ไม่เวิร์ค ที่โกงกินมา สู้กันในพื้นที่ต่อไป”

“อย่าไปขวางขบวนของคนรุ่นใหม่ ประเทศนี้เป็นของเขา ไม่ใช่ของเราแล้ว”

สำหรับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในรอบนี้

“ผมคิดว่าครั้งนี้มันเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว คิดไม่เหมือนกับคนรุ่นผมอย่างแท้จริงโดยสิ้นเชิงแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคต ซึ่งอาจจะไม่สำเร็จในปีสองปีสามปีนี้ แต่มันเกิดขึ้นแล้ว เมล็ดพันธุ์นี้มันงอกเร็วมาก

“ผมคิดว่าเป็นสิทธิของน้องๆ ที่จะกำหนดธง ผมเคารพกลุ่มน้องๆ นักศึกษา ผมคิดว่าคนวัย 50 วัยผู้ใหญ่อย่างพวกผมมีหน้าที่ช่วยกันสนับสนุน ช่วยกันดูแลให้ดีที่สุด อย่าไปขวางขบวนของคนรุ่นใหม่ เพราะประเทศนี้เป็นของเขา ไม่ใช่ของเราแล้ว เราควรจะวางมือและช่วยดูแลขบวน เป็นฝ่ายสนับสนุน”

การวางมือและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เป็นภารกิจที่ สุภัทร จะทำต่อจากนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net