Skip to main content
sharethis

'แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล' เผยรายงานเฟซบุ๊กและกูเกิลอนุญาตให้ทางการเวียดนามเซนเซอร์เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีส่วนรู้เห็นให้ไอโอรัฐบาลไล่ล่ารังควานคนเห็นต่าง ขณะนี้เวียดนามมีนักโทษทางความคิดถูกขังเพราะกิจกรรมทางโลกออนไลน์ถึง 69 รายจาก 170 ราย

3 ธ.ค. 2563 ในรายงานที่ออกมาในสัปดาห์นี้ของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลระบุว่าบรรษัทไอทียักษ์ใหญ่มั้งสองแห่งคือเฟสบุคและกูเกิลต่างก็มีส่วนร่วมใน "การปิดกั้นเสรีภาพระดับใหญ่" จากการที่พวกเขาช่วยเหลือรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ในการปิดกั้นเนื้อหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในขณะเดียวกันกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ทำการข่มเหงรังแกผู้ใช้งานรายอื่นๆ ให้กลับไปสู่ความเงียบและความหวาดกลัว

รายงานของแอมเนสตีมีชื่อว่า "ให้เราได้หายใจบ้างสิ! : การเซนเซอร์และการเอาผิดทางอาญากับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ในเวียดนาม" มีการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนหลายสิบราย รวมถึงพิจารณาจากข้อมูลของเฟสบุคและกูเกิล ในกลุ่มคนที่ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้นี้มีทั้งนักโทษทางความคิด, ทนายความ, นักข่าว และนักเขียน

หมิงยู่ฮาห์ รองผู้อำนวยการโครงการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของแอมเนสตีแถลงว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาชาวเวียดนามมีเสรีภาพมากขึ้นในพื้นที่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและยูทูบ แต่เมื่อไม่นานนี้ทางการเวียดนามก็เริ่มเน้นโจมตีการแสดงออกอย่างสันติในโลกออนไลน์ว่าเป็น "ภัยคุกคาม" ต่อพวกเขา นอกจากนี้ยังพูดถึงปัญหาการใช้ โทรล หรือ "เกรียนคีย์บอร์ด" ผู้ที่มาจากการสนับสนุนของฝ่ายไซเบอร์กองทัพเวียดนามและจากรัฐบาล ในการออกไล่ล่ารังควาญผู้คนอื่น ซึ่งไม่เพียงแต่เฟซบุ๊กและกูเกิลปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเท่านั้น บรรษัทโซเชียลฯ เหล่านี้ยังมีส่วนรู้เห็นในปฏิบัติการสนับสนุนรัฐบาลเหล่านี้ด้วย

รายงานฉบับนี้ของแอมเนสตียังระบุถึงการที่เวียดนามคุมขังนักโทษทางความคิด 170 ราย มี 69 ราย ที่ถูกคุมขังเพราะกิจกรรมทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเวียดนามมีตัวเลขการคุมขังนักโทษทางความคิดมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการจำนวน 125 ราย

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุอีกว่าบรรษัทไอทีสองค่ายนี้เป็นห่วงเรื่องผลกำไรของตัวเองมากกว่าสิทธิมนุษยชน จากสถิติในปี 2561 เฟสบุคทำรายได้จากเวียดนาม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันกูเกิลก็ทำเงิน 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากโฆษณาในเว็บยูทูบ

หมิงยู่ฮาห์กล่าวว่าบริษัทเหล่านี้ควรจะทำอะไรให้มากกว่านี้ในการต่อต้านการลิดรอนเสรีภาพอย่างเลวร้ายในเวียดนาม เพราะสำหรับชาวเวียดนามหลายล้านคนแล้วพื้นที่เฟสบุคเป็นพื้นที่ๆ ให้ความหวังว่าช่วยสร้างสังคมที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างได้

ก่อนหน้านี้ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แอมเนสตีกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอีกองค์กรหนึ่งคือฮิวแมนไรท์วอทช์ก็เคยวิจารณ์เฟสบุคที่ปฏิบัติตามคำขอร้องของรัฐบาลเวียดนามในการเซนเซอร์เนื้อหาที่ทางการมองว่า "ต่อต้านรัฐ" โดยที่เซอร์เวอร์ของเฟสบุคในเวียดนามถูกใช้เป็นตัวประกันในการต่อรอง ซึ่งถ้าหากพวกเขาถูกตัดขาดเซอร์เวอร์จะทำให้ผู้ใช้งาน 65 ล้านคนใช้งานไม่ได้ ซึ่งทางเฟสบุคอ้างว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายของในแต่ละประเทศแต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนก็วิจารณ์ว่าเฟสบุคยอมก้มหัวให้กับการขู่กรรโชกของรัฐบาลเวียดนาม

จากการพิจารณารายงานความโปร่งใสของเฟสบุคทำให้พบว่าเฟสบุคเพิ่มการเซนเซอร์มากขึ้นร้อยละ 983 จากจำนวนเซ็นเซอร์ 77 ครั้ง ในครึ่งปีหลังของปี 2562 สู่จำนวน 834 ครั้ง ในครึ่งปีแรกของปี 2563 หลังจากที่พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลเวียดนาม

กรณีของยูทูบที่มีเจ้าของเป็นกูเกิลก็ถูกวิจารณ์เรื่องการปิดกั้นเนื้อหาที่ถูกมองว่าอ่อนไหวต่อรัฐบาลเวียดนามเช่นกัน ยูทูบเบอร์รายหนึ่งที่ชื่ออันกล่าวในรายงานว่า "ยูทูบพยายามจะสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนพูดความจริง ถึงแม้ว่าผู้คนจะแค่รายงานความจริงก็ตาม ... เรื่องนี้กระทบกับทุกคนในสังคม รวมถึงเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย"

อันยังพูดในรายงานนี้อีกว่าการกระทำของบรรษัทไอทีเหล่านี้ทำให้ชาวเวียดนามรู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้เงียบเสียงมากเพียงใด รายงานยังมีการระบุถึงประสบการณ์ของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการกระทำในโลกออนไลน์ภายใต้กฎหมายอาญาที่กำกวมของเวียดนาม มีบางกรณีที่ไม่เพียงถูกจับกุมโดยพลการ และต้องเผชิญกับการดำเนินคดี แต่ยังถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ถูกสอดแนม ถูกข่มขู่คุกคาม รวมถึงการคุกคามสมาชิกครอบครัวของพวกเขา และการข่มเหงรังแกพวกเขาในโลกออนไลน์ด้วย 

โดยที่วิธีการเหล่านี้มักจะนำมาใช้โดยสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รวมถึงคนของรัฐบาลที่แฝงตัวเป็นประชาชนทั่วไป ในเวียดนามีกองกำลังไซเบอร์จากกองทัพที่มีสมาชิก 10,000 นาย ชื่อว่า "ฟอร์ซ 47" กองกำลังกลุ่มนี้มักจะข่มขู่คุกคามผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากทั้งในเฟสบุคและในยูทูบ โดยอ้างว่าพวกเขาต่อต้าน "มุมมองที่ผิด" และ "ข้อมูลบิดเบือน" ในอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุถึงอีกขบวนการนึงในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ของเวียดนาม คือการที่เวียดนามมีการใช้งานอาสาสมัคร "กองทัพโทรล" หรือพวกเกรียนคีย์บอร์ด ที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์มาช่วยด้วย

ในขณะที่เฟสบุคเคยแก้ตัวไว้ในเดือน เม.ย. ว่าที่พวกเขาปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลเวียดนามเพราะกลัวว่าจะถูกปิดกั้นเฟสบุคทั้งหมดซึ่งจะกลายเป็น "การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในระดับที่มากกว่า เพราะทุกเสียงในเวียดนามจะถูกปิดกั้นหมด" แต่ทางกูเกิลเปิดเผยในรายงานความโปร่งใสของตัวเองว่าพวกเขาปฏิบัติตามที่รัฐบาลแจ้งมาอ้างว่าเป็นเนื้อหาผิดกฎหมายแล้วก็ดำเนินการตามหลังจากมีการพิจารณา โดยที่กูเกิลปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรายงานของแอมเนสตี


เรียบเรียงจาก

Facebook, Google Complicit in Vietnam’s Repression of Online Freedom – Amnesty Report, Radio Free Asia, 02-12-2020
 

Vietnam: Facebook and Google 'complicit' in censorship

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net