Skip to main content
sharethis

อัยการเชียงใหม่สั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ 4 นักศึกษาและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมแฟลชม็อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 จำเลยทั้ง 4 คนให้การปฏิเสธ ยืนยันขอต่อสู้คดี

 

26 พ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีของธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ 4 นักศึกษาและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่อง ห้ามการทำกิจกรรม ชุมนุมหรือมั่วสุมในสถานที่แออัด ออกตามอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการทำกิจกรรมแฟลชม็อบ #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา, ให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563

คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังเริ่มมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา โดยหลังจากที่พนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนคดีพร้อมด้วยตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่พิจารณา เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี 9 เดือน และผู้ต้องหาทั้ง 4 มีภาระในการรายงานตัวที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง เดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน เม.ย. 2565 อัยการแจ้งว่าจะส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย แล้ว แต่เนื่องจากผู้ต้องหารายหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 จึงเลื่อนการฟ้องคดีมาเป็นเดือนนี้

หลังจากนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย เดินทางไปที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาล ผู้พิพากษาศาลแขวงทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาสอบถามจำเลยทั้ง 4 ว่ามีทนายความหรือไม่ จำเลยระบุว่ามีทนายความแล้ว ศาลได้สอบถามว่าจำเลยว่าจะให้การอย่างไรในคดีนี้ ทั้ง 4 ยืนยันขอให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี

สำหรับ คำฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวง บรรยายโดยสรุปว่า จากที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ กรณี จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และมีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กําหนดให้ ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 16.00 – 18.30 น. จำเลยทั้งสี่ กับพวก ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 400 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนว่าเป็นผู้ใด ได้บังอาจร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ทำกิจกรรม โดยการร่วมกันปราศรัยแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง พร้อมชูป้ายภาพแสดงข้อความ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ในลักษณะยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อยู่ใกล้ชิดแออัด มีการสนทนา หันหน้าเข้าหากัน ทำกิจกรรมระหว่างกันเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย และไม่มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อตามหลักการแพทย์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ประตูท่าแพ

พฤติการณ์ดังกล่าวอัยการเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จากนั้น ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ได้แจ้งกับจำเลยทั้ง 4 ว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน เพียงแต่ให้สาบานตัวว่าจะเดินทางมาตามนัดหมายของศาลทุกครั้ง โดยศาลได้กำหนดวันนัดหมายคุ้มครองสิทธิ พร้อมกับนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net