Skip to main content
sharethis

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ แจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภาวันที่ 17 พ.ย. โดยเห็นว่าอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตาม ม.157 


19 พ.ย.2563 เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา วัชรภัทร ธรรมจักร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา โดยเห็นว่าอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้แจ้งความกล่าวว่า ที่ตัดสินใจไปแจ้งความ เพราะรับไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากการถอนกำลังออก ทำให้ผู้ชุมนุมสองฝ่ายปะทะกัน ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายจึงคิดว่าควรใช้นิติกระบวนการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐ

วัชรภัทรเล่าว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐก็ใช้นิติกระบวนการ อ้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน แต่วันที่ 17 พ.ย. 2563 เป็นวันที่ผู้ชุมนุมไปติดตามการลงมติในญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมตั้งแต่ประมาณ 11.00 น. ขณะที่ช่วงเช้ากลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ไปชุมนุมเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับปฏิบัติอีกแบบ แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

นักศึกษานิติศาสตร์กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังเลือกใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมโดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้กระสุนยาง การใช้แก๊สน้ำตา หรือน้ำผสมสารเคมีฉีดพ่น

วัชรภัทร กล่าวว่า แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะบอกว่ามาตรการเหล่านี้ป็นการเจรจา แต่ที่จริงแล้วเป็นการปฏิบัติการขั้นหนึ่งของการสลายการชุมนุม โดยตนมีมิติข้อสังเกตทางกฎหมาย 4 ข้อ ดังนี้

1. เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ยืนอยู่บนหลักความถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการสลายการชุมนุม หรือการควบคุมฝูงชนจะต้องมั่นใจว่า กำลังที่ใช้เป็นตามข้อปฏิบัติของตำรวจ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงแบบปฏิบัติในการสลายการชุมนุมที่ต้องร้องต่อศาลแพ่งก่อนสลายการชุมนุม แต่กลับอ้างว่าการฉีดน้ำ หรือใช้แก๊สน้ำตาเป็นขั้นตอนหรือกระบวนการเจรจา ซึ่งไม่มีประเทศไหนเจรจากันแบบนั้น

ต่อมา วันที่ 18 พ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ยังเตรียมครื่องขยายเสียงระดับไกล (LRAD) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหู อุปกรณ์นี้ถือเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง ใช้มากในประเทศอิรัก 

2. หลักความจำเป็นอย่างเข้มงวด ความรุนแรงควรเป็นหนทางสุดท้ายที่ถูกใช้เพื่อควบคุมฝูงชน กลุ่มคณะราษฎรชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ สันติวิธี เมื่อมีการใช้กำลังจากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอื่นๆ เขามีสิทธิป้องกันตัว

วัชรภัทร เห็นว่า ความรุนแรงควรเป็นวิธีสุดท้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถเชิญผู้ชุมนุมหรือแกนนำไปเจรจา แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันที่ 17 พ.ย. 2563

3. หลักความได้สัดส่วน เป้าประสงค์ของกฎหมายต้องดูที่สัดส่วนของการใช้กำลัง เมื่อชุมนุมปราศจากอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ ก็ไม่ควรใช้กำลังหรืออาวุธในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจึงถือเป็นการปฏิบัติเกินกว่าเหตุ และไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำ

4. หลักความรับผิดชอบ ที่ผ่านมารัฐออกมาใช้กำลังทุกครั้ง เมื่อมีการใช้กำลังรัฐจะต้องหาสรุปหรือเรียนรู้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชน มีกลไกการตรวจสอบการใช้กำลังจากองค์กรภายนอก หรือตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบที่มีอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้กำลังซ้ำ หรือมีการกระทำผิด แต่ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิด

ผู้แจ้งความกล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ว่าพร้อมใช้นิติกระบวนการ ใช้กฎหมายทุกฉบับในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ตนเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีทั้งในมุมของรัฐบาล และมุมของผู้ชุมนุมที่ต่อจากนี้อาจต้องเหน็ดเหนื่อยจากการถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ วัชรภัทรยังกังวลว่านี่อาจเป็นสัญญาณของการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ กลับมาใช้ จะยิ่งทำให้เหตุการณ์แย่ลงเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ละเอียดอ่อนต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมถอยหรือลดระดับการต่อสู้ กลับจะยิ่งสร้างไม่พอใจมากขึ้น

วัชรภัทรกล่าวว่า ในทางกลับกัน หากยิ่งดำเนินคดีไม่ได้ทำให้คนกลัวมากขึ้น แต่เขาอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ถูกดำเนินคดี ถ้าไปถึงจุดนั้นจะเป็นผลเสียต่อรัฐมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net