Skip to main content
sharethis

ประชาชนอินเดีย กว่า 200 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง ไม่เห็นด้วยรัฐบาลอินเดียใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย มรดกยุคอาณานิคมอังกฤษ ดำเนินคดี 'อรุณธตี รอย' นักเขียนรางวัล บุ๊กเกอร์ไพร์ซและนักวิชาการ อ้างพวกเขาปราศรัยสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของแคว้นแคชเมียร์ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

 

27 มิ.ย. 2567 เว็บไซต์ บิสซิเนสสแตนดาร์ด รายงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ระบุว่า นักวิชาการ นักกิจกรรม และนักข่าวชาวอินเดียมากกว่า 200 ราย ได้ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดีย ถอนฟ้องการดำเนินคดีต่อ อรุณธตี รอย นักเขียนรางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์สโดยอ้างใช้กฎหมาย (การต่อต้าน) กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย (UAPA) นอกจากนี้ ยังมีการล่ารายชื่อใน Change.org เพื่อประณามรัฐบาลอินเดียในเรื่องที่รัฐบาลดำเนินคดีกับรอย และชีค เชากัต ฮุสเซน อดีตนักวิชาการ 

อรุณธตี รอย (ที่มา: wikicommon)

อีกทั้งยังมีนักการเมืองจำนวนมากที่เป็นปากเสียงในการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักต่อการดำเนินคดีที่อ้างใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม

ทั้งนี้ กฎหมาย UAPA ที่ว่านี้ถูกเรียกว่า กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย เป็นกฎหมายที่ทำให้จำเลยทำการประกันตัวได้ยาก ส่งผลให้มักจะเกิดกรณีที่บุคคลที่ถูกฟ้องร้องต้องจำคุกหลายปีในช่วงระหว่างรอการพิจารณาคดี

ในจดหมายเปิดผนึกต่อต้านการดำเนินคดีกับรอย ผู้ลงนามได้ประณามรัฐบาลกลางของอินเดียที่นำโดยพรรคแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ในเรื่องที่รัฐบาลนำกฎหมายที่เคร่งครัดเช่นนี้มาใช้กับนักเขียน

"พวกเราในฐานะพลเมืองชาวอินเดียที่เป็นห่วงบ้านเมือง ขอตำหนิการกระทำเช่นนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลกับฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศ ทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและไร้ความหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นในประเทศของพวกเรา" จดหมายเปิดผนึกระบุ

เบื้องหลังคดีฟ้อง อรุณธตี รอย

อรุณธตี รอย และ อดีตศาสตราจารย์ ชีค เชากัต ฮุสเซน เผชิญข้อกล่าวหาว่าได้ทำการปราศรัยในเชิงปลุกเร้าในงานที่จัดขึ้นในนิวเดลี เมื่อปี 2553 คำปราศรัยดังกล่าวนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคำปราศรัยที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนแคว้นแคชเมียร์ หรือกัศมีร์ ออกจากอินเดีย

งานประชุมที่ว่านี้มีชื่องานประชุมว่า "อซาดี - หนทางเดียว" จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2553 ที่หอประชุม LTG ย่านโคเปอร์นิคัส มาร์ก กรุงนิวเดลี งานประชุมดังกล่าวนี้มีคนดังจำนวนมากเข้าร่วม เช่น ซาเยด อาลี ชาห์ กีลานี, เอสเออาร์ กีลานี, วาราวารา เรา และ ชีค เชากัต ฮุสเซน

ในช่วงระหว่างงานประชุมนี้ รอย ได้กล่าวไว้ว่า แคชเมียร์ไม่เคยเป็น "ดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดียโดยสมบูรณ์"

เพิ่งจะดำเนินคดีจากเรื่องที่แจ้งความไว้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

ในรายงานสำนวนคดีเบื้องต้น ที่อาศัยข้อมูลจากการแจ้งความของนักกิจกรรมทางสังคม ซูชิล พันดิต เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2553 ระบุว่า พันดิต ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนั้น ได้แจ้งความตามกฎหมายมาตรา 156(3) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่ศาลกรุงนิวเดลี ได้ทำการจดทะเบียนรายงานสำนวนคดีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2553

เวลาผ่านมา 14 ปี ถึงเพิ่งจะมีการดำเนินคดีต่อรอย ทำให้ประชาชนรู้สึกประหลาดใจ และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ชวนให้ตั้งคำถามถึงจังหวะเวลาการดำเนินคดีต่อรอย นอกจากนี้ ยังมีสื่อบางแห่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้ขาดความโปร่งใสในแง่ที่ว่า ทำไมผู้พูดถึงถูกดำเนินคดี รายงานสำนวนคดียังระบุอีกว่า มีการระบุชื่อของผู้นำการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนแคชเมียร์ คือ ซาเยด อาลี ชาห์ กีลานี กับ อาจารย์มหาวิทยาลัยเดลี ซาเยด อับดุล รอห์มาน กีลานี ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาจากผู้แจ้งความด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คนนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว

กระบวนการทางกฎหมายต่อ อรุณธตี รอย

เมื่อเดือน ต.ค. 2566 วินัย กุมาร์ ศักดิ์เสนา รองผู้ว่าการนิวเดลี ได้อนุญาตให้มีการดำเนินคดีกับคนที่พูดในงานอซาตี โดยอาศัยกฎหมายหลายข้อตามประมวลกฎหมายอาญาของอินเดีย เช่น ข้อหาส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่ม (มาตรา 153A) กล่าวอ้างในสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อบูรณภาพทางเขตแดนของชาติ (มาตรา 153B) และกล่าวอ้างในสิ่งที่สร้างความวุ่นวายต่อสังคม (มาตรา 505)

วินัย กุมาร์ ศักดิ์เสนา (ถ่ายโดย Billjones94)

ศาลสูงสุดของอินเดียเคยตัดสินให้ยุติการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นปัจจัยให้ศักดิ์เสนา ตัดสินใจไม่ให้มีการสั่งฟ้องด้วยกฎหมายนี้ แต่ก็เล็งเห็นว่ามีกฎหมายอื่นที่สามารถใช้ตั้งข้อกล่าวหาได้

ทำให้เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ศักดิ์เสนา ได้สั่งให้มีการดำเนินคดีต่อรอย และฮุสเซน ภายใต้กฎหมาย UAPA ที่อนุญาตให้รัฐบาลไม่สนใจอายุความตามที่ระบุในประมวลกฎหมายได้ อีกทั้งยังมีอำนาจคัดง้างจากการตีความนิยามคำว่า "กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย" ในแบบกว้างๆ ได้ด้วย ซึ่งวลีดังกล่าวนี้เป็นวลีเดียวกับที่มีในกฎหมายยุยงปลุกปั่น

เสียงวิจารณ์โต้ตอบและข้อถกเถียงกรณีคดีต่อต้านการก่อการร้าย

การตัดสินใจดำเนินคดีรอย และฮุสเซน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลายพรรค ซึ่งประณามการดำเนินคดีในครั้งนี้

พรรค National Conference (NC) ของอินเดีย โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดียเมื่อ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่มีการรับรองไว้ในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย และประณามการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายในการปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

ผู้นำพรรคประชาธิปไตยของประชาชน (PDP) ของอินเดีย เมห์บูบา มุฟตี ระบุว่าการคว่ำบาตรนี้เป็นเรื่อง "น่าตกใจ" และประณามว่าเป็นการที่รัฐบาลกระทำไปเพราะความไม่พอใจส่วนตัว

หัวหน้าพรรค Nationalist Congress (SP) ของอินเดีย ชารัต ปาวาร์ กล่าวว่า การตัดสินใจดำเนินคดีผู้พูดทั้ง 2 คน ถือเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด บอกว่ามันไม่ได้นำไปสู่อะไรเลยนอกจากเพื่อสะท้อนให้เห็นจุดยืนหัวแข็งของพรรครัฐบาลปัจจุบัน ถึงแม้ว่าพรรครัฐบาลจะทำได้แย่ลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ตาม

ชารัต ปาวาร์ (ที่มา: เฟซบุ๊ก Sharad Pawar)

อรุณธตี รอย คือใคร

อรุณธตี รอย ชื่อเต็มคือ ซูซานนา อรุณธตี รอย เป็นนักเขียนที่มีผลงานถูกแปลเป็นภาษาไทยคือเรื่อง "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ" (แปลจาก The God of Small Things) กับ "กระทรวงสุขสุดๆ" (แปลจาก The Ministry of Utmost Happiness)

ทั้งสองเล่มนี้แปลเป็นไทยโดย "สดใส" และมีเล่มหนึ่งคือ "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ" ที่คว้ารางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์มาได้ ถือเป็นพัฒนาการให้กับเส้นทางวรรณกรรมของรอย

รอย เกิดที่เมืองซิลลอง รัฐเมฆาลัย ก่อนที่จะย้ายไปรัฐเกรละเมื่ออายุได้ 2 ปี รอย ศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่วิทยาลัยแห่งการวางแผนออกแบบและสถาปัตยกรรมในนิวเดลี แล้วก็ได้ไปทำงานเป็นนักเขียนบทโทรทัศน์กับบทภาพยนตร์ ในช่วงนี้เองที่เธอทำการวิจารณ์ภาพยนตร์และหนังสือ 

รอย เป็นผู้ที่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินเดีย ไม่ว่าจะในเรื่องลัทธิทุนนิยม, การปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย, โลกาภิวัตน์ และประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งนำมาทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการเซนเซอร์

สื่อบิสซิเนสสแตนดาร์ด รายงานว่า การดำเนินคดีต่อ อรุณธตี รอย และ ชีค เชากัต ฮุสเซน ด้วยกฎหมาย UAPA นี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากในอินเดียเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การต่อต้านรัฐบาล และการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Arundhati Roy faces anti-terror charges; activists, politicians speak out, Business Standard, 24-06-2024
https://www.business-standard.com/india-news/arundhati-roy-faces-anti-terror-charges-activists-politicians-speak-out-124062400600_1.html

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net