Skip to main content
sharethis

สนส. จี้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชี้การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของกฎหมาย ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุการแสดงออกของผู้ชุมนุมเป็นการทำลายความรู้สึกของประชาชนที่รักสถาบัน เรียกร้องทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรมอย่าละเว้นผู้ทำผิดกฎหมาย

9 พ.ย. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาล ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยระบุถึงกรณีการชุมนุมของราษฎร ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. และการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงและมีสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม เพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกตนเองว่า ราษฎร ซึ่งได้มีรายงานว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงมีความเห็นว่า 1.การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอ่านแถลงการณ์ การส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ การปราศรัยย่อย และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ นั้น ยังถือเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนพึงกระทำได้ตามที่ถูกรับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 21 ที่รัฐไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการจำกัดใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ การอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ไม่อาจทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบจนเป็นเหตุให้รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้ หากรัฐต้องการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รัฐพึงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความชอบธรรมทางกฎหมาย และความจำเป็นและได้สัดส่วนในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้บริบทของสังคมประชาธิปไตย และต้องอธิบายได้อย่างชัดแจ้งว่าการจำกัดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิใช่แต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างคลุมเครือ

2.การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของประเทศให้ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง โดยไม่ได้ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ถึงขั้นยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายนั้น (hate speech) ย่อมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนพึงกระทำได้ภายใต้หลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34  และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 จึงย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนพึ่งกระทำได้เช่นกัน

และ 3.การที่เจ้าหน้าที่รัฐฉีดน้ำแรงดันสูงต่อผู้ชุมนุมที่ยังชุมนุมโดยสงบนั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศรับรองไว้ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วน

ในการนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่า 1. รัฐต้องยุติการใช้อำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสงบของประชาชนทุกกลุ่ม โดยต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภายนอก

2.  หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อการกระทำดังกล่าว ทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย ถ้าหากมี โดยขอให้มีการสอบสวนทางวินัยโดยเร่งด่วนกับ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการให้มีฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม เพื่อไม่สร้างการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และป้องปรามและป้องกันไม่ให้มีการกระทำของเจ้าหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ เป็นอิสระ และปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใดที่มุ่งใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองกับผู้เห็นต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมให้ได้รับความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นจากประชาชนอีกครั้

ในทางกลับกัน ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบ๊กแฟนเพจ เรียกร้องให้ ผบ.ตร. อธิบดี DSI อัยการสูงสุด ผู้พิพากษา ตุลาการในศาลยุติธรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา ต่อการกระทำความผิดของผู้ชุมนุม

โดยถาวร ระบุว่า จากกรณีการชุมชุมของกลุ่มคณะราษฎรที่ผ่านมา และมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ซึ่ง 1 ใน 3 ข้อเรียกร้อง คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

คนไทยมีความเชื่อ ความศรัทธา และความรักต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่นส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณูปการที่บูรพกษัตริย์ได้ทรงกระทำไว้ทั้งเรื่องการดำรงและรักษาเอกราชของประเทศ การพัฒนาประเทศให้นำสมัย การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับแผ่นดินไทย และการดำรงตนในฐานะศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ ทั้งนี้ ความเชื่อ ความศรัทธา และความรักนั้นยังคงอยู่และหวังว่าจะสืบทอดไปถึงรุ่นต่อไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในใจของคนไทยยังคงรักในสถาบันพระมหากษัตริย์

หนึ่งในหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การบริหารอำนาจรัฐที่มาจากเสียงข้างมากของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนทุกคนควรจะต้องเคารพเสียงข้างมาก ทั้งนี้ก็มิได้ละเลยต่อเสียงข้างน้อย และที่สำคัญอีกประการคือ การเคารพในสิทธิของทุกคน หากเราเคารพในสิทธิของเสียงข้างมาก และเคารพในเสียงข้างน้อย จึงมิสมควรที่จะมีการแสดงออกซึ่งการไม่เคารพสิทธิของกันและกันไม่ว่าจะในเรื่องทางการเมือง ความเชื่อ หรือความศรัทธา

การชุมนุมเรียกร้องเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามควรอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พรบ. ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความปกติสุขของประชาชนในการดำรงชีวิตและการประกอบสัมมาชีพ และการชุมนุมจะต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่กระทำให้ผู้อื่นใดต้องเดือดร้อน และที่ผ่านมาประเทศไทยมีการชุมนุมมาหลายครั้งหลายครา และไม่มีผู้ใดปฏิเสธการขัดต่อกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ สตรี หรือแม้กระทั่งผู้มีชื่อเสียง

ผม เห็นว่า การชุมนุม การเรียกร้อง และการแสดงออกของกลุ่มคณะราษฎร หากเป็นการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยต้องการเปลี่ยนแปลง เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ ภายใต้กฎหมาย และผมก็เข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่ายุคสมัยได้มีการเปลี่ยนผ่าน ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แต่ผมเชื่อเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงต้องทำด้วยอารยะ และไปในทางที่ดีขึ้น หากแต่การแสดงออกซึ่งการทำลาย ทำร้าย ความศรัทธา ความเชื่อ ความรักของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรากฎขึ้นนั้น มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดเลยต่อระบอบประชาธิปไตยตามแบบที่ต้องการและเรียกร้อง หรือแม้กระทั่งจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ดีสำหรับคนไทยในยุคต่อไปหรือไม่ หากท่านจะกล่าวอ้างว่าต้องการ "ปฏิรูป" นั้น จะต้องไม่ใช่การทำลาย แต่มันจะต้องเป็นการปรับปรุง แต่การกระทำที่แสดงออกมาต่างๆโดยตลอดดังเห็นในภาพ และวาจาที่ปรากฎ คือการทำลาย อย่างน้อยที่สุดก็คือทำร้ายความรู้สึก ความรัก ความศรัทธาของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สุดท้าย ผม ขอเรียกร้องให้ผบ.ตร. อธิบดี DSI อัยการสูงสุด ผู้พิพากษา ตุลาการในศาลยุติธรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา อย่าได้เกรงกลัวและละเว้นไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นปัญหาของบ้านเมือง เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพื่อให้สังคมไทยกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ประชาชนไทยทุกคนเคารพกฎหมายและเคารพหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net