Skip to main content
sharethis

‘เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม’ ออกแถลงการณ์ ระบุ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่เอาแต่งตั้ง ย้ำรัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ทุกหมวด การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย

8 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ธ.ค.63) เวลาประมาณ 15.00 น. ที่โรงแรมอลิซาเบธ ทางเครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายประชาชนกว่า 121 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ‘รัฐธรรมนูญที่เท่าเทียมและเป็นธรรม คือทางออกของสังคมไทย’ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีใจความ ดังนี้

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับ มีความชอบธรรม และสร้างสมดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของประเทศภายใต้สภาวะวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้

การรวมตัวของเครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญจากทุกภูมิภาคกว่า 121 องค์กรในวันนี้ เรามีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า บนหลักการที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง โดยต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียมทุกเพศสภาพ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเองทุกมิติ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เกิดจนตาย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ทบทวนองค์ประกอบ การได้มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมถึงต้องจำกัดบทบาทของกองทัพกับการเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ทั้งนี้ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว และต้องมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ

วิธีการที่จะให้เกิดรูปธรรมดังกล่าว จะต้องเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนทั่วทุกภูมิภาค และทุกภาคส่วน ที่จะต้องร่วมมือกับฝ่ายการเมือง และกลไกของการยกร่างที่มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน พวกเราจึงมีข้อเสนอดังนี้

1. สมาชิกร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์

2. บทบาทของ สสร. คือผู้อำนวยการเพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อนำสาระสำคัญหรือข้อเสนอของประชาชนมาประมวลเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

3. ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

4. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างให้กับทุกคนในการแสดงความคิดเห็น และไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

หากไม่มีการดำเนินการตามหลักการที่ภาคประชาชนได้เสนอไว้ เราจะเรียกร้องให้มีการลงมติไม่เห็นชอบกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

พวกเราในฐานะองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนมีความเห็นร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มกำลัง ซึ่งหลังจากนี้จะมีปฏิบัติการด้วยภารกิจสำคัญ 3 ประการ คือ

1.จะร่วมกันจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็นของประชาชนในทุกภูมิภาค ครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็น เพื่อออกแบบเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้จริง และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า

2.ติดตามกระบวนการดำเนินงานของฝ่ายการเมือง และของ สสร. และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดำเนินไปแบบมีส่วนร่วมและเป็นไปตามความต้องการแท้จริงของประชาชน

3.ดำเนินการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแบบคู่ขนานไปตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โอกาสเดียวกันนี้ เราขอเชิญชวนไปยังองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชนทั่วประเทศ ให้ออกมาสนับสนุนและมีส่วนร่วมสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่ทางออกของสังคมไทยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สอบถามว่า ในแถลงการณ์ไม่มีการกล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของราษฎร ทางเครือข่ายมองประเด็นนี้อย่างไร

สมบูรณ์ คำแหง จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวอยู่ในเนื้อหาของคำแถลงแล้วที่พูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ ทุกหมวด ทุกมาตรา เขาคิดว่าความหมายชัดเจนอยู่แล้ว

“จริงๆ เรากังวลไปถึงเรื่องของรัฐสภาที่พยายามจำกัดหมวดในการแก้ด้วย เพราะถ้าเราย้อนไปดู เราก็คุยกันว่าในรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา เวลาแก้ มันไม่ได้ไปจำกัดว่าหมวดนี้ห้ามแก้ หมวดนั้นห้ามแก้ แต่นี่เป็นพิเศษเลยว่าหมวด 1 หมวด 2 ห้ามแก้ ซึ่งมันดูผิดปกติ เราอยากให้สังคมเข้าใจด้วยว่าวันนี้พอเราพูดถึงกลุ่มคนที่อยากให้แก้หมวด 1 หมวด 2 กลายเป็นพวกล้มเจ้าไปเลย ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ไม่ค่อยชอบธรรมเท่าไหร่และมันก็สร้างความสับสนให้กับสังคมด้วย ผมคิดว่าเราพูดคุยกันชัดว่าวันนี้คงไม่มีใครล้มใครได้หรอก

“แต่ว่าสมดุลอำนาจที่กำลังเปลี่ยนไป ที่เราเห็นอยู่ มันต้องคุยกัน เพราะฉะนั้นวันนี้ช่องทางเดียวที่จะหาทางออกให้กับสังคมนี้ได้ก็คือต้องใช้รัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น อย่างเต็มที่ เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่จับต้องได้และมีความก้าวหน้ากว่าทุกฉบับที่ผ่านมา เราพูดกันถึงขั้นว่ามันไม่ต้องมีหลายมาตราเหมือนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ได้ อาจจะน้อยมาตราแต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญสามารถตอบโจทย์สำคัญของสังคมปัจจุบันได้ และทำยังไงไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกหลังจากนี้” สมบูรณ์ กล่าว

“เพื่อตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเราจะแตะเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เราคุยกันเมื่อสักครู่ว่าเราก็ไม่ได้ลดเพดาน เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญที่เราเขียนใหม่ นั่นหมายถึงว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย” ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงาน กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไทถามต่อว่า ที่มีการแถลงว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าทางเครือข่ายกังวลและเห็นแนวโน้มว่าจะมีการแต่งตั้ง สสร. ใช่หรือไม่

จีรนุช เปรมชัยพร จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวว่า หากดูสัดส่วนในกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้จะเห็นว่า เสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงของฝั่งที่น่าจะเห็นด้วยกับร่างที่มาจากพรรครัฐบาล เพราะมีจำนวนสัดส่วนของกรรมาธิการที่เป็นพรรครัฐบาลอยู่ 17 คน แล้วก็ยังมี สว. อีก 15 คน เพราะฉะนั้นสัดส่วนของตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านที่อยู่ในกรรมาธิการคือ 13 แนวโน้มที่เขาจะลากไปเพื่อให้ได้ตามร่างของพรรครัฐบาลก็คือเลือกตั้ง 3 ใน 4 แล้วก็มาตามสัดส่วนของการแต่งตั้งอีก 1 ใน 4 หรือ 50 คน จาก 200 คน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ถ้าเราไม่ออกมาส่งเสียงว่าเรารับไม่ได้กับการลากไปสู่ข้อเสนอของการที่ สสร. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เราเชื่อว่าเขาก็จะดันทุรังและผลักให้เป็นแบบนั้นต่อ และอำนาจของการตัดสินใจมันก็อยู่ในมือของเขาในกระบวนการทางสภา

เอกชัย อิสระทะ ตัวแทน กป.อพช.ชาติ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์เวลานี้ประเด็นหลักคือที่มาของ สสร. เพราะถ้า สสร. มีที่มาที่ชอบธรรม ถูกต้อง จะทำให้มีกระบวนการที่ทุกคนมีโอกาสร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้สังคมไทยตั้งคำถามกับกระบวนการได้มาซึ่ง สสร.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net