Skip to main content
sharethis

วงถกบทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย 'อภิสิทธิ์' เตือน รัฐสภาต้องรับหลักการเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา ช่วยดึงทุกเรื่องมาถกในสภา ‘สุดารัตน์’ ซัด ‘ประยุทธ์’ เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง ถ้าจริงใจแก้ รธน. สิ้นปีนี้ต้องจบ 3 วาระ 'คำนูณ' ค้าน ส.ว.เข้าชื่อเสนอศาล ชี้ เป็นอันตรายร้ายแรง ขอเป็น 1 เสียง ส.ว.โหวตแก้ รธน. สลายความขัดแย้ง

 

13 พ.ย.2563 สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย" เนื่องจากวันที่ 17 พ.ย.นี้ รัฐสภามีกำหนดการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ รวมถึงร่างกฎหมายภาคประชาชนที่นำเสนอโดย iLaw กลุ่มดังกล่าวจึงจัดการประชุมทางการเมือง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญและความขัดแย้งเพื่อเป็นทางออกให้ประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และมติชนออนไลน์รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองเคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่ควรเห็นชอบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 เพราะมีปัญหาหลายประการ ทั้งความอ่อนแอในการปราบปรามการทุจริตและความอ่อนแอในประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของส.ว.ที่มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีมิติมากขึ้น เพราะมีมิติความคาดหวังของคนรุ่นใหม่และความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังมีทางออกได้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องให้รัฐสภามีฉันทามติว่าควรมีกติกาสากที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าในวันที่ 17-18 พ.ย.เลือกที่จะปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกได้เลยว่าเส้นทางการนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว การจะทำให้คลี่คลายได้จะต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คนพยายามตีความและอ้างศาลรัฐธรรมนูญควรไปอ่านคำวินิจฉัยในอดีตใหม่ เพราะครั้งนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้ต้องทำประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสองรอบ

"การลาออก การยุบสภาโดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกติกา จะยังคงทำให้ปัญหากลับมาอยู่ที่เดิม การรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นรูปธรรมเดียวที่ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจได้ยินข้อเรียกร้องถึงกกิตาที่ควรต้องแก้ไข และจะเป็นการสร้างเวทีและโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างรัฐสภาและผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การแก้ไขในขั้นตอนของรัฐสภา" อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงใยเรื่อง หมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ หากติดตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจะพบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ได้มีแค่หมวดดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีในหมวดอื่นๆด้วย ถ้าเรากังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปกระทบเรื่องเหล่านี้ ก็ควรไปพูดคุยกันด้วยเหตุผลในรัฐสภา และกำหนดเป็นข้อตกลงว่ายังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นรัฐเดี่ยว และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเปิดพื้นที่ให้เอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนไปคุยกันได้อย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้มีการใช้ถ้อยคำไปกระทบความรู้สึกต่อกัน

"แต่ตอนนี้คาดการณ์ว่าจะเกิดการรับและไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับ ช่องว่างระหว่างสองฝ่ายไม่ได้ลดลงเลย มีความพยายามจะบอกว่านายกฯสัญญาณแล้ว ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่านายกฯบอกแค่ให้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพยายามอ้างเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่กลับเกิดการพยายามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้านายกฯจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับผ่านสภาก็ทำได้ง่ายนิดเดียว โดยยืนบอกกลางสภาเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศและให้ไปคุยในรายละเอียด เพื่อให้นายกฯทำงานต่อไปได้ ผมก็อยากดูเหมือนกันว่าถ้านายกฯพูดแบบนี้จะมีส.ว.ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่" อภิสิทธิ์ กล่าว   

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งนี้มีมติระหว่างประชาชนด้วยกันเอง รวมทั้งยังเรื่องการมองปัญหาทางการเมืองแตกต่างกันของคนในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ ในอดีตเมื่อครั้งมีความขัดแย้งหรือการรัฐประหาร แต่ละครั้งทุนของประเทศยังหนาอยู่ ทว่าครั้งนี้เรามีความเปราะบางมาก เราจะเสี่ยงไม่ได้และจะต้องไม่เกิดการใช้กำลังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ประเทศไทยจมดิ่งไม่รู้ถึงจุดไหน

สุดารัตน์ กล่าวอีกว่า การที่นายกฯบอกว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดใดๆนั้นถือว่าเป็นความผิดชัดเจน การกระทำของนายกฯทำให้ตนเองเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่การสืบทอดอำนาจและติดกับดักตัวเอง ตามมาด้วยการกระทำผิดรัฐธรรมนูญนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ได้มีการปราบโกง ส่วนหนึ่งมาจากองค์กรตรวจสอบไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

"รัฐธรรมนูญฉบับนี้ลิดรอนสิทธิประชาชนและขัดขวางการกระจายอำนาจ ทำให้ไม่เกิดความเจริญงอกงามในประเทศไทย การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายๆ คือ ความจริงใจของนายกฯ และเปิดหูรับฟังโดยเข้าใจและต้องนำไปแก้ไข การเป็นผู้นำไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจแต่ต้องทำให้ประเทศอยู่รอด" สุดารัตน์ กล่าว

สุดารัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จริงใจในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะย้อนกลับไปพบว่ามีกระบวนการที่จะพยายามยื้อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ  ดังนั้น ในวันที่ 17-18 พ.ย.จะเป็นโอกาสสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ

"ถ้านายกฯจริงใจก็พูดออกมาคำเดียว คิดว่าส.ส.และส.ว.จะเห็นด้วยและทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาได้จบภายในเดือนธ.ค.ทั้งสามวาระ และเข้าสู่กระบวนการจัดทำประชามติ ซึ่งแบบนี้ทำให้ปลายปี 2564 ประชาชนจะได้เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มาจากประชาชน" สุดารัตน์ กล่าว

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ที่มาอภิปรายในเวทีแห่งนี้ของตนเองไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ แต่จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในนามส่วนตัว ทั้งนี้ วันที่ 17-18 พ.ย.เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็นส.ว. โดยเคยเสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการลดอำนาจของส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่าในเมื่อจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ควรให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา

"ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" คำนูณ กล่าว

คำนูณ กล่าวว่า เส้นทางการไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจะเขียนไว้ค่อนข้างจำกัด อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดแล้วว่าจะต้องดำเนินการตาม 256 (9) เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นการกำหนดกรอบของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด การไปศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 49 ว่าด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้ โดยยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งในช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความผิด ส่วนมาตรา 210 (2) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่มีส.ส.และส.ว.ร่วมกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้นตนเองไม่เห็นด้วยและจะไม่ยกมือให้กับญัตตินี้ เนื่องจากตนเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหากไม่รู้ว่าหน้าที่มีอะไรแต่ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องแปลก การเขียน 210 (2) ในเชิงทฤษฎีคิดว่าค่อนข้างอันตราย   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net